กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และ พระอรหันตธาตุ วัดท้ายดอน ชลบุรี


...กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และ พระอรหันตธาตุ...

.

.

.

.

.

"รัตนะที่ประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนา คือพระรัตนตรัย


หนึ่งในนั้น คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ปูชนียวัตถุมากมายถูกสร้างขึ้น


เพื่อระลึกถึงพระองค์


แต่พระบรมสารีริกธาตุ


เป็นปูชนียวัตถุเพียงสิ่งเดียว


ที่บังเกิดจากพระวรกายของพระองค์"

 

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่วัดราษฎร์ศรัทธา (วัดท้ายดอน)ที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีมาครับ พอดีเพิ่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือ เรื่อง พระบรมสารีริกธาตุ ของท่านอาจารย์ ทศพล จังพานิชย์กุล ก็เลยได้ทราบว่าที่เมืองไทย มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่หลายแห่ง แต่ที่ชลบุรี เราสามารถไปกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุได้ 2 แห่งครับ คือ ที่วัด ญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง และ อีกแห่งคือที่ วัดท้ายดอน อำเภอเมืองครับ

 

 

พระอุโบสถหลังเก่าวัดท้ายดอนที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ด้านล่างสามารถลอดผ่านพระอุโบสถได้

 

 

ในครั้งนี้ผมมาที่วัดท้ายดอนก่อนครับ เพราะมาซื้อของแถวศรีราชาพอดี การเดินทางก็สะดวกครับ ถ้ามาจากกรุงเทพ ก็มาทางถนนสุขุมวิทครับ แล้วเลยตลาดหนองมนมาสัก 1 กิโลเมตรก็จะเห็นซุ้มประตูวัดอยู่ทางซ้ายครับ สังเกตง่ายๆจะเห็นโบสถ์หลังใหม่ขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดจากถนนสุขุมวิทครับ พระบรมสารีริกธาตุนั้นจะประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถหลังเก่าครับ ซึ่งใต้โบสถ์ ผู้มาสักการะสามารถลอดผ่านใต้โบสถ์ที่พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ได้ด้วยครับ เพื่อความเป็นสิริมงคลครับ ภายในพระอุโบสถนอกจากจะมีพระบรมสารีริกธาตุ แล้ว ยังมีพระอรหันตธาตุของพระอริยสงฆ์หลายพระองค์ให้กราบสักการะด้วยครับ

 

 

 

ภายในพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ


สุดท้ายนี้ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุมาฝากครับ...

 

 

"พระบรมสารีริกธาตุ" คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ (บางทีอาจใช้คำว่า "พระบรมธาตุ" หรือ "พระสารีริกธาตุ" แทนได้)

 

ประเภทของพระบรมสารีริกธาตุ 

เนื่อง จากพระบรมสารีริกธาตุที่พบเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังพบลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเหมือนกระดูกคน เช่นกัน เท่าที่พบเห็นได้ตามพระธาตุเจดีย์ทั่วไป หรือตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

 

 

พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'พระธาตุ'

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบมากในประเทศศรีลังกา ไทย จีน พม่า ฯลฯ มีลักษณะตรงหรือใกล้เคียงตามลักษณะที่ปรากฏใน อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ในประเทศไทยมีประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วไป

 

 

พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'กระดูกคน'

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบเฉพาะเขตโบราณสถานในประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ 2 รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน

 

 

 

พระบรมสารีริกธาตุสัณฐานต่างๆ

(เพียงบางสัณฐาณเพราะพระบรมสารีริกธาตุมีหลากหลายสัณฐาณ)

 

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ 

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนและพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป พบว่ามีลักษณะที่มองจากภายนอกคร่าวๆได้ดังนี้

 

- มีด้วยกันหลายสี ตั้งแต่ใสดั่งแก้วจนกระทั่งขุ่น สีขาวดุจสีสังข์ สีทอง สีดำ สีชมพู สีแดง ฯลฯ

 

- มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ลักษณะเมล็ดข้าวสาร พันธุ์ผักกาด เมล็ดถั่วแตก แก้วใส ฯลฯ

 

- สามารถเสด็จมาเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดลงได้เอง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุ

 

- เปลี่ยนขนาดและสีสันเองได้

 

- ส่วนมากมักมีน้ำหนักค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับขนาด

 

 

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ

อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายความพระสูตรทีฆนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

 

1.นวิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน มิได้แตกย่อยลงไป มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์

 

2.วิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มิได้คงรูปร่างอยู่เป็นชิ้น แต่แตกย่อยลงเป็นเป็นจำนวนมาก กระจายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ

 

 

ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ท่านได้จำแนกลักษณะและขนาดของพระบรมสารีริกธาตุชนิด วิปฺปกิณฺณา ธาตุ ต่อไปอีกดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะภายนอก แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

 

1. (สี)เหมือนดอกมะลิตูม (สีพิกุล)

[อรรถกถาบาลีว่า สุมนมกุลสทิสา]

ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 6 ทะนาน

 

 

2. (สี)เหมือนแก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว (สีผลึก)

[อรรถกถาบาลีว่า โธตมุตฺตสทิสา]

ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน

 

 

3. (สี)เหมือนจุณ หรือ ผงทองคำ (สีทองอุไร)

[อรรถกถาบาลีว่า สุวณฺณจุณฺณา]

ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน

 

 

และเมื่อพิจารณาจากขนาด ท่านแบ่งได้เป็น 3 ขนาด ได้แก่

 

1.ขนาดเล็ก ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด

[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา]


บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเมล็ดพันธุ์ผักกาด

*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งมะลิตูม

 

 

2.ขนาดเขื่อง คือมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง


[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า มหาธาตุ มชฺเฌ ภินฺนตณฺฑุลมตฺตา]


บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะข้าวสาร

*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งแก้วมุกดา

 

 

3.ขนาดใหญ่ คือมีขนาดใหญ่ที่สุด ประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง


[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า อติมหตี มชฺเฌ ภินฺนมุคฺคามตฺตา]


บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเมล็ดถั่ว

*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งทองอุไร

 

 

 

 

ที่มา : ข้อมูลจาก http://www.relicsofbuddha.com

ภาพพระบรมสารีริกธาตุสัณฐานต่างๆจาก gotoknow.org/file/patumariya/Bd002.jpg



หมายเลขบันทึก: 330715เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีความสนใจในเรื่องพระอรหันตธาตุค่ะ

พอดีได้ vdo เรื่องพระอรหันตธาตุครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์เป็นต้นมา

ได้มาจากนครศรีธรรมราช น่าสนใจมากค่ะ

ขออนุโมทนาสาธุค่ะ

สวัสดีคุณจินตนาครับ

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมนะครับ

การสนใจศึกษาและกราบสักการะพระบรมสารีริกธาต และ พระธาตุของพระอริยเจ้า ถือว่าบูชาสิ่งที่ควรบูชานะครับ

อนุโมทนาสาธุครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท