Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ปัญหาสิทธิในหลักประกันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย (ข้อ ๒ (๑), ๓, ๒๖, ๒๗ แห่ง ICCPR)


HRC ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิตาม ICCPR ของคนชายขอบใน “ประเด็นคำถามที่ ๖” ว่า “กรุณาแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบว่าสิทธิทั้งปวงที่ได้รับการประกันภายใต้กฎหมายไทย รวมถึงหลักประกันตามรัฐธรรมนูญนั้น ได้ครอบคลุมถึงบุคคลทุกคนภายใต้เขตอำนาจศาล รวมถึง ผู้ที่มิใช่พลเมือง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่หลบภัย ด้วยหรือไม่ (Please tell the Committee whether all rights guaranteed under Thai legislation, including constitutional guarantees, are extended to all persons under its jurisdiction, including non-citizens, migrants, refugees and asylum-seekers.)” (HRC หรือ "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee)” ของสหประชาชาติ เป็นกลุ่มบุคคลซึ่งแต่งตั้งมาจากผู้เชี่ยวชาญอิสระให้มีหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับ ICCPR ของประเทศที่เป็นรัฐภาคี)

เราอาจตอบ HRC ด้วยการนำเสนอหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรองรับในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยอย่างชัดเจนตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ กำหนดยอมรับให้ “มนุษย์ทุกคนบนแผ่นดินไทย” ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์[1] ซึ่งก็หมายความว่า กฎหมายไทยทั้งระบบย่อมคุ้มครองและให้ประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของ “ผู้ที่มิใช่พลเมือง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่หลบภัย”  ทั้งนี้ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นย่อมมีศักดิ์ต่ำกว่า และไม่อาจมีบทบัญญัติที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายหรือนโยบายของรัฐไทยที่เอื้อหรือส่งผลละเมิดสิทธิมนุษยชนของ “ผู้ที่มิใช่พลเมือง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่หลบภัย”  ย่อมผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่อาจมีผลบังคับได้

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลดังกล่าวจึงอยู่ในระดับของกฎหมายและนโยบายที่มีลักษณะเฉพาะ หรือเป็นเรื่องของความไม่มีประสิทธิภาพของกฎหมายที่มีลักษณะทั่วไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เอาใจใส่ในการบังคับใช้กฎหมาย หรือมีทัศนคติที่ลบต่อบุคคลดังกล่าว

แต่ต้องยอมรับว่า ในกรณีที่ “ผู้ที่มิใช่พลเมือง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่หลบภัย” ซึ่งมักมีสถานะเป็นคนต่างด้าว และมักยังมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย การปฏิบัติต่อคนชายขอบเหล่านี้ย่อมไม่อาจจะได้รับสิทธิซึ่งมิใช่สิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง อาทิ คนชายขอบที่มีปัญหาสถานะบุคคลย่อมไม่อาจมีสิทธิในเสรีภาพที่จะเลือกอาชีพ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่อาจมีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนสัญชาติไทย คนต่างด้าวที่ไม่มีปัญหาสถานะบุคคล และคนต่างด้าวที่มีปัญหาสถานะบุคคล ความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน ย่อมได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้จะเลือกอาชีพตามใจชอบมิได้ แค่คนชายขอบที่มีปัญหาสถานะบุคคลก็ย่อมมีสิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพได้

นอกจากนั้น ในช่วง พ.ศ.๒๕๔๘ – พ.ศ.๒๕๕๒ ศาลไทยได้มีคำพิพากษาหลายครั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนชายขอบซึ่ง HRC เรียกว่า “ผู้ที่มิใช่พลเมือง ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่หลบภัย”  ซึ่งเราอาจกล่าวคดีตัวอย่างที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายไทยของคนชายขอบดังกล่าวได้สัก ๒ คดี กล่าวคือ (๑) คดีซึ่งอัยการจังหวัดระนองฟ้องนายประเสริฐ อินทรจักร ซึ่งเป็นคนไร้รัฐหนีภัยความตายจากประเทศพม่า ต่อศาลจังหวัดระนอง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘[2]  และ (๒) คดีซึ่งสามีสัญชาติไทยของหญิงไร้สัญชาติซึ่งเป็นอดีตคนหนีภัยความตายจากประเทศลาว ฟ้องนายอำเภอนาแห้ว ต่อศาลปกครองขอนแก่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ [3]

ในคดีแรก  อัยการระนองขอให้ศาลจังหวัดระนองมีคำพิพากษาว่า นายประเสริฐเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและสั่งตัวออกไปนอกประเทศไทย แต่ศาลนี้กลับมีคำพิพากษาในทิศทางที่จะไม่ส่งตัวนายประเสริฐ อินทรจักรออกไปจากประเทศไทย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะศาลนี้ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายประเสริฐเป็นคนหนีภัยความตายจากพม่า แม้จะเป็นคนเชื้อสายไทย แต่ด้วยเกิดที่จังหวัดมะริดในช่วงที่ดินแดนนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศพม่า และมีบิดาและมารดาเป็นคนเชื้อสายไทยที่เสียสัญชาติไทยเพราะประเทศไทยเสียมะริดให้แก่ประเทศอังกฤษในขณะที่ประเทศดังกล่าวเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมในดินแดนที่เป็นพม่าในเวลานั้น ผลของสถานการณ์จึงทำให้คนเชื้อสายไทยที่ติดไปกับดินแดนที่เสียไปตกเป็นคนต่างด้าว รวมตลอดถึงบุตรหลานที่เกิดในเวลาต่อมาอีกด้วย คนเหล่านี้ถูกเรียกในภาษาไทยว่า “คนไทยพลัดถิ่น”  และเมื่อเกิดความไม่สงบในประเทศพม่า คนกลุ่มนี้ก็ถูกมองเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า และคนจำนวนมากไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๐ – ๒๕๔๐ ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนจากการเกณฑ์แรงงานจากรัฐบาลทหารพม่า พวกเขาจึงพากันอพยพหนีภัยต่อชีวิตเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะนายประเสริฐนั้นได้อพยพเข้ามาในราว พ.ศ.๒๕๓๗ ที่น่าประหลาดใจ ก็คือ แม้ศาลจังหวัดระนองฟังอย่างชัดเจนว่า นายประเสริฐเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ศาลก็มีคำพิพากษาที่มีนัยยะที่ไม่ส่งตัวออกไปนอกประเทศไทย อันหมายความถึงการให้ความคุ้มครองในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งจากภัยความตายที่หนีมานั่นเอง

ในคดีที่สอง นายอำเภอนาแห้วถูกฟ้องในศาลปกครองขอนแก่น เพราะปฏิเสธที่จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยให้แก่ชายสัญชาติไทยและหญิงซึ่งเป็น “คนลาวอพยพ” ซึ่งคำนี้มาจากชื่อที่ทางราชการไทยให้แก่คนเชื้อสายลาวที่หนีภัยความตายมาจากประเทศลาวเข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๑๙ และได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในราว พ.ศ.๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ โดยผลของเรื่อง หญิงดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นคนไร้รัฐในช่วงเวลาที่หนีภัยความตายออกจากประเทศลาว และเมื่อได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะ “คนอยู่ชั่วคราว” หญิงดังกล่าวก็มีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ความไร้รัฐของเธอจึงสิ้นสุดลง คงเหลือแต่ปัญหาความไร้สัญชาติ เมื่อนายอำเภอนาแห้วปฏิเสธที่จะจดทะเบียนสมรสให้ โดยอ้างว่า เธอไม่มีหนังสือรับรองความเป็นโสดหรือความไม่เป็นเครือญาติกันจากสถานทูตลาว ศาลปกครองขอนแก่นก็เห็นตามนายอำเภอนาแห้ว เอกชนผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง ศาลนี้กลับเห็นแย้งจากนายอำเภอนาแห้วและศาลปกครองขอนแก่นว่า การรับรองความเป็นโสดอาจทำได้โดยการให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันท้องที่ที่หญิงลาวอพยพอาศัยอยู่ออกหนังสือรับรองให้ หรือการรับรองว่า มิใช่เครือญาติกัน ก็อาจพิสูจน์ได้โดยการตรวจหมู่เลือด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างภาระเกินจำเป็นให้ต้องไปร้องขอหนังสือรับรองจากสถานทูตลาว ในที่สุดของเรื่อง คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจึงมีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมายของคนไร้สัญชาติในประเทศไทย

จาก ๒ คำพิพากษานี้ ก็คงจะเป็นตัวอย่างของความเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายไทยของคนชายขอบเพราะไร้รัฐไร้สัญชาติ และนอกจากนั้น คำพิพากษาทั้งสองยังสะท้อนถึงทัศนคติของฝ่ายตุลาการของรัฐไทยที่มีความเข้าใจในปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างดี


[1]  มาตรา ๔ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และมาตรา ๔ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” รวมถึงมาตรา ๓ แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ ก็มีบทบัญญัติที่ยาวกว่า แต่ก็สรุปหลักได้ในลักษณะเดียวกัน มาตรา ๓ นี้ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

[2] คดีในศาลจังหวัดระนอง (คดีหมายเลขดำที่ ๑๓๒๕/๒๕๔๖ และคดีหมายเลขแดงที่ ๓๖๔๑/๒๕๔๘) เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระนอง โจทก์ ประเสริฐ อินทรจักร จำเลย เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง

[3] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ระหว่าง นายนิยม จันทะคุณ และพวก กับนายอำเภอนาแห้ว

หมายเลขบันทึก: 324529เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 04:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคนโดยทั่วกันแล้ว

ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายปฏิบัติจะรู้จักหยิบยกมาใช้มากน้อยเพียงใด

ดังที่อาจารย์เคยกล่าวว่า น่าแปลกที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะปฏิเสธสิทธิของประชาชนไว้ก่อน

ทั้งที่ในเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น การปฏิเสธสิทธิของประชาชนต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

ขอบตุณสำหรับบทความดีๆนะคะ.. >_<

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท