เรื่องดีที่ มศว. : KM Workshop คณะพยาบาลศาสตร์ (๒)


ผู้เข้าประชุมอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจการเล่าเรื่องและการฟังอย่างลึกซึ้งมากนัก

ตอนที่
หลังพักรับประทานอาหารว่าง ดิฉันพูดถึงความรู้ ๒ ประเภท ความรู้แจ้งชัดและความรู้ฝังลึก การเปลี่ยนสถานะของความรู้ ๒ ประเภท ต่อจากนั้นเป็นกิจกรรม “ตีความ KM” ผู้เข้าประชุมได้ดู VDO รพ.บ้านตาก ดิฉันขอให้ผู้เข้าประชุมทั้งดูและฟังอย่างลึกซึ้ง แล้วช่วยกันบอกว่า KM คืออะไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง เขาทำอะไรกัน มีประโยชน์อย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับคนทำงาน.....ฟังแล้ว ดิฉันคิดว่าการอ่านหนังสือ KM มาบ้างก่อนหน้านี้ คงมีผลต่อคำตอบของผู้เข้าประชุมไม่มากก็น้อย

ดิฉันอธิบายแนวคิด KM เปรียบเทียบการจัดการความรู้และการวิจัยในฐานะที่เป็นเครื่องมือสร้างความรู้ การจัดการความรู้ ๒ ประเภท เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ การประชุม ๒ วันนี้จะเน้นที่การจัดการความรู้ฝังลึก

ต่อจากนั้นเราให้ผู้เข้าประชุมได้ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้งด้วยการให้ฟังเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คุณธวัช หมัดเต๊ะ แนะนำมา และคุณแหม่ม รัตนากร บุญกลาง ลูกน้องที่ มวล. ช่วยค้นหาเพลงและสำเนามาให้ใช้ เมื่อถามว่าผู้ฟังจับประเด็นอะไรได้บ้างจากการฟังเพลงนี้ ได้คำตอบที่หลากหลาย บางคนให้เหตุผลในคำตอบของตนเองที่เกินกว่าเนื้อหาในเพลง หลายคนโยงคำตอบไปถึงเรื่องการจัดการความรู้

ได้เวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ทีม มศว. สั่งอาหารมาจากนครนายก มีอาหารหลายอย่าง เช่น พล่าไก่ ปลาทอด ฯลฯ ตอนที่เขียนบันทึกนี้จำเมนูไม่ค่อยได้ แต่บอกได้ว่าอร่อยมาก

ช่วงบ่ายคุณพรรณใช้กิจกรรม “ปลาโลมา” เริ่มต้นเรียกสมาธิผู้เข้าประชุม กว่าจะเล่นกันถูก เราก็ได้หัวเราะกันจนน้ำตาไหล เมื่อรู้หลักก็เล่นกันได้ถึง “ปลาโลมาตัวที่ ๕” เราใช้กิจกรรม “เรือกำลังจะล่ม” แบ่งกลุ่มผู้เข้าประชุมเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๔ คน

 

ชาว มศว. เมื่อเรือกำลังจะล่ม

 

ท่าทางแบบนี้ไม่รู้ว่าสนุกหรือเหนื่อย

 

ชาววัง ๓ คนกำลังชี้นิ้ว

ดิฉันบอกให้ฟังก่อนว่าการฟังอย่างลึกซึ้งและการเล่าเรื่องเป็นอย่างไร ก่อนให้ผู้เข้าประชุมแต่ละกลุ่มผลัดกันเล่าเรื่อง ใช้เวลารอบละ ๕ นาที เริ่มจาก “เรื่องแย่ๆ ที่ยังแก้ไม่ได้” เปรียบเทียบบรรยากาศในกลุ่มและความรู้สึกกับการเล่าเรื่อง “เรื่องดีๆ ที่ประทับใจ” ตามด้วยการฟังดิฉันเล่าเรื่อง “เมนูไข่” ให้คุณพรรณฟัง หลังจากนั้นเราให้ผู้เข้าประชุมจับคู่ผลัดกันเล่าเรื่อง “เทคนิคการทำงานที่ใช้แล้วได้ผลดี” ขณะที่คนหนึ่งเล่าให้อีกคนหนึ่งจดบันทึก

 

กลุ่มย่อยฝึกเล่าเรื่อง

เราเอาบันทึกที่แต่ละคนจดได้มาวางเรียงให้ทุกคนดูว่ามีบันทึกไหนที่มีความรู้ “How to” ที่เป็นเทคนิควิธีการที่น่าสนใจบ้าง พบว่ามีอยู่เพียง ๒-๓ แผ่น นอกนั้นเป็นวิธีการที่เรามักเห็นทั่วๆ ไป เช่น วางแผนการทำงาน จัดลำดับความสำคัญ......

 

อ่านบันทึกที่ตัวเองและเพื่อนจดได้

ดิฉันอธิบายเพิ่มเติมว่าเราใช้การเล่าเรื่องและการฟังอย่างลึกซึ้งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติ เรื่องที่เอามาเล่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ เป็นความสำเร็จเล็กๆ เรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ พร้อมยกตัวอย่างเรื่องเล่าในเครือข่ายเบาหวาน  และบอกหลักของสุนทรียสนทนาและ AI เพิ่มเติม

ช่วงสุดท้ายของการประชุมวันนี้ เราให้ทุกคน AAR ผู้เข้าประชุมอยากรู้เรื่อง KM ต่อไปอีก ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร

ระหว่างที่ขับรถกลับเข้ากรุงเทพฯ ดิฉันคุยกับคุณพรรณว่าดูท่าทางผู้เข้าประชุมอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจการเล่าเรื่องและการฟังอย่างลึกซึ้งมากนัก พรุ่งนี้น่าจะต้องมีการสาธิตให้เห็นจริง

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 332581เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก่อนอื่น  ต้องขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ  2 วันที่อาจารย์มาช่วย  ทำให้ตัวเอง  และคิดว่าพี่ๆน้องๆในคณะฯเข้าใจ KM และแนวทางการจัดการความรู้เพิ่มขึ้นมากเชียวค่ะ  คิดว่าจะคอยกระตุ้นและสนับสนุนต่อไป  คุยกันในกลุ่มย่อยว่าจะจัดเป็นตลาดนัดความรู้  อาจจะเล็กๆ แต่เปิดให้เป็นเวทีให้เขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เพราะกลัวว่าเมื่อเข้าสู่บรรยากาศทำงานจะลืมบรรยากาศของวันที่ 23 - 24 มค. 2553 ไป อาจารย์ว่าจะดีไหมคะ   สำหรับตอนนี้คิดว่าเก็บ web  blog ของอาจารย์ และน้องๆเข้าแพลนเน็ตครบแล้ว  แต่ดูแล้วมีผู้ไปสร้างใหม่น้อยมากเลย  แต่จะพยายามส่งเสริมต่อไปค่ะ

  

เห็นด้วยที่อาจารย์พัชรินทร์จะจัดเวทีเล็กๆ ให้คนที่มีเรื่องราวการทำงานดีๆ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และชื่นชมกัน เป็นการเติมไฟไม่ให้มอด

ส่วนการเปิดบล็อก ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก แต่ทำอย่างไรให้มีการเขียนบันทึกอย่างต่อเนื่อง อาจชวนให้ผู้ที่เข้าประชุมบันทึกการเข้าร่วม workshop ในมุมมองของตนเอง หรือเมื่อมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็ให้เขาเอาเรื่องของตนเองมาลงในบล็อก ถ้าใครยังไม่มีบล็อกก็เอาลงในบล็อกของอาจารย์พัชรินทร์ก็ได้ พยายามให้เรื่องดีๆ ถูกเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้กันใน มศว.

ได้หารือในที่ประชุมคณบดีเรื่องการจัดตลาดนัดความรู้ "การสอนทางคลินิก" ผู้บริหารทุกคนให้การสนับสนุนค่ะ จะรีบหาเวลาสะดวกและลุยกันเลยนะคะ ตอนนี้ก็เอาเรื่องของอาจารย์ ๓ คนที่เล่าเมื่อวันที่ ๒๔ ไปคุยให้อาจารย์ที่วลัยลักษณ์ฟัง จะลองให้นักศึกษามีส่วนร่วมแบบที่ มศว. ดูบ้าง

มีทางให้อาจารย์เดินหน้าได้หลายทางค่ะ

วัลลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท