3 ปีที่..คำนึง?


วันเวลาผันผ่านที่ทั้งเรื่องน่าเศร้าและยินดี แต่สิ่งที่ทำให้ฉันมีทุกวันนี้คือ ประสบการณ์และการเรียนรู้ทุกย่างก้าวในชีวิต

3 ปี ที่..คำนึง

กว่า 3 ปี ที่ก้าวออกจากหมู่บ้านทุ่งตะเซะ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ครั้งที่เป็นบัณฑิตอาสาสมัคร ธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 37 ภาพที่จดจำไม่ลืมคือ ภาพวันสุดท้ายก่อนลาจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ เรียนรู้ ร่วม 7 เดือน ทุกคนในหมู่บ้านโบกมือลาระหว่างทางในขณะที่ฉันนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์แม่จอย(แม่ที่นับถือหญิงแกร่งแห่งทุ่งตะเซะ) เพื่อไปขึ้นรถทัวร์กลับเข้ากรุงเทพฯ ภาพวันคืนเก่าๆกลับมาทุกครั้งที่ฉันคิดถึง คิดถึงเด็กๆที่โรงเรียนตชด.ทุ่งตะเซะ ที่ส่งเสียงแจ๊วๆถามครูไก่ คิดถึงเด็กๆที่สอนให้ฉันรู้จักป่าชายเลน ป่าที่เป็นเซเว่นอีเลฟเว่นของเค้าและคนในหมู่บ้าน คิดถึงและหวนคำนึงถึงคำที่ปู่ ย่า ตา ทวดที่นั้นเรียกฉันว่า “ลูกไก่”

12-13 กุมภาพันธ์ 2553 ฉันก้าวเข้าไปในหมู่บ้านอีกครั้ง ???....ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ ทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเศร้า...

น่าเศร้า...กับเรื่องราวของการต่อสู้ที่อ่อนกำลังลงของชุมชน ที่กลับเหลือกำลังการต่อสู้เพื่อป่าเพียงกำลังผู้หญิงไม่กี่คน ผ่านเครื่องมือทางวัฒนธรรมอย่างลิเกป่า รองแง็ง และการเผยแพร่ความรู้ให้กับเครือข่าย แต่ก็ยังสู้อย่างไม่ลดละกันต่อไป

น่าเศร้า...กับเรื่องราวของโรงเรียน ตชด. ที่ฉันเคยสอนเด็กนักเรียนที่ต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีเด็กเข้าเรียน คนในชุมชนส่งลูกๆไปเรียนโรงเรียนหมู่บ้านใกล้เคียง หรือในตัวอำเภอมากกว่า เพราะ คุณภาพของครู หรือความไม่เพียงพอของอะไร???? ยังเป็นคำถามอยู่ในหมู่บ้าน

น่าเศร้า...กับเรื่องราวของเด็กๆที่ฉันรู้จัก เคยสอนหนังสือ เคยทำกิจกรรมในหมู่บ้านร่วมกัน ที่มีชีวิตผกผันตามกระแสการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ความไร้เดียงสาของเด็กและความไม่พร้อมของการดูแลจากครอบครัว

ภายใต้เรื่องน่าเศร้า...ก็ยังมีเรื่องน่ายินดี

ยินดี...กับป่าชายเลน ที่ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ ยินดีกับปูดำ หอยกัน หอยปะ ที่ยังเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่า และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

ยินดี...กับเรื่องราวของหมู่บ้านที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม แม้ไม่มากมายและยังอยู่ในขั้นพร้อมต่อการปรับตัวของชาวบ้าน

3 ปี กับความผูกพันที่ยังอยู่ในห้วงคำนึงอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่มากกว่าประสบการณ์ แต่มันคือเรื่องราวที่หล่อหลอมให้ฉันได้เป็นคนที่เข้าใจ “ธรรมชาติของคนกับสิ่งต่างๆที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต”

3 ปี กับห้วงคำนึง...ที่ยังคิดถึง เสียงปูดำ ในป่าชายเลน ที่คนอื่นอาจไม่รู้ว่าปูมันส่งเสียงยังไง แต่ฉันรู้และสัมผัสมาแล้ว

3 ปี  กับห้วงคำนึง...ที่มีแต่ความห่วงหา ห่วงใย และเอื้ออาทร ที่ผูกพัน

ภิชา(14 กุมภาพันธ์ 2553 : 22.53 น.)

หมายเลขบันทึก: 336590เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2010 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาเยี่ยมครับ

วันก่อนผมได้พบกับหญิงชาวพุทธจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เสถียรธรรมสถาน ได้ฟังเรื่องราวหลายเรื่องเลยครับ

ความรู้สึกปะปนกันหลายอารมณ์

....

ลงใต้คราวนี้ เบิ้มไปด้วยใช่ไหมครับ

ไปด้วยกันค่ะ แต่แยกกันตรงพัทลุง เพราะไก่แยกไปสานเครือข่ายประชาสังคมและทรัพยากรที่ตรังค่ะ

ไปทำงานคราวนี้ก็ได้ความรู้สึกหลากหลายอารมณ์กลับมาเช่นกัน...โดยเฉพาะห้วงความคำนึงกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตรังค่ะ

............

ทุกสิ่งเหมือนอนิจจัง....และการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง คือ การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ค่ะ

อ้อ (วรรณา) _สคส.

(ตามลิงค์มาจาก facebook ค่ะ เราเป็นเครือข่าย KM เหมือนกันนี่นา)

ขอบคุณสำหรับความเห็นและการติดตามค่ะ ช่วงนี้เสียดายเวลาและโอกาสที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของตัวเองเลยยังไม่ได้ถอดออกมาเป็นเรื่องราว เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนกันอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท