ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียนในแต่ละช่วง


พัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ที่มีทั้งการเจริญเติบโต(growth )ทางด้านร่างกายรูปร่าง ขนาดและน้ำหนัก และในขณะเดียวกันจะมีวุฒิภาวะ(maturation ) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีความต่อเนื่อง (naturally and spontaneously ) และเป็นไปตามพันธุกรรม

                       ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียนในแต่ละช่วง 

 

การจัดการศึกษาในปัจจุบัน ครูต้องนำความรู้ทั้งวิชาการและเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุความสามารถของแต่ละบุคคลได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนผู้เรียนมีคุณลักษณะตามหลักการและเป้าหมายของหลักสูตรที่สถานศึกษาทุกแห่งจัดขึ้น จิตวิทยาการศึกษาเป็นความรู้สาขาหนึ่งที่ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกคนต้องนำมาประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาและการประยุกต์จิตวิทยาไปใช้ในการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา การศึกษาและทำความเข้าใจในธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคนจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบทนี้ผู้เขียนจะนำเสนอความคิดรวบยอดของคำสำคัญ ต้องทำความเข้าใจและเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจทฤษฎีพัฒนาการต่างและการประยุกต์ใช้ความรู้ต่อไปธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียน
           ในการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียนนั้น ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำต่างๆ ที่มีความสำคัญและเป็นพื้นฐานในการเข้าใจธรรมชาติพัฒนาการผู้เรียน ดังนี้
           1. การเจริญเติบโต( growth ) มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
สุชา จันเอม (2541 : หน้า 34 ) หมายถึง การเพิ่มขนาดของส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ขนาด รูปร่าง สัดส่วน กระดูก กล้ามเนื้อและอื่นๆ
ปรางค์ทิพย์ ทรงวุฒิศีล(2544,หน้า, 87) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่วุฒิภาวะ(maturation ) ทางด้านการเพิ่มขนาด ซึ่ง อาจเกิดเพียงเฉพาะที่หรือทุกส่วนของร่างกายก็ได้ สามารถวัดได้เป็นน้ำหนัก ความยาว ความกว้าง ความหนา เช่น น้ำหนักของร่างกายหรืออวัยวะต่างๆหรือขนาดรอบศรีษะ เป็นต้น
Young(1986 : 15) หมายถึง การเพิ่มของน้ำหนัก ส่วนสูง หรือส่วนต่างๆทางด้านร่างกายที่เพิ่มตามอายุ โดยไม่มีการส่วนใดของร่างกายเพิ่มขึ้น
สรุปการเจริญเติบโต หมายถึง การเพิ่มขนาดของส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ขนาด รูปร่าง สัดส่วน กระดูก กล้ามเนื้อและอื่นๆ โดยเพิ่มตามอายุ
           2. วุฒิภาวะ ( maturity ) มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
กันยา สุวรรณแสง (2536, หน้า 4) กล่าวว่า วุฒิภาวะ หมายถึง ภาวะที่บุคคลเจริญเติบโตโดยส่วนรวม เจริญเติบโตเต็มที่ทั้งทางกายภาพและจิตภาพ ทำให้บุคคลสามารถที่จะแสดงออกได้ตามธรรมชาติตามช่วงอายุที่พึงควรจะแสดงออกได้ตามครรลองของบุคคลที่เป็นไปเฉพาะตน
พรรณี ชูทัย เจนจิต( 2538, หน้า 49 ) กล่าวถึง วุฒิภาวะหมายถึง เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะนำไปสู่การมีวุฒิภาวะ(maturity ) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายทางกรรมพันธุ์เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีการฝึกฝนหรือการเตรีมตัวเช่น การคลาน การนั่ง การเดิน ฯลน
จากที่กล่าวมาแล้วสรุปได้ว่า วุฒิภาวะ หมายถึง กระบวนการการเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เจริญถึงภาวะที่บุคคลมีความเปลี่ยนแปลงในด้านหน้าที่และความสามารถที่จะแสดงออกได้ตามธรรมชาติในแต่ละช่วงวัย โดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้หรือการฝึกฝน
                3. ความพร้อม ( readiness ) มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
โรเบิร์ต (Robert , R Reilly, 1983: 33 ) หมายถึง ผลรวมของพัฒนาการของบุคคล ประสบการณ์แรงจูงใจ ความสามารถ และความสนใจที่เกี่ยวข้องกับงานของการเรียนรู้ ความพร้อมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับ
1. วุฒิภาวะของเด็ก
2. ประสบการณ์ของเด็ก
3. แรงจูงใจและความสนใจ
4. ความวิตกกังวลใจของเด็ก
5. วิธีสอนที่มีคุณภาพ
           ความพร้อม หมายถึง ผลรวมของวุฒิภาวะ พัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ความพร้อมเป็นช่วงของวิกฤติซึ่งเป็นช่วงที่สามารถหรือเป็นเวลาที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พรรณี ชูทัย เจนจิต ( 2538 ,หน้า 47) กล่าวว่า ความพร้อม หมายถึง เป็นสภาวะที่สมบูรณ์ของบุคคลที่จะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งอย่างบังเกิดผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
1. วุฒิภาวะ
2. การได้รับการฝึกฝน การเตรียมตัว
3. ความสนใจหรือแรงจูงใจ
           จากที่กล่าวมาสรุปความหมายของความพร้อมได้ว่า เป็นสภาวะที่บุคคลจะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความพร้อมมีผลมาจากวุฒิภาวะ พัฒนาการ แรงจูงใจและการได้รับการฝึกฝนดังนั้นการนำความรู้เกี่ยวกับความพร้อมไปใช้ในการเรียนการสอน จะต้องศึกษาช่วงวิกฤติและค้นพบเวลาที่เหมาะสมหรือวิกฤติของนักเรียนที่จะเรียนรู้รายวิชาต่างๆได้
แนวคิดความพร้อมในการเรียนรู้ แสงเดือน ทวีสิน(2545, หน้า 52-53) ได้เสนอแนวคิดความพร้อมในการเรียนรู้มี 2 แนวทางได้แก่
1. ความพร้อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Readiness Approach) กลุ่มนี้มีความเห็นว่า ความพร้อมไม่จำเป็นต้องจัดให้ผู้เรียน ความพร้อมของผู้เรียนจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ การที่จะทำอะไรก็ตามไม่ควรจะเป็นการ “เร่ง ” เพราะการเร่งไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ ตรงกันข้ามการเร่งจะทำให้เกิดผลเสียตามมาคือทำให้ผู้เรียนเกิดความท้อถอยและเบื่อหน่ายในการเรียนรู้
2. ความพร้อมเกิดจากการกระตุ้น (Guided Experience Approach ) กลุ่มนี้มีความเห็นว่า ความพร้อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นได้ การจัดประสบการณ์จะก่อให้เกิดความพร้อมได้โดยตรง โดยเฉพาะในวัยเด็กจะมีช่วงวัยวิกฤติ(critical period ) ของการเรียนรู้ นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า ถ้าในช่วงวิกฤติเด็กไม่ได้รับประสบการณจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้ในพัฒนาการที่สำคัญ เช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) กล่าวว่า เด็กในช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบ เด็กจะพัฒนาความไว้วางใจแต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการพัฒนาในช่วงอายุนี้ พ่อแม่จะไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพการไว้วางใจให้กับลูกได้ เป็นต้น
จากแนวคิดในเรื่องความพร้อม ในปัจจุบันได้มีการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กโดยมีทั้งพ่อแม่และผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญด้วยการส่งลูกเรียนในระดับนี้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมีผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนในช่วงชั้นที่ 1โดยไม่ได้ผ่านการเตรียมความพร้อม         

  4. พัฒนาการ (development) มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
มัสเซ็นและคณะ (Mussen 1954 อ้างถึงใน Woolfolk, 2004 :24 ) ได้ให้ความหมายของพัฒนาการว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมนุษย์หรือสัตว์ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของมนุษย์และสัตว์ พัฒนาการค่อนข้างจะเกิดขึ้นตามลำดับและต่อเนื่องเป็นระยะยาว การเปลี่ยนแปลงชั่วคราวเกิดจากการเจ็บป่วยไม่พิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ การปลี่ยนแปลงที่เกิดในช่วงแรกของชีวิตที่ดีจะส่งผลต่อการปรับตัวและจัดระบบได้มากกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าและมีความซับซ้อนมากขึ้นของมนุษย์
พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลา นักจิตวิทยาได้อภิปรายความหมายของพัฒนาการใน 3 แนวคิดดังนี้
           1. ตามลำดับขั้น (sequence ) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตามลำดับ
           2. อัตราการเปลี่ยนแปลง (rate) หมายถึง อัตราความเร็วหรือช้าในการเปลี่ยนแปลง
           3. รูปร่าง( form ) หมายถึง รูปร่างหรือการปรากฏของพัฒนาการในช่วงเวลาใดก็ได้
           ลำดับขั้นพัฒนาการที่แท้จริงจะมีความคงที่และเป็นสากล(fix and universal ) หมายถึง A ต้องเกิดก่อน B และ B จะเกิดก่อน C ตามลำดับขั้น รวมถึงการเจริญเติบโตทางกายและพัฒนาการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพันธุกรรมและวุฒิภาวะ( Kohlberg & Ryncare , 1990 อ้างถึงใน Good : 29)
พัฒนาการ(development ) หมายถึง พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ ด้านร่างกายที่เป็นความก้าวหน้าตามลำดับที่จะเพิ่มระดับที่สูงขึ้นของความแตกต่าง และการบูรณาการขององค์ประกอบของระบบ พัฒนาการของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อไม่มีการเจริญเติบโตในช่วงเวลานั้น เช่นเด็กในวัยเดียวกันและมีขนาดรูปร่างเท่าๆกัน อาจจะมีความสามารถที่แตกต่างกัน เช่นการขี่รถสามล้อ หรือการใช้ดินสอในการเขียน ความสามารถนี้แสดงถึงอัตราความแตกต่างของวุฒิภาวะของระบบประสาท ที่ทำให้มีความสามารถในการควบคุมและประสานส่วนต่างๆของร่างกายของบุคคลแตกต่างกัน พัฒนาการทางด้านร่างกายจะเกิดจากความแตกต่างของส่วนต่างๆของร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรก ในวัยแรกเกิดทุกส่วนต่างๆของร่างกายของมนุษย์ จะแตกต่างกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลอกหุ้มไขมัน(myelin sheaths ) ที่ห่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง ปลอกไขมันช่วยทำให้การถ่ายทอดกระแสประสาทได้เร็วขึ้น ทำให้สมองมีความสามารถ และพัฒนาการทางสมองเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ก่อนที่เด็กจะเข้าโรงเรียน ผลของพัฒนาการทางด้านร่างกายประกอบด้วยการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าของการจัดระบบ และการประสานของส่วนต่างๆของร่างกายในวัยเด็ก และในวัยรุ่นจะมีพัฒนาการทางร่างกายที่เป็นพัฒนาการทางอวัยวะเพศเกิดขึ้นพร้อมกับการ เจริญเติบโตทางด้านร่างกายทุกส่วนทั้งหมด Young (1986 : 15) กล่าวว่า พัฒนาการหมายถึง กระบวนการตามลำดับขั้นตอนของความแตกต่างที่เพิ่มระดับสูงขึ้นหรือการจัดระบบการทำงานร่วมกันในทิศทางที่ไม่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ การพัฒนาหรือการจัดระบบสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าร่างกายจะมีการเจริญเติบโตหรือไม่ พัฒนาการจะหมายถึงการพัฒนาด้านติปัญญาและด้านอารมณ ์ไม่ได้พัฒนาเฉพาะด้านร่างกายเท่านั้น แสงเดือน ทวีสิน(2545, หน้า 51) กล่าวว่า พัฒนาการหมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือ การงอกงามทั้งในโครงสร้าง(structure) แบบแผน(pattern)ของอินทรีย์ทุกส่วน มนุษย์ทุกคนต้องการพัฒนาการตลอดชีวิต พัฒนาการเป็นกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ในทุก ๆ ด้านของชีวิตตั้งแต่จุดเริ่มต้น ของชีวิตจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการเจริญงอกงามและการถดถอย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งนำไปสู่ความมีวุฒิภาวะ
           จากความหมายของพัฒนาการสรุปได้ว่า       พัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมนุษย์ตามลำดับตั้งแต่เกิดจนตายและเป็นไปตามโครงสร้างแบบแผนของอินทรีย์
           จากการศึกษาคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของผู้เรียน สรุปความสัมพันธ์ได้ดังนี้   พัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ที่มีทั้งการเจริญเติบโต(growth )ทางด้านร่างกายรูปร่าง ขนาดและน้ำหนัก และในขณะเดียวกันจะมีวุฒิภาวะ(maturation ) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีความต่อเนื่อง (naturally and spontaneously ) และเป็นไปตามพันธุกรรมซึ่งเป็น การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งแวดล้อม ยกเว้นกรณีการขาดโภชนาการหรือการเจ็บป่วยที่รุนแรง พัฒนาการทางด้านร่างกายของมนุษย์จะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับวุฒิภาวะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านๆอื่นๆ จะเกิดจากการเรียนรู้ที่บุคคลมีปฎิสัมพันธ์(interaction ) กับสิ่งแวดล้อม ได้แก่พัฒนาการทางด้านสังคม ส่วนพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและบุคลิกภาพ สำหรับการพัฒนาความพร้อมของผู้เรียน ครูสามารถพัฒนาให้เกิดได้ด้วยการคำนึงถึงการมีวุฒิภาวะ การฝึกหัดฝึกฝนและสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ 

หลักการทั่วไปของพัฒนาการ
           จากการศึกษาพัฒนาการพบว่า แนวโน้มพัฒนาการของมนุษย์มีความชัดเจนและสามารถทำนายได้ แต่ยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องพัฒนาการและทิศทางที่เกิดขึ้น ต่อไปนี้ผู้เขียนขอเสนอหลักการทั่วไปบางประการของพัฒนาการที่นักจิตวิทยาและนักทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์ มีความเห็นตรงกัน ดังนี้
           1. พัฒนาการจากทั่วไปไปสู่เฉพาะ(general to specific ) เป็นพัฒนาการของเด็กที่เรียนรู้การใช้กล้ามเนื้อใหญ่ในการเคลื่อนไหวก่อนพัฒนาทักษะและความคิด หลังจากนั้นเด็กจึงมาสนใจในรายละเอียดและเฉพาะเรื่องมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 3 ขวบจะสนใจที่จะเล่นของเล่นที่มีขนาดใหญ่ก่อนแล้วจึงจะสนใจของเล่นที่มีขนาดเล็กและทำงานที่มีความเฉพาะส่วนต่อไป
           2. อัตราการเจริญเติบโตในการพัฒนาการของมนุษย์มีความแตกต่างกัน ( differently growth rate) ในบุคคลเดียวกันมีพัฒนาการต่อเนื่องกันตลอดเวลา แต่อัตราการเจริญเติบโตของแต่ละบุคคลในแต่ละช่วงชีวิตจะมีอัตราในการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน เช่น เด็กจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่เด็กอยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอดออกมาจนถึงอายุ 6 เดือนแรกและจนถึงอายุ 2 ขวบแรกของชีวิต ต่อมาอัตราการเจริญเติบโตจะลดลงและจะพัฒนาเร็วขึ้นในวัยรุ่น แล้วอัตราการเจริญเติบโตจะค่อยๆลดช้าลงจนถึงวัยผู้ใหญ่และเสื่อมถอยลงในวัยชรา ตัวอย่างเช่น นักเรียนบางคนจะมีรูปร่างสูงกว่า แต่บางคนมีความสามารถในการคิดและความสัมพันธ์ทางสังคมเร็วกว่า
           3. พัฒนาการของมนุษย์จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ( continuity ) พัฒนาการของมนุษย์จะมีลักษณะต่อเนื่องกันในทุกช่วงชีวิตหมายถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต เมื่อเซลล์สเปอร์มผสมกับไข่ของแม่ เซลล์จะมีการแบ่งเซลล์ไปจนกระทั่งคลอด การเจริญเติบโตของทารกหลังคลอดจึงเป็นผลจากการเจริญเติบโตภายในครรภ์ และชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปตั้งแต่วัยหลังคลอด วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชราตามลำดับจนกระทั่งถึงแก่ความตาย ลักษณะการพัฒนาจะนำความเปลี่ยนแปลงสู่ร่างกายตลอดเวลาไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น มนุษย์จะพัฒนาความสามารถตามลำดับ พัฒนาการระยะหนึ่งๆจะเป็นรากฐานของพัฒนาการในขั้นต่อไป เช่น ในวัยทารกเด็กจะนั่งได้ก่อนที่พวกเขาจะเดิน เด็กมองเห็นได้ก่อนที่พวกเขาจะสามารถพูดได้ เป็นต้น
           4. พัฒนาการจะเป็นไปตามแบบฉบับของการพัฒนาและเป็นไปตามลำดับขั้น(sequence )
พัฒนาการของมนุษย์จะเกิดขึ้นตามลำดับ เช่น ในวัยทารกเด็กจะนั่งได้ก่อนที่พวกเขาจะยืนและเดินหรือคว่ำได้ก่อนคลาน เด็กมองเห็นได้ก่อนที่พวกเขาจะสามารถพูดได้ เด็กต้องมองเห็นโลกด้วยตาก่อนที่จะพวกสามารถจินตนาการว่าคนรอบข้างมองเห็นอะไร เด็กต้องเรียนการบวก ลบ ก่อนที่จะเรียนคูณหาร เป็นต้น
           5. พัฒนาการจะเกิดในอัตราที่แตกต่างกัน (ratio) บุคคลจะมีอัตราของพัฒนาการที่แตกต่างกัน เช่น บางคนอายุได้ 8 เดือนจะสามารถพูดได้หรือบางคนพูดเป็นคำๆ เมื่ออายุ 2 ขวบ การศึกษาในเรื่องการเจริญเติบโตทำให้บุคคลเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการที่ช้าหรือเร็วของบุคคลได้ เช่น เด็กมีอายุเท่าใดควรมีความสามารถในด้านใดบ้าง
           6. มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ส่งผลต่อพัฒนาการ เช่น เพศ ระดับความสามารถทางสติปัญญาความถนัด สุขภาพ ภาวะการดำเนินชีวิตเป็นต้น (พาสนา จุลรัตน์,2546 : หน้า 14)
           พัฒนาการของมนุษย์มีความต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆและเพิ่มขึ้นที่ละน้อยทีละน้อยทุกวัน ซึ่งบุคคลไม่สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ ผลรวมของการเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่ความแตกต่างระหว่างบุคคล พัฒนาการในแต่ละขั้นตอนจะมีผลมาจากพัฒนาการก่อนหน้านั้นและถ้าเกิดปัญหาในขั้นพัฒนาการนั้นๆ จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในพัฒนาการที่จะเกิดต่อมาได้
           จากการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ สามารถแบ่งพัฒนาการออกเป็น 4 ด้านได้แก่ พัฒนาการทางด้านร่างกาย ( Physical development ) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางร่างกาย พัฒนาการทางด้านส่วนตัว (Personal development ) เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล พัฒนาการทางด้านสังคม (Social development ) เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านที่บุคคลติดต่อกับบุคคลอื่น และพัฒนาการทางสติปัญญา เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้ของมนุษย์ ( Cognitive development )

พัฒนาการ     

กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆของมนุษย์อย่างมีแบบแผนทำให้เกิดลักษณะใหม่ๆและมีความสามารถใหม่     

 พัฒนาการเป็นผลมาจากวุฒิภาวะและการเรียนรู้

 วุฒิภาวะ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายทำให้มีความสามารถแสดงพฤติกรรมได้เองตามธรรมชาติ และทำให้เกิดพัฒนาการตามลำดับขั้น โดยเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและอาศัยสิ่งแวดล้อมช่วยเสริมทำให้เกิดพฤติกรรม

หลักการพัฒนาการ      

พัฒนาการมีทิศทางเฉพาะแน่นอน      

พัฒนาการจะเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนและลำดับขั้นตอนที่แน่นอน      

 พัฒนาการจะเกิดในลักษณะต่อเนื่อง      

พัฒนาการจะเกิดเป็นอัตราที่ไม่เหมือนกัน     

พัฒนาการแต่ละช่วงอายุไม่เป็นอัตราเดียวกัน      

 พัฒนาการดำเนินไปควบคู่กับความเสื่อม  

ขั้นพัฒนาการของมนุษย์      

1.ระยะทารกในครรภ์ (Prenatal period)

 2.วัยทารก แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

 2.1 วัยแรกเกิด (Infancy) แรกคลอด-ปลายสัปดาห์ที่

 2.2 วัยทารก (Babyhood) สัปดาห์ที่ 2-2 ปี      

 3.วัยเด็ก แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ1.1    วัยเด็กตอนต้น (Early Childhood) 2-5 ปี1.2    วัยเด็กตอนกลาง (Middle Childhood) 6-9 ปี1.3    วัยเด็กตอนปลาย (Late Childhood) 10-12 ปี      

4. วัยแรกรุ่น (Puberty) หญิงอายุ 12 ปี ชาย อายุ 14 ปี

 5.วัยรุ่น แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

 5.1 วัยรุ่นตอนต้น (Early Adolescence) 13 – 15 ปี

5.2 วัยรุ่นตอนกลาง (Middle Adolescence) 15-18 ปี

5.3 วัยรุ่นตอนปลาย (Late Adolescence) 18-21 ปี

 6.วัยผู้ใหญ่ อายุ 21-40 ปี

  7.วัยกลางคน (Middle Age) 40-60 ปี       

 8.วัยชรา (Old Age) 60 ปีขึ้นไป 

อายุผู้เรียนตามช่วงชั้นต่างๆ    

ช่วงชั้นที่ 1 ประถมศึกษาปีที่ 1-3  อายุ 6-9 ปี       

 ช่วงชั้นที่ 2 ประถมศึกษาปีที่ 4-6 อายุ 9-12 ปี      

ช่วงชั้นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 1-3  อายุ12-15 ปี      

ช่วงชั้นที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อายุ 15-18 ปี 

พัฒนาการวัยเด็กตอนต้น (อนุบาล)

อายุ 2-6 ปี อยากเป็นอิสระ เริ่มพึ่งตนเองจึงอยากเป็นตัวของตัวเองชอบปฏิเสธ ดื้อ ความคิดสร้างสรรค์เจริญสูงสุด       

ร่างกาย สัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เคลื่อนไหวได้ดี       

อารมณ์ เปิดเผย เกิดเพียงสั้นๆแล้วหายไป เพราะความสนใจสั้น      

  สังคม เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เล่นเป็นกลุ่ม       

สติปัญญา ยึดตนเองเป็นศุนย์กลาง รู้จักการจัดกลุ่ม

พัฒนาการวัยเด็กตอนกลาง (ช่วงชั้นที่ 1)   เด็กอายุ 6-9 ปี       

 ร่างกาย มีความคล่องแคล่วว่องไว ชอบเล่น ไม่ค่อยอยู่นิ่ง มีปัญหาเกี่ยวกับ ควบคุมกล้ามเนื้อ มักติดโรคง่าย       

 อารมณ์ อ่อนไหวง่ายต่อการติเตียน และการเยาะเย้ย ชอบการชมเชยต้องการสร้างความพอใจให้ครู ชอบปรนนิบัติครู ทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ      

  สังคม ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ไม่มีการยืดหยุ่น ทุกสิ่งเป็นจริงเป็นจัง       

 สติปัญญา มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ชอบพูดมากกว่าเขียน กระบวนการคิดขึ้นอยู่กับการรับรู้ตามที่เห็น

พัฒนาการวัยเด็กตอนกลาง(ช่วงชั้นที่ 2)เด็กอายุ9-12 ปี

ร่างกาย เด็กหญิงเจริญเติบโตเร็วกว่าเด็กชาย เด็กหญิงย่างเข้าสู่วัยรู่นรูปร่างเปลี่ยนไป เด็กชายชอบเล่นรุนแรง รายงานละเอียดได้ดี

อารมณ์ สามารถยอมรับกฎเกณฑ์ มีเหตุผล รู้จักพิจารณาสิ่งต่างที่เป็นไปตามธรรมชาติขึ้น มีความขัดแย้งระหว่างข้อตกลงของกลุ่มกับกฎของผู้ใหญ่นิยมคนเก่ง คนดัง

สังคม กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ต้องการเป็นคนดังในหมู่เพื่อนมากกว่าเชื่อฟังผู้ใหญ่นิยมกีฬาที่เล่นเป็นทีม รักพวกพ้อง

สติปัญญา อยากรู้อยากเห็นและเปลี่ยนความสนใจง่ายต้องการเป็นอิสระ แต่ยังต้องการความช่วยเหลือ ตั้งความคาดหวังสูง สามารถคิดปฏิบัติการเป็นรูปธรรม

พัฒนาการวัยรุ่นตอนต้น (ช่วงชั้นที่ 3)

ร่างกาย เด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่นก่อนเด็กชาย เริ่มมีลักษณะทางเพศขั้นที่ 2 (Aecondary Sex  Characteristiics) กินจุ เก้งกางคำนึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตนเอง ต้องการพักผ่อน

อารมณ์ ค่อนข้างเจ้าอารมณ์ อารมณ์รุนแรงไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงง่าย ขาดเหตุผล ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

สังคม ต้องการการยอมรับจากเพื่อน ชอบทำเหมือนเพื่อน ไม่ชอบการบังคับ เด็กหญิงมีพัฒนาการเร็วกว่าผู้ชาย

สติปัญญา ความสนใจนานขึ้น สามารถทำกิจกรรมยากๆ ได้ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม คิดแก้ปัญหาได้แต่ความรอบคอบ

พัฒนาการวัยรุ่นตอนกลาง (ช่วงชั้นที่ 4)

ร่างกาย เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ และสนใจร่างกายตนเอง ต่อมต่างๆ เจริญเติบโตเต็มที่อารมณ์ ต้องการความเป็นอิสระมาก จึงมีปัญหาขัดแย้งกับพ่อกับแม่ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย มีการแสดงอารมณ์ที่แข็งกร้าว เพ้อฝัน

สังคม ชอบทำตามเป็นกลุ่ม ขัดแย้งกับผู้ใหญ่มากขึ้น เด็กหญิงมีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กชาย สนใจเพศตรงข้าม มีความคิดเรื่องการมีนัดและการแต่งงาน

สติปัญญา พัฒนาการเกือบเท่ากับผู้ใหญ่ แต่ขาดประสบการณ์ มีปรัชญาชีวิต แต่ยังสับสน เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท