ฉลาดได้ด้วยดนตรี (๓)


ฤทธิ์ของมิติที่จับต้องไม่ได้


ปัญญาทางด้านดนตรีจะมีความเกี่ยวพันกันกับปัํญญาทางด้านมิติสัมพันธ์ และปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ได้อย่างไรนั้น ดร.เราส์เชอร์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชี้ชัดลงไป แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่จำเป็นต้องตอบ เนื่องจากคำตอบที่ได้มาจะช่วยให้เรามองเห็น ความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาทั้ง ๓ ด้านได้ดีมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เรามียุทธศาสตร์ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้สำเร็จประโยชน์ในลักษณะบูรณาการได้จากการลงแรงทำงานในครั้ง เดียว


แน่นอนว่าการเล่นดนตรีมีผลทำให้ปัญญาทางด้านดนตรีพัฒนา แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลจากการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า การเล่นดนตรีช่วยให้ปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์พัฒนาขึ้น และปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ก็พัฒนาขึ้นด้วย หากแต่อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ปัญญาทั้งสามด้านทำงานร่วมกันในลักษณะเช่นไร


ความสัมพันธ์ของมิติที่เราคุ้นเคยกันดีคือ มิติที่มองเห็นได้ จับต้องได้ มีความกว้าง ยาว สูง ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่ยังมีความสัมพันธ์ของมิติอีกชนิดหนึ่งที่เข้าใจได้ยากและไม่มีรูปปรากฏให้เห็น ก็คือความสัมพันธ์ของมิติเวลา


เรื่องของมิติสัมพันธ์ และคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เรขาคณิตที่เป็นการใช้ตรรกวิทยาสัญลักษณ์ ประกอบไปกับภาพเชิงมิติสัมพันธ์ หรือเรขาคณิตวิเคราะห์ที่ใช้ภาพเชิงมิติสัมพันธ์ประกอบกับสมการทางพีชคณิต


ในทางดนตรี แม้จะไม่มีมิติที่สัมผัสได้ด้วยตา และการจับต้อง แต่ถ้าเราถ่ายทอดความถี่ของเสียงออกมาเป็นภาพได้ เราก็จะเห็นเส้นความชัน หรือเส้นcontour ของเสียงในความถี่ต่างๆได้เช่นกัน


การสัมผัสกับมิติของเสียงจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการ และการรับรู้ที่ละเอียด สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟังจะต้องดี เรื่องที่ติดตามมาก็คือเรื่องของการมีสมาธิในการฟัง และความมีสุนทรียภาพ


มิติของดนตรีประกอบขึ้นจากท่วงทำนองของเสียงสูงต่ำ ดังเบา และจังหวะ ที่ประกอบเข้าด้วยกัน


ความเป็นดนตรีประกอบขึ้นจาก


  • ความสูงต่ำของเสียง (pitch) ที่ร้อยเรียงเป็นทำนองหลัก (melody) ความสูงต่ำนี้ให้จินตภาพของมิติด้านสูง-ต่ำ อ้วน-ผอม และหนัก-เบา

  • ความดังเบา (dynamic) ซึ่งให้จินตภาพของมิติด้านใกล้-ไกล หรือใหญ่-เล็ก

  • จังหวะช้าเร็ว หรือชีพจรจังหวะ (tempo) เป็นมิติทางเวลา

  • ภายในชีพจรจังหวะ (tempo) ประกอบไปด้วยจังหวะ (rhythm) หรือการเน้นให้เกิดเสียงจังหวะที่มีความหนักเบา ถี่ห่าง ซึ่งให้จินตภาพในลีลาของการเดินทาง

  • ในทำนองหลัก (melody) นอกจากจะประกอบด้วยความสูงต่ำของเสียงแล้ว ยังมี

- ความหนาแน่นและช่องว่าง (duration) ซึ่งให้จินตภาพโดยตรงเกี่ยวกับพื้นที่ และปริมาตร

- การเน้นสำเนียงของทำนองหลัก (accent) ที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกถึงความหนา-บางอย่างประณีต

  • นอกจากนี้ในโครงสร้างของกลุ่มเสียงในคีย์ต่างๆยังมีลักษณะของการจัดกลุ่มpattern อนุกรม และลำดับ ซึ่งคล้ายกับระบบจำนวนนับ และพีชคณิตในคณิตศาสตร์ด้วย

  • ในการดำเนินไปของดนตรียังต้องอาศัยมิติทางเวลาเป็นแกนที่ดนตรีจะดำเนินไป ดนตรีจึงแสดงถึงปรากฏการณ์ที่มีการเกิดก่อน เกิดหลัง ความสืบทอด และการขาดตอน ขององค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวไว้ข้างต้น เป็นการใช้จินตนาการในมิติทั้ง ๔ (กว้าง ยาว สูง และเวลา) อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับคณิตศาสตร์


สมองจึงต้องผลิตจินตนาการขึ้นมาเพื่อรับรู้เสียงของดนตรีที่มีความซับซ้อน ที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของเสียงที่มีความหนาแน่น ช่องว่าง ระยะ ความใกล้-ไกล ความสูง-ต่ำ ความใหญ่ ความเล็ก ความบางของเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละโน้ต และจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นอีก เป็นหลายเท่า หากมีการเพิ่มแนวของเสียงประสานเข้าไปในเพลง ซึ่งจะทำให้มิติของเพลงยิ่งทวีคูณ เพิ่มขึ้นตามจำนวนของแนวประสานที่สอดใส่เข้าไป และตัวจินตนาการที่เกิดขึ้นก็ต้องมีโครงสร้าง ที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ตามความซับซ้อนของดนตรี เพื่อที่จะจำลองเสียงที่ได้ยินให้เกิดขึ้นอีกครั้งในสมอง ดุจเดียวกับที่เคยได้ยินมานั่นเอง แต่กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเราไม่รู้สึกถึงความล่าช้าในการถ่ายทอดสัญญาณ

 

ในขณะที่มีการเล่นดนตรีร่างกายก็มักจะเคลื่อนไหวอวัยวะตามจังหวะดนตรีไปด้วย ระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาทสัมผัสก็ตื่นตัวไปทุกส่วน หากมีการขับร้องในขณะที่เล่นดนตรี ไปด้วย สมองก็ยังต้องสั่งการเรื่องการควบคุมเสียงร้องเพิ่มขึ้นไปจากการสั่งให้สมองส่วนที่ควบคุม อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรีที่ทำงานอยู่เดิม นอกจากนี้สมองยังต้องสร้างจินตนาการเกี่ยวกับ มิติของเสียงร้อง ที่ต้องมีเรื่องของความหนาแน่น ช่องว่าง ระยะ ความใกล้-ไกล ความสูง-ต่ำ ความใหญ่ ความเล็ก ความบางของเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละโน้ต เพื่อที่จะสั่งอวัยวะที่ควบคุมการเปล่งเสียง ให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง


ด้วยเหตุนี้ สมองจึงต้องสร้างคุณสมบัติชนิดหนึ่งขึ้นเพื่อรองรับความสามารถ หรือปัญญาทางด้านดนตรี ซึ่งเป็นคุณสมบัติร่วมกันกับที่สมองต้องใช้ เมื่อต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่อง ปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์ และปัญญาทางด้านคณิตศาสตร์ ดังนั้นการพัฒนาปัญญาทางด้านดนตรี จึงมีความสัมพันธ์กันกับความก้าวหน้าของปัญญาทั้ง ๒ ด้าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง


แต่ดนตรีมีฤทธิ์พิเศษที่ปัญญาในอีก ๒ ด้านไม่มี นั่นคือ ดนตรีเป็นมนต์ที่ทำให้ผู้เรียนเกิด ความเพลิดเพลิน มีสมาธิอย่างต่อเนื่อง เกิดการซึมซับรับรู้ทั้งในระดับรู้ตัว กึ่งรู้ตัว และไม่รู้ตัวขึ้นได้ อำนาจที่ว่านี้ทำให้การพัฒนาปัญญา(ทั้ง ๓ ด้าน) ด้วยดนตรีมีคุณอย่างเอนกอนันต์


ข้อเขียนนี้เป็นสมมติฐานที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ ประกอบเข้ากับข้อมูลของนักวิจัย ทำให้เกิดการปะติดปะต่อเป็นภาพความเข้าใจดังที่ได้แสดงไว้นี้ หากท่านใดมีประเด็นที่อยากจะเข้ามา ลปรร.ก็ยินดีค่ะ












คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32541เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เขาว่าดนตรีคือภาษาสากล   คณิตศาสตร์ก็คงเป็นภาษาสากลด้วยเช่นกัน 

บางคนชอบเพลง rock ไม่ชอบเพลง jazz  บางคนชอบเรขาคณิตแต่ไม่ชอบตรีโกณ

บางคนดื่มกินดนตรีเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต  บางคนอธิบายจักรวาลด้วยตัวเลขได้โดยไม่ต้องจ้องมองท้องฟ้า

บางคนไม่ชอบดนตรีแต่ชอบคณิตศาสตร์  บางคนไม่ชอบคณิตศาสตร์แต่ชอบดนตรี

ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของสมอง  แต่เป็นเรื่องของก้อนเนื้อเท่ากำปั้นของเราด้วย

สมองกับหัวใจเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า  คลื่นสมองกับคลื่นหัวใจอยู่มิติเดียวกันหรือไม่

เวลาปวดหัว อาจมีที่ปวดใจไปด้วย    แต่เวลาปวดใจมักไม่ปวดหัว   เพราะเวลาหัวใจทำงานหนัก สมองมักไม่ค่อยทำงาน

เป็นประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะการใช้กับเด็กๆ

ชอบประโยคนี้

ทำให้การพัฒนาปัญญา(ทั้ง ๓ ด้าน) ด้วยดนตรีมีคุณอย่างเอนกอนันต์

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ ตามมาตามอ่านค่ะ มิน่าล่ะตอนสมัยมัธยม อ.สอนคณิตศาสตร์ให้นักเรียนทุกคนออกไปร้องเพลงหน้าห้องด้วยค่ะ ทั้งๆที่ๆไม่ค่อยถนัดวิชานี้เลยแต่พอนึกถึงช่วงเวลานั้นแล้วมีความสุขทุกครั้ง เพราะอย่างนี้นี่เอง ขอบคุณค่ะ

ดีใจค่ะที่บันทึกนี้กลายเป็นกุญแจไขปริศนาความสุขให้กับคุณจอย

:)

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท