อนาคตประเทศไทยในมือของ "ผู้ใหญ่"


ผู้ใหญ่ที่มีวินัยและไม่ "เสียผู้ใหญ่" นั้นหายากมาก อนาคตของสังคมไทย จึงถูกกำหนดโดยพฤติกรรม ที่หล่อหลอมกันมาแบบนี้

ฟ้าครับ

ผมเคยตั้งข้อสังเกตในใจว่า บ้านเมืองเรานี้ดีหนักหนา มีความนอบน้อมต่อกัน ไปลามาไหว้ เจอหน้าทักทายกันก็ยกมือไหว้ ลูกไหว้พ่อแม่ ศิษย์ไหว้ครู สังคมอยู่ได้ด้วย "จารีต" ที่สร้างความเป็นลำดับขั้น ระหว่างคนที่ไหว้ก่อน กับคนที่รับไหว้

ถ้าจับมาเรียงกันเป็นรูปปิระมิด ก็จะมีคนจำนวนมากที่ไหว้ทุกคนอยู่ข้างล่าง และคนที่ "รับไหว้" จากทุกคน ที่อยู่ข้างบน

บางคนไต่เต้าจากฐานปิระมิด ขึ้นไปอยู่ข้างบน จากฝ่ายไหว้กลายเป็นฝ่ายรับไหว้ นั่นคือจาก "ผู้น้อย" กลายเป็น "ผู้ใหญ่"

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า คำว่าผู้ใหญ่ ไม่ใช่หมายถึงคนที่มีอายุมาก แต่คือคนที่รับไหว้ ดังที่เรามักจะเห็นว่า คนแก่ยกมือไหว้คนอายุน้อยกว่า (โดยเฉพาะที่บ้านนอก) ยกตัวอย่างกรณีที่เห็นชัดคือหมอ

แต่ผมก็มีข้อสังเกตต่อไปว่า บรรดาผู้ใหญ่ที่ผมได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงคนที่เคยเป็นผู้น้อยแต่ตอนนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ หลายคนมักจะมีอาการ "เสียนิสัย" สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะมีอำนาจต่อรองในทางสังคมสูง ผู้ใหญ่ที่มีวินัยและไม่ "เสียผู้ใหญ่" นั้นหายากมาก

  • คุณลงโทษคนที่มาตรงเวลา ด้วยการเข้าประชุมสายจนเป็นนิสัย (โดยเฉพาะกรณีที่คุณเป็นเจ้าภาพเชิญคนอื่นมาเอง)
  • คุณได้รับเชิญไปประชุมที่ต่างจังหวัด ผู้เชิญสนับสนุนการเดินทาง ที่พัก อาหารให้ทั้งหมด แต่คุณกลับเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นธุระส่วนตัว ไม่เข้าร่วมประชุม หรือร่วมพอเป็นพิธี
  • คุณเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำอะไรก็ได้ แม้จะรู้ว่าไม่ถูกกฎหมาย แต่ไม่ดูตัวเอง กลับไปอบรมสั่งสอนคนอื่น โดยมักมี "ผู้น้อย" รายรอบอยู่คอยปกป้องการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้ันให้ และคนรายรอบเหล่านั้นก็จะถูกคุณอุปถัมภ์ต่อไป

ผู้น้อยที่เห็นพฤติกรรมของคุณแบบนี้ และเห็นว่าไม่มีใครว่าอะไร ก็จะคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องแล้ว รวมทั้งพวกคนที่ถูกคุณอุปถัมภ์นี่แหละ คือกลุ่มคนที่จะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

ด้วยประการฉะนี้ อนาคตของสังคมไทย จึงถูกกำหนดโดยพฤติกรรมที่หล่อหลอมกันมาแบบนี้ จากยอดปิระมิด ลงมาที่ฐานปิระมิด เสียนิสัยกันไปหมดทั้งสังคม

ยกเว้นเราจะหาทางตัดตอนวงจรนี้ ด้วยการเลิกยกมือไหว้ผู้ใหญ่ที่เสียผู้ใหญ่ แล้วหันมาให้เกียรติคนตัวเล็ก ๆ แทน

หมายเลขบันทึก: 333496เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์นเรศครับ

เป็นความเห็นที่ตรงใจมากเลย มีประสบการณ์ไปประชุมร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในต่างประเทศ แต่หลายท่านหลบไปเที่ยวกันหมดปล่อยให้ผู้น้อยนั่งประชุม นั่งเสนอความเห็นอยู่ลำพัง แล้วเมื่อไหร่เราจะเลิกมีวัฒนธรรมที่เห็นว่าการมีโอกาสไปประชุมหรือดูงานต่างประเทศคือการไปเที่ยวละครับ ที่ผมอยู่ที่นี่ เวลาหน่วยงานของเราจะไปดูงาน สิ่งที่เขาเรียกหาคือ agenda ว่าคุณจะไปพบเขาทำไม มีประเด็นการต้องเจรจาเรื่องอะไร เขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง หากคุณตั้งใจเพื่อมาเที่ยวเขาไม่อยากเสียเวลากับเราหรอกครับ เจ้าหน้าที่ของผมที่นี่เล่าว่า เคยจัดดูงานให้กับเจ้าหน้าทีจากต่างจังหวัดในประเทศไทยเพื่อดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่นี่ แต่ท่านที่มากลับมาแอคชั่นถ่ายรูป ไม่สนใจเจ้าหน้าที่ที่เสียเวลามาบรรยาย เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวรู้สึกขายหน้ามาก และเจ้าของหน่วยงานที่ไปเยี่ยมชม เขาไม่พูดแต่สายตาของเขามันฟ้องว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเรา ก้คงเหมือนกับเราที่ต้องจัดการบรรยายให้คณะจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มาดูงานบ้านเราและไม่สนใจ คุยกันเองบ้าง นั่งหลับบ้าง อยากให้คนไทยเปลี่ยนวัฒนธรรมอันนี้ครับ

คุณคนอยู่ไกลครับ

ขอบคุณที่แลกเปลี่ยนครับ

ผมคิดว่าหน่วยงานในแวดวงราชการและอบต.ของเรามีอยู่บ่อย ๆ หลักการที่ผมยึดเวลาต้องไปดูงานคือ

  1. วิเคราะห์ประเด็นที่จะต้องไปดูงาน (หรือเจรจา) ทำความเข้าใจว่าเราต้องการอะไร (อย่างที่คุณคนไกลบ้านว่าเลยครับ)
  2. (ถ้าไปหลายคน) ฟอร์มทีมและแบ่งหน้าที่กันว่า ใครจะไปฟังอะไร หรือดูอะไร สอดแนมอะไร จะได้คลุมได้กว้างและกลับมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน
  3. เมื่อไปถึง take note, take note, and take note
  4. กลับมารวบรวมสรุป เขียนไว้ในบล็อกของที่ทำงาน (ใช้่ระบบ wiki) เพื่อแชร์ให้คนอื่นรู้ด้วย และเตือนความจำให้ตัวเอง

ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกครั้งหรอกนะครับ แต่ถ้าทำได้ครบแบบนี้ก็ถือว่าหรู ส่วนเรื่องที่ว่าเขาจะมีโปรแกรมจัดให้เราได้ไปดูงานต่อวันหนึ่งนั้นก็ถือเป็นกำไร ในโอกาสอย่างนั้นก็ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีบ้าง

เท่าที่เห็นข้าราชการบ้านเราไปดูงาน หลายครั้งก็แบบที่คุณคนไกลบ้านเล่ามานั่นแหละครับ ประเทศของเราจึงไปได้แค่นี้ ยิ่งมาอยู่ใต้วัฒนธรรมที่ผู้น้อยต้องชำเลืองมองผู้ใหญ่ก่อนที่จะทำอะไรแต่ละที ก็จะมีแต่แบบอย่างที่ไม่ดีให้เห็น ให้สืบทอดไปเรื่อย ๆ

ผมจึงคิดว่า เราดูแบบอย่างคนจากประเทศที่เขาเจริญแล้วก็ไม่เห็นจะเสียหายครับ ถ้าเป็นสิ่งที่ดี ๆ ควรลอกเลียนมาทำบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท