เมื่ออาจารย์จัดเทควันโด แม่โดมเกมส์ 2010


เคารพผู้อื่น เคารพกติกา สามัคคีที่แดนโดม

แม่โดมเกมส์เนื่องในโอกาส 75 ปีธรรมศาสตร์ปีนี้   แต่ละคณะเป็นกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาหนึ่งประเภท (ท่านว่า..เพื่อการมีส่วนร่วม)  คณะเศรษฐศาสตร์รับผิดชอบเทควันโด  โดยมีคณบดีเป็นประธานกรรมการจัดการแข่งขัน

 

“ไม่มีอะไรมากครับอาจารย์  เพราะจะมีทีมเทคนิคกีฬาของมหาวิทยาลัยและมีตัวแทนของสมาคมฯช่วยดูแลเป็นหลัก”  ท่านรองฯอธิการฝ่ายกิจการนักศึกษาบอกเรา

 

เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเทควันโดเลย    แต่ก็เป็นเรื่องน่าเรียนรู้ว่าเขาจัดแข่งกีฬากันอย่างไร

 

เตรียมงาน   

 

แต่เมื่อเริ่มคุยเตรียมงาน จึงได้รู้ว่า  “ต้องทำแทบทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเทคนิคกีฬา”   เราขอให้ ดร.ประชา คุณธรรมดีมาช่วยเป็นรองประธาน  และมีทีมเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 20 คน   นักศึกษาอาสาสมัครอีก  30 คน    งบประมาณถูกตัด  เนื้องานถูกเพิ่ม    อาจารย์ประชาเป็นรองประธานที่เยี่ยมยอด  ทันเกม และตัดสินใจฉับไว  เลขานุการคณะและเจ้าหน้าที่ทุกคนกระตือรือร้น   วางแผนอย่างดีสำหรับการทำงานที่ไม่เคยทำกันมาก่อน  เป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับกรรมการจากสมาคมฯอีก 20  คน  และนักกีฬาเทควันโดและโค้ชอีกนับสองร้อยคนจาก 66 สถาบัน ...

 

เมื่อตกลงลงเรือแล้ว ก็ต้องช่วยกันพายให้ถึงฝั่ง.. น้ำ อาหาร  สนาม อุปกรณ์ ป้ายชื่อ ตารางแข่ง  รายงานผล  ฯลฯ

 

โชคดีมีซีเกมส์ที่เมืองเวียงจันทน์ให้ดูเป็นไอเดียก่อนเริ่มจัดงาน... และก็ทำให้รู้สึกว่า  ต้องจัดงานให้ดีที่สุด  ด้วยความคิดนี้   จึงต้อง “เก็บรายละเอียดทุกเม็ด” ที่กรรมการฝ่ายเทคนิคขอมา   ถ้าจัดการให้ได้ก็จัดการให้รวมถึงคณะใช้เงินสมทบบางส่วนด้วย  ..อย่างเรื่องกล้องประจำสนาม   อาจารย์ประชาจะลงทุนเอากล้องวิดีโอตัวเองมาให้ใช้  ...  แต่เราไม่อยากให้ต้องลงทุนส่วนตัวขนาดนั้น  จึงเสนอขอจากมหาวิทยาลัย  โชคดีที่ท่านอธิการใจดี  ให้เอากล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัยมายืมใช้ได้

 

อาจารย์ติณณ์  เผ่าวงศากุล  สตาฟโคชทีมชาติไทย  หัวหน้ากรรมการผู้ตัดสินในครั้งนี้ ท่านบอกทีหลังว่า   “ธรรมศาสตร์เป็นที่แรกที่มีกล้องให้เรา”  ...อ้าว..เหรอ...  แต่บอกแล้วไงว่าจะทำให้ดีที่สุด ..ถ้าทำได้ก็ทำให้.. เพราะอยากให้งานออกมาดี

 

การแข่งขัน ความสำเร็จอยู่ที่ผู้คุมกฎ

 

การแข่งขันครั้งนี้มีสองสนาม  แต่ละสนามมีกรรมการ 4 คน 4 มุม   ดูเรื่อง การต่อสู้เข้าเป้า  impact  และอะไรอีกอย่าง (อาจารย์ติณณ์อธิบายแต่เราลืมแล้ว)  มีกรรมการอีกคนควบคุมเกมในสนาม    ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเห็นว่ามีกล้องสนามหรือต้องการให้นักกีฬาพักหรืออย่างไร  โค้ชทีมต่างๆ ขยันประท้วงกันจัง  ทำให้ต้องหยุดเกมออกมา replay ดูเกมที่หน้าจอกันเป็นระยะๆ แต่ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี

 

เห็นกรรมการและอาจารย์ติณณ์ทำงานแล้วเครียดแทน  เพราะต้องอยู่ตัดสินตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น  อย่างวันสุดท้ายก็แข่งกันถึง 78 คู่    นึกถึงตอนตัวเองตรวจข้อสอบ  กว่าจะตรวจได้แต่ละข้อต้องใช้สมาธิสูงมาก   เป็นกรรมการตัดสินกีฬาที่ต้องดูไม่กระพริบตาแบบนี้  ก็ต้องใช้สมาธิสูงเช่นกัน

 

เจออาจารย์ติณณ์  4-5 วัน  คุยกันรวมแล้วได้สักครึ่งชั่วโมง  แต่ก็ได้ความรู้และข้อคิดมากมาย  ตอนแรกๆจะคุยเรื่องการทำงาน กึ่งๆรายงาน  เช่น   “นักกีฬามาสาย บอกว่าขึ้นรถผิด  แต่อย่างนี้ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ เพราะคู่ต่อสู้มารอแล้ว   และหากช้าไปก็จะทำให้โปรแกรมคู่อื่นๆรวน  ก็ต้องตัดสิทธิ์” กรรมการต้องรักษากฎ  เราสังเกตว่าวินัยจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับกรรมการเช่นกัน   กรรมการจะตรงต่อเวลา  ประชุมก่อนแข่ง  ประชุมหลังแข่ง...นั่งติดสนาม  มีสมาธิ..เป็นระบบ  ถ้าไม่มีวินัยในการทำงาน เกมคงจะแย่   พวกเราอาจารย์ยังไม่มีวินัยเคร่งครัดในการทำงานแบบนี้...  เราเพิ่งตระหนักถึงการฝึกคนด้วยกีฬา..

 

ความเป็นเทควันโด 

 

วันสุดท้ายจึงได้คุยเรื่องสาระของเทควันโด อาจารย์ติณณ์อธิบายได้น่าฟัง  “ เท หมายถึงเท้า   ควัน หมายถึง มือ  โด หมายถึงจิตใจ” ..อาจารย์ใช้คำทำนองนี้ .. (ถ้าเป็นภาษาญี่ปุ่น  โด จะหมายถึงวิถี ... เราคิดว่า เสน่ห์ของกีฬาตะวันออกคือ วิถีพลังที่ออกมาจากจิตใจ  มีปรัชญา)   “บางคนเริ่มด้วย   เท...เทคนิคการใช้เท้า  แต่ที่จริง  สิ่งแรกที่ต้องฝึกก่อนคือ  โด..”  เราชอบคำอธิบายตรงนี้ของอาจารย์ติณณ์  “เล่นเทควันโดจึงฝึกคน”

 

“ “การต่อสู้” จะใช้เทคนิคและพลัง   แต่เมื่อเป็น “กีฬา” ก็ต้องดึงบางสิ่งบางอย่างออกเพื่อให้เบาลงกว่าการต่อสู้และอยู่ในเกม    อย่างเช่น  เทควันโด   จะไม่อนุญาตให้ใช้บางเทคนิค  เช่น  ศอก  เข่า  แต่คุณใช้พลังได้เต็มที่    ส่วน คาราเต้โด  ใช้เทคนิคได้ทุกอย่างแต่จะจำกัดพลัง  ชกออกไปแล้วก็ต้องดึงมือกลับ”   ..เราฟังอย่างตื่นเต้นสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่เพิ่งเคยได้รู้ถึงความแตกต่างระหว่างการต่อสู้และการกีฬา .. แต่เทควันโดก็โหดเอาเรื่อง  เพราะนักกีฬาหนึ่งคนแข่งต่อในวันเดียว  ที่ผ่านเข้ารอบลึกๆจึง “กรอบ” กันทั้งมุมแดงมุมน้ำเงิน .. หรือจะทดสอบความเป็นเลือดนักสู้ด้วย..

 

แล้วอาจารย์ติณณ์ก็อธิบายเรื่อง “ท่ารำ”  หรือ “พุมเซ่”    ซึ่งเราดูแทบไม่ออกเลยว่า  ใครเก่งไม่เก่ง   อาจารย์บอกว่า  “ในขณะที่คาราเต้โด ต้องการความแข็งแกร่ง   แต่พุมเซ่ต้องการความถูกต้องของการวางตำแหน่งของมือและเท้า  และการแสดงออกที่ต่อเนื่องลื่นไหล  บางช่วงต้องมีพลังเข็มแข็ง  บางช่วงจะเบาลง  แต่จะต้องต่อเนื่อง”   เราพยักหน้า พอเข้าใจมากขึ้น  คนดูไม่เป็นคงให้คะแนนไม่ถูก    บางคนจึงมีการประท้วง

 

การตัดสิน กับ สปิริตกรรมการ

 

“บางครั้ง การประท้วงอาจเพื่อหวังผลกดดันกรรมการ   แต่กรรมการต้องนิ่งและมั่นคง   กรรมการใหม่อาจหวั่นไหว   พุมเซ่จึงต้องใช้กรรมการที่มีประสบการณ์สูง   มีกรรมการ 5-7  คน  ให้คะแนน   การคิดคะแนนจะตัดแต้มสูงสุด- ต่ำสุดออก  แล้วคิดคะแนนเฉลี่ยตรงกลาง   โดยวิธีนี้จะช่วยลดความลำเอียงของกรรมการคนใดคนหนึ่ง   ที่ให้คะแนนก็เป็นเครื่องที่ต่างคนต่างกดคะแนนมารวมกันอัตโนมัติ    เราพยายามใช้วิธีที่จะทำให้การตัดสินมีความน่าเชื่อถือ”

 

แต่ถ้ากรรมการทั้งหมดฮั้วกันล่ะ...   เราแกล้งถาม  “กรรมการแต่ละคนก็เป็นผู้ใหญ่ ได้รับการยอมรับ  จะทำอย่างนั้นไปทำไมให้เสียชื่อเสียง”   อาจารย์ติณณ์ตอบอย่างจริงจัง

 

สุดท้าย

 

30 มค 53 เทควันโดแม่โดมเกมส์เสร็จสิ้นสมบูรณ์ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ต้องยกความดีให้อาจารย์ประชาและเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และกรรมการฝ่ายเทคนิคของสมาคมเทควันโดทุกท่าน   มีเพียงปัทมาวดีที่เวลาเขาประกาศชื่อคนมานั่งเป็นประธานจะทำอะไรไม่ถูก  แต่พอจะรู้งานเรื่องแจกเหรียญและมัสคอตนกปรีดี

 

น่าเสียดายที่งานนี้ไม่ได้สัมผัสกับนักกีฬาโดยตรง  อยากรู้ว่าความรู้สึกและจิตวิญญาณเขาเป็นอย่างไร  ...  แต่งานนี้ก็สัมผัสได้จางๆถึง...แรงจูงใจและผลประโยชน์..ที่อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

 

ขอบคุณทุกท่าน

 

 

หมายเลขบันทึก: 332666เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2010 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ หลาน ครูอรนุช

น่าสนใจมากค่ะ ครูอ้อยจะติดตามอ่านต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท