ชื่อนั้น...สำคัญไฉน


ความเชื่อเรื่องการตั้งชื่อเกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์มานาน เพราะคนเราทุกคนจำเป็นต้องมีชื่อหรือนามใช้เรียกขาน สื่อสารกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าใครติดต่อกับใคร หรือว่ากำลังพูดกับใครอยู่

        ความเชื่อเรื่องการตั้งชื่อเกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์มานาน เพราะคนเราทุกคนจำเป็นต้องมีชื่อหรือนามใช้เรียกขาน สื่อสารกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าใครติดต่อกับใคร หรือว่ากำลังพูดกับใครอยู่ เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต  รวมทั้งชีวิตของคนไทยมีความผูกพันกับการตั้งชื่อมายาวนาน จุดมุ่งหมายของการตั้งชื่อเพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ เกิดกำลังใจให้กับตนเอง รวม ทั้งเกิดความมุมานะ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ไปสู่จุดหมายให้สมกับชื่อ

         เริ่มตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย เพราะเป็นช่วงที่คนไทยเริ่มมีการรวมตัวกันเป็นชาติและมีอักษรใช้เป็นของตนเอง  หลักการตั้งชื่อก็เพื่อความเป็นสิริมงคล มีความหมายที่ดี         ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยา รูปแบบที่นิยมตั้งชื่อมีอยู่ 3 ลักษณะ ด้วยกัน แบบแรกยังเป็นการตั้งชื่อ โดยมีความหมายที่ดี ส่วนแบบที่ 2 คือ การตั้งชื่อโดยการแก้ดวง หรือการตั้งเสริม และแบบที่ 3 คือ การตั้งชื่อตามอาชีพของพ่อแม่    หรือตามลักษณะของวงศ์ตระกูลของบรรพบุรุษ   

        ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนต้นรัตนโกสินทร์   สามัญชนไทยตั้งชื่อลูกกันง่ายๆ พยางค์เดียวหรืออย่างมากก็ไม่เกินสองพยางค์   อย่างทอง  ขำ แจ่ม  เอี้ยง  ฉิม   อิน  จัน   หรือทองอิน  บุญมา   โดยมากชื่อเหล่านี้จะใช้ได้ทั้งหญิงและชาย  มีซ้ำกันมากมาย   ส่วนชื่อยาวและไพเราะมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต มักอยู่ในพระนามของเจ้านายเป็นส่วนใหญ่ ความนิยมตั้งชื่อยาวๆ ไพเราะเพราะพริ้ง และถือว่าเป็นของสูง ไม่เหมาะกับสามัญชน ในหมู่คนธรรมดาที่ไม่ใช่เจ้านายเริ่มนิยมการตั้งชื่อยาวๆด้วยภาษาบาลีสันสกฤตในสมัยรัชกาลที่ ๕   ยุคต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗  ชื่อคนไทยเริ่มยาวขึ้นเป็นสองพยางค์  ถือว่าเก๋ทันสมัยกว่าคนรุ่นพ่อแม่     อย่างชื่อของลูกๆแม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดิน คือ ประพนธ์  ประพันธ์  ประพัทธ์ และประไพ   เป็นต้น    

          คตินิยมในการตั้งชื่อมาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในยุคจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ที่รัฐกำหนดให้ผู้ชายและผู้หญิงมีชื่อเหมาะสมกับเพศของตน ชื่อของคนไทยจึงมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ  ชื่อที่ทันสมัยในยุคหนึ่งก็กลายเป็นล้าสมัยในอีกยุคหนึ่ง คงยากที่จะพบว่าในปัจจุบันพ่อแม่จะให้ชื่อว่า ประพนธ์ หรือ สมใจ   เหมือนในสมัยอดีต แต่ที่นิยมกันมากคือการตั้งชื่อให้ถูกต้องตามหลัก   หลักที่ว่านี้มีอยู่ ๒ หลัก คือตามตำราทักษาปกรณ์ และหลักตัวเลข ซึ่งหลักทักษาปกรณ์ เป็นหลักที่นิยมกันแพร่หลายมากที่สุด

           ตำราทักษาปกรณ์ เรียกอีกอย่างว่า อัฏฐเคราะห์ มาจากอินเดีย เข้ามากับพุทธศาสนา  เดิมนิยมใช้ตั้งฉายาพระสงฆ์เมื่อบวช  ตำรานี้มีหลักอยู่ว่าการตั้งชื่อคนควรให้สอดคล้องกับสิริมงคล ๗ อย่าง คือ อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี  บริวาร และหลีกเลี่ยงข้อไม่ดี ๑ อย่างคือกาลกิณี  โดยเอาตัวอักษรและวันเกิดเป็นหลักในการตั้งชื่อ

           คำว่า  เดช   หมายถึงอำนาจวาสนา เกียรติคุณ ได้รับการยกย่องสรรเสริญ 

                    อายุ   ก็คือมีอายุยืนร่างกายแข็งแรง 

                    ศรี   หมายถึงเสน่ห์   โชคลาภรวมไปถึงความสำเร็จ     

                    มูละ  หมายถึงทรัพย์สินหลักฐานบ้านช่อง 

                    อุตสาหะ  คือความขยันหมั่นเพียร  

                    มนตรี   หมายถึงตำแหน่งหน้าที่การงานดี มีผู้อุปถัมภ์ให้ความก้าวหน้า 

                   บริวาร    หมายถึงบุตรภรรยาสามี เพื่อนและลูกน้องที่จะช่วยเกื้อหนุน 

                   กาลกิณี   เป็นตัวเคราะห์ ควรหลีกเลี่ยงไม่เอามาไว้ในชื่อ

คนเกิดวันอาทิตย์     ถือว่าบริวาร คือสระทั้งหมด,  อายุ ได้แก่ตัว  ก ข ค ฆ ง,   เดช คือจ ฉ ช  ฌ ญ, ศรีได้แก่ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ,   มูละได้แก่ ต ถ  ท ธ น,  อุตสาหะ คือ ป ผ พ ภ ม, มนตรี  คือ  ย ร ล ว  และกาลกิณี คือ ส ห ฬ อ

คนเกิดวันจันทร์    บริวาร คือ ก ข ค ฆ ง, อายุ คือ จ ฉ ช  ฌ ญ, เดช คือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ,  ศรี คือ ต ถ  ท ธ น,มูละ คือ ป ผ พ ภ ม ,อุตสาหะ คือ ย ร ล ว ,มนตรี คือ ส ห ฬ อ และกาลกิณี คือสระทั้งหมด 

คนเกิดวันอังคาร    ตัวกาลกิณี คือ ก ข ค ฆ ง ควรหลีกเลี่ยง ,   บริวาร คือ จ ฉ ช  ฌ ญ ,อายุ ได้แก่ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ, เดชคือ ต ถ  ท ธ น,ศรี คือ ป ผ พ ภ ม,มูละได้แก่ ย ร ล ว ,อุตสาหะ คือ ส ห ฬ อ  และมนตรี คือสระทั้งหมด

คนเกิดวันพุธ  ตอนหลังมาแบ่งเป็นพุธกลางคืนเรียกว่าราหู  พุธกลางวันเรียกว่าพุธ แต่ในตำราทักษาปกรณ์เดิมไม่ได้แบ่ง  บริวาร คือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ, อายุ คือ ต ถ  ท ธ น,  เดช คือ ป ผ พ ภ ม,  ศรี ได้แก่ ย ร ล ว , มูละ คือ ส ห ฬ อ, อุตสาหะได้แก่สระทั้งหมด , มนตรี คือ ก ข ค ฆ ง   และกาลกิณีคือ จ ฉ ช  ฌ ญ

คนเกิดวันพฤหัส   บริวารคือ ป ผ พ ภ ม, อายุ คือ ย ร ล ว , เดช คือ ส ห ฬ อ, ศรี คือสระทุกตัว, มูละ คือ ก ข ค ฆ ง,อุตสาหะ คือ จ ฉ ช  ฌ ญ,  มนตรีคือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ  และกาลกิณี คือ ต ถ  ท ธ น

คนเกิดวันศุกร์  บริวาร คือ ส ห ฬ อ,  สระทั้งหมดเป็นอายุ, เดช คือ ก ข ค ฆ ง,ศรี  คือ จ ฉ ช  ฌ ญ, มูละ คือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ,อุตสาหะคือ ต ถ  ท ธ น, มนตรี คือ ป ผ พ ภ ม และกาลกิณี คือ ย ร ล ว

คนเกิดวันเสาร์   บริวารคือ ต ถ  ท ธ น, อายุ คือ ป ผ พ ภ ม, เดช คือ ย ร ล ว, ศรี คือ ส ห ฬ อ, มูละ ได้แก่สระทั้งหมด  อุตสาหะ คือ ก ข ค ฆ ง,มนตรี คือ จ ฉ ช  ฌ ญ และกาลกิณี คือ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ

             จากการศึกษาของผู้เขียน พบว่า ในยุค 2010 นี้    ประชาชนเริ่มมีความรู้มากขึ้น ความนิยมในการเปลี่ยนชื่อจึงมีมากขึ้นด้วย   ส่วนใหญ่  เป็นชื่อที่เกิดจากการนำคำ ๒ คำขึ้นไปมารวมกัน ซึ่งคำที่นิยมนำมารวมกันมากที่สุดคือ คำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤต แสดงให้เห็นว่าค่านิยมในการเลือกใช้คำในการตั้งชื่อยังคงนิยมใช้คำสละสลวย อ่านยาก และมีความหมายดี ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา แต่ได้มีการปรับรูปศัพท์ของคำหลายคำให้มีเสียงสระ หรือรูปพยัญชนะที่แตกต่างจากคำต้นฉบับเดิม เช่น คำว่า “ณิชา”  เขียนเป็น “ณิฌา ”  ใช้  ฌ แทน ซึ่งทำให้แปลความหมายตามรูปศัพท์ไม่ได้ หรือ คำว่า “ชมพูนุท”  เขียนเป็น  “ชมพูนุทฆ” เติม ขึ้นมาอีกหนึ่งตัว   หรือ “บัณฑิต” ปรับเสียงสระเป็น“บัณฑิตา”   เป็นต้น ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับผู้ตั้งชื่อนำหลักเกณฑ์อื่นเช่น หลักตัวเลข มาประกอบการตั้งชื่อด้วย เพื่อให้เมื่อบวกเลขแล้ว ได้ผลลัพธ์ตัวเลขที่เป็นคุณหรือด้านดีกับเจ้าของชื่อ รวมทั้งชื่อผู้หญิงมักนิยมให้อ่านออกเสียงเป็นเสียงยาวให้ดูอ่อนหวานเพื่อแสดงความเป็นผู้หญิง ซึ่งต่างกับผู้ชายที่ชื่อจะนิยมเป็นเสียงสั้น เพื่อแสดงความเข้มแข็ง หนักแน่น ทำให้เกิดรูปศัพท์อีกลักษณะหนึ่ง

                ในแง่มุมของคติความเชื่อในการตั้งชื่อ พบว่า  แต่เดิมมีความสอดคล้องกับหลักของทักษาปกรณ์ที่เน้นเรื่องวันเกิด ที่สัมพันธ์กับพยัญชนะวรรคต่างๆ  และการยกเว้นพยัญชนะกาลกิณี และการเลือกพยัญชนะวรรคในการตั้งชื่อตามคตินิยมที่ผู้หญิงนิยม ตั้งชื่อขึ้นต้นด้วยพยัญชนะวรรค ศรี ผู้ชาย นิยมขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ วรรคเดช แต่ปัจจุบันไม่เคร่งครัดเหมือนอดีต แสดงให้เห็นว่าขนบในข้อนี้อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการตั้งชื่อในปัจจุบัน  และจากข้อมูลที่ลองสำรวจดูการตั้งชื่อของเพศหญิง พบการใช้พยัญชนะวรรคเดช กับวรรคศรี ในจำนวนใกล้เคียง  แสดงให้เห็นว่าผู้ตั้งชื่อไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องความสวยงาม มีเสน่ห์แบบผู้หญิงเท่านั้น ยังเน้นเรื่องอำนาจ วาสนา เกียรติยศ เช่นเดียวกับชายมากกว่าในอดีต  และมีการตั้งชื่อกระจายในทุกๆวรรคที่สามารถใช้ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากหลักเกณฑ์ที่มีมาแต่โบราณ โดยมุ่งหมายความพอใจและความต้องการของผู้ตั้งชื่อมากกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้การตั้งชื่อในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้เกิดชื่อแปลกๆ อ่านยากเข้าใจความหมายยาก และไม่คุ้นเคยกับการใช้เขียน-อ่านในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร แต่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ตั้งชื่อเพราะเห็นว่าแปลก หรือมีจุดเน้นที่ง่ายต่อการจดจำ  ซึ่งการตั้งชื่อในลักษณะนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไป

           จึงพอจะสรุปได้ว่าพ่อ แม่ สมัยนี้ยังคงความนิยมตั้งชื่อที่เป็นมงคล ถูกต้องตามตำรากันตั้งแต่เกิด โดยมีความคิดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ชื่อ ที่ไพเราะ เป็นมงคล ให้กับลูกที่กำลังจะเกิดมา ทำให้การตั้งชื่อตามหลักทักษาปกรณ์แพร่ หลายมากขึ้นจนมีตำรา หรือผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการตั้งชื่อออกมามากมายโดยจะสรรหาชื่อที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนคนอื่น มีรูปลักษณ์ทางภาษาที่แปลกหรือมีหลายพยางค์มากกว่าสมัยก่อนที่แสดงลักษณะเด่นของผู้เป็นเจ้าของชื่อ เช่น ออกเสียงแปลก สะกดแปลก เพื่อให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้ง่าย สะดุดตา สะดุดหู ทำให้อยากรู้จักเจ้าของชื่อ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 332998เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องที่ดีมากเลย ได้ดูการตั้งชื่อของตนเองและเพื่อนร่วมงาน ถ้ามีอะไรดี ๆ แบบนี้อีก บอกกันด้วยนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท