nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

ข้ามปีเก่ากับ วิถีแห่งปราชญ์ และ สุขแท้ด้วยปัญญา


อ่านไม่ง่าย จึงต้องวางไว้ใกล้ๆ มือ อ่านแล้วอ่านอีก อ่านอย่างพิเคราะห์ ใคร่ครวญหาแก่นสาร อ่านแล้วมีความสุข อยากแนะนำให้คุณครูทุกท่านได้อ่านมากๆ ค่ะ

          คืนก่อนปีใหม่ เราสองคนตั้งใจสวดมนต์ยาวเป็นพิเศษ ด้วยบทสวดทำวัตรเย็น  ตามด้วยบทสวดพิเศษหลายบท  กรวดน้ำ แผ่เมตตา อุทิศบุญ

          ฉันตั้งจิตมั่นอุทิศบุญถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          หยิบหนังสือ ๒ เล่มจากกองหนังสือหัวเตียง  ตั้งใจว่าจะนอนอ่านหนังสือข้ามปี

เล่มที่ ๑  วิถีแห่งปราชญ์ 

          เป็นหนังสือที่อ่านซ้ำได้หลายๆ หน อ่านหนไหนก็เพลิดเพลิน สุขใจ ได้ข้อคิดดีๆ เป็นอาหารแก่สมอง ให้พลังแก่ชีวิต

          คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ ซึ่งเป็นศิษย์ที่ช่วยงานวิชาการพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เรียบเรียงเพื่อบอกเล่าถึง “ปฏิปทา จริยาวัตร” ของท่านเจ้าคุณ  ซึ่งเป็นพระที่ฉันเคารพศรัทธาอย่างสูง 

         ฉันไม่เคยพบท่าน หากแต่ได้อ่านหนังสือที่ท่านเขียน  ได้ฟังบรรยายจากเทปบ้าง ซีดีบ้าง ทางโทรทัศน์บ้าง  ได้ซาบซึ้งในความรู้ทางธรรมที่ท่านถ่ายทอดอย่างหมดจด ชัดเจน เที่ยงตรง ไม่บิดเบน วิเคราะห์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา และเสนอทางออก

          หนังสือนี้อาจแบ่งสาระเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกถ่ายทอดคำสอนของท่านที่เป็นหลักสำคัญๆ เอามาใช้ได้จริง  กับเกร็ดชีวิตที่เรียบง่าย สันโดษ เปี่ยมเมตตา ท่านสอนผู้อื่นอย่างไรท่านก็ปฏิบัติเช่นนั้น   การครองตนของท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดี     

          ท่านเจ้าคุณเป็นสงฆ์รูปแรกๆ ที่ชี้ชัดว่า สงฆ์ไม่ควรแยกตัวออกจากสังคม  ท่านบอกว่า “พระภิกษุมีความจำเป็นที่ต้องสนใจปัญหาสังคม” ท่านยกเหตุผล ๓ ข้อ  ข้อสุดท้ายท่านบอกว่า 

        “วิธีการสอนธรรมะแก่ญาติโยมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ การนำปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ และชี้ข้อธรรมที่อาจนำไปใช้แก้ปัญหา”  (บทที่ ๕๗ พระสงฆ์กับปัญหาสังคม)

          ความเห็นของท่านฯ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ  ท่านปรารถว่า  คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการแยกแยะระหว่าง “ความรู้” กับ “ความรู้สึก”  และ  “ความรู้” กับ “ความคิดเห็น” 

          ข้อสังเกตเรื่องนี้ของท่านมีคุณค่ามาก  ฉันขอลอกข้อความจากหนังสือมาทั้งหมด  ดังนี้

            “ท่านบอกว่า  สังคมไทยเวลานี้ ชอบแสดงความคิดเห็น แต่มักไม่หาความรู้ให้ลึกและชัดเจนเพื่อมาแสดงความคิดเห็น ให้ความคิดเห็นนั้นตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง 

           หรือพูดอีกอย่างคือ ชอบแสดงความคิดเห็นจากความรู้สึก  ไม่แสดงความคิดเห็นจากความรู้ที่ชัดเจน เมื่อแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีความรู้ ความคิดเห็นนั้นก็เป็นความรู้สึกไป  ความรู้สึกยิ่งเป็นตัวซ้ำเติม  สรุปว่า มีแค่ความคิดเห็นกับความรู้สึก

          หนังสือแบ่งเป็นตอนสั้นๆ ๑๔๐ ตอน หนา ๔๑๙ หน้า  นอนอ่านจนเมื่อยมือ

 

เล่มที่ ๒  สุขแท้ด้วยปัญญา    

 

       “สุขแท้ด้วยปัญญา  วิถีสู่สุขภาวะทางปัญญา”  เป็นหนังสือในโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา  สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

         ผู้เขียนหลักคือ  พระไพศาล วิสาโล  พระนักปราชญ์อีกท่านที่สนใจเรื่องการศึกษา และประเด็นทางสังคม อย่างมาก  ท่านเขียนบทความดีๆ มาให้พวกเราอ่านสม่ำเสมอ 

         บทความ ๒ เรื่องหลักๆ ในเล่มนี้เขียนโดยพระไพศาล  บทแรกชื่อ  “สุขแท้ด้วยปัญญา : วิถีสู่สุขภาวะทางปัญญา”  ท่านเขียนอธิบายเรื่องสุขภาวะ ๔ ด้าน คือ กาย จิต สังคม และปัญญา ได้ชัดเจน แจ่มแจ๋ว ชอบมากตรงที่ท่านบอกว่า 

        “สุขภาวะทางปัญญาจึงเป็นที่มาของสุขภาวะอีก ๓ ด้านที่เหลือ กล่าวได้ว่า  สุขภาวะทางกาย ทางสังคม และทางจิตจะมั่นคงยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยสุขภาวะทางปัญญาเป็นพื้นฐาน”

            ท่านวิเคราะห์ปัญหาในสังคมและเสนอ “ทัศนคติอันเป็นที่มาแห่งความสุข”  ๔ ประการ  คือ

            ๑.     การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง

            ๒.    การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว

            ๓.    การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค

            ๔.    รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล

            นอกจากเสนอทัศนคติอันเป็นที่มาแห่งความสุขแล้ว  ท่านยังเสนอกระบวนการ

เสริมสร้างทัศนคติอีกด้วย

            หนังสือเล่มนี้อ่านไม่ง่าย   จึงต้องวางไว้ใกล้ๆ มือ  อ่านแล้วอ่านอีก  อ่านอย่าง

พิเคราะห์ ใคร่ครวญหาแก่นสาร อ่านแล้วมีความสุข  อยากแนะนำให้คุณครูทุกท่านได้อ่านมากๆ ค่ะ

๑ มกราคม ๒๕๕๓

……………………

ขอขอบพระคุณ

          คุณพี่กานดา อารยางกูร น้องสาวท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์  มอบหนังสือ “วิถีแห่งปราชญ์” และหนังสืออื่นอีก ๔ เล่มให้ฉัน  เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙  วันที่ฉันทำอาหารไปถวายพระที่วัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑล

         คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กัลยาณมิตรตลอดกาลของฉันถือหนังสือดีชื่อ “สุขแท้ด้วยปัญญา” กับเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่ม มาฝากเมื่อวันเสาร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 324668เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • คิดว่าท่านที่ยังไม่ค่อยได้ติดตามงานเขียนของท่านมากนัก
  • ควรอ่านเล่มนี้ เป็นเกร็ดชีวิตที่น่าศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง
  • ขอแนะนำอีกเล่มหนึ่งเล่าไว้เมื่อวัยสนธยา ของหลวงพ่อพุทธทาส

 

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบพระคุณกับการแนะนำหนังสือดีค่ะ
  • หนังสือที่อ่านแล้วเข้าใจยาก ครูคิมจะอ่านไปผ่าน ๆ ๑ เที่ยว ต่อไปก็อ่านทีละหน้า สองหน้าเรื่อยไปค่ะ
  • แต่ระหว่างนั้นต้องอ่านอย่างอื่นแทรกไปด้วย  มีการงานและหลักธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เล่มหนา  อ่านพอเข้าใจแต่ก็อ่านหลายเที่ยวค่ะ เล่มหนาหยิบจับไม่สะดวก
  • จะไปหาเล่มนี้มาอ่านก่อนนะคะ

กราบนมัสการท่าน พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เป็นเมตตายิ่งที่ท่านให้คำแนะนำ ดิฉันจะลองไปค้นหนังสือชื่อ "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" ของหลวงพ่อพุทธทาส มาอ่าน  คลับคล้ายว่าจะมีอยู่  ถ้าไม่มีจะไปหามาอ่านตามที่ท่านแนะนำค่ะ

  • ครูคิมคะ พี่จะไปหา  การงานและหลักธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) มาอ่านเช่นกันค่ะ
  • เห็นหนังสือ "สุขแท้ด้วยปัญญา" ครั้งแรก  แค่อ่านคำโปรยปก "สังคมดีขึ้นได้ ถ้าคุณไม่มัวแต่คิดแล้วนิ่งเฉย" ก็อยากเข้าไปอ่านแล้วค่ะ

เข้าไปอ่านโฆษณาหนังสือของหมอนนแล้วจ้า

ปีใหม่ไปเที่ยวไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท