ประเพณีชักพระทุ่งสง ตอนที่๑


ประเพณีชักพระอำเภอทุ่งสง โปรดอ่านต่อตอนที่ ๒

 สมเกียรติ  คำแหง  ผู้เขียน

จุดประกายความคิด จากสตรีทุ่งสง 

                วันจันทร์ที่  ๑๖  ตุลาคม  ๒๕๓๒ แรม ๒ ค่ำเดือน ๑๑ (หลังวันชักพระ ๑ วัน)  ผู้เขียนเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนสตรีทุ่งสง  ช่วงสายๆเวลาประมาณ  ๑๐ นาฬิกา  พวกเรานั่งคุยกันอยู่ที่ห้องวิชาการโรงเรียนสตรีทุ่งสง ซึ่งมี อาจารย์ปรีชา  จันทศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการในขณะนั้น  อาจารย์พนัส  วรรณวิจิตร นายทะเบียน อาจารย์ไพโรจน์  รักษ์พงศ์  ผู้ช่วยนายทะเบียน อาจารย์โกวิทย์  ประทุมสุวรรณ  หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นสตรีทุ่งสง

แว่วเสียงประโคมโพน

                                                ตึ้ง ตึ้ง                                  ท็อม 

                                ตึ้ง ตึ้ง ตึ้ง                                             ท็อม 

                                ตึ้ง ตึ้ง                                                  ท็อม ท็อม 

                                ตึ้ง ท็อม                                                ตึ้ง ท็อม 

เสียงคุมโพน เสียงระฆัง เสียงโห่ร้อง อิสาระพา เฮโลเฮโล  มาจากทางทิศตะวันตกคงเป็นบริเวณสี่แยกชัยชุมพล  ลากผ่านมาหน้าโรงเรียนสตรีทุ่งสง จึงรู้ว่าขบวนชักพระเป็นพนมพระของวัดสำโรง  อาจารย์สัญญา  คชาชน  วิ่งเข้าไปร่วมชักพระกับขบวนผู้แก่ผู้เฒ้า คนหนุ่มสาว เด็ก ๆ ซึ่งลากเรือพระมาด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบ ร้องรำทำเพลงอย่างมีความสุข

                “คงจะลากออกจากวัดตั้งแต่แรกวา เพราะเป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑”อาจารย์ปรีชาคาดการณ์ เพราะท่านเป็นคนปากพนังรู้และเข้าใจเรื่องชักพระพอสมควร ผู้เขียนเองซึ่งไม่ค่อยสนใจมากนักก็พูดเสริมว่า เรือพระของวัดก้างปลา (ตำบลที่วัง) ลากเข้ามาในตลาดทุ่งสงเมื่อวาน ตอนเช้ายังอยู่ที่บ้านห้วยขัน  คงจะค้างอยู่ที่บ้านห้วยขันเมื่อคืน เพื่อให้ชาวบ้านที่ศรัทธาได้ร่วมฉลอง ใครมีอาหารก็นำมาปรุงทานกันตรงที่เรือพระมาพัก  ค่ำๆก็นั่งล้อมวงกันว่าเพลงบอก หรือเรี่ยไรเงินทองไปรับโนรามารำ  รุ่งเช้าก็ชักพระกลับวัด

          ทำให้พวกเราที่นั่งสนทนากันเกิดความคิดขึ้นมาว่า  ปีหน้า (พ.ศ.๒๕๓๓) เรามาช่วยกันจัดงานชักพระโดยใช้สถานที่ และบุคลากรของโรงเรียนสตรีทุ่งสง  ให้เรือพระของแต่ละวัดชักพระมาร่วมกิจกรรมค้างคืนที่โรงเรียนสักหนึ่งคืน (ตามหลักฐานเอกสารประกอบการเรียนวิชาสาระเพิ่ม

ช่วงชั้นปีที่ ๔ กลุ่มสาระภาษาไทย)

        “ผมปรีชาเกิดแนวคิด บอกโกวิทย์จัดลากพระ ครั้งแรกกะปีสามสาม จัดได้ตามขอ

เขียนโครงการเสนอไป  ผ.อ.วิไลไม่รั้งรอ  อนุมัติก็เริ่มประสาน  วัดร่วมงานใหญ่”

(กลอนเพลงบอก)

 ปีเริ่มจัดงานที่โรงเรียนสตรีทุ่งสง 

                ปีพ.ศ.๒๕๓๓  ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นสตรีทุ่งสง ซึ่งมีอาจารย์โกวิทย์ ประทุมสุวรรณ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ  นายสมเกียรติ  คำแหง (ผู้เขียน) เป็นรองหัวหน้าศูนย์ฯ อาจารย์ไพโรจน์  รักษ์พงศ์  เป็นเลขาศูนย์ฯ อาจารย์ไพโรจน์  เหมมาลา เป็นหัวหน้ากิจกรรมสัมพันธ์ชุมชนโรงเรียนสตรีทุ่งสง

ได้เสนอโครงการงานประเพณีชักพระทุ่งสง ต่อผู้อำนวยการวิไล  เกษสยม ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีทุ่งสงในสมัยนั้น  ท่านได้อนุมัติงบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท  และได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงาน ร้านค้า ประชาชน อีกประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท 

เดินเข้าหาวัด 

          เมื่อโครงการผ่านเราทั้งสี่คนก็ต้องทำการบ้าน อาจารย์ไพโรจน์  รักษ์พงศ์  อาจารย์ไพโรจน์  เหมมาลา  อาจารย์โกวิทย์  ประทุมสุวรรณ  และผู้เขียน ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันทำงาน ตั้งแต่ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับ  ตำนานประเพณีชักพระ  ส่วนประกอบของพนมพระ  พิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง บุคคลที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งจะให้ความรู้เรื่องชักพระ  ร่วมทั้งคนมีฐานะที่ใจบุญจะสนับสนุน  กำหนดวันจัดงาน จัดพิมพ์เอกสาร  สำรวจวัดในอำเภอทุ่งสงทุกวัด ลำบากเรื่องการพิมพ์เอกสารเพราะกรรมการไม่มีใครใช้คอมพิวเตอร์เป็น เลยเชิญอาจารย์ศิระประภา  ธรรมวนิช  ครูสอนวิชาฝรั่งเศส  มาเป็นผู้ช่วยเลขานุการศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้ทุกอย่างไม่บ่น ไม่เหนื่อย

                สองเดือนก่อนถึงวันชักพระพวกเราได้นำเอกสารต่าง รวมทั้งหนังสือตอบรับจากวัดที่จะร่วมประเพณีเดินทางไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสทุกวัดในอำเภอทุ่งสง และวัดโคกเลียบ (คลองปาง) อำเภอรัษฏา โดยมีนายสมพงศ์  รักษาพล  เป็นพนักงานขับรถ

วันศุกร์ที่ ๕  ตุลาคม  ๒๕๓๓ แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ 

                มีวัดเข้าร่วมประเพณีครั้งแรก  จำนวน ๖ วัด มี วัดน้ำตกธารทิพย์  วัดเขาโร  วัดสำโรง      วัดไตรวิทยาราม  วัดก้างปลา  และวัดชายคลองที่วัง

                  วัดหลายถิ่นฐาน ร่วมงานชักพระ            ได้มาพบปะ ที่สตรีทุ่งสง

สองห้าสามสาม มีความจำนง                                  เราได้จัดงาน สืบสานเอาไว้

                  ครั้งแรกหกวัด ร่วมจัดงานนั่น                 น้ำตกมากัน ไกลตั้งไหนไหน

เขาโรไม่แค่ นั่นมีแก่ใจ                                         สำโรงไม่ยาก พระลากเลื่องลือ

                   วัดไตรอยู่ใกล้ จัดได้งามตา                พระแกก้างปลา ผู้คนนับถือ

                ชายคลองที่วัง โด่งดังก็คือ                     ใช้ผืนแผ่นยาง ทำช้างทำเสือ

                                                                                      (กลอนคำคอน)

เนือยข้าวหลบเริน 

                เย็นวันที่ ๕ ตุลาคม  ๒๕๓๓ มีพิธีสมโภชเรือพระ ชาวบ้านมาร่วมคับคั่ง โดยเฉพาะผู้สูงวัย มาร่วมงานร้อยละเจ็ดสิบอาจเพราะว่างานเทศกาลอื่นที่ผ่านๆมา ส่วนมากเป็นงานรื่นเริง งานขายสินค้า

          ได้รับเกียรติจากท่านนายอำเภอทุ่งสง เรืออากาศตรีโสมนัส  แก้วคงยศ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

พระอธิการมณี  เจ้าอาวาสวัดไตรวิทยาราม เป็นประธานสงฆ์ (๑๓ ปีที่สตรีทุ่งสง ท่านเป็นหัวเตียงตลอด)

ท่านอาจารย์สุรินทร์  กลีบแก้ว อาจารย์สรรพกฤษฎิ์  นาคฤทธิ์ อาจารย์สัญชัย  ปานอ่อนอยู่ฝ่ายศาสนพิธี

        หลังเสร็จพิธีสมโภชนมพระ(เรือพนมพระ) มีรายการแสดงของนักเรียนและชาวบ้านที่มาร่วมงาน             บนเวที แต่ส่วนมากจะอยู่ประจำที่เรือพระของแต่ละวัด เพราะบนเวที่ไม่มีอะไรที่ให้ความสนุกรื่นเริงเท่าที่ควร เลยต้องมาร้องรำทำเพลงกันที่เรือพระ ก็เอาโพน ระฆัง ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรี

                    เหนื่อยหนักแรงอ่อน                          ว่ากลอนเข้าข่ม

             เพิ่มแรงลากนม                                        ตลกโปกฮา

                   กระทบโหมฺหญิง                                นิ่งไม่ถือสา

             อิสาระพา                                               เฮโล เฮโล

                     อิสาระพา                                       เฮโล เฮโล

              สาวสาวไม่มา                                         ลากพระไม่ไป

                     สาวสาวพุงใหญ่                               เกิดโลกตามทาง

              อิสาระพา                                              เฮโล เฮโล

                    ไอ้ไหรกลมกลม                                  หัวนมสาวสาว

              ไอ้ไหรยาวยาว                                         กล้วยไลกล้วยไล

                    ไอ้ไหรกลมกลม                                  หัวนมสาวสาว

              ไอ้ไหรยาวยาว                                          สาวสาวชอบใจ

                    ไอ้ไหรใหญ่ใหญ่                                 ไข่อุ้ง ไข่อุ้ง

               ไหน-หนายไหนนม                                    โนนม โนนม

                     ไอ้ไหรกลมกลม                                  หัวนมสาวสาว

               ไอ้ไหรยาวยาว                                          หัวจุกโนรา

                     ไอ้ไหรแบนแบน                                   หัวแลนพ่อตา

                คำร้องที่ชาวบ้านเขาร้องเพื่อความสนุกสนานในงานชักพระ อาจารย์ไพโรจน์  รักษ์พงศ์  ท่านได้บันทึกเอาไว้ แต่ถ้าใครคิดว่าลามกท่านก็มีคำกลอนแก้ไว้เป็นกลอนสี่ ว่า

                      กลอนกระทุ้งแรง                                แต่งร้องกันมา

             อย่าได้ถือสา                                              ว่าคำหยาบคาย

                      ใจไม่คิดไหร                                      ปากไวเกินหมาย

              มิคิดเราะราย                                               เพียงหวังครื้นเครง

                       ใครว่าลามก                                        วิตกกริ่งเกรง

                ใจบาปคิดเอง                                             ผิดอยู่ที่ใจ

                ในการจัดงานในปีแรก (๒๕๓๓) มีพุทธศาสนิกชน มาร่วมไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน ทุกคนชอบ ทุกคนยินดี  ชื่นชม  อยู่ที่โรงเรียนสตรีทุ่งสงเหมือนอยู่ที่บ้านตัวเอง แต่พอดึกก็เริ่มเนือย(หิว)

แม่ค้าแม่ขายในงานก็ไม่มี ร้านอาหารในตลาดทุ่งสงก็ไม่ได้เตรียมอาหารไว้บริการ(ขาย) เพราะไม่คิดว่าคนจะมาก บางคนได้ต้มลูกสองลูกกินพอเป็นแรงก็อยู่ได้ คนที่ดื่มเหล้าขาวทะ(พบที่ไม่ต้องซื้อแต่เพื่อนชวน) ก็อยู่ต่อได้   เลยเหลือผู้ที่อยู่ร่วมงาน(นอน)จนถึงเช้าคงเหลือไม่กี่คน

จากความหิว จึงสร้างสรรค์ 

                กรรมการจัดงานทุกคนต่างพอใจในการจัดงานในปีนี้ แต่เราต้องมาคิดกันต่อว่าเมื่อเราจะจัดงานชักพระให้เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของอำเภอทุ่งสง เราทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้านที่มาได้อยู่ร่วมงานกันจนถึงเช้า จนถึงเวลาลากเรือพระกลับวัด

          “ให้เขาอยู่กับเรา ต้องให้ท้องเขาอิ่ม และอยู่ด้วยความสนุก” เป็นคำพูดของอาจารย์สมชาย สิงหพันธ์   (ท่านเสียชีวิตแล้ว) ต้องมาคิดต่อว่าทำอย่างไรให้ทุกคนที่มาได้ทานข้าว ใครจะปรุงอาหาร (หุงข้าว ต้มแกง) ให้คนจำนวนมากได้ทาน และทำอย่างไรให้ทุกคนมีความสุขด้วยจิตศรัทธาและสนุก ดั่งเพลงกล่อมเด็กสำนวนคนทุ่งสง

                                                ฮาเอ้อเหอ นอนเสียแหละโลกนอน                ไปบ้านหัวนอนสักเดียว

                                ไปเซ้อสารเหนียว                                                                มาแทงต้มลากพระ

                                โถกโถกแพงแพง                                                                แม่อี้แดงมั้นไม่ละ

                                แทงต้มลากพระ                                                                   ให้หนุกสักคราวเดียว เหอ

๒๕๓๔ อิ่มกาย อิ่มใจ อิ่มบุญ 

          จากประสบการณ์ในการจัดงานชักพระ ปี ๒๕๓๓ คณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรม ได้นำเอาปัญหาต่างๆนำมาเป็นแนวทางในการจัดงาน ในปี ๒๕๓๔ ก่อนถึงวันชักพระ ก็ได้นิมนต์เจ้าอาวาส และเชิญคณะกรรมการวัดต่างๆ ร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดและกิจกรรมต่างๆ ผู้ที่ร่วมปรึกษาในครั้งนั้นที่ผู้เขียนจำได้ก็มี คุณพี่ปรีชา  ศรีรินทร์ คุณน้าแจ้ง  บุญจันทร์ 

คุณครูเนื่อง  คำแหง  คุณครูเทียบ  ประพฤติชอบ  คุณครูสุทิน  หอมเกตุ  คุณครูเปลื้อง  แสงเงิน  คุณครูเปรย  ทองเนื้อห้า คุณไพรัตน์  รักษ์พงศ์ และอีกหลายๆท่านที่ทางศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้บันทึกชื่อเอาไว้ แต่ปลวกได้กัดกินจนไม่เหลือซาก

                ในปีนี้เองที่คณะกรรมการได้มีกิจกรรมหลายอย่าง ต้องขอเล่าเป็นอย่างๆไป จากเหตุที่ผู้มาร่วมงานซึ่งมากับเรือพระแต่ละวัดไม่มีอาหารเย็นรับประทาน จึงมีการแข่งขันปรุงอาหารพื้นบ้าน

ให้แต่ละวัดหุงข้าวด้วยกระทะใบบัว และทำกับข้าวอย่างแข่งกัน (แกงพุงปลา หรือแกงขี้หมิ้น)

อุปกรณ์บางอย่างทางโรงเรียนสตรีทุ่งสงจัดหาให้ เช่น ไม้ฟืน กระทะใบบัว หม้อใหญ่ ข้าวสาร เภา

                หุงข้าวแกง ได้แข่งขัน วันมาถึง                       ทุกคนจึง ร่วมจิตกาย ได้ช่วยเหลือ

ผ่าฟืนก่อไฟ ขาดเหลือไหร คอยจุนเจือ                          เหงื่อเปียกเพรื่อ ได้กุศล มากผลบุญ

                ตักสารมา  เลือกกาก หุงกับทะใบบัว              เปียกดิบกลัว คอยเอื้อเฟื้อ ช่วยกันเกื้อหนุน

เสร็จหุงข้าว แกงกันเล่า นะแม่คุณ                                  ทั้งสาวรุ่น แก่เฒ้า พวกบ่าวบ่าวร่วมใจ

                                                                                                                                (กลอนหก)

ผู้ชายช่วยกันหุงข้าว  ส่วนผู้หญิงก็ช่วยกันปรุงแกงเคยปลา แกงพุงปลา(ไตปลา) แกงขมิ้น

          “เอาลีปลีและพริกไทย อีกทั้งไครฝานเป็นฝอย เทียมกลีบน้อยรสชาติแรง ทั้งเกลือแกงใส่

ถิ่มจนเนียนแล้วใส่เคย กลิ่นหอมเลยน้ำลายไหล ขี้มิ่นใช้คั้นเอาน้ำ ทรามแกงล้ำเหลือง

                ทอดปลาผักสักเล็กน้อย น้ำเหลืองอ้อยเหลืองชวนกิน แกงขี้มิ่นรสยวนยั่ว ลือไปทั่วเมือง

เป็นโอสถรักษาท้อง ยาไม่ต้องซื้อสิ้นเปลือง ดีหลายเรื่องเป็นประโยชน์ ไม่ให้โทษใด

                ปรุงเสร็จส่งให้กรรมการ ทุกทุกท่านช่วยกันชิม จนเอมอิ่มแล้วตัดสิน ว่าได้ถิ่นไหน

โรงเรียนแจกแกงต้มจืด ลบเผ็ดฝืดคล่องคอไว ไม่ว่าใครก็ชื่นชม เรานั้นกลมเกลียว”

                                                                                                                                (กลอนเพลงบอก)

          แต่ละวัดที่เข้าแข่งขันต้องหุงข้าว และทำแกงให้พอกับจำนวนคนที่มากับเรือพระของตน

และยังมีการแข่งขันแทงต้ม เรื่องขนมต้มเกี่ยวข้องกับประเพณีชักพระอย่างไรผู้เขียนไม่นำมาเล่า

ให้ท่านเปิดไปอ่านตำนานประเพณีชักพระที่อาจารย์ไพโรจน์  รักษ์พงศ์ เขียนไว้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบได้เปรียบ ทางโรงเรียนจึงบริการ ข้าวสารเหนียว น้ำกะทิ และใบกะพ้อ ให้ผู้เข้าร่วมแข่งขัน แทงต้มสามเหลียม ต้มดีปลี และต้มลูกเนียง เท่าใดก็ได้แต่ต้องส่งให้กรรมการให้คะแนนอย่างละ ๑๐ ลูก

              กินเสร็จ มาผึงใบพ้อ                           อย่ารั้งรอ แช่สารเหนียวสารเหนียว

                ลิดพร้าว ขูดเสร็จคราวเดียว                   ปั้นเทะไว้ ปั้นให้มันให้มัน

                ผัดเหนียว เราต้องซาไฟ                                     อย่าเดินไล ต้องขยันขยัน

                สุกดิบ เอาใบพ้อพัน                                            หอให้ดี หอฝีมือฝีมือ

                สามเหลียม ชาติห่อสวยสม                               ห่อน่าชม เพราะฝึกปรือฝึกปรือ

                หองาม สมคำเลื่องลือ                                        งามติดตา มันน่ากินน่ากิน

                ดีปลี กรวยกลมโผกจุก                                        ทำเป็นชุก ต้มให้สิ้นให้สิ้น

                ต้มไว้ อย่าให้นานนิน                                         สุกยกมา อย่าช้าเกินช้าเกิน

                ใบพร้าว ใบสีเหลืองอ่อน                                   พับเสียก่อน นั่งพับเพลินพับเพลิน

                ห่อเหนียว อย่าให้เขาเมิน                      ห่อให้ถูก ต้มลูกเนียงลูกเนียง

  ห่อเสร็จ รวบรวมตั้งไฟ                           เสร็จเร็วไว เพราะพร้อมเพรียงพร้อมเพรียง

                หฺมฺลังต้ม ร่วมวงรายเรียง                                  กินดังเหนียว เสียงเคี้ยวกรวมเคี้ยวกรวม

                นั่งเฝ้า เล่านิทานเท็จ                                           หลายเรื่องเด็ด น่ารวบรวมรวบรวม

                ภูมิรู้ ชาวบ้านไม่อวม                                         เท่จำได้ เล่าให้ฟังให้ฟัง

                ต้มเสร็จ กรรมการชิมลอง                                 หนึ่งหรือสอง สามไม่หวังไม่หวัง

                ทุกปี เข้าร่วมทุกครั้ง                                           ได้แทงต้ม ก้าสมใจสมใจ

                                                                                                                                (กลอนทอย)

แข่งออกพราน 

                รายการแข่งขันอีกรายการหนึ่งซึ่งเป็นที่สนุกชอบอกชอบใจ เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมคือการแข่งขันออกพรานโนรา ผู้เข้าแข่งลงทุนแค่นุ่งโจงเบนผ้าแดง หน้าพรานเอามาเองก็ได้ ถ้าไม่มียืมของโนราประสิทธิศิลป์ดาวรุ่ง (ผู้ใหญ่ประกอบ  เดชรักษา) ซึ่งมาบรรเลงดนตรีประกอบการในการว่าบทพรานให้  (ถ้าผู้เขียนแข่งออกพรานโนราสิทธิว่า “ครูเกียรติ ไม่ต้องใส่หน้าพราน”)

   ก็มีกลอนสี่เป็นบทขับของพรานที่อาจารย์ไพโรจน์  รักษ์พงศ์  แต่งไว้ นักเรียนโรงเรียนสตรีทุ่งสงซึ่งเข้าแข่งขันในครั้งนั้นนำไปว่าบท ผู้เขียนพอจำได้เลาๆเท่าที่นั่งฟังหน้าเวที

                                          “ผมหนอขอกล่าว                                               เรื่องราวให้โร้

                   เรื่องแร้งรุ่นโป                                                                     มาเล่าให้ฟัง

                                                เว่อตอนเป็นแด็ก                                                 หล็อกแหล็กมีมั่ง

                                นึกถึงความหลัง                                                                   ถางไร่โปลกข้าว

                                                แค่เขาช่องคอย                                                     ไปบ่อยทุกเช้า

                                ผมต้องไปเฝ้า                                                                       ยิกนกดักหนู

                                                ข้าวออกรวงนวล                                                  กวนใจอี้อยู่

                                ทำหุ่นมู่ทู่                                                                              ไว้ยิกนกกา

                                                ผมไปนอนบาย                                                    หนำไร่เคหา

                                ไม่ต้องโห่ฮา                                                                         นกไม่มากวน

                                                วันหนึ่งช้างป่า                                                     มันมาแต่สวน

                                เมามันปั่นป่วน                                                                    หักร้างกลางพง

                                                ถึงไร่เห็นหุ่น                                                        ร้องขุ่นเสียงหลง

                                ตกใจชีพปลง                                                                        ช็อกตายวายปราณ

                                                อี้เผาอี้ฝัง                                                                ใจยังไม่หาญ

                                ใหญ่โตเกินการ                                                                    ตนทำไม่ไหว

                                                พุงพองเริ่มพัง                                                      เน่าทั้งตับไต

                                น้ำเน่าเริ่มไหล                                                                     ออกปากออกวาน”

ผู้เขียนฟังมาถึงตอนนี้ รู้ได้ทันทีว่า

หมายเลขบันทึก: 324800เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นประวัติศาสตร์ยาวนานเลยนะคะ จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ นามสกุล เหมือนเพื่อนเลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ตัวอย่างกลอนชักพระ กลอน 'ดายของ' ประพันธ์โดย ผอ.ดิถี อุทุมสกุลรัตน์

ปู่ก้านตานวย เคยช่วยชักพระ ท่านมา จากไป ใจหาย

เป็นปราชญ์เก่าก่อน ว่ากลอนสอนลาย สืบสาย จำเพาะ เกาะงัน

เหมือนขาดนายท้าย เรือพายลอยล่อง พ้นคลอง น่ากลัว หัวหัน

น้ำนอกมาแรง เราแข็งไม่ทัน ผ่าฟัน รัดทด หมดพาย

ขอให้คุณปู่ ไปอยู่ที่ดี ถึงที่ สวรรค์ ชั้นหมาย

ลูกหลานรุ่นหลัง ความหวังตั้งไว้ ต้องให้ ชักพระ ถาวร

ชอบ ชอบจริง ๆ ติดตามการชักพระมาตั้งแต่ต้นแล้ว ชอบถ่ายรูป เรือพระ

ชอบเพลงที่ใช้ร้อง มีอยู่ช่วงที่ชอบมาก ๆ

เฮโลสาระพา ลากพระขึ้นควน .ห... นวลพรับ พรับ

พอร้องช่วงนี้รู้สึกได้ว่ามีแรงขึ้นมาทันที

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

หนูได้งานส่งแล้ว

เนื้อหาดีจังครับ

ผมมีงานส่งแล้ว

ชัยโย ชัยโย ชัยโย

ขอบคุณครับ

ขอบคุณที่ได้นำข้อมูลออกมาเผยแพร่ให้ได้รู้ตั้งแต่เริ่มต้นประเพณีแห่เรือพนมพระของอำเภอทุ่งสง ซึ่งวัดน้ำตกถึงแม้จะอยู่ห่างไกลแต่ก็ได้เป็น 1 ในทั้ง 6 วัด ของอำเภอทุ่งสง ที่ได้ไปอยู่ร่วมกันในโรงเรียนสตรีทุ่งสง ปี 2533

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท