มารู้จักปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่มาของพิบัติภัยน้ำท่วมภาคเหนือกัน


กรมอุตุนิยมวิทยา ให้คำจำกัดความ "ลานีญา" ไว้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มีสภาพกลับกัน หรือตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่ชาวโลกส่วนใหญ่คุ้นชื่อกันดี อธิบายอย่างสั้นที่สุดกล่าวได้ว่า เอลนีโญเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งผิดปกติใน "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ตั้งของประเทศไทยนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม ลานีญาจะทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเอลนีโญและลานีญาเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก

ดังนั้น ลานีญาจึงมีชื่อเรียกต่างๆ กันหลายชื่อ เช่น "น้องของเอลนีโญ" "สภาวะตรงข้ามเอลนีโญ" "สภาวะที่ไม่ใช่เอลนีโญ" และ"ฤดูกาลที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็น" เป็นต้น จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบัน พบว่า ภาวะลานีญาเกิดจากการที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ

เนื่องจาก "กระแสลมค้าตะวันออกเฉียงใต้" มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากเขตแปซิฟิกตะวันออก (บริเวณฝั่งเอกวาดอร์ เปรู และชิลี) มาสะสมอยู่ทางเขตแปซิฟิกตะวันตก (บริเวณชายฝั่งอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) ทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้ว ยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก

ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดขึ้นได้ทุก 2–3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9–12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี!

"ไทย"กับภัย"ลานีญา"

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ฝ่ายวิชาการภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เคยพยากรณ์ผลกระทบในระดับรุนแรงจากภาวะลานีญาที่มีต่อปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิใน 3 ฤดู ไว้ว่า

(1.) ฤดูฝนปีที่เกิดลานีญา ช่วงเดือนมิ.ย.-ต.ค. ฝนจะสูงกว่าปกติเว้นแต่ทางบริเวณของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ

(2.) ฤดูหนาวปลายปีที่เกิด-ต้นปีหลังเกิดลานีญา ช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ สำหรับฝนในฤดูหนาวของประเทศตอนบนมีอุณหภูมิในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ เว้นแต่ตามบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกที่จะมีฝนสูงกว่าปกติ และฝนในภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งในครึ่งแรกของฤดู (พ.ย.-ธ.ค.) จะมีฝนสูงกว่าปกติ แต่ฝนจะลดลงในครึ่งหลังของฤดู (ม.ค.-ก.พ.) โดยอาจจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ

(3.) ฤดูร้อนปีหลังเกิดลานีญา (ระหว่างมี.ค.-พ.ค.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทั่วประเทศ และจะมีฝนตกลงมาบ้าง อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติทั่วประเทศซึ่งจะทำให้อากาศไม่ร้อนมาก

เมื่อประเมินผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วจะทำให้มีฝนในปริมาณที่สูงกว่าปกติ หากลานีญาพาลมพายุ นำฝนมาตกเหนือเขื่อนที่น้ำกำลังเหือดแห้งให้เต็มเขื่อนแล้วสลายตัวไปก็จะเป็นคุณแก่เมืองไทย อย่างไรก็ตาม ถ้าพายุฝนที่เกิดจากอิทธิพลของลานีญา ทำให้ฝนตกเทลงไปในพื้นที่ใต้เขื่อน ทั้งยังแผ่อิทธิพลอย่างยาวนานเหนือประเทศไทยจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ยาวนานเช่นกัน

ข้อควรปฏิบัติรับมืออุทกภัย

- เมื่อน้ำมาให้ขึ้นที่สูง ตัดไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด

- ตรวจสอบดูเขตแนวพื้นที่น้ำท่วมเพื่อหาพื้นที่สูงที่ปลอดภัย

- บริเวณท้ายเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเป็นบริเวณที่ไม่ปลอดภัย

- หลีกเลี่ยงการปลูกบ้านบริเวณพื้นที่น้ำท่วม

- ย้ายสวิตช์อุปกรณ์สะพานไฟฟ้าให้อยู่สูงกว่าระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง

- ควรเตรียมกระสอบทรายไว้ทำพนังกั้นน้ำ

- ควรทำความสะอาดพื้นที่อย่าให้มีเศษวัสดุที่สามารถลอยตามน้ำและก่อให้เกิดอันตรายได้

- ห้ามขับขี่ยานพาหนะ ห้ามเดิน ห้ามเล่นน้ำในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว

- มีวิทยุติดตัวและคอยฟังประกาศเพื่อปฏิบัติตาม

- ไม่ดื่มน้ำประปาและไม่ดื่มน้ำที่ไหลมาท่วม เพราะจะเป็นอันตราย
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32564เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใกล้แล้ว โลกเรา

ขอบคุณ เพ็ญนภา ครับ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ La Nina ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยในเขตภาคเหนือตอนล่างครั้งนี้ ทำให้ผมเข้าใจปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น

  • คำแนะนำให้ปฏิบัติเมื่อเกิดน้ำท่วม เป็นประโยชน์มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท