หมวด 5 การบริหารและการจัดการศึกษา ที่มีการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาใหม่ทั้งระบบ


     หมวด 5 การบริหารและการจัดการศึกษา ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าเป็นการปฏิรูปที่โครงสร้างมากกว่าปฏิรูปที่สถานศึกษา(ปฏิรูปการเรียนรู้) และการปรับโครงสร้างการศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของกลุ่มบุคลากรต่างๆตามมามากมาย  เช่น การขอแยกเขตพื้นที่ประถม มัธยม เป็นต้น จนต้องมีการแก้ไข พรบ.กันใหม่ ตอนนี้ร่าง พรบ.3 ฉบับใหม่ ได้ผ่าน ครม.เพื่อเข้าสู่สภาในสมัยประชุมนี้แล้ว คือ 1.ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ซึ่งปรับแก้ให้มีเขตพื้นที่การศึกษาประถม และมัธยม แยกจากกัน 2.ร่างพรบ.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ... ปรับโครงสร้าง ศธ.ให้เป็นไปตามร่าง พรบ.ข้อที่ 1 และ 3.ร่างพรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ....ปรับเรื่อง ผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ให้มีฝ่ายประถมและมัธยม ตามร่าง พรบ.ข้อ 1 นี่คือความคืบหน้าในการปรับแก้ พรบ.เท่าที่ผมได้ทราบความก้าวหน้า
        มาดูสาระสำคัญของหมวดที่ 5 ใน 3 ส่วนกันว่ามีอะไรบ้าง    

ส่วนที่
1 การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ
แบ่งเป็นสามระดับ คือ ระดับชาติ(ส่วนกลาง) ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับสถานศึกษา เพื่อเป็นการกระจายอำนาจ ลงไปสู่ท้องถิ่น และสถานศึกษาให้มากที่สุด
    กระทรวง มีองค์กรหลักที่เป็นคณะ บุคคลในรูปสภาหรือคณะกรรมการสี่องค์กร คือ สภาการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา และคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้สำนักงานของทั้งสี่องค์กรเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการแต่ละองค์กร ประกอบด้วยกรรมการ โดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนกรรมการประเภทอื่นรวมกัน มีเลขาธิการของแต่ละสำนักงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ
     ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผน พัฒนา มาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ  การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
        การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอุดมศึกษาระดับต่ำ กว่าปริญญา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึงปริมาณสถานศึกษา และจำนวนประชากร วัฒนธรรม และความเหมาะสมด้านอื่นๆด้วย  เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการอาชีวศึกษา ปัจจุบันมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 185 เขตพื้นที่
      ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาให้มีคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล จัดตั้ง ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่ ประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย
     คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู และผู้ประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษา ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองและครู ผู้นำทางศาสนาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ
        ระดับสถานศึกษา ให้แต่ละสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาอุดมศึกษาระดับ ต่ำกว่าปริญญา มีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาประกอบด้วย ผู้แทน ผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา ผู้แทนพระภิกษุสงฆ์และหรือผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในพื้นที่  และผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็น
กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ
        ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง 
       
ส่วนที่ 2 การบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น เพื่อเป็นการรองรับสิทธิและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อม รวมทั้งประสานและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้
    ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยก็ออก พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งออกปีเดียวกันกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ และเขามีแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่ชัดเจนกว่าเขาจึงเร่งรัด ศธ.ให้ออกกฎหมายในระดับปฏิบัติให้เป็นไปตาม พรบ.อีกหลายฉบับคือ
          1)กฏกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550   
          2) กฏกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549  
          3) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ตัวชี้วัด และระดับคุณภาพ ในการประเมินความ                                                                                                                                                                                                                                                       
พร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547
         4) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แก้ไขบัญชีรายละเอียด 3 แนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ตัวชี้วัด และระดับคุณภาพในการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547
          5) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องวิธีการและเงื่อนไขการแสดงถึงความสมัครใจให้โอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2549

ส่วนที่ 3 การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชน
      สถานศึกษาเอกชนเป็นนิติบุคคลจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภท มีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน ผู้รับใบอนุญาต ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนครู ผู้แทนศิษย์เก่าและผู้ทรงคุณวุฒิ การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชนให้มีความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากรัฐ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาของรัฐ รวมทั้งรัฐต้องให้การสนับสนุนด้านวิชาการและด้านเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาของรัฐของเขตพื้นที่การศึกษา หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของเอกชน โดยให้รับฟังความคิดเห็นของเอกชน และประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนสถานศึกษาของเอกชนระดับปริญญา ให้ดำเนินกิจการโดยอิสระภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
        พ.ศ.2550 จึงสามารถออกพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน  พ.ศ.2550  ได้ จึงทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาเอกชนมีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 334253เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2010 06:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูสนใจแต่เรื่อง พรบ.การศึกษาว่าเปลี่ยนแปลฃอย่างไร ลืมการเรียนการสอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท