ภาพใหญ่ของการทำงานกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา


          กลไกกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาไทย น่าจะมี ๔ ชั้นหรือ ๔ มิติ   มิติที่กว้างใหญ่ที่สุด แต่คนนึกถึงน้อยที่สุดคือมิติระดับสังคมไทยทั้งหมด   จะให้ระบบอุดมศึกษาเป็นระบบที่ทำประโยชน์หรือก่อผลดีในภาพรวมมากๆ ก่อผลเสียน้อยๆ    สังคมต้องเข้ามาตรวจสอบระบบอุดมศึกษา    ต้องเข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของ    และต้องตรวจสอบอีก ๓ มิติ

          มิติที่มีอำนาจมากที่สุดคือมิติการเมือง หรือรัฐบาล ผู้ถืออำนาจรัฐ    และทำหน้าที่ใช้ทรัพยากรของแผ่นดินในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านอุดมศึกษา    ซึ่งมองในแง่กฎหมาย รมต. ศึกษาฯ เป็นผู้ถืออำนาจนี้   ซึ่งผมมีข้อวิพากษ์รัฐบาลไทยตลอดมา ว่ารัฐมนตรีน่าจะทำหน้าที่กำกับดูแล    ไม่น่าจะเข้าไปทำหน้าที่บริหารเสียเองอย่างที่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่    ซึ่งมีผลให้เกิดความไม่ตรงไปตรงมาในการจัดสรรและใช้งบประมาณแผ่นดิน  

          จุดอ่อนของมิติการเมืองคือมักมุ่งเป้าหมายระยะสั้น   หวังโชว์ผลงานแบบเร่งด่วน   จึงอ่อนด้านการทำงานเพื่อผลระยะยาว ที่มีความหมายต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง

          มิติที่ ๓ คือกลไกกำกับดูแลตาม พรบ. อุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ คือ กกอ. ที่ผมเป็นประธานมา ๑ ปีแล้ว    ที่ผมประเมินตัวเองว่า ผลงานไม่น่าประทับใจ    ไม่มีงานใหญ่ๆ เกิดขึ้น    ยังกำกับดูแลระบบภาพใหญ่ไม่ได้    งานที่ทำเป็นเพียงส่วนเสี้ยวย่อยๆ และเป็นงานตั้งรับ

          มิติที่ ๔ คือ สกอ.   ทำหน้าที่บริหารระบบ โดยมี กกอ. กำกับอีกทีหนึ่ง   แต่ความสัมพันธ์แบบกำกับดูแล สกอ. โดย กกอ. มี รมต. เป็นตัวแปรที่มีอำนาจเชิงบังคับบัญชามากกว่า    กกอ. มีความสัมพันธ์เชิงปัญญามากกว่า

          คน สกอ. คุ้นเคยและมีทักษะในการทำงานแบบออกกฎระเบียบ   ในขณะที่ สกอ. ยุคนี้ต้องการให้ทำงานแบบ empowerment ต่อส่วนที่ดี   คอยสำรวจภาพใหญ่ แล้วบอกต่อสังคม หวังใช้กลไกสังคมคือมิติที่ ๑ กดดันหรือเรียกร้องเอาจากมิติที่ ๒   และจากแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

          เท่ากับว่า หากจะทำตามข้อตกลงในที่ประชุม retreat ของ กกอ. / สกอ. เมื่อต้นปีที่แล้ว    คนของ สกอ. ก็ต้องปรับตัวเรียนรู้ทักษะในการทำงานแบบใหม่   แต่ในความรู้สึกของผมมีการปรับตัวน้อยมาก   จนผมสงสัยว่าตัวผมเองไม่เหมาะต่อหน้าที่นี้
ที่จริงน่าจะมีมิติที่ ๕ คือมือที่มองไม่เห็น   ได้แก่อิทธิพลโลกาภิวัตน์ด้านอุดมศึกษา ที่มากับกลไกตลาด   หวังหากำไรจากธุรกิจอุดมศึกษา    ที่ กกอ. / สกอ. ยังกำกับดูแลไม่ค่อยเป็น   ทำให้กระแสอุดมศึกษาพาณิชย์แบบไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมยังดำรงอยู่ได้ดาดดื่น

          กลไก/ระบบต่างๆ ในสังคมนั้น มีทั้งด้านดี และด้านชั่วร้าย    หน้าที่หลักของกลไกกำกับดูแลระบบคือ ทำให้ตัวระบบก่อผลด้านดีต่อสังคมภาพรวมให้มากที่สุด   ป้องกันผลด้านชั่วร้ายให้มีน้อยที่สุด    ในเรื่องระบบอุดมศึกษา ก็ต้องกำกับโดยยึดหลักการนี้

          ผมตั้งใจว่า จะลองดูแนวโน้มต่อไปอีกสักครึ่งปี   หากวิธีทำงานยังไปในทางเดิม    ผมลาออกให้คนที่มีความสามารถและทำงานได้เข้าขากับระบบภาพรวม จะเป็นคุณต่อบ้านเมืองมากกว่า

          นี่คือการประเมิน หรือวิพากษ์ตัวเอง ไปในตัว

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธ.ค. ๕๒
หลังกลับมาจากการสัมมนาเรื่อง “มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติกับความเป็นเลิศทางวิชาการ” ที่ มช.

       
         

หมายเลขบันทึก: 325880เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายประศักดิ์ ถาวรยุติการต์

เรียน อาจารย์วิจารณ์

ผมเพิ่งได้อ่าน และเห็นด้วยกับข้อสังเกตุของอาจารย์ ไม่เฉพาะ สกอ. ที่เป็นระบบราชการแบบเก่า ในมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นระบบราชการแบบเก่า อาจจะเป็นเพราะว่าผู้บริหารของเรา ที่เคยไปเรียนต่างประเทศ ไม่รู้ว่าเขาจัดการกันอย่างไร พอมาเป็นผู้บริหารก็เลยทำตามระบบราชการที่เคยทำกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งมหาวิทยาลัย ดูง่ายๆ เราเน้นแต่อาคาร ป้ายมหาวิทยาลัย ป้ายภาควิชา

การคัดนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยก็แทบไปไม่ถึงไหน ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี เราขาดผู้นำที่มีความสามารถในการตัดสินใจ

ว่าจะเอาวิธีใด จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยขาดข้อมูลทางวิจัยมาช่วยการตัดสินใจ ใช้คำadmission แต่ก็ยังเป็นแบบสอบ

entrance อย่างเดิม เพียงแต่มีคะแนนอย่างอื่นๆ เพิ่มมาเล็กน้อย แล้วก็เถียงกันจนทุกวันนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท