หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 19 "ทำขวัญนาค เพื่ออะไร"


คนในสมัยเก่าที่เขาได้คิดรังสรรค์ถ้อยคำนำเอามาสอนใจคนที่จะบวชได้อย่างแยบยล

หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 19

“ทำขวัญนาค เพื่ออะไร”

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม

(เพลงพื้นบ้าน พุ่มพนมมาลา รางวัลราชมลคลสรรเสริญ ปี 2547)

           บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นการแสดงความเห็นจากประสบการณ์ของคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรง และได้อยู่ในพิธีทำขวัญนาคอย่างเต็มตัวมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 แต่ในความจริง ผมเริ่มร้องบทกลอนทำขวัญนาคตามที่ผมได้ยินคุณตาท่านร้องมาตั้งแต่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (พ.ศ. 2502) ผมได้ศึกษาบททำขวัญนาคฉบับครูหลายเล่ม เริ่มจากตำราทำขวัญนาคเล่มละ .50 บาท (50 สตางค์) จนถึงเล่มละ 75 บาท ได้แก่

          - ทำขวัญนาคฉบับครู   โดย อาจารย์เฒ่า

          - ทำขวัญนาคฉบับครู   โดย ขุนแผน  ลูกปราจีน

          - พิธีทำขวัญนาคและแหล่ต่าง ๆ

          - พิธีสู่ขวัญมงคล        โดย ศรีมหาโพธิ์

          - รวมพิธีทำขวัญนาค   โดย มหาทองใบ  ปฏิภาโณ

          ความสำคัญของการทำขวัญนาค เป็นการทำพิธีที่มีแบบแผนมานานนับร้อยปี ในอดีตที่ผ่านมาคนเก่า ๆ มีความศรัทธาเชื่อถือว่า เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ มิใช่เป็นการกระทำเล่น ๆ หรือสนุกสนาน จะมีก็แต่ตอนที่หมออันเชิญขวัญนาค อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

         

         

          การทำขวัญนาค โดยจุดประสงค์สำคัญก็เพื่อให้เกิดสวัสดิรักษาเจ้าของขวัญ (เจ้านาค) คำร้องหรือบทร้องในการเชิญขวัญ หมอทำขวัญหรือโหราจะต้องเลือกสรรเอาแต่คำที่ดี มีถ้อยความไพเราะ เจ้าของขวัญได้ฟังแล้วจะได้มีสติ มีสมาธิ มีความสงบและมีความตั้งใจที่แน่วแน่ ไม่วอกแวกหลงใหลในสิ่งยั่วยวนให้เปลี่ยนแปลงความตั้งใจ เมื่อได้รับฟังจึงเกิดความเคลิบเคลิ้มประทับใจ ตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอน คำแนะนำ

          บทกลอนสอนใจในพิธีทำขวัญนาคได้มีผู้เชี่ยวชาญ ระดับบรมครูผู้เชี่ยวชาญทางอักษรและเป็นผู้ที่รอบรู้ในลิขิตถ้อยคำอันสูงส่งตั้งแต่อันเชิญเทพยดา อารักษ์ทั้งหลาย เชิญลงมาคุ้มครองรักษาเจ้าของขวัญ นาคได้ฟังแล้วเกิดความสงบไม่พะว้าพะวัง อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่กล่าวเชิญขวัญ (หมอทำขวัญหรือโหรา) จะต้องมีลีลา มีวิธีในการกล่าว โดยเว้นจังหวะ ทิ้งระยะคำร้องอย่างเหมาะสมถูกต้องตามอักขระวิธี (รู้ความหมายของศัพท์ ภาษาอย่างดี) ให้ได้ถ้อยคำทำนองที่ประทับจิต ทำให้ผู้ฟัง (เจ้านาค) เกิดความซาบซึ้ง ประทับใจ คุณสมบัติของผู้กล่าวหรือหมอทำขวัญจะต้องมีครบถ้วนสมบูรณ์ในความสามารถด้วย

          คำกล่าว หรือคำร้องในพิธีทำขวัญนาค เป็นบทกลอนและใช้ทำนองแหล่ ทำนองเสนาะอย่างเดียวกันกับเทศมหาชาติ  แต่ในส่วนของความไพเราะจะมากหรือน้อยเพียงใดนั้น สุดแล้วแต่สำนวนของผู้แต่ง ความสามารถของผู้ร้อง โดยเฉพาะคำที่เล่นศัพท์ เล่นสำนวน อักขระวิธี (ต้องแปลความ) นับว่าเป็นสำนวนชั้นสูงที่มีคุณค่าแก่การรับฟังมาก

          สำหรับพิธีทำขวัญนาคในยุคปัจจุบัน มีบางสิ่งบางอย่างที่ปรับเปลี่ยนไปจากแบบเดิมบ้าง ในบางครั้งต้องยอมรับความจริงว่าเกินความพอดี  และในบางสิ่งก็ขาดหายไปทั้งที่น่าจะยังคงเอาไว้ เช่น เพลงไทยเดิมที่ใช้ร้องประกอบในตอนสำคัญ ๆ ในยุคนี้ไม่ค่อยที่จะได้ยินเสียแล้ว ส่วนบทร้องหรือสำนวนร้องแหล่นอก หมายถึงแยกออกไปแหล่ตามความต้องการของเจ้าภาพหรือผู้ฟังก็ต้องดูตามความเหมาะสมและอยู่ในเรื่องของพระศาสนา จะได้ยังอยู่ในกรอบ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากพิธีทำขวัญนาค

          ท้ายที่สุดนี้ ผมขอนำเอาความรู้เรื่องของการทำขวัญนาคที่พ่อคุณของผมได้บอกมาว่า “ทำขวัญนาคเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ประกอบพิธีเป็นพราหมณ์ หรือผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ นุ่งห่มด้วยชุดสีขาว แต่ต่อมาอนุโลมให้เป็นผู้อาวุโส (ผู้เฒ่า) ถือศีลมีจริยวัตรงดงาม (เป็นผู้สำรวมจริยา) ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนในสังคม ในท้องถิ่นมาเป็นผู้กล่าวและประกอบพิธีทำขวัญนาค  ในบทร้อง พูด แหล่ทำขวัญนาคจะประกอบด้วย

          - บทสวดสักเค ชุมนุมเทวา  

          - บทนมัสการ  เคารพคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          - บทสอนให้นาคนึกถึงคุณบิดา มารดา

          - บทให้คำแนะนำ สอนนาคให้รู้หน้าที่ของสงฆ์

          - บทเชิญขวัญ เรียกขวัญนาค

          - เวียนเทียน ร้องเพลงประกอบพิธีเบิกบายศรี

                          

                                          (คลิกที่ปุ่มเล่น  เพื่อชมบันทึกการแสดงสด พิธีทำขวัญนาคได้)

          ถ้าเป็นในสมัยก่อน จะต้องนำเอาบทนามนาคมากล่าว ซึ่งถือว่าเป็นบทที่มีความสำคัญ เพื่อที่จะให้นาคได้รับรู้ที่มาของคำว่า นาค แต่บทนี้มีความยาวมาก หมอขวัญในยุคปัจจุบันจึงมักตัดตอนมากล่าวเพียงย่อ ๆ ยกเว้นแต่ในบางงานเจ้าภาพต้องการให้ว่าเต็ม ๆ ก็จัดให้และอีกบทที่มีความไพเราะ คือบทสำเภาทองของนาค ไม่ค่อยได้นำเอามากล่าวยกเว้นถ้ามีท่านผู้ฟังขอมา หมอขวัญจึงจะจัดให้

         

         

          ทำขวัญนาคเพื่ออะไร คงพอที่จะมองเห็นจุดประสงค์ ความตั้งใจของคนในสมัยเก่าที่เขาได้คิดรังสรรค์ถ้อยคำนำเอามาสอนใจคนที่จะบวชได้อย่างแยบยล ถึงแม้ว่าในวันนี้หมอทำขวัญ หรือผู้ทำขวัญนาคอาจจะนำเสนอถ้อยคำสำนานที่ผิดไปจากเดิมบ้างในบางส่วนที่นอกเหนือจากฉบับครู แต่ผมยังมองว่า หมอทำขวัญทุกท่านก็ได้เรียนรู้พิธีกรรม บทร้องในฉบับครูกันมาก่อนที่จะเล่นนอก ออกแหล่เดินไปตามกลอนด้นสดได้

นายชำเลือง มณีวงษ์  ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

หมายเลขบันทึก: 336307เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบสวัสดี ท่านอาจารย์ครับ

ผมอยากทราบว่า ตอนที่ อาจารย์/ลูกศิษย์ ร้องขณะเชิญขวัญ(ก่อนเวียนเทียน)

เรียกว่าทำนองอะไรครับ (เพราะมากๆ)ฟังสบายหู

ด้วยความเคารพอย่างสูง

สวัสดี มนัส ระยอง

  • เพลงที่ร้องเป็นเพลงเชิญขวัญทำนอง จะร้องต่อจากบทธรรมวัตร (ทำนองเสนาะ)
  • ส่วนท่วงทำนองที่ใช้ขับร้อง เป็นทำนองลาวพุงดำ เนื้อร้องผมเขียนขึ้นมาใหม่ครับ
  • ติดตามชมบันทึกการแสดงสดทำขวัญนาคได้ในเว็บ yoube.com พิมพ์ข้อความที่ช่องค้นหาว่า ทำขวัญนาคตั้ม  หรือ ทำขวัญนาคกิ่งไผ่  หรือ ทำขวัญนาคกร ฯลฯ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท