การจัดหมู่หนังสือระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน


การจัดหมู่หนังสือ

ระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library  of  Congress  Classification) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า  ระบบ L.C.  โดย  ดร. เฮอร์เบิร์ต  พุตนัม  (Dr. Herbert  Putnum)  ชาวอเมริกัน เป็นผู้คิดขึ้นในปี  พ.ศ.  2442  (ค.ศ. 1899)  ในขณะที่เป็นบรรณารักษ์ของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ณ  กรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้สัญลักษณ์แบบผสมระหว่างตัวอักษรโรมันตัวใหญ่  A-Z กับ               เลขอารบิคตั้งแต่  1-9999  ยกเว้นตัว  O, O,  W,  X,  Y ปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดใช้เก็บไว้สำหรับเพิ่มเติมวิชาการที่จะเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ระบบนี้เหมาะสำหรับใช้จัดหนังสือในห้องสมุดขนาดใหญ่ และห้องสมุดเฉพาะ เพราะระบบสามารถรองรับหนังสือได้เป็นจำนวนมาก และแบ่งได้ละเอียด  ปัจจุบันใช้จัดทั่วไปในห้องสมุดทั่วโลก ทั้งในอเมริกา  ยุโรป  เอเชีย ในประเทศไทยปัจจุบันมีจัดโดยทั่วไปในห้องสมุดมหาวิทยาลัย เช่น  สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิทยบริการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สำนักบรรณสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

                การจัดหมู่หนังสือระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกันแบ่งจากหมวดใหญ่ไปหาหมวดย่อย ดังนี้

               1  หมวดใหญ่  หรือการแบ่งครั้งที่  1

               คือ  การแบ่งสรรพวิชาออกเป็น  20  หมวดใหญ่ ดังนี้

 หมวด  A

หนังสืออ้างอิงทั่วไป หนังสือพิมพ์  วารสาร สิ่งพิมพ์ของสมาคมและสถาบันทางวิชาการต่างๆ ตารางเลข

 หมวด  B

ปรัชญา  ตรรกวิทยา อภิปรัชญา  จิตวิทยา  สุนทรียศาสตร์  จริยศาสตร์ ศาสนา

 หมวด  C

ประวัติอารยธรรม โบราณคดี  จดหมายเหตุ  พงศาวดาร

 หมวด  D

ประวัติศาสตร์ทั่วไป ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว  ประวัติศาสตร์ประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป  แอฟริกา  เอเชีย  และหมู่เกาะต่างๆ  (ยกเว้นทวีปอเมริกา)

 หมวด  E -F

ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว  ดินแดนในทวีปอเมริกา 

 หมวด  G

ภูมิศาสตร์ทั่วไป มานุษยวิทยาและการบันเทิง

 หมวด  H

สังคมศาสตร์

 หมวด  J

รัฐศาสตร์  การเมือง การปกครอง

 หมวด  K

กฎหมาย

 หมวด  L

การศึกษา

 หมวด  M

การดนตรี

 หมวด  N

ศิลปกรรม

 หมวด  P

ภาษาและวรรณคดี

 หมวด  Q

วิทยาศาสตร์ทั่วไป

 หมวด  R

แพทยศาสตร์

 หมวด  S

เกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์  การประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยพืชและสัตว์ตลอดจนกีฬาล่าสัตว์

 หมวด  T

เทคโนโลยี 

 หมวด  U

ยุทธศาสตร์

 หมวด  V

นาวิกศาสตร์

 หมวด  Z

บรรณานุกรมและบรรณารักษศาสตร์

                2  หมวดย่อย หรือการแบ่งครั้งที่  2

               คือ  การแบ่งแต่ละหมวดใหญ่ออกเป็นหมวดย่อย โดยใช้ตัวอักษรโรมันตัวใหญ่สองตัวแทนเนื้อหาของหนังสือ (ยกเว้นหมวด  E – F  หมวด  K  และหมวด Z)  ซึ่งแต่ละหมวดใหญ่จะแบ่งย่อยได้มากน้อยต่างกัน เช่น

               4  หมวด  A  แบ่งเป็นหมวดย่อย  ดังนี้

                               AC  รวมบทนิพนธ์  รวมเรื่อง  หนังสือชุด

                               AE  สารานุกรม

                               AG  พจนานุกรมและหนังสืออ้างอิงทั่วไป

                               AT  ดัชนี

                               AM  พิพิธภัณฑสถาน  นักสะสม และการเก็บรวบรวม

                               AN  หนังสือพิมพ์

                               AP  วารสาร

                               AS  สถาบันและสมาคมทางวิชาการ

                               AY  หนังสือรายปี  สมพัตรสร  นามานุกรม

                               AZ  ประวัติของนักวิชาการ ทุนการศึกษาและการเรียนรู้

               4  หมวด  Z  แบ่งเป็นหมวดย่อย  ดังนี้

                               4-15                     เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ

                               40-115                 การเขียน

                               116-550                             อุตสาหกรรมการผลิตหนังสือและการค้า

                               551-661                             ลิขสิทธิ์  และความเป็นเจ้าของผลิตกรรมทางปัญญา

                               662-997                             ห้องสมุดและบรรณารักษศาสตร์

                               998-1000            รายการหนังสือของผู้พิมพ์หน่วย  ราคาหนังสือ สถิติการจำหน่าย

                               1001-9000           บรรณานุกรม บรรณานุกรมทั่วไป

                               Z1201-4941        บรรณานุกรมแห่งชาติ

                               Z5051-7999        บรรณานุกรมเฉพาะวิชา

                               Z8001-9999        บรรณานุกรมงานเฉพาะบุคคล

               3  หมู่ย่อย หรือการแบ่งครั้งที่  3  โดยวิธีเติมตัวเลขอารบิค ตั้งแต่  1-9999  เช่น

                               PN1        วารสารสากล

                               PN2       วารสารอเมริกันและอังกฤษ

                               PN86     ประวัติและวิจารณ์

 

                               PN101  ผู้แต่งอเมริกันอังกฤษ

               4  จุดทศนิยม หรือการแบ่งครั้งที่  4  โดยใช้จุดคั่น และตามด้วยตัวอักษรและตัวเลข เพื่อแสดงรายละเอียดหมวดเรื่อง  หรือรูปแบบ หรือประเทศ  เช่น

                               TX         คหกรรมศาสตร์

                               TX         อาหารและโภชนาเฉพาะกลุ่มและเฉพาะชนชั้น

                               TX         361.A3  ผู้สูงอายุ

                               TX         361.C5  เด็ก

               นอกจากนี้ยังมีการแบ่งตามตารางเลขเฉพาะ  ซึ่งต้องใช้ประกอบกับเลขหมู่อีก  5  ตาราง ได้แก่ 

                     5.4.1 ตารางวิธีเขียน

                     5.4.2 ตารางภูมิศาสตร์

                     5.4.3 ตารางการแบ่งตามยุคสมัย

                     5.4.4 ตารางการแบ่งเฉพาะเรื่อง

                     5.4.5  ตารางรวม

               จากการแบ่งหมวดหมู่หนังสือย่อย ๆ  ถึง  4  ครั้ง อีกทั้งมีการแบ่งย่อยโดยใช้ตารางเลขเฉพาะประกอบถึง  5 ตาราง ทำให้การจัดหมู่หนังสือด้วยระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกันมีความละเอียดและเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

               สรุป

               ระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน  ดร.เฮอร์เบิร์ต  พุตนัม ได้คิดระบบนี้ขึ้นมาและนำไปใช้กับหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งมีหนังสือจำนวนมาก หลังจากนั้นห้องสมุดมหาวิทยาลัยและห้องสมุดที่มีขนาดใหญ่ได้เริ่มนำระบบนี้ไปใช้ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ  รวมทั้งประเทศไทยด้วย เหมาะกับห้องสมุดขนาดใหญ่  และห้องสมุดเฉพาะ  เช่น หอสมุดมหาวิทยาลัยรามคำแหง  หอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ

         แหล่งที่มา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  คณะอักษรศาสตร์. ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์. 

         การค้นคว้าและเขียนรายงาน. พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ : โครงการ

         เผยแพร่ผลงานวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

ลมุล  รัตตากร.  การใช้ห้องสมุด. พิมพ์ครั้งที่  8.  กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุด

         แห่งประเทศไทย, 2539.

สมมารถ  มีศรี  สุทธาริณี  วาคาบาซิ และนฤมล  เทพชู.  ห้องสมุดกับการรู้

         สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ก. วิวรรธน์, 2547.

สุนี  เลิศแสวงกิจ  และพิศิษฐ์  กาญจนพิมาย. ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. 

          กรุงเทพฯ: โสภณการพิมพ์, 2546.

สุปรียา  ไชยสมคุณ.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : ประสานมิตร,

          2546.

อำไพวรรณ  ทัพเป็นไทย.  การเขียนรายงานและการใช้ห้องสมุด= Report 

         Writing  Library Usage กรุงเทพฯ :ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ, 2538.

หมายเลขบันทึก: 326557เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท