สัปปุริสธรรมกับยุคโลกาภิวัตน์


ศาสตร์แห่งการพัฒนาและการบริหารในยุคปัจจุบัน

สัปปุริสธรรมกับยุคโลกาภิวัตน์

           ศาสตร์แห่งการพัฒนาและการบริหารในยุคปัจจุบันได้กลับมาให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรม(Ethics) เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการตื่นตัวของสังคมอเมริกันชนทั้งประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับจริยธรรมอย่างแพร่หลาย การที่สังคมได้กลับมาให้ความสำคัญในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะศีลธรรมจะนำมาซึ่งความสำเร็จและความสันติสุข แต่หากปราศจากศีลธรรม จริยธรรมแล้ว สังคมย่อมมีแต่ความวุ่นวาย ไม่มีความสงบสุข ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉาน สัปปุริสธรรมเป็นหลักพุทธธรรม 7 ประการที่สามารถนำมาปรับใช้ประโยชน์ในการบริหารองค์กรยุคปัจจุบันได้ โดยไม่ตกยุคล้าสมัยแต่อย่างใด ความสำคัญอยู่ที่เราจะประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างไร ซึ่งมีแนวทางการพิจารณา ดังต่อไปนี้

            1.การรู้หลักรู้จักเหตุ(ธัมมัญญุตา) คือ รู้หลักการและกฎเกณฑ์ของสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งตนมีหน้าที่ ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้สิ่งนั้นบรรลุผลสำเร็จ จำเป็นต้องรู้หลักการ ที่จะเป็นเหตุให้สิ่งๆนั้นประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

             การแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าความรู้ คือ ปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาบุคคลและองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งแต่ก่อนเราเรียกว่า “Intangible Assets” เมื่อความรู้เป็นสิ่งจำเป็นในการก่อให้เกิดปัญญาจนสามารถสร้างคุณค่าและผลกำไรให้องค์กรได้จึงมีผู้เรียกว่า “Intellectual Capital” หลักพุทธธรรมข้อนี้สอนให้เราต้องพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเป็นฐานไปสู่ความสำเร็จ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management, KM) ทั้งความรู้ในตัว (Tacit Knowledge) และความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit  Knowledge) ตั้งแต่การแสวงหาความรู้(Knowledge Acquisition) การสร้างความรู้(Knowledge Creation) การจัดเก็บความรู้(Knowledge Storing) และการถ่ายโอนเผยแพร่ความรู้(Knowledge Transfer and Dissemination)

             การรู้หลักรู้จักเหตุว่าความรู้เป็นหลักการสำคัญ ในการพัฒนาตนและองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จจึงเป็นหลักธรรมขั้นแรกที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาในขั้นต่อๆไป

              2. การรู้จักผล(อัตถัญญุตา) หมายถึง การรู้ความหมายและความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของสิ่งที่ตนกำลังปฏิบัติ กล่าวคือ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร

              การจัดการความรู้ การพัฒนาบุคคลและกลุ่มคน (Individual & Group Development) และการพัฒนาองค์กร (Organization Development) เป็นกลยุทธ์ที่มีวัตถุประสงค์ให้องค์กรพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจว่าจุดมุ่งหมายขององค์กรคืออะไร

               จุดมุ่งหมายที่แท้จริงในการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาพัฒนาองค์กรก็เพื่อให้องค์กรเกิดผลลัพธ์ (Outcomes) ที่ดีอันได้แก่ ผลกำไร ความพึงพอใจของลูกค้า เป็นต้น จึงต้องตระหนักว่ากิจกรรมต่างๆ ที่นำมาปฏิบัติล้วนเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้องค์กรเปลี่ยนแปลงไปสู่วิสัยทัศน์ เพื่อเป็น High Performance Organization; HPOนั่นเอง

              3.การรู้ตน(อัตตัญญุตา) คือ รู้ตามความเป็นจริงว่า ตนมีฐานะ ความรู้ ความสามารถ ความถนัด มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ซึ่งต้องกำหนดบทบาทให้เหมาะสมกับสภาพที่แท้จริงของตน ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาตนให้มีศักยภาพสูงขึ้น

              เครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้จักตนได้มากขึ้น คือ การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง(SWOT Analysis) โดยพิจารณาทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก หรือจากการประเมินความสามารถรายบุคคล (Individual Competency Gap Assessment)

               4.การรู้ประมาณ(มัตตัญญุตา) คือ การรู้จักความพอดี รู้ประมาณในการบริโภค รู้ประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์ รู้จักความพอดีในการประกอบกิจต่างๆ ต้องมีความเข้าใจและกระทำด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ตนเองและผู้อื่น

             ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์และทรงคุณค่าที่ชาวไทยควรน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนั้นสมาชิก Moderation Society: MOSO ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ชาวโมโซ” ของสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สร้างค่านิยมร่วมสำหรับชาวโมโซ คือ การสร้างสังคมอันพึงปรารถนา ที่ประกอบไปด้วยความจริง ความดีงาม และความสุข ด้วยคติพจน์ประจำใจของชาวโมโซ คือ “เน้นสติ เหนือสตางค์”

                5.การรู้กาลเวลา(กาลัญญุตา) คือ การรู้กาลเวลาอันเหมาะสม รู้ว่าเวลาใด ควรกระทำสิ่งใด วางแผนด้านเวลาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

                เทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การบริหารเวลามีประสิทธิภาพ คือ การจัดทำตารางเวลา(Schedule) โดยจัดสรรเวลาเป็นลำดับก่อนหลังตามความเร่งด่วนและความสำคัญของงาน (Priorities) เช่น งานที่เร่งด่วนและสำคัญ งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ งานที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ และงานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ ดังนั้นจึงควรเลือกปฏิบัติงานที่เร่งด่วนและสำคัญก่อน (first thing first) จึงจะเป็นการสะท้อนคุณค่าของบุคคลที่มีการบริหารเวลาอย่างแท้จริง

               6. การรู้ชุมชน(ปริสัญญุตา) เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนใด ต้องรู้จักชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนนั้นๆ ตลอดจนรู้จักให้เกียรติ ให้ความร่วมมือ ช่วยทำนุบำรุง รักษาชุมชนให้สงบเรียบร้อยน่าอยู่อาศัย

               ภาวะโลกร้อน(Global Warming) ในปัจจุบันเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของสองส่วนคือ ระบบเศรษฐกิจ (Economy) และระบบนิเวศน์ (Ecology) การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development) จึงเป็นทางออกที่สังคมปรารถนาและกำลังแสวงหา

                Corporate Social Responsibility (CSR) หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจนั้น หมายถึง การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดี ควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูเเลรักษาสังคมและสิ่งเเวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน CSR เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อสังคมชุมชนและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งไม่ต้องการให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันในลักษณะเบียดเบียน แต่ต้องการให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันในลักษณะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

               7.การรู้บุคคล(ปุคคลัญญุตา) การรู้จักและเข้าใจความแตกต่างของบุคคล ในด้านทักษะ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ทัศนคติ และคุณธรรม เป็นเรื่องจำเป็น เพราะงานHR ต้องเกี่ยวข้องกับการคัดเลือก การฝึกอบรมพัฒนา การมอบหมายงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการพ้นสภาพของบุคลากร

               ความแตกต่างของบุคคลในทางธรรมวิภาค แบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำ และบัวใต้โคลนตม ส่วน ดร.พอล จี สตีลส์  ได้อาศัยหลัก Adversity Quotient (AQ) หรือ QCC (Quit-Camping-Climbing) มาเปรียบกับบุคคลเป็นนักไต่เขา และจำแนกบุคคลออกเป็น 3 จำพวก คือ The Quitter คือ พวกยอมแพ้ตั้งแต่อยู่ที่ตีนเขา ไม่กล้าปีนป่ายขึ้นไป The Camper คือ พวกตั้งค่าย ปีนเขาไปได้เพียงเล็กน้อย ก็หมดความพยายาม เลือกที่จะหยุดกลางคัน และ The Climber คือ พวกที่ชอบปีนเขา ยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งท้าทาย กระตุ้นให้ตนเองพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก เต็มไปด้วยพลัง มีวิสัยทัศน์ ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ท้าทายการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ดีในทุกสถานการณ์ มองทุกสิ่งว่าเป็นไปได้อยู่เสมอ มีความมุ่งมั่นในชีวิต พร้อมที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม

                หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นเรื่องเก่าตกยุคล้าสมัยตามกาลเวลา แต่กลับยืนหยัดคงทนต่อการพิสูจน์ ดังเช่นสัปปุริสธรรม 7 ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยอย่างเช่นปัจจุบันได้อย่างสอดคล้อง การบริหารยุคใหม่จึงควรต้องมีความสมดุลในสองด้าน คือ ด้านความรู้ความสามารถ และด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยนำหลักพุทธธรรมมาเป็นแนวทางในการบริหารผสมผสานกับแนวคิดตะวันตก อันจะเป็นส่วนส่งเสริมการใช้ความรู้ ความสามารถของบุคลากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องควบคุมยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้บุคคลใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ผิด หรือใช้แบบสุดโต่งเกินความพอดี ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตนเองและองค์กรตลอดจนสังคมโดยรวมในอนาคตได้

หมายเลขบันทึก: 334781เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นายเป็นเพื่อนที่เราชื่นชมจริงๆนะ... ไมค์

นายเป็นเพื่อนที่เราชื่นชมจริงๆนะ... ไมค์

สวัสดีครับ ann

ขอบคุณมากครับ ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รู้จักเพื่อนๆที่น่ารักและมีน้ำใจ มีอะไรที่ผมพอจะเป็นธุระให้ได้ อย่าเกรงใจนะครับผมยินดี / แล้วพบกันใหม่ครับ

สวัสดีครับ

ท่านลองเข้าไปดูนะครับ คิดว่ายังต้องปรับปรุงอีกเยอะ เพราะผมเขียนwebเอง

http://phd5hrd.6te.net/

สวัสดีครับ

ท่านลองเข้าไปดูนะครับ คิดว่ายังต้องปรับปรุงอีกเยอะ เพราะผมเขียนwebเอง

http://phd5hrd.6te.net/

http://phd5hrd.6te.net/

ผมมีปัญหาถามให้คิดเล่นๆ

  • ท่านคิดว่าอะไรคคืออุปสรรคในการพัฒนาองค์กร
  • ผู้บริหารสูงสุด  มีความคิดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว(มีความไม่รู้จักคำว่าพอเพียง)
  • มีการเมืองในองค์กร  เล่นพรรคเล่นพวก
  • พนักงานในองค์กรมีความคิดที่แตกต่างกัน  แล้วเกิดความคิดว่าใครเสนอใครทำ
  • องค์กรขาดนโยบายที่ชัดเจน
  • ทุกคนมีความคิดคล้าย"โจโฉ" ว่า " เราฆ่าคนอื่นดีกว่าให้คนอื่นมาฆ่าเรา" ฮึๆๆ!
  • บุคลากรในองค์กรขาดความรู้ในการทำงาน  ก็เลยทำแบบขอไปที
  • หรือต่างคนมีแต่โทษกันไปกันมา
  • สรุปว่าเป็นเพนราะอะไร  จงเสนอวิธีการแก้ไขพร้อมทั้งสร้างโปรแกรมที่จะมาอบรมในองค์กรด้วย

เป็นคำถามที่ดีและน่าสนใจมาก ผมขออนุญาตเสนอความคิดเห็น อย่าคิดว่าเป็นคำตอบเลยนะครับ ผมแบ่งปัญหาออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ Individual = ผู้บริหารเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวไม่รู้จักพอเพียง / ทุกคนมีความคิดแง่ลบ / ขาดความรู้ในการทำงาน เป็นปัญาด้านค่านิยม(value) / ด้านทัศนคติ(attitude) / ด้านความสามารถ(ability) แนวทางแก้ไข สร้างกระบวนการคิดเชิงระบบ / สร้างแรงจูงใจปฏิสัมพันธ์ / เรียนรู้ผ่านการฝึกอบรมและพัฒนา Group = เล่นพรรคเล่นพวก / มีความคิดที่แตกต่างกัน เป็นปัญหาการเมืองในองค์กร(politic) / ความขัดแย้ง(conflic) แนวทางแก้ไข สร้างTQM / บริหารจัดการความขัดแย้ง Organization = องค์กรขาดนโยบายที่ชัดเจน เป็นปัญหาด้านการออกแบบองค์กร แนวทางแก้ไข ปรับเปลี่ยนองค์กรกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ออกแบบโครงสร้างองค์กรและวัฒนธรรมใหม่

กนกพร แจ่มสมบูรณ์

ขอแชร์ด้วย กลับไปที่พื้นฐาน นะคะ

เพราะไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล กลุ่ม หรือองค์กร คือพื้นฐานมาจากคน

สิ่งที่น่าต้องทำ คือ ให้ทุกคนตระหนักรู้จักตนเอง ว่าตนคือใคร มีหน้าที่่ทำอะไรทำได้ดีหรือยัง

ในกลุ่มของตนนั้น รับผิดชอบอะไร ทำได้ดีแล้วหรือยัง

องค์กรคุณตั้งมาเพื่ออะไร ทำได้ดีแล้วหรือยัง

สรุป คือ ต้องทำการประเมินตนเอง ทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม และองค์กร แล้วมาแยกแยะดูว่าปัญหาอยู่ที่อะไรแล้วจึงค่อยแก้ไข และแนวทางการป้องกันปัญหารที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท