ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ประชุมเตรียมการจัดงานวิสาขบูชาโลก ปี ๕๓ (๒)


         ตามที่องค์การสหประชาชาติได้มีมติให้ "วันวิสาขบูชา" เป็น "วันสำคัญสากลของโลก" และได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็น "วันหยุดอย่างเป็นทางการ" เื่พื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมเฉลิมเพื่อระลึกถึงวัน "ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า" และปกติทุกปีจะมีประเทศต่างๆ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน แต่สำหรับปีนี้ ผู้นำองค์กรชาวพุทธทั่วโลกได้เลือก "ประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น" เป็น "เจ้าภาพร่วม" โดยฉันทามติเลือก "ประเทศไทย" เป็นสถานที่ในการจัดงาน

          ในการนี้ รัฐบาลไทย และมหาเถรสมาคมได้มอบหมายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร "เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดพิธีเฉลิมฉลอง และจัดประชุมวิชาการนานาชาติ"   ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำประเทศ ผู้นำศาสนา นักปราชญ์ นักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า ๘๓ ประเทศ/เมือง ในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ กำหนด พิธี เปิดและสัมมนาทางวิชาการ ณ อาคารหอประชุม มวก. ๔๘ พรรษามหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพิธีปิด ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

            พระธรรมโกศาจารย์, ศ.ดร. (ราชบ้ัณฑิตกิตติมศักดิ์) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมวิสาขบูชาโลก ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการจัดงานนานาชาติทั้งสองสมาคม คือ สมาคมวิสาขบูชาโลก และสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบในการจัดพิธีเฉลิมฉลอง และประชุมนานาชาติในวันวิสาขบูชาโลก ปี ๕๓

        การจัดประชุมคณะกรรมการเตรียมการนานาชาติ (IOC) ครั้งที่ ๑ ได้เิริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘-๒๐ กันยายน ๒๕๕๒  ซึ่งผลสรุปจากการประชุมทำให้ได้กรอบเกี่ยวกับหัวข้อหลักในการจัดงาน คือ การฟื้นคืนโลกด้วยมุมมองของพระพุทธศาสนา (Global Recovery: the Buddhist Perspective) โดยมีมติให้เชิญองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลก ผู้นำ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปจาก ๘๓ ประเทศจำนวน ๑,๕๐๐ รูป/คน และในประเทศจำนวน ๒,๐๐๐ รูป/คน รวมทั้งสิ้น ๒,๕๐๐ รูป/คน  ส่วนการจัดประชุมคณะกรรมการนานาชาติครั้งที่ ๒ จะมีขึ้นในวันที่ ๒๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๓

        การจัดงานครั้งนี้ มีเจ้าภาพหลักสองประเทศคือ "ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย"  ซึ่งที่ประชุมได้มีฉันทามติร่วมกันให้ "ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ" โดยตระหนักถึงการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า "สยามเมืองยิ้ม" และ "มีองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็ง" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการจัดการอย่างเป็นทางการมาเป็นประจำทุกปี"

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพื่อเติมได้ที่

             สำนักงานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ ๕๕ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ ๐๓๕-๒๓๘-๐๙๘-๙, ๐๒-๒๒๖-๖๐๒๗ ต่อ ๘๐๙๘ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๙.๐๐ น. ทุกวัน
www.icundv.com/vesak2010 (อยู่ในช่วงปรับปรุงจะใช้การได้วันที่ ๒๐ มค.)

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วังน้อย อยุธยา

หมายเลขบันทึก: 325836เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กราบนมัสการพระอาจารย์พระมหาหรรษา ธมฺมหาโสค่ะ

มาชื่นชมการทำงานค่ะพระอาจารย์

 

เจริญพร โยมชาดา

  • ขอบใจมากสำหรับ "มุทิตาธรรม" ที่โยมมีต่อทีมงานของอาตมา
  • คำถามคือ "นอกจากมุทิตา" แล้ว โยมปรารถนาที่จะทำข้ออื่นๆ ด้วยไหม
  • เมตตา และกรุณา คือ ความปรารถนาดีและ เข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัคร หรือแนะนำใครสักคนมาช่วยเป็นอาสาสมัคร
  • ตอนนี้โยมณัฐรดาได้เข้ามาช่วยในการวาดภาพ "ดอกบัว" เพื่อมอบให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวน ๓,๐๐๐ รูป/คน
  • เจริญพร

นมัสการครับ

แม้ตัวยังไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมนี้ได้ แต่ขออนุญาตส่งใจและข้อคิดเห็นมาช่วยนะครับ

1.ยินดีอย่างยิ่งครับที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับญี่ปุ่นโดยใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงาน

2.การที่สมาคมพุทธนานาชาติเลือกไทยเป้นสถานที่จัดงาน เป็นการย้ำความนิยมของชาวโลกในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการจัดการประชุมระดับโลกนี้

3.เนื่องจากเป็นวันทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ จึงถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญหนึ่งของปี 2553 ครับ ความสำเร็จของการประชุมนี้จะส่งผลดีไม่เฉพาะต่อพุทธศาสนาแต่กับธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยด้วย

4.ข้อหลักในการจัดงาน Global Recovery: the Buddhist Perspective การฟื้นคืนของโลก ในมุมมองของพระพุทธศาสนา นับว่าเหมาะสมกับยุคและกาลเวลาครับ ที่โลกประสบวิกฤติในหลายด้าน และผลที่ปรากฏแสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศที่พัฒนาด้วยความเจริญทางวัถุนิยมและการเติบโตทาง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีไม่สามารถต้านรับกับความเสื่อมของมนุษย์และของโลกได้ครับ

5.เท่าที่ผมเคยได้ข่าวการประชุมทางพุทธศาสนาในระดับระหว่างประเทศในประเทศไทย มักจะปรากฏว่าเป็นงานที่เน้นเฉพาะนักบวชเป็นหลักและเป็นที่สนใจเฉพาะของคนระดับที่มีการศึกษาเท่านั้น ผมหมายความว่าเพราะความที่เป็นการประชุมที่มีคนต่างชาติร่วมด้วย จึงทำให้มีคนไทยเฉพาะกลุ่มเข้าร่วม ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยเฉพาะสาระสำคัญของหัวข้อหลักที่ว่า

6.เป็นปรกติอยู่เองที่เนื่องจากเป็นงานพุทธศาสนา จึงกำหนดให้พระสงฆ์เป็นผู้จัดงานและดำเนินงาน จึงทำให้เป็นงานที่มีภาพลักษณ์เป็นงานของพระ

ในประเด็นนี้ ผมมิได้หมายความว่าให้พระทำไม่ดี แต่อยากจะมองว่าเนื่องจากเป็นงานของชาวพุทธทั่วโลกด้วย จึงอยากจะให้รูปแบบการจัดงานเป็นการผสมผสานระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสด้วย

7.เนื่องจากงานวันเวสักหรือวิสาขะ เป้นงานของชาวพุทธโลก จึงอยากให้เน้นความเป็นสากลให้มากด้วยครับ จะได้เป็นงานที่ชาวพุทธจากประเทศอื่นๆ ติดตามและเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะผ่านสื่อประเภทใด ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ความสำคัญของศูนย์ข่าวของการประชุมและศูนย์ประชาสัมพันธ์จึงมีความสำคัญด้วยครับ

8.ดูจากหัวข้อหลัก การฟื้นโลกตามแนวพุทธ อาจจะไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติธรรมอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึงรูปแบบของวิถีชีวิตที่จะนำมาใช้ต่อสู้กับโลกาภิวัฒน์ด้วย เช่นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งมีคุณค่าไม่เฉพาะต่อสังคมไทยแต่สังคมโลกด้วย ดังนั้น การประชุมชาวพุทธในไทย อาจเสนอแนะให้มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานำเสนอให้พระสงฆ์นานาชาติได้รับทราบด้วย รวมทั้งอาจมีการจัดให้คณะสงฆ์ไปดูงานโครงการพระราชดำริต่างๆ รวมทั้งหมุ่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่างด้วย เพราะพระสงฆ์เป็นผู้นำสังคม จึงสามารถที่จะนำความรู้ตรงนี้ไปเผยแพร่ต่อได้ครับ

9.จากข้อคิดเห็นเบื้องต้นนี้ ผมเห็นว่า รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญการประชุมนี้ ไม่เฉพาะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจัดการประชุม แต่รัฐบาลควรเข้าไปร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะสงฆ์ไทยครับ จะได้เป็นวาะแห่งชาติและจะได้มีผู้ปฏิบัติงานที่เป้นฆราวาสไปช่วยงานได้อย่างเป็นระบบครับ

10.เนื่องจากประเทศเป็นประเทศพุทธ พระมหากษิตริย์เป็นพุทธมามกะ เป็นองค์อุปถัมถ์พระพุทธศาสนา การให้รัฐบาลเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจึงถือเป็นงานสำคัญของรัฐบาลด้วยและที่สำคัญเป็นการเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาส 82 พรรษาด้วยครับ

ผมขอคิดนอกกรอบว่า ในโอกาสดังกล่าว หากได้มีการตักบาตรและทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็จะดีมากครับ

11.ทุกวันนี้ แม้จะเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็งและมั่นคงที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ในประเทศอินเดียซึ่งพุทธศาสนาเสื่อมไปแล้ว (แต่ยังไม่สูญ) ยังมีความต้องการพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำชาวพุทธ ซึ่งผมมองไม่เห็นใครนอกจากพระสงฆ์ไทย ที่จะทำหน้าที่นี้

ปล.ผมก็คิดไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะตั้งใจที่จะช่วยคิดจริงๆ ครับ

คืนนี้ ขอแค่นี้ก่อนนะครับ หากมีประเด็นใดที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความเห้นกันได้ ก็ค่อยมาต่อนะครับ

นมัสการครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • ขอแสดงความดีใจที่ประเทสไทยได้เป็นเจ้าภาพ
  • และจะรอติดตามงานเจ้าค่ะ
  • ครั้งหนึ่ง..หลายครั้งเจ้าค่ะได้ไปฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดปัญญา ฯ คลองหก
  • ได้รู้จักกับพระคุณเจ้า  พระวิทยากรรูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์หรรษา  เช่นกันเจ้าค่ะ

ท่านทูตพลเดช

  • นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่งที่อาจารย์ได้สละเวลามาแสดงความเห็นเอาไว้ และนับเป็นความเป็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งไม่เฉพาะแต่อาตมาแต่จะเป็นประโยชน์กัีบทีมงานทุกท่านด้วย
  • การจัดประชุมที่ผ่านมาแต่ละครั้งนั้น บอกได้เลยว่า จากประสบการณ์ประมาณ ๕ ปีที่ผ่านมานั้น  ฆราวาสที่เป็นชาวพุทธมาประชุมมากกว่าพระ (๖๐/๔๐) เพราะนักวิชาการ หรือองค์กรในยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ส่วน ๙๐% เป็นคฤหัส
  • คณะทำงานไม่ได้มีเฉพาะอย่างน้อย เพราะเรามีองค์ร่วมจัดคือ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระุพุทธศาสนาแห่งชาติ ยุวพุทธิกสมาคม องค์การพุทธศาสนิกสมพันธ์แห่งโลก เป็นต้น และ Staff ส่วนใหญ่ก็เป็นฆราวาสด้วย
  • ยอมรับกับอาจารย์ตรงๆ เลยว่า เรื่อง "สื่อต่างประเทศ" เราค่อนข้างจะอ่อนมาก  ส่วนใหญ่จะเป็นสื่อไทย อย่างไรก็ดีเราได้เปิดโอกาสให้แต่ละชาติ แต่ละองค์กรได้นำสื่อของตัวเองมาด้วย ซึ่งก็ทำได้ในระดับหนึ่ง เพียงแค่ขาดสื่อหลัก เช่น BBC CNN
  • การจัดงานปีนี้เราเน้นหนักไปที่อยุธยา ฉะนั้น เราจึงโยงว่า "วิสาขโลก มรดกโลก" ฉะนั้น น่าจะทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่อาจารย์เอ่ยถึงเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ได้คุยกับประชาสัมพันธ์จังหวัด และทีมงานผู้ว่าบ้างแล้ว
  • การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ตอนนี้คณะสงฆ์ ชาวพุทธไทยให้ความ สำัคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัด การทำกิจกรรมในวันสำคัญ  อาตมามองว่าน่าจะดีขึ้น เพราะตอนนี้ชาวอินเดียหันมานับถือพระพุทธศาสนาเป้นจำนวนมาก ประเด็นสำคัญคือ "วรรณะ" อาจารย์ทราบดีในเรื่องนี้
  • โอกาสหน้าหากมีอะไรดีๆ เจริญพรรบกวนมาแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม
  • เจริญพรและเจริญธรรม

เจริญพร ครูคิม

  • คงหายเหนื่อยจากการจัดงานวันเด็กแล้วน่ะ
  • คณะทำงานจะดำเนินการเตรียมการให้ดีที่สุด
  • หวังว่าครูคิมจะสามารถมาร่วมงานในวันนั้นได้
  • พระอาจารย์หรรษาที่่ว่าหน่ะ หน้าตาเหมือนอาตมาหรือเปล่า

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ผมแวะมาอ่านบันทึกการเตรียมงานประชุมฯ และยินดีที่จะมีส่วนร่วมเผยแพร่วิชาการทางกิจกรรมบำบัด

อนึ่งผมได้ส่งบทความโดยสมบูรณ์ นอกเหนือจากบทคัดย่อเดิม ไปให้พระคุณเจ้าพิจารณาทางอีเมล์แล้ว

ขอกราบขอบพระคุณและชื่นชมในภารกิจของพระคุณเจ้าครับ

ดร. ป๊อบ

ตอนนี้คณะกรรมการ Approved บทความของโลกแล้ว รบกวนเขียน Full paper ได้เลย

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ครูต้อยมาชื่นชมการวางแผนงาน การประสานงานทีมีความชัดเจน

และเห็นเจตนารมย์ที่มุ่งมั่นเพื่อพระพุทธศาสนา

จึงขอร่วมอนุโมทนาด้วยค่ะ

หากมีสิ่งใดที่ครูต้อยพอจะรับใช้เพื่อเป็นพุทธบูชาได้ไม่มากก็น้อย

จะยินดีและรู้สึกเป็นบุญที่เกิดมาชาตินี้ได้ตอบแทนคุณพระพุทธศาสนาค่ะ

 

กราบนมัสการค่ะ

อยากร่วมสนับสนุนกิจกรรมบ้างค่ะ ในส่วนที่สามารถทำได้ จริงๆ แล้วงานอาสาสมัครก็น่าสนใจนะคะ แต่ภาษาคงไม่ดีพอที่จะรับแขกบ้านแขกเมืองได้ ไม่ทราบว่ามีงานอาสาสมัครในส่วนอื่นๆ ให้ได้ร่วมกิจกรรมบ้างหรือไม่คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท