ประชุมแนวทางพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ.


     เมื่อวันที่ 1 มิย.ผมได้รับเชิญจากสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ.(ที่อยู่ระหว่างขอจัดตั้งเป็นทางการ) ให้ประชุมแนวทางการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ. ซึ่งวันนี้มี ดร.ชอบ  ลีซอ ที่ปรึกษาฯสพฐ.ทำหน้าที่ประธาน

      โดยสาระสำคัญคือ สพฐ.มีงบประมาณที่อยากจะพัฒนาบุคลากรหลักในเรื่อง Leadership Sustainable Improvement for Directors โดยเชิญวิทยากรจาก Canada คือ Mr.Alex Holm มาประชุมปฏิบัติการ 2 วัน ในภูมิภาคต่างๆ  โดยต้องการให้บุคลากรหลักแต่ละระดับเกิดความรู้ ทักษะ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ความเป็น Leadership ในการพัฒนาคน พัฒนางานในองค์กรของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

      ผมได้อภิปรายในที่ประชุมว่า หากเป็นเรื่องนโยบายที่ สพฐ.จัดให้ก็ถือเป็นประโยชน์ แต่ไม่อยากเห็น สพฐ.พัฒนาบุคลากรแบบเฉพาะกิจ และดำเนินการเอง สพฐ.ควรทำหน้าที่เป็นหน่วยกำหนดนโยบาย และสนับสนุนส่งเสริมให้ สพท.และโรงเรียนเขาพัฒนาตามแนวคิด SBM โดยคอยเป็นตัวช่วยให้แก่หน่วยปฏิบัติที่หลากหลายให้เขาเลือกใช้บริการ และมีระบบข้อมูลสารสนเทศ มีระบบกำกับติดตามการพัฒนาที่ชัดเจน หากต้องการให้เกิดงานที่มีเป้าหมายชัดเจนอาจใช้การจ้างให้มืออาชีพเขาทำ แต่ไม่ใช่ทำเสียเอง    

       ในการพัฒนาระดับปฏิบัตินั้นต้องมีกรอบงานที่ชัดเจน และในการพัฒนาให้ใช้ Needs Assessment :NA และ"สมรรถนะ"(Competency)เป็นฐานในการพัฒนาบุคลากร ไม่ใช่ทำอย่างโปรยหว่าน แต่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ส่วนวิธีการพัฒนานั้นให้หน่วยปฏิบัติเขาเลือกใช้ หรือหาวิธีที่เหมาะสมกับบริบทของเขาเอง ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนาที่หลากหลาย  สพท.อาจใช้ศูนย์พัฒนาวิชาการเป็นฐาน โดยการจัดตลาดนัดวิชาการ  หรือประชุมปฎิบัติการฯลฯ เป็นตัวช่วยโรงเรียน  ส่วนโรงเรียนอาจใช้กิจกรรม "หนึ่งคนหนึ่งโครงการพัฒนาการเรียนรู้" หรือส่งคนไปพัฒนาตาม NA ฯลฯ โดยมีระบบการนำไปใช้ และติดตามประเมินผลจนเกิดความก้าวหน้าด้านมาตรฐานผู้เรียน  และมีผลต่อการประเมินเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น  ซึ่งส่วนกลางอาจช่วยในการสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลช่วยเหลือครู/บุคลากรในแต่ละโรงเรียน ตลอดแนวระหว่างที่เขากำลังพัฒนา เป็นต้น ถ้าทำอย่างนี้โรงเรียนก็เข้มแข็ง ศูนย์พัฒนาวิชาการก็เข้มแข็ง สพท.ก็เข้มแข็ง และสพฐ.สามารถพัฒนาเป็นระบบ เป็นรูปธรรมมากขึ้น  ซึ่งตอนนี้เรามีระบบประกันคุณภาพ  และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งแนวคิดนี้ผมเคยนำเสนอที่ประชุม กพฐ.ไปแล้ว

         ดีใจที่ที่ประชุมได้อภิปรายสนับสนุนแนวคิดนี้ และให้แนวคิดเรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยั่งยืนเพิ่มเติมอีก

หมายเลขบันทึก: 33044เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2006 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท