เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ (ตอนที่ ๒)


ขอให้เรื่องร้าย ๆ แย่ ๆช้า ๆ จมหายลงสายน้ำเจ้าพระยาไปกับปีเก่า มีเรื่องดี ๆ รวดเร็วทั้งหลายได้ลอยน้ำมาแวะขึ้นปทุมธานีเขต ๑ พร้อมกับปี ๒๕๕๓ ด้วยเถิด

 

การแนะแนว (ต่อ)

                        นอกจากการปรับหลักสูตร การเรียนการสอน การแนะแนวก็เป็นเรื่องสำคัญ  มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ

                        1.    เพื่อการศึกษาต่อ    อย่างน้อยต้องมีเครื่องมือวัดและความถนัด วินิจฉัยปัญหาการเรียนของผู้เรียน

                        2.    เพื่ออาชีพ   กระทรวงศึกษาธิการกำหนดว่าประมาณปี 2555-2556  ผู้เรียนสายอาชีพต้องสูงกว่าสายสามัญ การแนะแนวที่มีเครื่องมือวัดความถนัด และประสานกับอาชีวศึกษาจึงสำคัญ

                        3.    เพื่อชีวิตและสังคม   ให้นักเรียนมีที่ปรึกษา ครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งพบว่ามีปัญหาขาดบุคลากรแนะแนว ครูมีวุฒิแนะแนว มีเพียง 3 พันคน ที่ผ่านมามีการอบรมครูโรงเรียนขยายโอกาส 1 หมื่นคน แต่นโยบายกระทรวงศึกษาธิการต้องการให้ครูทุกคนแนะแนวได้

                                การพัฒนาคุณภาพครู   ในโครงการ SP2  กำหนดเป้าหมายพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ คือ 417,000 กว่า  จะมีการลงนามในสัญญาอบรมครูในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม  ซึ่งจะประเมินสมรรถนะเป็นรายบุคคล เพื่อจำแนกครูเป็นระดับ ระดับสูงจะเป็นกลุ่ม Master Teacher  ซึ่งจะเป็นแกนนำในการพัฒนาคุณภาพต่อไป  ระบบ E-training  จะถูกนำมาใช้ในการอบรมให้กว้างขวางและเป็นที่ยอมรับด้วย

                        3.    การปฏิรูปการบริหาร  :  การจัดทำแผนจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

                                สิ่งท้าทายการปฏิรูปโดยการกระจายอำนาจ ปัญหาอยู่ที่ช่องว่างของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เป็นรอยต่อที่สำคัญ แต่ต้องมีกลไกเพิ่มเติม คือ จะมีคณะกรรมการ 3 ระดับ  กบย. (คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์) คือ กบย.ศธ. (ระดับกระทรวง) กบย.กจ. (กลุ่มจังหวัด) และ กบย.จ. (ระดับจังหวัด) ทั้งหมดเป็นการยึดโยงแผน 3 ระดับ ตั้งแต่กระทรวง กลุ่มจังหวัดและจังหวัดต้องมีเป้าหมายร่วม 70% และเป้าหมายเฉพาะ 30% ขณะนี้แผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัดผ่านการพิจารณาของ กบย.ศธ.แล้ว แต่ระดับจังหวัดอาจมีปัญหาการขับเคลื่อนเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีเวลานัก จึงกำหนด 3 รูปแบบในการขับเคลื่อน คือ รูปแบบหนึ่ง คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมร่วมกับกระทรวงอื่นในระดับจังหวัด ต่อไปการมอบหมายภารกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1  จะมีงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น ส่วนกลางจึงต้องเตรียมความพร้อมในการกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่

                        4.    นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                        (1)  เรียนฟรี 15 ปี  การจัดซื้อหนังสือเรียน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ซื้อเพื่อซ่อมเสริมแบบเรียนตามหลักสูตรปี 2544  ประมาณ 30% และจัดซื้อตามหลักสูตรปี 51  100% 

                        ข้อสรุปที่ได้หารือกัน คือ ซื้อแบบเรียนซ่อมเสริม 30% ก่อน ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยก่อนซื้อจะทำการสำรวจในเดือนมกราคมต้องมีข้อมูลเป็นรายโรงเรียนเป็นรายกลุ่มสาระ และข้อมูลของเขตพื้นที่ โดยมีเป้าหมายว่าเขตจะรวบรวมส่งข้อมูลให้ส่วนกลางได้ในปลายเดือนมกราคมเป็นรายลำนักพิมพ์และจำนวนเล่ม เป็นแบบเรียนที่เหมือนเดิม แต่แบบใดที่ไม่ผลิตเพิ่ม โรงเรียนสามารถเลือกแบบเรียนใหม่ได้ ส่วนแบบเรียนที่จะจัดซื้อ 100% จะทยอยประกาศแบบเรียนที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม เป็นช่วง ๆ ต่อไป

                        หลังจากนั้น โรงเรียนเลือกแบบเรียนและสั่งซื้อก่อนสิ้นเดือนมีนาคม

                        ส่วนลด 20%    ฝากช่วยคิดและเสนอแนะด้วย  เนื่องจากปีที่แล้วมีการกำหนดส่วนลด 20% ทุกรายการ ทำให้หลายแห่งยกเลิกสัญญาไม่กล้าดำเนินการ สำนักพิมพ์ชี้แจงว่าส่วนลดไม่เท่ากัน พอบังคับ 20% จึงเกิดปัญหา ถ้าดูกระบวนการจัดตั้งงบประมาณรายหัวคิดจากราคาปกองค์การค้าลด 20% เป็นพื้นฐาน  ดังนั้นในการจัดซื้อจึงต้องเน้นให้ได้อย่างน้อย 20% และเพิ่มเติมว่าเป็นการถัวจ่ายทุกรายการ

                        (2)  SP2    การจัดซื้อคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการที่ถูกกฎหมาย  ต้องไปด้วยกันเพราะปีนี้จัดซื้อจำนวนมาก แบ่งขั้นตอนการจัด 2 ขั้นตอน คือ การจัดซื้อฮาร์ดแวร์ และการจัดซื้อระบบปฏิบัติการ ซึ่งต้องนำไปติดตั้งเพื่อการตรวจรับฮาร์ดแวร์ด้วย จึงมีเรื่องเงื่อนเวลามาเกี่ยวข้อง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นย้ำความโปร่งใส  โดยมีคณะดูแลโครงการ SP2  มี 35 คณะ คือ ส่วนกลาง และ 34 คณะที่ไปกำกับในเขตต่าง ๆ

                        (3)  โรงเรียนดี 3 ระดับ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญระดับมาตรฐานสากลมาก ต้องการให้เป็นรูปธรรมให้สอนวิทย์คณิตเป็นภาษาอังกฤษ

                                นิยามของมาตรฐานสากลดู 3 เรื่อง

                                1)    มีระบบการเรียนการสอนที่เป็นพิเศษ

                                2)    มีการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ

                                3)    ผู้เรียนมีลักษณะเป็นพลเมืองโลก (World Citizen) มีภาษาอังกฤษผนวกกับภาษาอื่น

                                หลักสูตรต้องยืดหยุ่นหลากหลาย และอาจได้ประกาศนียบัตร International Baccalaureate  ไปใช้เรียนต่อต่างประเทศได้ และการสอนภาษาอังกฤษที่เดิมเคยคิดว่ายาก แต่โรงเรียนสุนทรภู่ที่ระยองทำ English for Integrated Study ได้ดี คือ จากการที่ครูไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษ แต่ในที่สุดครูทุกคนสามารถใช้ได้ และเด็กเห็นว่าการเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษง่ายกว่าเรียนโดยใช้ภาษาไทย จะมีการประชุมชี้แจงโรงเรียน 500 แห่ง เรื่องนี้หลังปีใหม่เพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าใจจุดมุ่งหมายแนวทางดำเนินโครงการพร้อมกัน แล้วไปจัดทำแผนพัฒนาเป็นรายโรง หลังจากนั้นจะรวบรวม Profile แต่ละโรงว่าปี 2553-2554-2555  จะมีโรงเรียนที่มีความพร้อมกี่โรง

                        4.    การเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  มีมาแล้วหลายรุ่น  มีภารกิจเพิ่มขึ้นตลอดเวลาและสุดท้ายคือการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัด    จึงต้องดูแลขวัญกำลังใจ จึงเห็นว่า

                                (1)  ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้บรรจุแต่งตั้งจะเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นระดับเชี่ยวชาญ  ผู้จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกแล้ว เหตุใดต้องรออายุงาน จึงเสนอผลงาน ไม่ยุติธรรม ต้องหาทางเจรจา กคศ.ปลดล็อกสิ่งเหล่านี้เสีย ให้กระชับ หรือเป็นโดยอัตโนมัติ อาจมีหลักสูตรเร่งรัด ทำผลงานย่อยแล้วประเมิน เพื่อมีสมาธิทำงานต่อไป และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานภายนอก

                                (2)  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีประสบการณ์และผลงาน  หากฎเกณฑ์ประเมินให้เป็นระดับเชี่ยวชาญพิเศษว่าต้องมีความเป็นเลิศกี่ด้าน ใครสามารถพัฒนาผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นต้นแบบได้ จะผลักดันให้ได้ในปี 2553  ฝากให้ช่วยคิดและหาข้อเสนอที่ชัดเจน ประเด็นสื่อสารวันนี้มีเท่านี้ และจะรับฟังข้อเสนอจากทุกท่านในช่วงต่อ ๆ ไป

                  เย็นมีงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่กันพอเป็นธรรมเนียม  ไม่สนุกเหมือนตอนหนุ่ม ๆ การประชุม ผอ.เขต เดี๋ยวนี้จะมีคนรุ่นใหม่มากกว่ารุ่น ๓ ส. ที่เข้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เพราะเกษียณไปแล้ว ๗ รุ่น สภาพปัญหาและความคิดจึงแตกต่างกัน คนหนุ่มก็เกรงใจรุ่นพี่ไม่ยอมเสนอความคิดความเห็น คนเก่าก็สงวนท่าทีเพราะแก่แล้วพูดพลาดไปอายรุ่นน้องเปล่า ๆ อาจมีแถมนายเขม่นอีกด้วย  จึงเกิดบรรยากาศฟังเงียบ ๆ และกลับกันไปเงียบ ๆ  อย่างไรก็ตาม ท่านเลขาธิการ กพฐ. บอกว่าพรุ่งนี้บ่ายจะมาฟังข้อเสนอและปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขปรับปรุง

วันอังคารที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เช้ามีประชุมตามปกติ เริ่มด้วยท่านรองเลขาธิการ กพฐ.นายเสน่ห์  ขาวโต  ได้ย้ำการรายงานตามโครงการ SP2  สพฐ. ให้เขตรายงานทุกวันที่ ๑๐ ของเดือนเกี่ยวกับโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด  โครงการคืนครูให้กับนักเรียน มีปัญหาขณะนี้เพียง ๘ เขต เป็นเรื่องงบประมาณที่จัดไปมีขาดมีเกินบ้าง ขอให้ช่วยกันแก้ปัญหาไปก่อน สพฐ. ได้ทำเรื่องขอปรับงบประมาณไปแล้ว การใช้ตำแหน่งว่างครู early retire ให้คำนึงถึงเม็ดเงินด้วย ต้องระวังจะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนในภายหลัง คำนวณให้ดี แต่หากใช้ตำแหน่งย้ายหมุนเวียนในเขตไม่เป็นไร หากรับย้ายต่างเขตต้องแจ้งต้นสังกัดเพื่อทราบเม็ดเงินและตัดโอนอัตราตามตัว หากผิดพลาดต้องรับผิดชอบเอาเอง  การดำเนินการทางวินัย แพ่งและอาญา  ถ้าเป็นวินัยของผู้บริหาร/บุคลากรในบังคับบัญชา เป็นอำนาจที่เขตต้องดูอย่างระมัดระวัง เพราะหากทำไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดการฟ้องร้อง และผลเสียเกิดที่ผู้สั่ง จึงต้องศึกษาเรื่องวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง มีขั้นตอนให้ปฏิบัติอย่าทำผิดขั้นตอนและดูให้ครอบคลุม เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณาก็ดูระดับโทษให้ได้มาตรฐาน  ในทางแพ่งก็พิจารณาว่าทรัพย์สินของทางราชการเกิดความเสียหายจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของข้าราชการที่ถูกกล่าวหาหรือไม่  หากใช่ก็ต้องชดใช้ให้ได้ส่วนกับความเสียหาย และขอให้ดูว่ามีเจตนาหรือประมาทหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนก่อนตาม พ.ร.บ. การละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ถ้าจงใจทำก็ไปไล่เบี้ยภายหลัง  ส่วนเจ้าหน้าที่การเงิน ต้องดูด้วยว่าเงินขาดบัญชีเพราะอะไร ต้องรับผิดชอบด้วย จึงต้องวางระบบการจ่ายเงินให้ดี มีข้อควรระวังมาก เพราะมีระเบียบอยู่ อย่าไว้ใจเจ้าหน้าที่การเงินมากนัก เพราะอาจมีกลเม็ดเบิกเงินธนาคารมาเข้าบัญชีคนอื่น  เรื่องคดีอาญา โดยเฉพาะมาตรา ๑๕๗ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวัง ต้องปฏิบัติให้ถูกโดยต้องดูกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และทำความเข้าใจให้ชัด อย่าใช้ความรู้สึก บางเรื่องมีขั้นตอน วิธีปฏิบัติที่ต้องทำตามขั้นตอน เป็นเรื่องที่ถูกฟ้องร้องง่ายมาก โดยเฉพาะศาลปกครองเป็นฐานไปฟ้องคดีอาญาต่อไป โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล มีหลักในการตัดสินใจที่ไม่ใช้ความรู้สึก เช่น การย้ายผู้บริหารต้องขอความเห็นกรรมการสถานศึกษาประกอบการพิจารณาก่อน ก็ต้องขอความเห็น แม้ไม่ต้องการก็ต้องทำ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ เหตุผลก็ต้องมากกว่าเพื่อความเหมาะสม การพัฒนาครู มีการโอนเงินไปให้บางเขตแล้วอย่าเพิ่งใช้ นอกจากการมาอบรมที่รัฐสภา เพราะโครงการใหญ่ยังไม่ได้กำหนดทิศทางการปฏิบัติ ใช้ได้เมื่อไหร่ อย่างไร สพฐ. จะแจ้งภายหลัง  อ.ก.ค.ศ. ฝากดูเรื่องการเลือกผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ ทำให้ดี เพราะมีเรื่องร้องเรียนอยู่ อาจต้องรับรองก่อนแล้วค่อยดำเนินการภายหลัง วันนี้จะมีการประชุม ก.ค.ศ. ชุดใหม่ ซึ่งชุดเก่าจะหมดอายุไป  แต่ อ.ก.ค.ศ. เขต ยังไม่หมดอายุ เพราะ อ.ก.ค.ศ. เขต ใหม่ยังขาดผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าไม่มีปัญหาใด ก็จะทำให้ท่านได้เลือกผู้แทนให้ครบได้  ฝากเลือกคนดีเข้ามา แต่ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ หากไม่ได้คนดีก็จะเหนื่อยและมีปัญหายุ่งยาก อย่างที่เคยประสบมา เมื่อได้มาแล้ว หน้าที่ อ.ก.ค.ศ. เขต มีอะไร ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี ไม่ใช่ทำแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเรื่อง เขากำหนดไว้ในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน เช่น การย้ายผู้บริหาร การเลื่อนขั้นเงินเดือน การลงโทษทางวินัย การปฏิบัติหน้าที่ขององค์คณะบุคคลถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ดังนั้นหากผิดพลาดจึงต้องรับผิดชอบทางวินัย และ/หรืออาญา  การย้ายผู้บริหารต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ นี้ หากไม่เสร็จต้องมีเหตุผลว่าเพราะอะไร มิฉะนั้นอาจเจอการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ    การสอบบรรจุครูผู้ช่วย เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขต แต่หลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดใหม่ จะสอบปีละ ๑ ครั้ง ดังนั้นที่ขอมาก็รอสอบพร้อมกันเดือนเมษายน ช่วงนี้ให้โยกย้ายให้เรียบร้อย เตรียมตำแหน่งว่างไว้   การคัดเลือกครูผู้ช่วยจากพนักงานราชการ/ลูกจ้างที่ทำงานครบ ๓ ปี ดูเชิงนโยบายที่ สพฐ.กำหนดให้ใช้อัตราเกษียณและ early  ๒๕ %  ไม่ใช่นับรวมอัตราอื่น เช่น ตาย ลาออก ย้ายตามปกติ จะน้อยกว่าก็ได้แต่เกินไม่ได้

                 ผอ. สพร. ดร. พิษณุ  ตุลสุข ได้ชี้แจงการประเมินเพื่อกำหนดตำแหน่งในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก.ค.ศ. เลื่อนไปเป็น ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ แต่เขตไหนทำเสร็จก็ส่ง ก.ค.ศ. ก่อนได้  การคิดเม็ดเงินรวมในเขต ให้ใช้จำนวนคนที่มีอยู่ในเขต คูณด้วยเงินเดือนและเงินเพิ่มตำแหน่ง ๑๒ เดือน การปรับตำแหน่งใหม่ต้องไม่เกินวงเงินที่มี แปลว่าหากเพิ่มระดับตำแหน่งก็ต้องลดคนลง   มีการประชุมการกำหนดตำแหน่งในส่วนกลาง โดย อ.ก.พ.กระทรวง สพฐ. วางแผนกำหนดยุทธศาสตร์จะเพิ่มตำแหน่งใด เช่นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนัก ซึ่งจะโยงไปถึงสำนักงานเขตด้วย  จะมีการประชุมประเมินสมรรถนะเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน และใช้สมรรถนะในการเลื่อนตำแหน่งด้วย  ต่อไป สพท.ก็ต้องใช้เกณฑ์นี้เหมือนกัน  การรับย้ายในอัตราเกษียณก่อนกำหนด ทำได้โดยการโอนอัตราตามตัว แต่ต้องรายงานข้อมูลระหว่างเขตและ สพฐ. เพื่อจัดอัตราตามเกณฑ์หากไม่เกิน   อัตราช่วยราชการ ขณะนี้เหลือ ๑,๔๐๐ กว่าอัตรา หาก ก.ค.ศ. ยอมให้เขาลงในโรงเรียนที่เกินเกณฑ์อยู่ปีเดียวเท่านั้น เมื่อมีอัตราเกษียณก็ย้าย เพื่อให้ภาคใต้ได้ใช้ในการบรรจุได้ เพื่อให้หมดปัญหาการช่วยราชการ  โรงเรียนที่เลิกล้ม ครู ๒ – ๓ คน อยากไปไหนก็ได้ไป แต่บางคนอยากรอ  ให้พิจารณาเป็นรายกรณีจะช่วยให้ยุบโรงเรียนได้เร็วขึ้น  อัตรากำลังเกษียณปี ๒๕๕๒ เป็นมติคณะรัฐมนตรีให้คืน ๑๐๐ % จนถึงปี ๒๕๕๔ แต่ให้เสนอขอ กพร. ทุกปีไป เรื่องจึงช้า แต่เรื่อง early ไม่ต้องขอใช้ได้เลย  แต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการครูพันธุ์ใหม่ ๕ ปี/๔ บวก ๑ ปี และใช้อัตราเกษียณ ๑๐๐ % มีผลในเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ คราวหน้าจะใช้ ๘,๐๐๐ อัตราบรรจุครูได้เลย  ครู ๕ ปีคือคนที่เรียนจบครูหลักสูตร ๕ ปี ส่วน ๔ บวก ๑ คือจบ ๔ ปีทำงานไปด้วยเรียน ป.บัณฑิตไปด้วย  เรื่องการถอดถอน อ.ก.ค.ศ. เขต แม้จะถอดถอนไปแล้วก็ต้องดำเนินการทางวินัยต่อไปด้วย  การเยียวยาครูที่ขอวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ทำข้อสอบ post-test ไปแล้ว ๒๗,๐๐๐ คน น่าจะได้รับการพัฒนาอบรมแล้วส่งผลงานใหม่  การเปิดสำนักรับจ้างทำผลงานมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบหรือไม่ว่ามีมือปืนรับจ้างอยู่ในเขตพื้นที่ของตนเอง  ขอให้จัดการเสีย     โครงการยกระดับครูทั้งระบบ ๒,๘๕๓,๐๔๗ บาท ถูกตัดเรื่องจัดตั้งศูนย์พัฒนาครู เพราะลดรูปแบบอาคาร เขตภาคใต้/ภูเขา หาผู้รับจ้างไม่ได้ ต้องทำค่า k เฉพาะ เป็นงบดำเนินงาน ลงทุนและรายจ่ายอื่น ขอให้เขตส่งแบบกำกับติดตามและรายงาน ซึ่งเป็นการรายงานของทีมงานนอกเหนือจากแบบของ สพฐ.

               ดร. ปัญญา  แก้วกียูร ผอ. สพอ. ได้ชี้แจงโครงการสัมมนาเผยแพร่และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ๔๖ รุ่น ระหว่างวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ – ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ขอให้ผู้เข้ารับการอบรมมีคุณสมบัติตามที่แจ้งและมาทุกคน กิจกรรมนี้เป็นเรื่องของรัฐสภาโดยตรง  ที่ผ่านมา ๔ ครั้ง วิทยากรที่มาบรรยายล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทำงานกับสถาบันพระปกเกล้าและอื่น ๆ และมีผู้แทนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมอภิปราย  ประเด็นที่ขอความร่วมมือ ที่ผ่านมามีผู้ขาด ขอให้จัดคนให้เต็มตามจำนวน การแต่งกายต้องผูกไทใส่เสื้อแขนยาว ใส่สูทไม่ใส่เสื้อคลุม   การเข้าประชุมอย่านั่งหลับเพราะกล้องจะเก็บภาพไว้ หากง่วงออกมาข้างนอกได้  เดินทางโดยประหยัด     การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนจะดำเนินการได้ปลายเดือนมกราคม ที่สถาบันพัฒนาครูฯ วัดไร่ขิง จำนวน ๓๐ วัน ๕ ห้อง ๆ ละ ๔๐ คน คนสอบขึ้นบัญชีและผ่านการประเมินแล้วไม่ต้องมาอบรม  งบประมาณที่ได้รับจะจัดให้เขต ๙๔๖ ล้านบาทในการพัฒนา วงเงินรวม ๔๑๗,๕๕๙ ล้านบาท  มีเป้าหมายพัฒนาครูและผู้บริหารทุกคน(ไม่รวมที่รัฐสภา) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทำงานร่วมกับเครือข่ายคณะครุศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษา สสวท.

                  ก่อนเที่ยงรองอธิบดีกรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย มาชี้แจงเรื่องการบูรณาการในแผนพัฒนาจังหวัด  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีงบประมาณที่สามารถพิจารณาจัดสรรในโครงการที่เหมาะสมได้  รวมถึงการขอความร่วมมือจากนายอำเภอและองค์กรปกครองท้องถิ่น    ตามด้วย รองเลขาธิการ กพฐ. ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์  และคณะมาสรุปงานวิชาการ หลักสูตร เทคโนโลยีให้ที่ประชุมรับทราบ   ภาคบ่าย เลขาธิการ กพฐ. ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตน ได้มารับฟังความเห็นจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในเรื่อง คุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วม  ผมมีโอกาสได้เสนอความเห็นว่ายุทธศาสตร์สำคัญ สพฐ. ต้องเชื่อมั่นในเขตและโรงเรียน มีการกระจายอำนาจและสนับสนุนให้เข้มแข็ง ต้องเชื่อในความแตกต่างระหว่างพื้นที่ วิธีคิด และวิธีทำ แต่เอาผลลัพธ์และเป้าหมายเป็นเกณฑ์  การประชุมจบลงเวลา ๑๕.๐๐ น.  เดินทางกลับมาสำนักงานเขตไปยืนดูนักการภารโรงติดตั้งอักษรไฟฟ้าที่เขาคิดออกแบบกันเอง ไว้ที่ผนังด้านข้างอาคารสำนักงานด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓”  เวลา ๑๖.๓๐ น. ไปตัดริบบิ้นเปิดห้องสโมสร สพท.ปทุมธานี เขต ๑ ได้เชิญผู้มีอุปการคุณมาร่วมงานด้วย เป็นการเปิดอย่างเป็นทางการเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร  มีจักรยานออกกำลังกายที่ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคลมอบให้อีก ๑ คัน  ฟังเขาร้องเพลงทดลองไฟจน ๑ ทุ่มจึงได้กลับไปพักผ่อน

วันพุธที่ ๓๐  ธันวาคม  ๒๕๕๒  เช้าแวะทานกาแฟที่สโมสร มีผู้บริหารแวะมาอวยพรปีใหม่สองสามราย  เวลา ๐๙.๓๐ น. ขึ้นไปประชุม อ.ก.ค.ศ. เขต ที่ห้องประชุมเล็ก ชั้น ๒  เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องย้ายผู้บริหารโรงเรียนตามเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.  สำหรับกลุ่มประถมศึกษาดำเนินการไปแล้ว เหลือแต่ระดับมัธยมศึกษา มีตำแหน่งว่างใหม่เนื่องจากผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต ถูก กทม. เขต ๑ รับย้ายไปสวนกุหลาบวิทยาลัย (สะพานพุทธฯ) และผู้อำนวยการโรงเรียนหอวังปทุมธานี ย้ายไป กทม.เขต ๒ ได้กลั่นกรองกันไปเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม  ๒๕๕๒ รายละเอียดต่าง ๆ ศูนย์ประสานงานการมัธยมศึกษาฯ เป็นเจ้าของเรื่อง  เมื่อเริ่มพิจารณาก็เกิดขลุกขลักในเรื่องเอกสารพอสมควร  ผอ.สพท.ในฐานะเลขานุการ อ.ก.ค.ศ. เขต ต้องรวบรวมเอกสารต่าง ๆ มาเสนอที่ประชุมให้ครบถ้วนเพียงพอในการตัดสินใจ ในที่สุดก็สามารถอนุมัติการย้ายและออกคำสั่งได้ทันในวันนี้  รับย้าย ผอ.สุภาวดี วงษ์สกุล จากโรงเรียนสายปัญญารังสิต สพท.ปทุมธานี เขต ๒ มาดำรงตำแหน่ง ผอ. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต รับย้าย ผอ. ฐิติพันธ์ มณีณัฐนันท์ โรงเรียนบัวปากท่าวิทยา สพท.นครปฐม เขต ๒ มาดำรงตำแหน่ง ผอ. โรงเรียนหอวังปทุมธานี และย้าย ผอ. สาทร สมบุญ โรงเรียนขจรทรัพย์ มาลงโรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” แทน ผอ. อารีวรรณ  เอมโกษา ที่ย้ายไปโรงเรียนสายปัญญารังสิต สพท.ปทุมธานี เขต ๒   บ่ายทำงานแฟ้มเอกสารจนเสร็จสิ้นเพราะไม่อยากจะให้ค้างปี  ได้รับ ส.ค.ส. มากมายที่อวยพรให้เก้าอี้ ผอ.สพท.ปทุมธานี เขต ๑ ที่ผมครองอยู่ มีส่วนตัวไม่มากนักจากลูกน้องเก่า เพื่อนร่วมรุ่น นปส. ๕๓ และเพื่อนชั้นเรียนมัธยมศึกษา แต่มีจดหมายแถมมา ๑ ฉบับ แม้จะใช้คำรุนแรงไปบ้างแต่มีความจริงอยู่มาก เขาพูดถึงประสิทธิภาพในการจัดการงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนของเขตว่าแย่ซ้ำซากผลการแข่งขันระดับภาคเสร็จสิ้นแล้ว ผลการแข่งขันระดับเขตยังประกาศไม่ได้เลย  เร่งรัดเจ้าหน้าที่เขาบอกว่ากรรมการยังไม่ส่ง  ก็สงสัยทำไมส่งไปแข่งที่ลพบุรีได้ แปลกดีเหมือนกัน   ต้องแก้ตัวในงานวันครูอีกทีว่าจัดได้เรียบร้อยหรือไม่  หากไม่ดีขึ้น ผอ.เขตคงต้องของบพิเศษไป สพฐ. เพื่อซื้อปีบสักใบ  ขอให้เรื่องร้าย ๆ แย่ ๆช้า ๆ จมหายลงสายน้ำเจ้าพระยาไปกับปีเก่า มีเรื่องดี ๆ รวดเร็วทั้งหลายได้ลอยน้ำมาแวะขึ้นปทุมธานีเขต ๑ พร้อมกับปี ๒๕๕๓ ด้วยเถิด

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑ 

     อ่าน ตอนที่๑  

หมายเลขบันทึก: 324432เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2010 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
หนูผู้รอความหวัง

ถึงท่าน ..กำจัด คงหนู ค่ะ

สวัสดีปีใหม่อีกครั้งค่ะท่าน ผอ.เขต... ดิฉันได้ติดตามมาอ่านเรื่องเล่าระหว่างวันที่ 28 - 30 ธันวาคม 2552 แล้ว...ได้รับความรู้ใหม่ ๆ จากท่าน....ขอชื่นชมท่าน...และขอขอบพระคุณท่านมากค่ะที่มีเรื่องเล่าดีๆ..แบบนี้มาให้อ่าน....

กราบสวัสดีปีใหม่ค่ะ ภูมิใจที่มีท่านเป็นผู้บังคับบัญชาค่ะ

ขอบพระคุณท่านค่ะที่กรุณาเร่งรัดการประกาศผลการแข่งขันศิลปหัตถกรรมของเขต ทราบผลแล้วก็สบายใจทั้งครูทั้งนักเรียน อย่างน้อยเราก็รู้ระดับความสามารถและพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพต่อไป

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ท่านผอ.เขตให้เกียรติไปเป้นประธานเปิดกีฬา"สังข์อ่ำเกมส์"ครั้งที่ 1 กับโรงเรียนเล็ก ๆ นักเรียน 725 คน ครู 13 คนรวมผู้บริหาร รู้สึกตื่นเต้นมาก พอเห็นหน้าท่าน...หายเหนื่อยเลยและพอได้คุยกับท่านรู้สึก รัก ศรัทธา ในตัวท่านมากยิ่งขึ้น หลังจากแอบชื่นชมท่านมาตลอดเมื่อได้อ่านเรื่องเล่าฯของท่าน หวังว่า...วันหนึ่ง..คงได้สนทนากับท่าน...แล้ววันนั้นก็มาถึง ...ท่านน่ารักมาก เป็นกันเองกับลูกน้องสมคำลำลือ...ต้องกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง...ในความกรุณา...และเมื่ออ่านสมุดเยี่ยมครูทุกคนยิ่งมีความสุข...ท่านจะรู้ไหมคะว่า...เป็นขวัญใจลูกน้องทุกคน...และได้ให้ความสุขกับพวกเรา...เมื่อท่านกลับ...วันนั้นทั้งวัน พวกเราพูดถึงแต่ท่านค่ะ...ท่านสะอึกมั่งไหมคะ...อยากให้ท่านไปเยี่ยมเราอีก...แต่ดูปฏิทินปฏิบัติงานท่านแล้วเหนื่อยแทน...รู้สึกมีความสุขมาก...วันนี้...ขอบพระคุณท่านเป้นอย่างสูงอีกครั้ง...ค่ะ...

ลูกน้องที่ศรัทธาในตัวท่าน

ผอ.คะ หนูเก็บงานของท่านทุกอาทิตย์เข้าไว้ในแฟ้ม เรื่องเล่าเมืองปทุม โดย ผอ.เขต นายกำจัด คงหนู

ใครไปใครมา ก็จะเอามาอวด...โดยเฉพาะ...อวดท่านผู้บริหาร...ให้ท่านอ่าน..ท่านก็ขอบคุณ...ครูคนอื่นก็เอาไปทำตาม...ตอนนี้เรื่องท่านฮอตมากกกกกก.....ชอบท่อนนี้มากกกก...."ขอให้เรื่องร้าย ๆ แย่ ๆช้า ๆ จมหายลงสายน้ำเจ้าพระยาไปกับปีเก่า มีเรื่องดี ๆ รวดเร็วทั้งหลายได้ลอยน้ำมาแวะขึ้นปทุมธานีเขต ๑ พร้อมกับปี ๒๕๕๓ ด้วยเถิด "....ค่ะ...ปีใหม่นี้...ขออำนาจคุณพระคุ้มครองท่านและครอบครัว ประสบแต่ความสุข คิดสิ่งใดสมหวังทุกประการ...อย่าเจ็บ...อย่าจน...เป็นขวัญใจลูกน้องตลอด...ไป...บุญรักษา...พระคุ้มครองค่ะ

รักท่าน...

หลังจาก ที่ถูกปิดตายอยู่ในโลกของการปิดบังข้อมูล และช้ำใจกับผลการประเมิน บ๊วย หรือบู้บี้ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ซึ่งผลความล้มเหลวอันนี้ก็ไม่เคยถูกนำมากล่าวถึงในวงผู้บริหารระดับเขต แม้แต่เจ้าหน้าที่ในเขตก็ถูกปิดหู ปิดตา จากข้อมูลข่าวสารนี้ จะรู้อีกทีก็ได้ยินชาวบ้านเขาพูดกัน หรือที่หนักกว่านั้น เพื่อนเราเขาแซวกันซึ่งๆ หน้าว่า "เมื่อไหร่จะยกรางวัลนี้ให้เขตอื่นเขามั่ง" ฟังแล้วไม่รู้จะเอาหน้าไว้ที่ไหน แต่ต้องจำใจเอาไว้บนบ่าเหมือนเดิมอีกนั่นแหละ

ขอบคุณท่านผู้อำนวยการกำจัด คงหนู เป็นอย่างมากที่ท่านได้เปิดฟ้าเมืองปทุมธานี เขต 1 ให้ได้มองเห็นดาว เห็นตะวัน กับเขาเสียที ข้อเท็จจริงจะได้นำกลับมาคิด หยิบขึ้นมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงกันซะที ไม่ใช่มีแต่ข้อเท็จจริงจริงเหมือนอย่างเคย

อ่านเรื่องของท่านแล้วได้ความรู้มากมาย ตลกดีค่ะ เหมือนพ่อเล่าให้ลูกฟ้งเลย คลายเครียด ได้ห้วเราะด้วย ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท