Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดและแนวปฏิบัติในการส่งคนจากพม่าที่มีปัญหาสถานะบุคคลออกไปจากประเทศไทย


จะเห็นว่า คำสำคัญที่ HRC ใช้ในประเด็นคำถามนี้ ก็คือ (๑) แรงงานอพยพ ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า (๒) สถานการณ์และการปฏิบัติ ละ (๓) หลักการและเงื่อนไขในการส่งออกไปจากประเทศไทย ผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า รายงานประเทศฯ จึงควรจะให้ข้อมูลแก่ HRC ใน ๔ ประเด็น กล่าวคือ (๑) แนวคิดของรัฐไทยเกี่ยวกับการส่งบุคคลออกไปจากประเทศไทยโดยทั่วไป และ (๒) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นคนหนีภัยความตาย (๓) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการยอมรับให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอาศัยในประเทศไทย หากพบว่า บุคคลดังกล่าวเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานไทยขาดแคลน และ (๔) แนวคิดและแนวปฏิบัติในการส่งคนจากพม่าที่มีปัญหาสถานะบุคคลออกไปจากประเทศไทย

            ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งบุคคลออกไปจากประเทศไทยนั้น เราอาจสรุปหลักกฎหมายไทยทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่มีผลในปัจจุบันได้เป็น ๔ ประการดังต่อไปนี้

             ในประการแรก  ขอให้ตระหนักว่า ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการยอมรับให้สัญชาติไทยแก่บุตรของบุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้อพยพจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม” หรือแรงงานอพยพ ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า” ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘[1] ดังนั้น หากบุคคลดังกล่าวได้รับสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว  กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยก็จะไม่ยอมรับให้เนรเทศพวกเขาออกไปจากประเทศไทย หรือห้ามคนสัญชาติไทยกลับเข้ามาในประเทศไทย และนอกจากนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมีการกระทำที่เป็นภัยต่อรัฐหรือสังคม มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.เนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ ยังห้ามรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยมีคำสั่งเนรเทศคนสัญชาติไทย หรือแม้ในกรณีที่มีการถอนสัญชาติไทยแล้ว หากบุคคลเคยมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มาตรานี้ก็ยังห้ามการเนรเทศคนต่างด้าวที่เคยมีสัญชาติไทยโดยการเกิดออกไปจากประเทศไทย

              ในประการที่สอง ขอให้ตระหนักว่า ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการยอมรับให้สิทธิอาศัยถาวรแก่บุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้อพยพจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม” หรือแรงงานอพยพ ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า” ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘[2] ดังนั้น หากบุคคลดังกล่าวได้รับสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรแล้ว การส่งตัวบุคคลดังกล่าวออกไปจากประเทศไทย ก็จะเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองที่มีผลในปัจจุบันบัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยจะส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ใน  ๓ สถานการณ์[3] กล่าวคือ (๑) สถานการณ์ที่พบว่า คนต่างด้าวนั้นเข้าในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ (๒) สถานการณ์ที่พบว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอาศัยในไทยนั้นสิ้นสุดลงแล้ว หรือ (๓) สถานการณ์ที่พบว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอาศัยในไทยนั้นถูกเพิกถอนแล้ว การได้มาซึ่งสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรย่อมไม่สิ้นสุดลง หากบุคคลดังกล่าวไม่มีการกระทำที่เป็นภัยต่อรัฐและสังคม

                   ในประการที่สาม สำหรับบุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า” ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายการทะเบียนราษฎรซึ่งเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘  หากฟังได้ว่า เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งหนีภัยความตาย ก็ไม่อาจถูกส่งออกนอกประเทศไทย หากปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยสำหรับบุคคลแต่ละกลุ่มในเรื่องของการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย รวมถึงไม่มีการกระทำที่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมไทย สำหรับบุคคลบนพื้นที่สูงที่หนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘ หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเฉพาะ การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลย่อมเป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการปัญหาสถานะละสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘[4] กล่าวคือ (๑) จะได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย กล่าวคือ ท.ร.๓๘ ก. อันทำให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว รอการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่เหมาะสม จึงไม่อาจถูกส่งออกนอกประเทศไทยแม้ยังไม่มีสถานะบุคคลใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง (๒) จะได้รับการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นการยอมรับให้สิทธิอาศัยชั่วคราว หรือสิทธิอาศัยถาวรในสถานะคนต่างด้าว หรือคนสัญชาติไทย ก็ได้ ตามแต่ความเป็นไปได้ที่จะส่งกลับประเทศต้นทาง หรือที่จะไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม หรือตามแต่คุณภาพของความสัมพันธ์ที่บุคคลมีกับสังคมไทย (๓) จะได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่ถูกกำหนดในขั้นตอนที่สอง และ (๔) จะต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในระหว่างกระบวนการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะ (๔.๑.) สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (๔.๒.) สิทธิในการศึกษา (๔.๓.) สิทธิในสุขภาพ และ (๔.๔.) สิทธิในการประกอบอาชีพ ดังนั้น จะเห็นว่า หากฟังได้ว่า ความเสี่ยงภัยความตายยังมีอยู่ รัฐบาลไทยก็จะไม่ส่งออกนอกประเทศไทยซึ่งบุคคลที่ HRC เรียกว่า “ผู้แสวงหาที่หลบภัย และผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า” แต่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่อาจเข้าถึงสถานะคนต่างด้าวที่สิทธิอาศัยในไทยอย่างถาวร

                 ในประการที่สี่ สำหรับบุคคลที่ HRC เรียกว่า “แรงงานอพยพจากประเทศพม่า” ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายการทะเบียนราษฎรซึ่งเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘ หากฟังได้ว่า เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งหนีภัยความตาย หรือเป็นแรงงานในสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานไทยขาดแคลน ก็ไม่อาจถูกส่งออกนอกประเทศไทย หากปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยสำหรับบุคคลแต่ละกลุ่มในเรื่องของการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย รวมถึงไม่มีการกระทำที่เป็นภัยต่อรัฐและสังคมไทย โดยสรุป เราจึงยืนยันได้ว่า กฎหมายและนโยบายของรัฐไทย ยอมรับบุคคลที่ HRC เรียกว่า “แรงงานอพยพจากพม่า (migrant workers from Myanmar)” อาจอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อทำงานต่อไปได้ หากยอมรับที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐไทยในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ อันนำไปสู่การขจัดปัญหาความไร้สัญชาติ และได้มาซึ่งเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยประเทศต้นทาง แต่โดยข้อเท็จจริงที่ถูกโต้แย้งโดยองค์การพัฒนาเอกชน ก็คือ มีคนหนีภัยความตายจากประเทศพม่าจำนวนไม่น้อยที่ไปขึ้นทะเบียนแรงงาน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตหากเดินทางไปสัญชาติพม่าในประเทศพม่า แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่าก็ได้ออกมารับรองความปลอดภัยของแรงงานจากพม่าทั้งหมด รวมถึงแรงงานไทยใหญ่อีกด้วย กระบวนการพิสูจน์สัญชาติลาวและเขมรดำเนินไปจนเกือบเสร็จสิ้นหมดแล้ว ในขณะที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่ากำลังเริ่มต้น ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ด้วยจำนวนค่อยข้างมากของ “แรงงานอพยพจากพม่า (migrant workers from Myanmar)”  แม้ในกรณีของบุคคลที่มิได้หนีภัยความตาย การพิสูจน์สัญชาติพม่าให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ ก็ยากที่จะเป็นไปได้จนแล้วเสร็จ นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจึงไม่เชื่อว่า จะมีการผลักดันแรงงานส่วนที่ยังมิได้พิสูจน์สัญชาติออกไปจากประเทศไทย แต่ด้วยท่าทีที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ อาจทำให้เรื่องนี้ตกเป็นแดนสนธยาของการทุจริตในการจัดการปัญหานี้ก็เป็นได้ และเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นปัญหายากที่ประเทศไทยจะต้องจัดการในอนาคตอันไม่ไกลนัก

อีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่อาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการผลักแรงงานอพยพต่างด้าวออกจากประเทศไทย ก็คือ เราพบว่า ยังมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าไม่ถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เนื่องจากมิใช่คนที่มาจากประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา เราพบว่า  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา รัฐไทยยอมรับใช้นโยบายนี้เพียงต่อแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เท่านั้น ดังนั้น ในวันนี้ นักวิจัยเริ่มพบคนจากประเทศจีนตอนใต้ที่มาสวมตัวเป็นคนจากพม่า หรือคนจากประเวียดนามที่มาสวมตัวเป็นคนจากกัมพูชา  อันได้แก่ เท่านั้น  นอกจากนั้น เรายังพบว่า แรงงานไร้รัฐย้ายถิ่นไร้ฝีมือจากประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศกัมพูชาส่วนหนึ่งก็ไม่ยอมแสดงตนเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงาน หรือแรงงานอีกส่วนหนึ่งก็ยอมรับเพื่อการทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย แต่ไม่ได้ทำใบอนุญาตทำงาน

 


[1] โดยข้อมูลของกรมการปกครองเมื่อวันที่ ???  มีการเพิ่มชื่อบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากคนที่อพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ ในสถานะคนสัญชาติไทย จำนวน ??? คน

[2] โดยข้อมูลของกรมการปกครองเมื่อวันที่ ???  มีการเพิ่มชื่อบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากคนที่อพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ.๒๕๒๘ ในสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร จำนวน ??? คน

[3] มาตรา ๕๔ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[4] ขอให้ตระหนักว่า ยุทธศาสตร์นี้มุ่งใช้ต่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล

หมายเลขบันทึก: 324640เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท