เคล็ดการแยกพระกรุออกจากพระโรงงาน : ตอนที่ ๑ พระเนื้อดิน


เริ่มด้วยการแยกความเก่าธรรมชาติ และความเก่าที่พยายามทำให้ “ดูเก่า” โดยช่างฝีมือในโรงงานผลิตพระ ที่มีศูนย์กลางการตลาดอยู่ที่ “ท่าพระจันทร์”

เมื่อผมเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการดูพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปยุคต่างๆนั้น ผมได้อาศัยความรู้เดิมที่ผมเคยมีด้าน ดิน หิน แร่ มาเป็นฐานของการเรียนรู้

แต่ในช่วงแรกๆ ผมก็มีปัญหากับ

  • การมองเนื้อ และความเก่า ของพระกรุ แยกออกจากพระโรงงานไม่เป็น
  • นอกเหนือไปจากการแยกกลุ่มวัสดุดินเผา ดินเหนียว และมวลสารที่ควรจะมีในพระกรุ ที่พระโรงงานไม่มี หรือ มีก็ทำได้ไม่เหมือน

ดังนั้น ทั้งๆที่ผมมีฐานความรู้ด้านแร่ ดิน หิน ทราย เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมก็ยังต้องเผชิญปัญหาทั้งสองด้านดังกล่าวในขณะเดียวกัน

ผมจึงหันมาเริ่มด้วยการแยกความเก่าธรรมชาติ และความเก่าที่พยายามทำให้ “ดูเก่า” โดยช่างฝีมือในโรงงานผลิตพระ ที่มีศูนย์กลางการตลาดอยู่ที่ “ท่าพระจันทร์”

ที่มีระดับฝีมือที่หลากหลายมาก ตั้งแต่

1.  การเลือกวัสดุที่มีความใกล้เคียงกับพระกรุ ทั้งส่วนที่เป็นเนื้อใน คราบกรุ และคราบผุ มาทำเป็นชั้นๆ แบบช่างฝีมือจริงๆ

2.  การทำให้ผิวไม่เรียบมีบางส่วนของพิมพ์พระหลุดหายไป หรือโปะซ่อนไว้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นตำหนิสำคัญ ที่ทำปลอมยาก

3.  ทำให้เกิดการกร่อน ทั้งแบบบางส่วนและทั่วถึง

4.  นำวัสดุอื่นที่มวลและสีอ่อนกว่ามาโปะเคลือบให้ดูเหมือนคราบผุ และคราบกรุเป็นชั้นๆ

ทั้งสี่ข้อนี้ ก็จะยังมีจุดที่สังเกตได้คือ

  • เนื้อพระโรงงานโดยรวมมักจะดูผุ อ่อนยุ่ย ไม่แกร่ง ผิวที่เหลือหลังจากสึกจะไม่เรียบมัน นอกจากจะใช้เนื้อเดิมที่มีมาแกะให้เป็นพระที่พิมพ์เล็กลงกว่าเดิม
  • เนื้อพระโรงงานจะมีการทำให้เกิดหลุมบ่อที่ผิวแบบดูกระด้างๆ
  • การกร่อนของพระโรงงานยังเกิดมีเหลี่ยมมุม ไม่มน ดูแข็งกระด้าง ผิวหยาบๆ ดูไม่นุ่มนวล
  • โดยธรรมชาติ ถ้ามีหินแร่ หรือทราย ให้สังเกตความมนของเม็ดทราย ที่ต้องมนด้านนอก และยังเหลือเหลี่ยมคมกว่าอยู่ด้านใน
  • โดยธรรมชาติ ผิวเม็ดทรายด้านนอกจะต้องมีรอยสึกเรียบๆ แต่ไม่มีรอยขัด ที่ผิวเม็ดทรายหรือแร่จะมน และนูนสูงกว่าเนื้อดินข้างๆแบบกลมกลืนกันกับดินรอบๆ
  • โดยธรรมชาติ บริเวณรอบเม็ดทรายมักมีร่องแยกระหว่างเม็ดทรายกับเนื้อดิน หรือรอยเม็ดทรายหลุด ที่ใช้ดูร่องรอยการผุในหลุมเม็ดทรายได้อีกชั้นหนึ่ง
  • พระโรงงานไม่มีรารักสีดำที่เกิดจากความเก่าแบบธรรมชาติบนผิวแกร่ง แต่เป็นสีพ่น หรือสีดำทาอยู่ที่ผิวทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงตามที่ควรจะเป็น
  • พระโรงงานมีการปิดบังผิว แบบผิวปิดด้วยคราบโปะที่หลุดง่าย หรือแบ่งเป็นชั้นๆ ยุ่ยๆอย่างชัดเจน ไม่เชื่อมต่อ หรือต่อเนื่องแบบเป็นเนื้อที่กลมกลืนกัน
  • บางทีการโปะวัสดุในพระโรงงานจนทำให้พิมพ์ทรง หรือศิลปะเพี้ยนไป ที่ต้องอาศัยการดูพิมพ์พระประกอบด้วย โดยการมองทั้งด้วยตาเปล่า และการมองผ่านเลนส์
  • บางทีพิมพ์พระดูยังสมบูรณ์ทั้งๆที่มีการกร่อนขององค์พระ ที่ผมเข้าใจว่าช่างฝีมือบางโรงงานเกิดความลังเลว่าจะทำให้กร่อนตรงไหน หรือโปะตรงไหนดี
  • ความไม่ลงตัวเหล่านี้ ก็สามารถเป็นจุดสังเกตเพื่อป้องกันตัวเองจากการหยิบพระโรงงานได้ในระดับหนึ่ง

Tawa1

การสึกกร่อน และคราบผุตามซอกหลืบและรารักตามจุดขอบของผิวแข็งที่องค์พระของพระกรุ

จะต้องแน่นและเนียน อย่างที่เห็น

Tawa2

การสึกกร่อนแบบธรรมชาติจะทำให้ผิวมน มีหลุมบ่อ และเม็ดทรายหรือแร่หินเรียบมนและมัน

ทุกอย่างที่ดูต้องนึกถึงความเป็นธรรมชาติของการผุกร่อน คราบผุ คราบกรุ ตามสภาพแวดล้อมของกรุ ที่ต้องศึกษามาเพื่อการพิจารณาประกอบด้วย

เรื่องนี้จะนำมาเล่าในโอกาสต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 331676เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2010 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มาสวัสดีปีใหม่ครับ

เรียนรู้และลงมือทำแบบอ.แสวงถึงจะได้เห็นของจริง ... ลำพังอ่านอย่างเดียวแบกตำราไปด้วยกลัวจะได้แต่แร่แน่.....

ได้ความรู้มากครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ การดมกลิ่นพระเครื่องจะช่วยได้ป่าวครับ

แล้วมีน้ำยา ที่ หยดลงเนื้อพระแล้วถ้าเป็นพระปลอมจะทำให้มีกลิ่นขึ้นมา มี จริงป่าวครับผม

ฝากตอบด้วยครับ อาจารย์

พระโรงงานจะมีกลิ่นใหม่ๆ ครับ

เรื่องน้ำยาอาจมีแต่คงเฉพาะบางเนื้อที่ต้องตรงกับน้ำยาครับ ที่ผมไม่ทราบ

แต่ดูที่ความเก่าแบบธรรมชาติง่ายกว่า

เพราะไม่มีใครยอมให้เราทำอย่างที่ว่าครับ

กัญญาพัฒน์ นคราวนากุลชัย

ถูกใจมากคับ ได้เรียนรู้กับคนที่รู้จิง คับ

จะเล่นอะไรก็ไม่ควรเริ่มต้นที่ของเก๊ครับ

สุดยอดเลยครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท