เมื่อผมต้องใช้ไม้เรียวหวดทำโทษลูกเป็นครั้งแรก


เมื่อพ่อแม่ตีลูก พ่อแม่ก็จะเจ็บเป็นสองเท่าของลูก

ภาพจาก gotoknow.org/file/vij2518/view/414592  / http://www.siamtower.com/supasit/S18.jpg

 

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” สุภาษิตบทนี้ ผมคิดว่ายังใช้ได้ดีสำหรับการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน การตีเด็กเป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก ตั้งแต่ผมมีลูกและเลี้ยงเขามามากว่า 6 ปีแล้ว ผมยังไม่เคยตีลูกเลย ด้วยความที่ได้เคยอ่านพบและศึกษาตำรับตำราเลี้ยงลูกสำหรับคนสมัยใหม่ว่า ไม่ควรตีลูก แต่แล้วเมื่อประมาณ ก่อนปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ลูกผมก็ได้มีโอกาสลิ้มชิมรสความทรงจำจากคมไม้เรียวของน้ำมือผมเป็นครั้งแรก วันนั้นผมตัดสินใจอยู่นานทีเดียว เพราะที่ผ่านมาได้แต่ขู่ว่าจะทำโทษอย่างโน้นอย่างนี้ จนกระทั่งมาถึงจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเขาอาจจะเกิดการเรียนรู้ว่าผมก็แค่ขู่ คงไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นจริงกับชีวิตเขา ดังนั้นจึงต้องทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ไปในแนวทางที่เราต้องการคือ ต้องการให้หลาบจำ

 

ภาพจาก atcloud.com/stories/64657

 

วันนั้น ผมชี้แจงกับเขาว่าจะทำโทษเขาด้วยการหวดด้วยไม่เรียวที่มือหรือที่ก้นอย่างน้อย 2 ที ให้เขายินยอมแต่โดยดี แต่เขาก็ยังไม่ยอมยังคงร้องไห้คร่ำครวญ แสดงกิริยาก้าวร้าวถึงสิ่งที่เขาต้องการอยากจะได้ คิดว่าอย่างไรเสียพ่อต้องตามใจเขาแน่ๆ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยพลาด แต่วันนั้นผมพยายามอดทนไว้ เพราะได้ลั่นวาจาไว้แล้ว ถ้าไม่ทำตามที่พูดไว้ เขาก็จะเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่อไปว่า อย่างไรเสีย พ่อก็คงไม่ตีเราแน่ๆ จนกระทั่งผมได้ตัดสินใจใช้ไม้เรียวขนาดยาวประมาณ 2 ฟุต เส้นรอบวงประมาณเล็กกว่าแท่งดินสอเล็กน้อย หวดเข้าไปที่ก้น 2 ที ด้วยแรงที่พอประมาณ ปรากฏว่า ที่ก้นของเขาเกิดเป็นรอยแดงขึ้นมาทันที ความรู้สึกผมตอนนั้นค่อนข้างตกใจและรู้สึกสงสารเขามาก รีบไปหายาหม่องมาทาทันที วันนั้นแม่เขาไม่อยู่บ้านไปทำงานต่างจังหวัด แต่ยังมียายอยู่ เขารีบไปหายายเพื่อให้ปลอบใจ แต่ก่อนหน้านี้เขาจะถูกยายและแม่ตีบ่อย ซึ่งเป็นการตีอย่างไม่เป็นทางการ ยายและแม่จะไม่รอให้ถามให้คิด เมื่อทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร จะถูกตีก่อนในเวลานั้นทันที ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจก็คือ ใช้ความรู้สึกของความเป็นผู้ใหญ่ไปตัดสินครอบงำความคิดเด็ก เช่น ทำบ้านสกปรกเลอะเทอะ ทำข้าวของเสียหาย เป็นต้น

 

ภาพจาก http://www.sudipan.net/phpBB2/files/ku3.jpg

 

การตีลูกในครั้งนั้น ทำให้นึกถึงความรู้สึกของพ่อแม่ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมจึงเข้าใจว่า เมื่อพ่อแม่ตีลูก พ่อแม่จะเจ็บเป็นสองเท่าของลูก ตอนผมเป็นเด็กก็จะถูกพ่อแม่ตีค่อนข้างบ่อยตามประสาเด็กดื้อเด็กซนทั่วไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่อง ความปลอดภัยในการเล่น เช่น การเล่นดอกไม้ไฟ เรื่องการทำงานบ้าน เช่น พี่น้องไม่ช่วยกันทำงานบ้าน เกี่ยงกัน  และการทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง เป็นต้น ส่วนเรื่องความผิดร้ายแรงกลับไม่โดนตี  เช่น การลักขโมย การเล่นการพนัน พ่อแม่จะใช้วิธีการลงโทษที่ทำให้เราสำนึกโดยไม่เจ็บตัว แต่รู้สึกเสียใจ คือ การพูดคุย ยกตัวอย่าง บุคคลที่ทำความผิดในลักษณะนี้ และพูดถึงความเสียใจของพ่อแม่ให้ฟัง

 

ภาพจาก http://www.thaimazda3.com/forum/uploads/post-1990-1177342730.jpg

 

การทำโทษลูกนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องยาก ผมยอมรับว่ายังทำใจไม่ค่อยได้ การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งที่ยาก เพราะต้องใช้ความอดทนต่อแรงกดคั้นทางอารมณ์ ใช้สติใคร่ครวญเป็นอย่างมาก เรื่องนี้ผมคิดว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องฝึกและเรียนรู้จากประสบการณ์ พ่อและแม่ต้องรู้จักประสานงานรับและรุก เปรียบเสมือน หยินกับหยาง คนหนึ่งร้อน คนหนึ่งต้องเย็น แต่ไม่ใช่ตามใจ ผมขอยกตัวอย่างการสอนลูกของภรรยาผมให้ฟังตอนที่ ลูกกำลังมีอารมณ์ ถ้าวันไหนภรรยาผมเขาตามอารมณ์ทัน เขาจะสอนลูกได้ดี โดยยังไม่เข้าไปพูดหรือตอบสนองลูก เพียงแต่ให้ลูกได้หยุดคิด เพื่อให้อารมณ์เขาเย็นลง จากนั้นจึงค่อยเข้าไปพูดคุยกับเขา  ผมคิดว่าการปรับอารมณ์ของเด็กจะเร็วกว่าผู้ใหญ่ เพราะยังไม่ถูกปรุงแต่งจากสิ่งเร้าภายนอกมาก มีความซื่อ ไม่มีมารยา คิดอย่างไรไปอย่างนั้น บางครั้งเราจะเห็นว่าเขาโกรธ ร้องไห้เสียใจ แต่ต่อมาไม่นานก็สามารถยิ้มได้ทั้งน้ำตา เปลี่ยนอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว

 

หมายเลขบันทึก: 328479เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2010 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

  • แลกเปลี่ยนกันนะคะ
  • ครูอ้อย ไม่เคยใช้ไม้เรียวตีลูก
  • แต่เคยใช้มือตีลูกที่ขา  รอยผื่นขึ้นมาเหมือนกัน และเจ็บมือเราด้วย
  • ครูอ้อย มีความรู้สึกดีที่เอามือตีลูก เพราะ เรารู้ว่าแรงที่เราตีขนาดไหน
  • อย่าให้ ไม้เรียว มาเป็นสื่อกลางระหว่างเรากับลูกเลยค่ะ

ขอบคุณครูอ้อย P ครูอ้อย แซ่เฮ ที่มาเยี่ยมเยือน เตือนสติและให้คำแนะนำครับ

สวัสดีค่ะ

หาภาพพ่อตีลูกเลยมาพบบันทึกนี้ ขอบคุณนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท