โชว์พลังเด็กใต้ ถอดบทเรียนความรู้ โครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน (อบย.)


กลับมาแล้วก็ยังแอบปลื้มใจไม่หายกับการประชุมถอดองค์ความรู้โครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน (อบย.) ดำเนินการโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล

(เซ้งและน้องหนา - น้องสาวชาวใต้คนเก่งผู้มีรูปร่างบอบบางไม่เหมาะกับชื่อเล๊ยจิงๆ เอิ๊กๆ อ่าล้อเล่นนะหนา)

ที่วันนี้เข้าสู่โค้งสุดท้ายปลายทางซึ่งจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาฯ นี้ รวมเวลาก็จะ 4 ปีแล้วที่ธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน และก็เป็นเวลาประจวบเหมาะพอดีที่ทำให้ได้เห็นดอกผลอันสุกงอมหอมหวาน เมื่อเห็นเด็กๆ อบย.แสดงศักยภาพ บอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของตนเองในทางที่ดีภายหลังเข้าร่วมโครงการ

การเปลี่ยนแปลงที่ว่าครอบคลุมทั้งการเปลี่ยนแปลงภายในของเยาวชน จากที่หลายๆ คนเคยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ติดและค้ายาเสพติด แต่งรถ ขับรถซิ่ง หนีเรียน เที่ยวกลางคืน และบ้างก็เป็นเยาวชนที่ไม่กล้าคิด กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจในตัวเอง ให้กลายเป็นขุมกำลังของชุมชน ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงออก แม้จะมีสลับคละเคล้ากันไปบ้างระหว่างเยาวชนที่ฉะฉานเอามากๆ กับเยาวชนที่กำลังฝึกฝนพัฒนาตนเองตามพี่ๆ ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาทราบดีว่าเขามีเวทีที่สามารถเปิดเผยตัวตนให้เป็นที่รับรู้ของสังคมได้อย่างสนิทใจ เพราะมั่นใจในพี่ๆ ที่เป็นที่พึ่งได้เสมอๆ ก่อนที่จะเปิดดวงใจให้พร้อมรับกับการต่อยอดเสริมศักยภาพจากผู้ใหญ่ใจดี ให้พวกเขาได้เป็นคนทั้งคนเก่ง คนดี และคนที่มีความสุข ในสังคม

ยกตัวอย่างการต่อยอดพัฒนา เช่น การส่งเสริมให้เยาวชนรวมกลุ่มกันทำธุรกิจชุมชนเพื่อเสริมทักษะด้านอาชีพให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในภายภาคหน้า บางหมู่บ้านเลี้ยงแพะ บ้างขายข้าวสาร บ้างก็ขายแก๊ส และบางแห่งก็เปิดแผงทำซิลด์สกรีนขายเป็นล่ำเป็นสัน

ในเวลาเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ตัวเยาวชนได้เป็นที่พึ่งของครอบครัว ชุมชน และสังคม ผ่านโครงการจิตอาสาอย่างการทำความสะอาดกุโบร์ (สุสาน) มัสยิด สำนักสงฆ์ การปลูกป่าชายเลน การเก็บขยะทำความสะอาดชุมชน การรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ฯลฯ ทั้งเนื่องในวันสำคัญของชาติและศาสนา หรือเป็นกิจกรรมที่เยาวชนมีใจจัดขึ้นเอง

ซึ่งนอกจากชุมชนจะพลอยได้ชื่นใจในความเปลี่ยนแปลงของลูกๆ หลานๆ แล้ว ก็ยังทำให้เยาวชนภาคภูมิใจ เด็กหลายคนบอกว่า การที่เขาเปลี่ยนตัวเองยังพลอยทำให้ครอบครัวอบอุ่นเมื่อเสียงด่าทอที่เคยมีแปรเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มที่คนในบ้านพึงมีต่อกัน สวรรค์น้อยๆ ก็บังเกิดขึ้น ขณะที่น้องๆ อีกบางคนบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ได้รับอย่างชัดเจนคือคำๆ เดียวว่า สำนึกรักษ์บ้านเกิด ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน แต่เราก็ยังต้องกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเรา

พร้อมๆ กันนั้น อีกภาพที่เราเห็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ชาวชุมชน ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองยังเข้ามามีส่วนหนุนเสริมเยาวชนให้ได้พัฒนาตนเองด้วยมุมมองและสายตาคู่ใหม่ เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาที่ต่อเนื่องยั่งยืน

รวมๆ แล้วดอกผลของโครงการ อบย.ก็นับได้ว่าเข้าสโลแกนมูลนิธิสยามกัมมาจลได้อย่างพอดิบพอดีทีเดียว ที่ว่า "จิตอาสาพัฒนาสังคมผ่านการพัฒนาเด็กและเยาวชน" (^_^)

แถมงานนี้ยังทำให้เราได้เห็นรอยยิ้มหวานๆ จากพี่อำนวย ชูหนู และพี่เจี๊ยบ จันทร์มณี พลายแสง จากพีดีเอ ที่เห็นแล้วจะมีใครล่ะที่จะสะกดกลั้นความปลาบปลื้มใจไว้ได้ และที่ต้องกล่าวถึงอีกหน่วยงานหนึ่งคือ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ซึ่งมาช่วยถอดบทเรียนเยาวชน เชื่อมร้อยให้ดอกผลที่เคยดูกระจัดกระจาย ดูมีพลังและทวีความประทับใจยิ่ง ...

คำสำคัญ (Tags): #อบย.
หมายเลขบันทึก: 335080เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตามมาเชียร์ก่อน เจอทั้งใน okkid และที่นี่เลย เย้ๆๆวันก่อนอดพบกันเลย แต่คงมีโอกาสอีก มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ มาให้กำลังใจครับ....

วันก่อนพี่ใหญ่ก็เล่าให้ฟังเหมือนกันครับว่าอาจารย์ขจิตมาเยี่ยมเยียนที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ชั้น 19 ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ พี่ใหญ่ท่านก็ชมอาจารย์ขจิตใหญ่เลยครับว่าเป็นคนหนุ่มไฟแรงและมุ่งมั่นจริงๆ เสียดายที่ผมไม่ได้มีโอกาสกราบสวัสดีกับอาจารย์โดยตรงครับ แต่หนหน้าคงไม่พลาดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท