กรดไหลย้อน(GERD) ร่วมด้วยช่วยกันดีกว่า


การศึกษาใหม่พบ ไม่มีสูตรสำเร็จวิธีเดียวในการรักษาโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) ใช้หลายๆ วิธี ร่วมกับการปรับเปลี่ยนแบบแผนในการใช้ชีวิต (lifestyle) ไ้ด้ผลดีกว่า [ Reuters ]

...

โรคกรดไหลย้อน (เกิร์ด / GERD) อาจทำให้คนไข้มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว จุกเสียด แสบร้อนหน้าอก-ลิ้นปี่ แถมยังทำให้อีกหลายๆ คนมีอาการไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก เจ็บคอ ฟันสึก เสียวฟัน เปรี้ยวปาก (ไม่ใช่เปรี้ยวปากอยากกินหมาก) ได้ด้วย

กลไก สำคัญ คือ โรคนี้ทำให้กรด-น้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร และบางครั้งมีน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก-น้ำดีไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร ขึ้นไปยังหลอดอาหาร หรือบริเวณสูงกว่านั้น เช่น บางคนขึ้นไปถึงลำคอ ฯลฯ ทำให้หลอดอาหาร และอวัยวะต่างๆ อักเสบ ระคายเคือง หรือเจ็บปวดได้

...

อ.ดร.ลาร์ส ลุนเดลล์ และคณะจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคาโรลินสกา ฮุดดินจ์ สวีเดน ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างคนไข้กรดไหลย้อนที่มีอาการรุนแรงมาก 255 คน

ในจำนวนนี้ 122 คนได้รับการผ่าตัด, 133 คนได้รับยาลดกรด (omeprazole) ติดตามไปนาน 12 ปี

...

ผลปรากฏว่า ได้ผลดีทั้งสองแบบ โดยกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดได้ผลดีไป 12 ปี 53%, กลุ่มที่ได้รับยาลดกรดได้ผลดี 45% (40% ยังคงได้รับยาลดกรดติดต่อกันหลายปี)

การ ผ่าตัดควบคุมอาการ เช่น แสบร้อนหน้าอก (heartburn), เรอเปรี้ยว ฯลฯ ได้ดี ทว่า... ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัด-ดมยา (เป็นธรรมดา) แถมคนไข้หลายคนยังมีปัญหาใหม่ คือ กลืนลำบาก ท้องอืด คลื่นไส้แต่อาเจียนไม่ออก (ผะอืดผะอม) ฯลฯ

...

คนไข้ที่ได้ รับการผ่าตัด 38% ยังคงต้องใช้ยาลดกรดหลังผ่าตัด (โปรดสังเกตว่า อัตราการใช้ยาใกล้เคียงกับกลุ่มที่ไม่ได้ผ่าตัด) แถมคุณภาพชีวิต (quality-of-life) ยังดีพอๆ กัน

อ.ลุนเดลล์กล่าวว่า ผลการรักษาด้วยยาได้ผลใกล้เคียงกับการผ่าตัด (แต่โอกาสตายจากการดมยา-ผ่าตัดไม่เท่ากัน)

...

โรคกรดไหลย้อน หรือเกิร์ด (GERD) ก็คล้ายกับโรคสมัยใหม่อีกหลายอย่างที่ว่า ยาอย่างเดียวไม่พอ... ต้องขอให้คนไข้ปรับเปลี่ยนวิธีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ด้วย เช่น

(1). กินอาหารมื้อเล็กหน่อย หลายมื้อหน่อย เช่น 5 มื้อเล็กแทน 3 มื้อใหญ่ ฯลฯ

(2). ไม่กิน "ข้าวคำ-น้ำคำ" เพื่อลดปริมาณอาหาร + น้ำในกระเพาะอาหารให้น้อยลง

(3). ไม่กิน "ข้าวคำ-พูดคำ" หรือไม่พูดมากเวลากิน เพื่อลดปริมาณอาหาร + น้ำ + ลมปาก (เวลาคนเราพูดไป-กินไป จะมีการกลืนลมลงไปเพิ่มขึ้น) ในกระเพาะอาหารให้น้อยลง

(4). ไม่กิน "ข้าวคำ-น้ำอัดลม (หรือเบียร์) คำ" เพื่อลดปริมาณอาหาร + น้ำ + ลมปาก + ลมแก๊ส (จาำกน้ำอัดลม + เบียร์ ฯลฯ)

(5). กินอาหารมื้อเย็นน้อยหน่อย เพื่อให้อาหารออกจากกระเพาะอาหารได้หมดก่อนนอน

(6). กินอาหารมื้อเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกลง หรือเร็วขึ้นครั้งละ 1 ชั่วโมง ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น (เหตุผลเหมือนข้อ 5)

(7). หลังกินไม่นอนทันที เพื่อให้หลอดอาหารอยู่ในแนวดิ่งมากกว่าแนวนอน (แนวนอนทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายกว่าแนวดิ่ง)

(8). หลังกิน อาหาร... ควรอยู่ในท่ายืนหรือเดิน (เดินช้าๆ ดีกว่า โบราณเรียกว่า "เดินย่อยอาหาร" แต่อย่าเดินเร็ว หรือออกกำลังหนักหลังอาหารทันที)

(9). ไม่สวมเสื้อผ้า-เข็มขัดคับ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงดันใ่นช่องท้องเพิ่มขึ้น

(10). ระวังอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง หรืออ้วนรูปถังเบียร์ (ป่องตรงกลาง) > ไขมันในช่องท้องเพิ่มแรงดันในช่องท้องได้ ควรเปลี่ยนจากอ้วนไม่ฟิตเป็นอ้วนฟิต ฟิตแล้วค่อยคิดลดน้ำหนักต่อไป

(11). ใช้ยาลดกรดเสริมในช่วงที่มีอาการ หรือตามที่หมอใกล้บ้านแนะนำ 

...

ขอแนะนำให้อ่าน 

(1). 10 วิธีป้องกันท้องอืดจากกรดไหลย้อนกลับ (GERD) > [ gotoknow ]

(2). 20 วิธีต้านภัยกรดไหลย้อนหรือเจ้าเกิร์ด (GERD) > [ oknation ] หรือสำเนาที่ [ googleprint ]

(3). กรดไหลย้อนคืออะไร (แผ่นพับ Watson) > [ exteen ]

... 

ถึงตรงนี้... ขอส่งความสุขปีใหม่ 2553 และให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่มา                                                         

  • Thank Reuters > No perfect cure for stomach acid reflux: study. December 2009. / Source > Clinical Gastroenterology and Hepatology, December 2009.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. > 29 ธันวาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 326631เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โรคนี้น่ากลัวมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันนะคะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท