เที่ยวเชียงใหม่


งามแต๊ๆ

 ที่ตั้ง

จังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เส้นรุ้งที่ 16 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,027 ฟุต (310 เมตร) ส่วนกว้างจากทิศตะวันตกจรดทิศตะวันออกประมาณ 138 กิโลเมตร ส่วนยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 320 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 750 กิโลเมตรโดยทางรถไฟ และรถยนต์ประมาณ 720 กิโลเมตรตามแนวทางหลวงแผ่นดินสายเหนือ

 อาณาเขตติดต่อ

จังหวัดเชียงใหม่มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าเพียงประเทศเดียว และมีพื้นที่ติดต่อใน 5 อำเภอได้แก่

  1. อำเภอแม่อาย: 4 ตำบลได้แก่ ตำบลแม่อาย, ตำบลมะลิกา, ตำบลแม่สาว, ตำบลท่าตอน เมืองที่ติดต่อคือ เมืองยอน รัฐฉาน
  2. อำเภอฝาง: 2 ตำบลได้แก่ ตำบลม่อนปิ่น และตำบลแม่งอน เมืองที่ติดต่อคือ บ้านโป่งป่าแขม เมืองต่วน รัฐฉาน
  3. อำเภอเชียงดาว: 1 ตำบลได้แก่ ตำบลเมืองนะ เมืองที่ติดต่อคือ บ้านน้ำยุม เมืองต่วน รัฐตองยี
  4. อำเภอเวียงแหง: 3 ตำบลได้แก่ ตำบลเปียงหลวง, ตำบลเมืองแหง และตำบลแสนไห เมืองที่ติดต่อคือ บ้านบางใหม่สูง บ้านปางเสือเฒ่า บ้านกองเฮือบิน เมืองต่วน รัฐตองยี
  5. อำเภอไชยปราการ: 1 ตำบลได้แก่ ตำบลหนองบัว เมืองที่ติดต่อคือ บ้านโป่งป่าแขม เมืองต่วน รัฐฉาน

รวมระยะทางทั้งสิ้น 227 กิโลเมตร พื้นที่เขตแดนส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ทำให้ไม่สามารถปักหลักเขตแดนได้อย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างประเทศบ่อยครั้ง

 ภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขา

จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ 20,107.057 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 12,566,911 ไร่ มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมา ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและป่าละเมาะ มีที่ราบอยู่ตอนกลางตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง มีภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือ ดอยอินทนนท์ สูงประมาณ 2,575 เมตร อยู่ในเขตอำเภอจอมทอง นอกจากนี้ยังมีดอยอื่นที่มีความสูงรองลงมาอีกหลายแห่ง เช่น ดอยผ้าห่มปก สูง 2,285 เมตร ดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,170 เมตร ดอยสุเทพ สูง 1,601 เมตร สภาพพื้นที่แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ

  1. พื้นที่ภูเขา ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกของจังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 80% ของพื้นที่จังหวัด เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
  2. พื้นที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบเชิงเขา กระจายอยู่ทั่วไประหว่างหุบเขาทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ได้แก่ ที่ราบลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำฝาง ลุ่มน้ำแม่งัด เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเกษตร

 ภูมิอากาศ

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 25.4 องศาเซลเซียส โดยมีค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20.1 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,100-1,200 มิลลิเมตร สภาพภูมิอากาศจังหวัดเชียงใหม่อยู่ภายใต้อิทธิพลมรสุม 2 ชนิด คือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งภูมิอากาศออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม

 ทรัพยากร

 ทรัพยากรป่าไม้

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

จังหวัดเชียงใหม่มีป่าไม้หลายประเภท ประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเต็งรังผสมป่าสนเขา และป่าแดง เป็นต้น พื้นที่ป่าไม้ ประกอบด้วย ป่าธรรมชาติ สวนป่า และป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ โดยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 11,694,133 ไร่ (พื้นที่ป่าตามกฎหมาย) คิดเป็นร้อยละ 69.93 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 25 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 13 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง อุทยานแห่งชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่

นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้เกิดขึ้นเป็นประจำ สาเหตุสำคัญเช่น การลักลอบตัดไม้ การบุกรุกเพื่อทำการเกษร และไฟป่า

 ทรัพยากรสัตว์ป่า

พื้นที่ป่าในจังหวัด มีความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่าสำคัญที่พบ ได้แก่ เลียงผา หมูป่า หมาจิ้งจอก เสือดาว อีเห็น ชะมด พังพอน ชะนี ลิง เม่น แมวป่า หมูหริ่ง กระต่ายป่า ตะกวด กิ้งก่า งู ตุ๊กแก ด้วง บึ้ง ไก่ป่า นกขมิ้น นกกระรางหัวขวาน นกกระขาบทุ่ง นกขุนทอง นกขุนแผน นกบั่งรอก นกกางเขน นกกาเหว่า นกเขียวคราม นกกระติ๊ต นกกระจิบ นกกระจาบ นกปรอด นกระวังไพร นกแซงแซว นกโพระดก นกนางแอ่น นกคุ่ม นกเขาเขียว นกเขาใหญ่ นกเขาขวาน นกเอี้ยง นกกระปูด เป็นต้น

 ทรัพยากรน้ำ

แม่น้ำกก ในอำเภอแม่อาย

จังหวัดเชียงใหม่มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำปิง และยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง และยังแบ่งตามพื้นที่ลุ่มน้ำดังนี้

  • ลุ่มน้ำปิงตอนบน เป็นลุ่มน้ำที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือตอนบน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง มีพื้นที่ 25,355.9 ตร.กม. สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันสูง วางตัวแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่เสี่ยงต่อแผ่นดินถล่มและการชะล้างพังทลายของดินสูง ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบสะวันนา คือ มีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้งอย่างชัดเจน และยังมีลุ่มน้ำย่อยอีก 14 ลุ่มน้ำย่อย แม่น้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำปิง แม่แตง แม่กวง แม่งัด แม่แจ่ม แม่ขาน แม่ตื่น
  • ลุ่มน้ำกก มีแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำสายหลัก มีต้นกำเนิดจากภูเขาในประเทศพม่า ไหลผ่านเมืองกก เมืองสาด ประเทศพม่า เข้าเขตประเทศไทยที่ช่องน้ำกก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงราย ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ 2,773 ตร.กม.
  • ลุ่มน้ำฝาง มีแม่น้ำฝางเป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมีต้นกำเนิดจากดอยขุนห้วยฝางและดอยหัวโททางตอนใต้ของอำเภอไชยปราการ ไหลลงสู่แม่น้ำกก มีความยาวลำน้ำประมาณ 70 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,948.5 ตร.กม. ในอำเภอไชยปราการ ฝาง และแม่อาย

 ทรัพยากรธรณี

จังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่สำคัญของประเทศ ทำให้ได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 ขนาด 5.1 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางในอำเภอแม่ริม ทำให้เกิดความเสียหายเล็กน้อยในบริเวณอำเภอแม่ริมและอำเภอข้างเคียง ส่วนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรณี มีการผลิตแร่ที่สำคัญ 8 ชนิด ได้แก่ ถ่านหิน เฟลด์สปาร์ แมงกานีส ซีไลท์ ดีบุก ดินขาว ฟลูออไรด์ และแร่หินอุตสาหกรรม และจังหวัดเชียงใหม่ยังมีแหล่งทรัพยากรธรณีที่สำคัญ เช่น แหล่งปิโตรเลียม อำเภอฝาง สภาพทางธรณีวิทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ บ่อน้ำพุร้อน อำเภอสันกำแพงและอำเภอฝาง โป่งเดือด อำเภอแม่แตง บ่อน้ำแร่ธรรมชาติ อำเภอแม่ริม เป็นต้น

 ประชากร

จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรทั้งสิ้น 1,666,024 คน แยกเป็นชาย 818,958 คน หญิง 851,066 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 83 คน/ตร.กม. (ข้อมูลวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552) ส่วนประชาชนบนพื้นที่สูง มีจำนวนทั้งสิ้น 312,447 คน กระจายอยู่ใน 20 อำเภอ มีกลุ่มชนเผ่าต่างๆ รวม 13 ชนเผ่า แบ่งเป็นชาวเขา 7 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน (เย้า) อาข่า (อีก้อ) ลาหู่ (มูเซอ) ลีซอ (ลีซู) และลัวะ จำนวน 229,382 คน เป็นชนกลุ่มน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ ปะหล่อง ไทใหญ่ ไทลื้อ จีนฮ่อ และอื่นๆ รวมจำนวน 34,022 คน

 ภาษา

ตัวอักษรล้านนา (คำเมือง)

ภาษาราชการที่ใช้ในจังหวัดเชียงใหม่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และมีภาษาท้องถิ่นซึ่งเรียกว่า ภาษาคำเมือง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นของทางภาคเหนือ มีคุณลักษณะของภาษาที่คล้ายๆกัน จะแตกต่างกันเฉพาะ สำเนียงและศัพท์บางคำ แต่ละท้องถิ่นก็จะมีความไพเราะ ต่างกันไปนักท่องเที่ยวที่มาจากถิ่นอื่น ล้วนชื่นชมว่า "ภาษาคำเมืองนั้น มีความไพเราะ นุ่มนวล ยิ่งนักแล"

 ศาสนา

ประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ นับถือศาสนาพุทธ 91.80% ศาสนาคริสต์ 5.60% ศาสนาอิสลาม 1.17% ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซิกข์ 0.02% และอื่นๆ 1.14% โดยมีสำนักสงฆ์ 471 แห่ง โบสถ์คริสต์ 356 แห่ง มัสยิด 13 แห่ง และโบสถ์พราหมณ์ 3 แห่ง

 การศึกษา

จังหวัดเชียงใหม่รับรองระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมีสถานศึกษาทั้งสิ้น 1,146 แห่ง ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง อาชีวศึกษา 7 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 8 แห่ง สถาบันการศึกษาเอกชน 140 แห่ง สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐาน 893 แห่ง และอื่นๆ

หมายเลขบันทึก: 327886เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2010 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท