สภามหาวิทยาลัยมหิดลเยี่ยมชื่นชมคณะสาธารณสุขศาสตร์



          สภามหาวิทยาลัยมหิดลเยี่ยมชื่นชมคณะสาธารณสุขศาสตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ ต.ค. ๔๙   การไปเยี่ยมรอบ ๒ คณะนี้เป็นคณะแรกที่ไปเยี่ยม เมื่อวันที่ ๑๔ ม.ค. ๕๓   ห่างจากครั้งแรกกว่า ๓ ปี    จึงเหมาะที่จะมองหาสิ่งที่น่าชื่นชมที่เกิดขึ้นในช่วง ๓ ปีนี้

          ผมได้บันทึกการไปเยี่ยมครั้งที่แล้วไว้ที่นี่    และได้บันทึกเชิงเสนอแนะไว้เรื่องหนึ่งที่นี่ 

          บทสรุปภาพรวมของคณะสาธารณสุขศาสตร์ อ่านได้ที่นี่

          แล้วผมก็ได้รับความประทับใจจริงๆ ว่าในเวลา ๓ ปี คณะสาธารณสุขศาสตร์เปลี่ยนไปมาก    ในด้านของการจัดการสมัยใหม่เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ (ฝัน) ร่วม เพื่อดึงการเข้ามามีส่วนเป็นเจ้าของฝัน (engagement) ของบุคลากร    และการใช้จุดแข็งในการสร้างผลงาน


          เราใช้ชื่อการไปเยี่ยมนี้ว่า เยี่ยมชื่นชม เพื่อสื่อว่าอยากไปรับฟังเรื่องราวดีๆ ความสำเร็จ ความตั้งใจ ความพยายาม การก้าวกระโดด   เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคมไทยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ และในภูมิภาค 

          เครื่องมือที่ผมใช้ในการทำงานชุด “เยี่ยมชื่นชม” นี้ คือ Appreciative Inquiry (AI)  ซึ่งเริ่มต้นที่ Dream   โดยผมเน้นชวนกันฝันใหญ่ ฝันไปข้างหน้า ฝันให้ไกล ฝันเพื่อบ้านเมือง  

          ที่จริงในชีวิตจริง นอกจากใช้ AI แล้ว เราต้องใช้ RM (Risk Management) ด้วย   คำถามแนวนี้คือ    มีความเสี่ยงอย่างไรบ้างที่จะทำให้หน่วยงานนี้ ไม่ได้รับความยอมรับนับถือว่าเป็นเลิศทางวิชาการสาขาสาธารณสุขศาสตร์

          คณะนี้เป็นคณะเก่าแก่ อายุถึง ๖๒ ปี   และเป็นคณะใหญ่ มี ๑๓ ภาควิชา   บุคลากร ๓๔๐   ใน ๒๕ หลักสูตรที่เปิดสอน เป็นบัณฑิตศึกษาถึง ๒๑ หลักสูตร    เป็น ป. เอก ๓ หลักสูตร    เป็นคณะที่เข้มแข็งมากด้าน internationalization 

          ท่านคณบดี รศ. นพ. พิทยา จารุพูนผล นำเสนอการขับเคลื่อนคณะ เน้น e-learning   เครือข่าย ๓ เครือข่าย คือ  (๑) เครือข่ายคณะสาธารณสุขของประเทศ ๒๐ คณะ   (๒) เครือข่าย  SEA PHIEN  และ (๓)  Asia-Pacific Consortium for PH  

          จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดเจนของคณะนี้คือการมีเครือข่ายสถาบันในวิชาชีพเดียวกัน    และการมีเครือข่ายศิษย์เก่าอยู่ในตำแหน่งสูงทั่วประเทศ และกระจายทั่วไปในต่างประเทศในภูมิภาค   มีสมาคมศิษย์เก่าอยู่ใน เนปาล  อินโดนีเซีย  เวียดนาม  และบังคลาเทศ 

          แล้วการเสวนาก็มาถึงจุดแข็งด้าน internationalization ผ่านหลักสูตร สม. นานาชาติ    ที่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ได้รับ ranking ดี   ทำให้รัฐบาลซูดานติดต่อส่ง นศ. ๒๐ คน มาเรียน และเมื่อ SEARO ทราบข่าว ก็ติดต่อส่ง นศ. ภูฏาน ๔ มาร่วมเรียน   รวมแล้วที่คณะนี้มี นศ. ต่างชาติ ๖๐ – ๗๐ คน    ผู้มาร่วมประชุมต่างก็ตื่นตาตื่นใจกับวิธีจัดการหลักสูตรและอำนวยความสะดวกให้แก่ นศ. ต่างชาติ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ “ลูกค้า”    ภาษาที่ใช้ในการเสวนาตอนนี้สะท้อนภาพความตื่นตัวในการจัดหลักสูตรนานาชาติ   เห็นความร่วมแรงร่วมใจกันจัดหลักสูตรนี้ ที่น่าชื่นชมมาก  

          ความภูมิใจอยู่ที่ รัฐบาลซูดานตัดสินใจย้าย นศ. ของเขา จากที่เคยส่งไปเรียนที่ประเทศอื่น มาที่คณะสาธารณสุขศาสตร์    แบบที่ “ลูกค้ามาหาเอง” จากชื่อเสียงของเราและจากการค้นข้อมูลใน อินเทอร์เน็ต 

          จากจุดแข็งนี้ เราร่วมกันฝันต่อเนื่องไปได้ไกลมาก   เช่นการร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศทำการตลาด   การเอารูป นศ. ต่างชาติขึ้นเว็บไซต์พร้อมเรื่องเล่าประสบการณ์การมาเรียนที่นี่   ความชื่นชม การร่วมกันฝัน ทำให้เกิดขวัญกำลังใจ ความภูมิใจในผลงาน

          อีกจุดแข็งหนึ่งด้านการเรียนการสอนคือ การสอนทางไกลแบบ e-learning ที่จะใช้เสริมหลักสูตรนานาชาติ ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และ

          อีกจุดแข็งหนึ่งคือการให้บริการวิชาการ ที่ทำรายได้ถึงปีละ ๑๐๐ ล้านบาท    โดยเป็นงานบริการวิชาการด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านวิชาการและด้านเทคโนโลยี    งานฝึกอบรม   และงานสร้างเสริมสุขภาพ    งานบริการวิชาการนี้มีคู่แข่งมาก   ทางคณะฯ แข่งขันโดยเสนอหลักสูตรการอบรมแบบ tailor-made

          จุดแข็งคืองานการเรียนการสอน และงานบริการวิชาการ    จุดที่ยังไม่ค่อยแข็งคืองานวิจัย    งานบริการวิชาการของคณะฯ มีธรรมชาติเป็นงานประยุกต์ใช้ความรู้    ยังไม่ค่อยต่อยอดไปเป็นงานวิจัย    ดังนั้นแม้จำนวนผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติจะเพิ่มขึ้น จากปีละ ๓๙, ๔๑, ๓๑ เรื่องในปี พ.ศ. ๒๕๔๙, ๒๕๕๐ และ ๒๕๕๑ มาเป็น ๕๕ เรื่องในปี ๒๕๕๒ แต่สัดส่วนจำนวนการติมพ์ต่อจำนวนบุคลากรสายวิชาการ ก็ยังเป็นเพียง ๐.๓๘๓ เรื่องต่อคน

          ดังนั้นความท้าทายของคณะนี้คือการขยายจุดแข็ง (การสอน และบริการ) ให้เข้ามาส่งเสริมงานวิจัย   ซึ่งน่าจะทำได้ เพราะนักศึกษาบัณฑิตศึกษานานาชาติน่าจะสามารถทำวิจัยเล็กๆ ได้    และบางคนเมื่อกลับไปประเทศของตนก็ทำวิจัยร่วมกับเรา เกิดเป็นผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้   และงานบริการวิชาการ ซึ่งมักตอบคำถาม how   หากมีการดำเนินการเพิ่มคำถาม why ต่อยอด ก็จะได้ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้ 

          ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ถามเรื่องข้อมูลที่แม่นยำเชื่อถือได้สำหรับใช้ในงาน HIA ที่ต่อไปข้างหน้ามีความสำคัญมาก   คำตอบคือประเทศไทยเรามีข้อมูลที่กระจัดกระจาย ขาดการตรวจสอบความแม่นยำ ขาดการจัดระบบให้เป็นข้อมูลคุณภาพสูง   คณะฯ จึงได้โอกาสยิ่งใหญ่อีกด้านหนึ่ง คือด้านการพัฒนาระบบข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพ

          การเสวนาหรือสุนทรียสนทนาเช่นนี้ มันจุดประกายความคิด   นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และข้อเสนอแนะ ซึ่งก็คือการ “ฝันต่อ”   สำหรับให้หลายฝ่ายร่วมกันสานฝัน   มีพลังจริงๆ  

          ผมดีใจที่วิธีการประชุมด้วย AI จุดประกาย  จินตนาการมากมาย    เช่นการมีหลักสูตร MD MPH  

          สิ่งหนึ่งที่ผมจ้องไปหาร่องรอยเพื่อชื่นชม คือการทำงานสร้างสรรค์ยากๆ ที่หน่วยงานเดียวทำไม่ได้ หรือสาขาวิชาเดียวทำไม่ได้    ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย   ยิ่งร่วมมือกันออกไปนอกมหาวิทยาลัยมหิดล ยิ่งดี   และยิ่งร่วมมือกับภาคชีวิตจริง (real sectors) ของสังคม ยิ่งดี    ยิ่งเป็นประเด็นที่ภาคชีวิตจริงเขาร้องขอหรือบอกโจทย์ ยิ่งดี    ซึ่งผมก็พบร่องรอยหรือจุดเริ่มต้น เช่น (๑) ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเศรษฐศาสตร์สาธาณสุข  (๒) ความปลอดภัยและจัดการความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ   (๓) วิจัยและนวัตกรรมเพื่ออาหารสุขภาพ ไปสู่เชิงพาณิชย์  (๔) เครือข่ายศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ร่วมกับ WHO, UNDP, UNFPA, UNAIDS, Mexico ปีนี้ได้งบประมาณกว่า ๒๐ ล้านบาท ทำงานร่วมกับ นพ. วิโรจน์ และ นพ. ยศ     

          งานยากๆ เหล่านี้ หากจะให้มีคุณภาพสูง ผลกระทบต่อบ้านเมืองสูง    จะต้องร่วมมือกับอีกหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล 

          ผมเสนอแนวทางทำงานวิชาการด้านสาธารณสุข ในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เช่น สุขภาพเชิงบวก   และระบบสุขภาพ 

          เมื่อคุยกันเรื่องการทำงานอย่างสร้างสรรค์ คณาจารย์และผู้บริหารของคณะก็นำเสนอโครงการสร้างสรรค์ที่กำลังก่อตัวขึ้นมากมายอย่างน่าตื่นใจ    เช่น ความร่วมมือกับร่วมมือ สปสช.  มน.  มข.  และชมรมแพทย์ชนบท สร้าง CUP ให้มีความรู้ด้านสาธารณสุข    การร่วมมือกับศูนย์พัฒนาปัญญาคม ทำงานการตลาดของสิ่งประดิษฐ์ เช่น รศ. วิทยา อยู่สุข และคณะ มีผลงานพัฒนาเครื่องควบคุมไอระเหยของน้ำมันและนำกลับมาใช้    เครื่องนี้หากซื้อ ต่างประเทศ ๒๕ ล้านบาท   สร้างเอง ๑ ล้านบามเศษๆ เท่านั้น   เวลานี้ติดตั้งที่มาบตาพุด   และเริ่มมีลูกค้าติดต่อมา   ต้องการกลไกการตลาด   เป็นต้น 

          ตอน ๒๐ นาทีสุดท้านเรา ลปรร. กันเรื่อง RM (Risk Management)    มีการระบุความเสี่ยงต่อความสำเร็จ    ซึ่งได้แก่ มี อจ. อาวุโสมาก   การส่งต่อความรู้และประสบการณ์รุ่นต่อรุ่น    การมีบุคลากรสายสนับสนุนจำนวนมาก    การมีหลักสูตรจำนวนมากเกินไป ทำให้ภาระงานสอนมาก เช่น อจ. ใหม่สอนเทอมละ ๗ วิชา    ทำให้พัฒนาความเข้มแข้งของงานวิจัยยาก   การที่ทั้งคณะมีอาจารย์ดำรงตำแหน่ง ศ. เพียงคนเดียว    การมีทักษะในการจัดการ positive change      

          ผมได้โอกาสเสนอยุทธศาสตร์ “ยุบเพื่อเจริญ” ยกตัวอย่างมนุษย์ เพื่อให้เจริญเป็นมนุษย์ตอนเราอยู่ในท้องแม่เรายุบอวัยวะหลายอย่าง เช่นเหงือก (แบบที่ปลามี)  หาง   กระบวนการเจริญเติบดตของมนุษย์อวัยวะที่ไม่จำเป็นจะหดหายไป    ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาหาทางยุบบางหลักสูตร ใช้หลัก ๘๐ – ๒๐ ด้านการจัดการ    หลักสูตรที่มีความสำคัญต่ำ ๒๐% ล่างควรได้รับการพิจารณาหาทางยุบ    เพื่อคลอดหลักสูตรใหม่ที่เหมาะสมกว่าเดิม

          มีการพูดต่อเรื่องยุบภาควิชา ว่าทำยาก เพราะไปลดค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร    ซึ่งผมบอกว่าเราแก้ได้ โดยออกกฎระเบียบสร้างค่าตอบแทนต่อการทำงานวิชาการขึ้นมาทดแทน    ซึ่งไม่ง่าย แต่ผมเชื่อว่าคิดหาทางกันดีๆ น่าจะทำได้ส่วนหนึ่ง 

          ผมไม่มีเจตนาจดรายงานการประชุมแบบครบถ้วน   เพราะสำนักงานสภาฯ และทีมสภาคณาจารย์ เขาร่วมกันทำอยู่แล้ว    ผมเพียงบันทึกความประทับใจเท่านั้น

 

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ม.ค. ๕๓

รูปการเยี่ยมชมคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 328266เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท