คิดนอกกรอบ


คิดนอกกรอบ

การจัดการองค์ความรู้

(Knowledge Management= KM)

         บทบรรยายพิเศษ เมื่อครั้งได้รับเกียรติเป็นวิทยากรรับเชิญของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 3 ในการประชุมสัมมนา เรื่องการสร้างความเข้มแข็งในการทำงาน ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา  ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2551  ณ โรงแรมอุดรแอร์พอร์ท จังหวัดอุดรธานี ในหัวข้อ  KM  เรื่องเล่า เร้าพลัง

คิดนอกกรอบ 

         เมื่อสองวันก่อน (14 พฤษภาคม 2551) ดิฉันได้รับการติดต่อจากท่านรองฯ วีระ  ทะคะทิน ให้ไปบรรยายพิเศษในโครงการ (Knowledge management=KM)  ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 ซึ่งการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เรื่องเล่า เร้าพลัง” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 3 และเจ้าหน้าที่ นักการภารโรง รวมทั้งสิ้น 87 คน  ฟังเกี่ยวกับวิธีคิด วิธีการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ ดิฉันงงและไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงถูกเลือกให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในครั้งนี้ เพราะดิฉันเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่งในสำนักงานเท่านั้นและเมื่อปีงบประมาณที่แล้วดิฉันก็ถูกประเมินผลงานอยู่ในกลุ่มต่ำด้วย จะมีผลงานเด่นที่จะเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างไร แต่เมื่อดิฉันได้รับเกียรติจากผู้บริหาร ระดับสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ในครั้งนี้ดิฉันก็ยินดีที่จะรับเชิญ แต่ก็อดที่จะถามผู้บริหารว่า “ท่านแน่ใจเหรอค่ะว่าสิ่งที่ดิฉันทำ คนอื่นจะยอมรับ เพราะในระหว่างที่ดิฉันทำงานชิ้นนี้นั้น ดิฉันพบปัญหา และอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของดิฉัน ดิฉันถูกต่อต้าน และขัดขวางตลอดเวลา คำตอบที่ได้คือ “ผมมั่นใจว่าสิ่งที่ผมเห็นจากงานที่คุณทำสำเร็จนั้น เป็น KM แน่นอน”   ฉะนั้นคนที่ฟัง คนที่อ่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินได้ว่าสิ่งที่ดิฉันคิด สิ่งที่ดิฉันทำ จากการบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็น KM หรือไม่

         ก่อนอื่นดิฉันขอแนะนำตัวเองก่อนน่ะค่ะเพื่อจะได้รู้ที่ไปที่มาว่าทำไมดิฉันจึงมีความคิดหรือการกระทำเช่นนี้ ปัจจุบันดิฉันดำรงตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาศึกษาชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สำนักงานการเขตพื้นที่การศึกษาประถมอุดรธานี เขต 3 รับผิดชอบงานด้านทุนการศึกษา มีนักเรียนในสังกัด 56,212 คน โรงเรียนในสังกัด 228 โรงเรียน ดิฉันจบปริญญาตรี สาขาการบัญชี จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ดิฉันขอเล่าขั้นตอนและกระบวนการทำงานของดิฉันเลยน่ะค่ะ

          ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551 ที่ผ่านมา ได้มีแขกมาพบที่สำนักงานเขตชื่อ คุณสมเกียรติ ดีปา เป็นตัวแทนมูลนิธิประเสริฐ-ทัศนีย์  พุ่งกุมาร  แจ้งว่ามาติดต่อขอข้อมูลเพื่อจะเป็นแนวทางในการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน งบประมาณตั้งไว้ที่ 70-80 ทุน ๆ ละ 7,000 บาท โดยคาดว่าจะมีเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทุนประมาณ เขตละ 20 ทุน จากการที่ดิฉันได้พูดคุยกับคุณสมเกียรติ ทำให้ทราบว่าคุณสมเกียรติได้เดินทางไปในหลาย ๆ เขตพื้นที่การศึกษา ทั้งในและนอกรอบจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 7-8 เขตพื้นที่ รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 3 โดยคุณสมเกียรติจะนำข้อมูลเบื้องต้นที่ได้ทั้งหมดไปวิเคราะห์และนำเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการมูลนิธิประเสริญ-ทัศนีย์  พุ่งกุมารเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

       เมื่อได้ฟังคำพูดของคุณสมเกียรติจบ แว็บแรกในหัวสมองของดิฉันเกิดความ         “คิดนอกกรอบ” ขึ้นมาทันที เพราะดิฉันถือสุภาษิตที่ว่า  “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ดิฉันเริ่มสอบถามและหาข้อมูลจากเขตพื้นที่การศึกษาอื่นที่คุณสมเกียรติได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ทันที และคำตอบที่ได้รับจากทุกเขตพื้นที่การศึกษาอื่น ได้มาตรงกันทั้งหมดคือ ได้รับการติดต่อจากตัวแทนมูลนิธิประเสริฐ-ทัศนีย์  พุ่งกุมาร เหมือนกันน่ะ แต่เห็นเงียบไป ไม่เห็นติดต่อมาอีก กำลังรออยู่เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะติดต่อกลับมา ดิฉันมองออกทันทีว่า นี่คือ ”จุดอ่อน” ของการทำงานตามระบบราชการ คือการทำงานแบบตั้งรับ รอรับการสั่งการและรอรับการประสานงานอย่างเดียว เปรียบเสมือนกับที่เราเป็นแม่ค้าขายเงาะที่ตลาด เราจะได้ขายเฉพาะกับคนที่มาตลาดเพื่อจะซื้อเงาะเท่านั้น พอตลาดวาย(ภาษาอีสาน หมายถึง ตลาดเลิกประมาณ 10.00 น.)  ก็ไม่มีคนมาตลาด แล้วเราต้องนั่งเฝ้าเงาะที่แผงตลาด เงาะก็เน่าคาแผง(เน่าค้างบนแผงตลาด)  ทุนหายกำไรหด

              ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจตนเองว่าเราจะทนนั่งดูให้เงาะเราเน่าคาแผงตลาดเหรอ? (ซึ่งดิฉันเปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนทั้ง 56,212 คนที่ยากจน และขาดแคลน) ทำไมเราไม่เอาเงาะใส่รถเข็น ไปเร่ขายตามบ้านคน เหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกนิดแต่เงาะเราขายหมดเร็วขึ้น กำไรก็ได้เพิ่มขึ้น  ดิฉันวางแผนทันทีว่าจะต้องเอา “จุดอ่อน” ของการทำงานตามระบบราชการมาเป็น“โอกาส” ในการหาทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 3 ทันที

        ดิฉันเริ่มยุทธศาสตร์ “การทำงานเชิงรุก” ทันที โดยนำหลักการเร่ขายเงาะตามบ้านมาใช้ ดิฉันเริ่มโทรศัพท์ติดต่อประสานงานกับคุณสมเกียรติ หากจะใช้ภาษาที่ฟังให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือดิฉัน”ตื๊อ” คุณสมเกียรติมาก ตื๊อเสียจนเกรงใจกลัวว่าท่านจะไม่เป็นอันทำงานอย่างอื่น มัวแต่รับโทรศัพท์จากดิฉัน แต่วิธีการตื๊อของดิฉันคือ “ตื๊อด้วยข้อมูล” ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจำนวนนักเรียน รายละเอียดแต่ละรายโรงเรียน ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งรายชื่อผู้บริหารโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ในเขต ดิฉันก็ยังส่งให้คุณสมเกียรติและวิธีการติดต่อประสานงานดิฉันได้แจ้งให้คุณสมเกียรติทราบว่า ไม่จำเป็นที่ท่านต้องเดินทางมาพบดิฉันทุกครั้งที่ต้องการข้อมูล เราสองคนสามารถติดต่อข้อมูลผ่านทางระบบ INTERNET ที่ใช้ระบบ E-mail และ Messenger  เป็นช่องทางการติดต่องานที่สะดวก รวดเร็ว แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งทำให้ดิฉันพบหน้าคุณสมเกียรติเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

 

         และแล้ววันหนึ่งประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากคุณสมเกียรติ แจ้งข่าวดีว่า คณะกรรมการมูลนิธิประเสริฐ-ทัศนีย์  พุ่งกุมาร ได้ตัดสินใจพิจารณานักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี เขต 3 แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้เท่าไหร่ คงจะเป็น 70 ทุนดิฉันและคุณสมเกียรติได้มีการหารือกันในประเด็นต่าง ๆ ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่คุณสมเกียรติย้ำตลอดเวลา คือทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ จะขอเข้าประเมินและตรวจเยี่ยมนักเรียนด้วยตนเองถึงที่บ้านและโรงเรียน เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่และข้อเท็จจริงของนักเรียนทุกคนที่ยื่นใบสมัครซึ่งมีทั้งหมด 161 ราย ดิฉันได้นำเรื่องนี้ปรึกษาหารือกันภายในเขตพื้นที่ ซึ่งความคิดนี้มีทั้งผู้เห็นด้วย และคัดค้าน โดยเสียงคัดค้านจากเจ้าหน้าที่เขตบางท่าน ที่ดิฉันได้ยินคือ “จะให้ใครก็ให้ไปเลยซิ กะอีแค่เงิน 5,000 บาท ทำไมต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก แต่ดิฉันไม่คิดอย่างเขา เพราะดิฉันคิดว่าทำอย่างไรให้เจ้าของเงิน เขามีความพึงพอใจและเต็มใจที่จะให้ ตรงกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิประเสริฐ-ทัศนีย์  พุ่งกุมาร  มากที่สุด และความคิดที่เหนือกว่านั้นคือดิฉันได้วางแผน  “คิดต่อยอด” ไว้แล้วคือ

      1.การไปตรวจเยี่ยมบ้านเด็กทั้ง 161 รายที่ยื่นใบสมัครมานั้นเป็นไปได้ยากมากเพราะต้องใช้คนจำนวนมาก และงบประมาณที่สูงมาก ในเมื่อมีองค์กรเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกับเรา ซึ่งเขามีศักยภาพในตรงนี้สูง ทำไมเราไม่ดึงเอาศักยภาพของเขามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทางราชการ

        2. ดิฉันต้องการเก็บข้อมูลดิบจากครอบครัวนักเรียนโดยตรง หากลำพังหน่วยงานราชการจะดำเนินการเองเป็นไปไม่ได้แน่ เพราะไม่เคยมีงบประมาณมารองรับดิฉันจึงดึงเอามูลนิธิเข้ามาเป็นพันธมิตรและเครือข่ายของดิฉันทันที

         3.ดิฉันวางแผน “คิดต่อยอด” โดยการจัดเก็บภาพถ่ายสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน ในรูปแบบสื่ออิเลกทรอนิคส์คือ CD แล้วเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังทีหลังว่าดิฉันเอาไปต่อยอดอย่างไร

            จากความร่วมมือและประสานงานอย่างต่อเนื่องกับทางทีมงานของมูลนิธิฯ ผ่านทางคุณสมเกียรติ  ผลปรากฏว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานีเขต 3 มีนักเรียนได้รับทุนการศึกษา พร้อมด้วยเครื่องอุปโภค จากมูลนิธิประเสริฐ-ทัศนีย์  พุ่งกุมาร จำนวนถึง 143 ราย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 756,000 บาท  ซึ่งเกินความคาดหมายมากที่เขาตั้งใจจะให้เราแค่ 20 ทุน หรือเพียง 100 ทุนในภาพรวมทั้งจังหวัดโดยเขตพื้นที่การศึกษาเราลงทุนไปเพียง 1,132 บาท เป็นค่าถ่ายเอกสารข้อมูลแจกให้คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายในวันที่มีการประชุมร่วมกันเท่านั้น

       ท่านยังจำคำของดิฉันได้หรือไม่ค่ะที่บอกว่า “คิดต่อยอด” เดี๋ยวเรามาฟังกันน่ะค่ะว่าดิฉันเอาไปต่อยอดอย่างไร วันหนึ่งขณะขับรถกำลังจะไปทำงานเห็นคนเดินข้ามถนนมาจำได้ว่าเป็นคนอำเภอหนองหาน ดิฉันจึงจอดรถและชวนเขาไปด้วยกัน เราสองคนคุยกันไปเรื่อยเปื่อย ดิฉันได้เล่าให้เขาฟังถึงเรื่องความภาคภูมิใจที่สามารถขอทุนการศึกษาจากมูลนิธิให้กับนักเรียนได้ เขาชื่นชมในความตั้งใจจริงของดิฉัน และเขาก็ได้เอ่ยคำหนึ่งขึ้นมา “แล้วผมจะช่วยคุณอีกแรง”  โอ้โฮ้ "โอกาส"เป็นขององค์กรดิฉันอีกแล้วค่ะ "ดิฉันเป็นคนที่สามารถทำงานราชการได้ทุกเวลา สถานที่และโอกาส“  ความเป็น “นักขายมืออาชีพ” เริ่มขึ้นทันที ดิฉันได้มอบแผ่น CD พร้อมเบอร์โทรศัพท์ให้ คุณชัยวัฒน์  พิบูลย์ศิริกุล  ต่อมาประมาณหนึ่งสัปดาห์ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากชาวต่างประเทศ แจ้งว่าประทับใจในการทำงานเสียสละของดิฉัน เขาจะโอนเงินให้ดิฉัน 1,000$ USA. หรือประมาณ 29,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ให้ดิฉันไปมอบให้นักเรียน ดิฉันปฏิเสธเงินดังกล่าวเพราะดิฉันไม่ต้องการจะให้เงินของผู้ใจบุญทั้งหลายผ่านมือคนกลาง ดิฉันต้องการให้เกิดความโปร่งใส และให้เงินถึงมือนักเรียนโดยตรงและที่เหนือกว่านั้นคือความคิดของดิฉันที่มั่นใจว่า หากเขาไปเห็นสภาพที่แท้จริงของโรงเรียนและนักเรียน เราน่าจะได้อะไรมากกว่านั้น เขาจึงให้ดิฉันเสนอชื่อนักเรียนให้เขาไปหนึ่งคน

         อีกสองสัปดาห์ให้หลัง ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากชาวต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เขาแจ้งว่า ผมได้นำเงินไปมอบให้ เด็กหญิงอาภัสรา  สันทอง นักเรียนชั้น ป.4 นักเรียนโรงเรียนสยามกลการ 3 อำเภอไชยวาน ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องเข้าคีโม เดือนละ 2 ครั้งทุกเดือน ซึ่งชาวต่างประเทศที่ชื่อ Mr. Paul  ชาวสหรัฐอเมริกา ได้มอบเงินสดให้เด็กหญิงอาภัสรา จำนวน 31,200 บาท และยังได้มอบเงินเป็นทุนอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนสยามกลการ 3 อีก 15,000 บาท จากที่ Mr.Paul Hemmaplardh ตัวแทน Mr.Fred Croson  และคณะได้เดินทางไปมอบทุนดังกล่าวโดยตรง เขาได้เห็นสภาพโรงเรียน เขายังจะหาทางช่วยเหลือในด้านอาคารเรียนอีกด้วย โดยเขาจะไปเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังและรวบรวมเงินมาช่วยในภายหลัง เห็นไหมค่ะ ดิฉันได้ Mr.Paul Hemmaplardh เป็นพันธมิตรและเครือข่ายในการทำงานราชการของดิฉันอีกแล้ว แต่ทราบหรือไม่ค่ะว่าจนป่านนี้ดิฉันยังไม่เคยพบหน้าเขาเลยสักครั้ง  รู้ไหมค่ะว่าดิฉันลงทุนไปเท่าไหร่ แค่ 7 บาท สำหรับค่า CD เท่านั้น ดิฉันมองว่า การทำงานครั้งต่อไป ต้นทุนจะต้องต่ำลง เพื่อให้เกิดกำลังสูงสุดและตอนนี้ดิฉันให้ญาติเด็กหญิงอาภัสรา เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อควบคุมการใช้จ่ายและรายงานให้ Mr.Paul Hemmaplardh และ Mr.Fred Croson  ทราบเป็นระยะ   

           เชื่อหรือไม่ค่ะว่า ดิฉันใช้เวลา 3 เดือน เท่านั้น ในการทำงาน 2 ชิ้นนี้  ใช้งบประมาณทางราชการ 1,139 บาท เป็นค่าถ่ายเอกสารและค่า CD แต่ดิฉันสามารถหาเงินทุนการศึกษาให้เด็กได้ถึง 143 ราย กับอีก 1 โรงเรียน รวมมูลค่าถึง 802,200 บาท  ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่หน่วยงานจะแสวงหาทุนจากองค์กรภายนอก

             นี่ไม่ใช่โชคช่วย นี่ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก แต่เป็นเรื่องของการ“แสวงหาโอกาสและทำงานเชิงรุก" 

 

             

              เป็นอย่างไรบ้างค่ะจากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ท่านคิดว่าใช่ (Knowledge Management=KM) หรือไม่ แล้วทำไมจึงคิดว่าใช่ KM และทำไมจึงคิดว่าไม่ใช่ KM

                สุดท้ายนี้ ดิฉันในฐานะครูคนหนึ่งที่อยากจะเห็นลูก ๆ ของดิฉันทั้ง 56,212 คน ได้มีโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมกับคนอื่น กราบขอบพระคุณพ่อประเสริฐ และคุณแม่ทัศนีย์ พุ่งกุมาร ที่ได้สละทุนทรัพย์ส่วนตัวให้กับนักเรียน ที่ดิฉันถือเสมือนลูกคนหนึ่งของดิฉัน กราบขอบพระคุณ คุณสมเกียรติ  ดีปา ที่เข้าใจในเจตนารมณ์ของดิฉันและทำให้ความตั้งใจที่ดิฉันจะกระทำเพื่อเด็ก ๆให้ประสบผลสำเร็จ กราบขอบพระคุณ คุณชัยวัฒน์  พิบูลย์ศิริกุล เจ้าของร้าน พิบูลย์ศิริโอสถ ที่อาสาเป็นเครือข่ายและช่วยดิฉันหาทุนการศึกษา ขอบใจน้องแต๋น น้องหมวย พี่หน่อย พี่ไพรินทร์ พี่ประพัฒน์ และเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ช่วยดิฉันทำงานชิ้นนี้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเลย และกราบขอบพระคุณท่านรองฯสุกันฑ์  ส่างช้าง ที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ดิฉันตลอดเวลา ขอบพระคุณ  ดร.สุพจน์  ดวงเนตร และ Mr.Finnbogi  Samuelsen ที่คอยให้กำลังใจ และชี้แนะแนวทางในการทำงานของดิฉัน

 

                ยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กตัวน้อย ๆในเขตพื้นที่ภาคอีสาน หากท่านใดได้ฟังหรือได้อ่านบทความนี้ของดิฉัน มีความประสงค์จะช่วยดิฉันทำงานอีกแรง ขอได้โปรดเผยแพร่บทความของดิฉันให้เพื่อน ๆ ของท่านได้รับทราบหรือท่านใดที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนของดิฉันให้มีโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมผู้อื่น ขอได้โปรดติดต่อดิฉันได้ที่ Email [email protected] หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ (66) 081 717 6078

                   ดิฉันทำงานด้วย “จิตวิญญาณของความเป็นครู” และ  

                         “รับราชการเพื่อเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล”

นิภารัตน์  วงษ์วิชา 

นักวิชาการศึกษาชำนาญการ

กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา 

สำนักงานงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 3 

หมายเลขบันทึก: 329782เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับคุณนิภารัตน์

          ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความชื่นชมกับเขตพื้นที่การศึกษาอุดรธานี  ที่มีบุคลากรที่มากด้วยความคิด ความอ่าน ขยันทำงาน และรู้จักการสร้างวิธีคิดเป็นของตัวเอง 

          ในความเห็นของผม การจัดการความรู้มิได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว  การค้นพบวิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จก็เป็นการจัดการความรู้ได้  แตอย่าลืมหัวใจสำคัญ คือการที่เราอธิบายที่มาขององค์ความรู้ได้ ด้วยเหตุและผล  จากนั้นมีการบันทึกองค์ความรู้ไว้  ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้วครับ  ขอบคุณที่กรุณาแบ่งปันเรื่องดี ๆ มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ขอบพระคุณท่าน ผอ.สมนึก โทณเผลิน ค่ะที่ช่วยชี้แนะหลักการเชิงวิชากร ตัวดิฉันเองเป็นมือใหม่หัดเขียน ถนัดแต่เชิงปฏิบัติ หากท่านจะอนุเคราะห์ชึ้แนะได้โปรดแจ้งติดต่อดิฉันตาม Email ที่ปรากฎ ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

เยี่ยมครับ ขอบคุณมากครับ

1.

P

ขจิต ฝอยทอง

เมื่อ พ. 09 ก.ค. 2551 @ 15:01

#735062 [ ลบ ]

* ขอชื่นชมกับท่าน ศน ด้วยครับ

* ทำเพื่อเด็กเป็นสิ่งดี

* แนะนำว่า

* รบกวนถ่ายรูป เอามาแสดง

* แล้วส่งไปให้เจ้าของทุนดูด้วยครับ

* ขอบคุณครับ

2.

P

ท้องฟ้า

เมื่อ พ. 09 ก.ค. 2551 @ 15:19

#735086 [ ลบ ]

ขอชื่นชมด้วยความจริงใจ

อ่านแล้ว อิ่มบุญทั้งผู้ให้ อิ่มใจทั้งผู้รับ อิ่ทั้งบุญ+ใจสำหรับผุ้อ่านทุกๆท่านด้วย

3.

30

นิภารัตน์ [IP: 203.151.232.70]

เมื่อ พ. 20 ส.ค. 2551 @ 21:14

#793898 [ ลบ ]

ขอบพระคุณทุกท่านน่ะค่ะ ที่ให้กำลังใจ ดิฉันกำลังรวบรวมเรียงความที่เขียนด้วยลายมือเด็กนักเรียนเพื่อจัดทำเป็นรูป เล่มมอบให้เจ้าของทุน และสพฐ.ได้ออกใบประกาศเกียรติคุณให้กับ เจ้าหน้าที่ผู้แสวงหาและเจ้าของทุนแล้ว ลงนามโดย ท่าน เลขา สพฐ. คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา

นพดล คันทะพรม [IP: 203.144.220.243

มีโอกาส เป็นพิธีกร วันมอบทุนการศึกษา ที่โรงเรียน อุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 30/04/2551 คู่กับ คุณครูอรอนงค์ ณ หนองคาย เห็นการทำงานของคุณครู นิภารัตน์ แล้ว ขอชื่นชมด้วยความจริงใจ ครับ เหตุผลเพราะ .....

ครู นิภารัตน์ ทำงานในเชิงรุก ซึ่ง เกือบทุกองค์กร ในภาคเอกชน ต้องการบุคลากรประเภทนี้ และ บุคลากรทุกคน ที่ร่วมงาน กับ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะต้องเป็นคนประเภทนี้ด้วย จึงจะสามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะสถานะการณ์ ปัจจุบัน มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้ที่มีความพร้อม ผู้ที่มีความขยัน อดทน รักในงานที่ทำเท่านั้น จึงจะมีความสุข และไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และมีความสุขในการทำงาน

เป็นกำลังใจให้นะครับ ครูน้อง

จาก...ต๋อย/นพดล คันทะพรม

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อีสาน

083-2445006

เรียน คุณต๋อย นพดล

       ขอบพระคุณ พนง.เครือเจริญโภคภัณฑ์ทุกท่านที่ได้สละเวลาส่วนตัวมาช่วย สพท.อุดรธานี เขต 3 ในการออกตรวจเยี่ยมและเก็บข้อมูลนักเรียนยากจน เป็นความประทับใจของ 2 ภาคส่วนที่มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน ระหว่างหน่วยงานราชการและเอกชน ทำให้ดิฉันและข้าราชการได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์และแนวคิดปรัชญาในการทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท