VeryHistory
VeryHistory เรื่องเล่า ….เล่าเรื่อง | Story

บทความจากสารคดีพิเศษ : หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกจองจำ (บทนำ)


หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกจองจำ
 

เรื่อง : ธนาพล อิ๋วสกุล / ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

ที่มา :  นิตยสาร สารคดี


“ถ้าที่ไหนเผาหนังสือกันได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ต่อไปจะเผาคน”
“Where they have burned books, they will end in burning human beings.”
ไฮน์ริช ไฮเนอ, จากบทละคร Almansor (1821)

จากจิ๋นซีถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์

ผู้ ปกครองทุกยุคสมัยตระหนักดีว่า “กำลังอำนาจนั้นผูกมัดไว้เพียงชั่วคราว แต่ความคิดนั้นดำรงอยู่ชั่วกาล” ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองคนแล้วคนเล่าจะควบคุมความคิด/ความรู้ของผู้คน โดยการห้าม/ทำลายหนังสือ
การเผาหนังสือโดยจักรพรรดิจิ๋นซี
การห้ามหนังสือมีความเป็นมาพร้อม ๆ กับการกำเนิดขึ้นของหนังสือ ดังภาพบันทึกเหตุการณ์เมื่อ ๒,๒๐๐ ปีที่แล้ว ที่จักรพรรดิจิ๋นซีบัญชาให้เผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักรของพระองค์
Index Librorum Prohibitorum
Index Librorum Prohibitorum (Index of Forbidden Books) หนังสือที่รวบรวมรายชื่อหนังสือต้องห้าม ซึ่งเริ่มจัดทำขึ้นเมื่อ ๔๔๗ ปีที่แล้ว โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือและนักเขียนต้องห้ามอยู่ตลอดเวลา ในบรรดานักเขียนต้องห้ามนั้นประกอบด้วยนักคิดคนสำคัญ เช่น กาลิเลโอ, วอลแตร์, คาร์ล มาร์กซ์ เรื่อยมาจนถึง เจมส์ จอยซ์ ฯลฯ
แฮร์รี่ พอตเตอร์
จนถึงปัจจุบันการห้ามหนังสือยังมีอยู่ โดยข้ออ้างสำคัญคือเรื่องความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน แม้กระทั่งหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ถูกห้ามจากโบสถ์คริสต์บางแห่ง เนื่องจากขัดกับหลักศาสนา
“ข้าฯ จ้างเขาเขียนกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เอามาอ่านดูแล้วจึงคิดเห็นว่าคนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก ประการหนึ่งก็ทุนซื้อกฎหมายไว้ด้วย ถ้าตีพิมพ์ขายเห็นจะดี จะได้คืนทุนได้ด้วย”

นายโหมด อมาตยกุล
ผู้จัดพิมพ์ หนังสือกฎหมายไทย ซึ่งก่อคุณูปการสำคัญในการศึกษากฎหมายในสังคมไทย
๑. หนังสือกฎหมายไทย
การ (ลักลอบ) พิมพ์ หนังสือกฎหมายไทย ออกมาเผยแพร่ของนายโหมด อมาตยกุล มีความสำคัญยิ่ง ถึงแม้แรกพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้จะถูก “สั่งริบ” ก็ตาม เพราะเป็นการทำลายทำนบการศึกษากฎหมายที่หวงห้ามไว้เฉพาะชนชั้นนำ

หนังสือกฎหมายไทย ที่นายโหมดจ้างหมอบรัดเลย์พิมพ์ มีเฉพาะเล่ม ๑ เพียง ๒๐๐ เล่มเท่านั้น ปัจจุบันหาต้นฉบับไม่ได้แล้ว แต่ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้นำมาพิมพ์ซ้ำจนรู้จักกันในชื่อ กฎหมายฉบับหมอบรัดเลย์
“เอา กฎหมายบ้านเมืองไปพิมพ์โฆษณาเช่นนั้นจะทำให้พวกมดต่อหมอความทำให้ยุ่งยากแก่ บ้านเมือง. ดำรัสสั่งให้เก็บริบหนังสือกฎหมายที่นายโหมดให้ไปพิมพ์คราวนั้นทั้งต้นฉะบับ เขียนและฉะบับที่หมอบรัดเลพิมพ์”

เหตุการณ์ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่ง “ริบหนังสือกฎหมาย”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน ให้พระยาอนุมานราชธน
ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด
ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ
ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ
ได้สดับเรื่องหมดจดจำมา
ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ
บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา
ค่อนขอดว่ากองทัพเสียยับเยิน

นายทิม สุขยางค์
ผู้เขียน นิราศหนองคาย
๒. นิราศหนองคาย
นิราศหนองคาย เป็นส่วนผสมของข่าวสารคดีและข่าวการเมือง นอกจากเนื้อหาทางการเมืองแล้ว คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ คือการบันทึกสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ และความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งมีคุณค่าพอที่จะได้รับแนะนำเป็น “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน"

นิราศหนองคาย คงเหลือแต่ฉบับที่ถูกตัดทอนแก้ไขโดยกรมศิลปากรในปี ๒๔๙๘ แม้กระนั้นเมื่อมีการพิมพ์ นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา สิทธิ ศรีสยาม หนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้ามอีกครั้งหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
“ให้ เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๕๓
วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีขาล
“หนังสือ เล่มนี้ (เขียน) ขึ้นโดยความหวังว่าเศรษฐวิทยาของข้าพเจ้านี้จะตั้งต้นชักชวนให้ท่านผู้อื่น ที่มีความรู้ดีกว่า ริอ่านแต่งหนังสือและหาเรื่องมาแนะนำสั่งสอนและเพิ่มเติมข้อความบางข้อที่ ข้าพเจ้าละเลยเสียนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปในภายหน้า เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่สยามยิ่งขึ้นเสมอไป”

พระยาสุริยานุวัตร
อดีตเสนาบดีกระทรวงพระมหาสมบัติ ผู้เขียน ทรัพย์ศาสตร์
๓. ทรัพย์ศาสตร์
นอกจากจะเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยามแล้ว ทรัพย์ศาสตร์ ยังให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และเป็นการบันทึกอารมณ์ร่วมของปัญญาชนร่วมสมัยก่อนการปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วย ทรัพย์ศาสตร์ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ได้รับการแนะนำเป็น “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน”
“(ผู้เขียน) ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กัน และแตกความสามัคคีกันเท่านั้น”

“อัศวพาหุ”
นามปากกาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
“ราษฎร ที่เกิดมาย่อมได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยในการดำรงชีวิต...การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเองก็ย่อมเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
มันสมองของคณะราษฎรในการปฏิวัติสยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
๔. สมุดปกเหลือง
สมุดปกเหลือง หรือ เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติ ที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ในการปฏิวัติสยามที่ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ... จะไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกแขวนป้ายว่าเป็นโครงการ “คอมมิวนิสต์” และไม่เคยมีรัฐบาลไหนนำมาใช้อีกเลย
“โครงการ เศรษฐกิจแบบหลวงประดิษฐ์ฯ นี้ ควรเลิกล้มความคิดเสีย เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองดังกล่าวนั้น จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าจนเป็นความหายนะถึงแก่ความพินาศแห่ง ประเทศ และชาติบ้านเมืองอันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
“เปน การจำเปนอยู่ที่บรรดาพวกเราเหล่า ‘ไพร่ฟ้า’ จะต้องสึกสาหาหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้ตามสมควร เพื่อว่าเมื่อพวก ‘ชาวฟ้า’ ท่านออกประกาศหรือบังคับหรือกดหมายใด พวกเราเหล่า ‘ไพร่ฟ้า’ จะมิได้หลับตาพากันจุดธูปเทียนขึ้นบูชาด้วยความหลงงมงายไปว่า ‘โองการ’ หรือการกระทำของพวกนั้นเปนของดีงามทุกเรื่อง”

กุหลาบ สายประดิษฐ์
นักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก
๕. หนังสือพิมพ์ไทยอิสสระ
เมื่ออยู่ในสภาวะสงคราม รัฐบาลได้ออกมาตรการในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น การออกกฎอัยการศึก ประกาศภาวะฉุกเฉิน ออก พ.ร.บ. การพิมพ์ฉบับใหม่ พร้อมกับการควบคุมอย่างเข้มงวด ในยุคนี้ หนังสือพิมพ์ใดที่ต้องการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี ก็ต้องทำเป็นฉบับใต้ดิน ดังเช่นหนังสือพิมพ์ ไทยอิสสระ
“ถ้า เสรีภาพในการเขียนหนังสือพิมพ์ที่ปล่อยนี้ภายหลังเกิดปรากฏว่าอาจเป็นภัยต่อ ชาติอย่างร้ายแรงขึ้นได้แล้ว ข้าพเจ้าจำต้องเสนอลดเสรีภาพลงให้เหมาะแก่กรณีที่จะนำความร่มเย็นมาสู่พี่ น้องทั้งมวลอีก”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
ผู้เสนอให้ออก พ.ร.บ. การพิมพ์ ๒๔๘๔
“หนังสือ เล่มนี้ทำกันมา ๒๐-๓๐ ปีแล้ว ก็มีรูปซ้ำซากอยู่ตลอดมา... จึงได้เกิดความคิดใหม่โดยไปขอถ่ายลายพระหัตถ์ ‘สยามินทร์’ จากกรมศิลปากรมาไว้ที่หน้าปกประกอบกับภาพพระเกี้ยว ซึ่งคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ โดยสมบูรณ์แล้ว ...ส่วนที่ว่าเอียงซ้ายก็เห็นจะเอียงเพียง ๓๐ องศาเท่านั้น”

จิตร ภูมิศักดิ์
สาราณียกรหนังสือ มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ (ฉบับไม่เซ็นเซอร์)
๖. มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖
จิตร ภูมิศักดิ์ สาราณียกรหนังสือมหาวิทยาลัยฯ ได้ปฏิวัติการทำหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่มนี้ โดยการใช้ลายพระหัตถ์ “สยามินทร์” มาแทนพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม หนังสือเล่มนี้ถูกห้ามตั้งแต่อยู่ในโรงพิมพ์ จิตรถูกทำโทษด้วยการโยนบกและพักการเรียน เนื้อหาบางส่วนถูกถอดออก และหน้าปกได้มีการเจาะวงกลมแล้วสอดพระบรมสาทิสลักษณ์ไว้ที่ใบรองปก เพื่อแก้ปัญหาเอียงซ้าย
“มี อยู่ ๔-๕ เรื่องที่ไม่ควรนำมาลงในหนังสือที่มีเกียรติอย่างนั้น มีอย่างหรือคุณเอาเรื่องพุทธศาสนามาวิจารณ์ เอาเรื่องเศรษฐกิจของชาติมาพูด เศรษฐกิจของเราแบบประชาธิปไตยไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ...ผมบอกได้เลาๆ ว่าไม่มีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ อย่างเคย”

ม.ร.ว. สลับ ลดาวัลย์
เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“’ปัจจุบัน’ ได้หยุดนิ่งเสียแล้วสำหรับผม เพราะเราไม่สามารถจะพูดหรือทำในสิ่งที่ปรารถนา คงเหลือแต่ ‘อนาคต’ กับ ‘อดีต’ เท่านั้น การคาดคะเนและใฝ่ฝันของผมอาจกลายเป็นภัยใหญ่หลวงแก่ตนเองได้เสมอ หากมันเกิดไปขัดแย้งเข้ากับการคาดคะเนและใฝ่ฝันของคนบางจำพวกซึ่งครอบครอง เอา ‘ปัจจุบัน’ ของเราไปไว้เสียหมด”

สุวัฒน์ วรดิลก
หนึ่งในนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่ถูกจับกุมในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
แม้ได้รับการปล่อยตัวภายหลัง แต่ก็ต้องเปลี่ยนแนวมาเขียนเรื่องรักโรแมนติกในนามปากกา “รพีพร”
๗. แลไปข้างหน้า
ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งจับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า และลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองแทบทุกด้าน แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ในยุคนี้มีเพียงนวนิยาย แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา เท่านั้นที่เป็นหนังสือต้องห้าม แต่ผลสำเร็จของการห้ามหนังสือคือการสะกดความใฝ่ฝันของคนในสังคมด้วยสิ่งที่ เรียกว่า “การพัฒนา”
“รัฐบาล ได้ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะต่อต้านการกระทำของคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง ด้วยกฎอัยการศึก ด้วยอำนาจปฏิวัติซึ่งยังคงมีอยู่ ด้วยกำลังทุกสถานที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวทุกอย่างของคอมมิวนิสต์ ถ้าจับได้และมีหลักฐานมั่นคง ก็จะลงโทษสถานหนัก”

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี/หัวหน้าคณะปฏิวัติ ผู้สถาปนาอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ
“ใน ยุคนั้นเสรีภาพมันไม่มี หนังสือพิมพ์จึงต้องออกมาในรูปแบบของการเสียดสี เปรียบเปรย ขณะเดียวกันพวกเราก็อึดอัดกับสงครามเวียดนาม เพราะเห็นฐานทัพอเมริกาเต็มไปหมด ๗ สถาบัน เล่มที่ ๒ เราจึงได้ทำเรื่องนี้โดยใช้ชื่อว่า ภัยของสงคราม เราหลีกเลี่ยงไปใช้รูปสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใช้ภาษาที่โรแมนติก แต่หนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้าม เพราะมันสอดคล้องกันหมดเลย โดยเฉพาะเรื่องสงครามเวียดนาม”

พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร
ผู้ก่อตั้งหนังสือ ๗ สถาบัน
๘. ๗ สถาบัน
ในบรรยากาศที่สังคมปกคลุมด้วยความหวาดกลัว มหาวิทยาลัยอยู่ในยุคสายลมแสงแดด นักศึกษากลุ่มอิสระจากหลายมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับค่านิยมของสังคม และภาระหน้าที่ของนักศึกษา พวกเขา/เธอ ได้ใช้หนังสือเป็นสื่อในการแสดงความคิดท้าทายอำนาจเผด็จการ ๗ สถาบัน คือหัวหอกในภารกิจดังกล่าว
“หนังสือ พิมพ์ที่ทำตนเป็นปากเสียงของชนต่างชาติออกเสียงแทน หรือเชิดชูลัทธิที่เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือพยายามยุแยกให้แตกสามัคคีในชาติโดยทางตรง ทางอ้อม หรือด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องประสบการปราบปรามอย่างเด็ดขาด”

จอมพล ถนอม กิตติขจร
ผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยาวนานกว่า ๑๐ ปี
“กรณี สวรรคตเป็นเรื่องทางการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำลาย อ. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธ์ ได้ชี้ว่าปืน หัวกระสุน ปลอกกระสุน รวมทั้งลูกปรายที่อยู่ในหมอน เป็นของชุดเดียวกัน และในวันนั้นก็ไม่มีผู้ร้ายเข้ามาในห้องบรรทม

“หนังสือของ เรย์น ครูเกอร์ เขียนออกมาในปี ๒๕๐๗ โดยไม่ได้พบ อ. ปรีดี พนมยงค์ เพราะตอนนั้นท่านอยู่เมืองจีน อ. ปรีดีบอกผมเองว่าอย่าเพิ่งอ้าง เพราะผู้เขียนกำลังแก้ไขอยู่ แต่หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการที่ชี้ให้เห็นว่า นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ถูกประหารชีวิต รวมทั้ง เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช อ. ปรีดี เป็นผู้บริสุทธิ์ และยังชี้ว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่เกิดขึ้น เหตุผลที่ห้ามหนังสือเล่มนี้คือคนที่ต้องการให้ อ. ปรีดี เสียหาย”


สุพจน์ ด่านตระกูล
ผู้เขียนหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต
๙. กงจักรปีศาจ
กงจักรปีศาจ โดย เรย์น ครูเกอร์ หนังสือที่ว่าด้วย “กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙“ ซึ่งถูกห้ามตั้งแต่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี ๒๕๐๗ ในชื่อ The Devil’s Discus ต่อมามีการแปลและโรเนียวแจกในแวดวงผู้สนใจ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่เสรีภาพเบ่งบาน มีความคิดที่จะพิมพ์ขายอย่างเปิดเผย แต่ต่อมาความคิดนี้ก็ต้องล้มเลิกไป กงจักรปีศาจ จึงเป็นหนังสือใต้ดินที่ต้องลักลอบขาย หลัง ๖ ตุลา ๑๙ หนังสือเล่มนี้ก็ถูกประกาศเป็นหนังสือต้องห้าม
“ใคร พูดว่านายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต ทำไมถึงร้อนตัวกันนัก ดิฉันและนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร เพียงแต่ตั้งคำถามว่า ในฐานะท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทำไมไม่รับผิดชอบด้วยการทำความจริงให้ ปรากฏ ทั้ง ๆ ที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ชัดว่าไม่ได้เป็นการปลงพระชนม์เองตาม แถลงการณ์ของรัฐบาล

“หนังสือ กงจักรปีศาจ นั้นต้องถามว่าผู้เขียนเป็นใคร มาจากไหน เขาเป็นผีใต้เตียงหรือถึงได้รู้ดีขนาดนั้น หรือว่าเป็น โกสต์ ไรเตอร์ เขียนอะไรตามที่คนอื่นต้องการให้เขียน แล้วคุณรับได้ไหมกับการเขียนโกหกโดยไม่สนใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และคนอื่นเขามาโต้แย้งไม่ได้ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่รับไม่ได้”


วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
ผู้เขียนหนังสือ กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ร่วมกับนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร
“ทำไม ถึงห้าม ? ผมคิดว่ามาจากชื่อหนังสือ เพราะเขามีสมมุติฐานว่าหนังสือที่มีชื่อ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ์ หรือว่ามวลชน เป็นหนังสือที่ถูกบงการโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาเลยเข้าใจว่าผมถูกบงการด้วย

“มันก็เหมือนกับการได้รับรางวัลโนเบลทางการเมือง (หัวเราะ) เนื้อหาหนังสือมันไม่มีอะไรเลย ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าให้ไปปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ผมคิดว่าบรรดาข้อศึกษาเกี่ยวกับความยากจนในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษี ก็เป็นข้อเสนออย่างเดียวกับผม”


รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ผู้เขียน กลยุทธในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย ๑ ใน ๒๑๙ หนังสือต้องห้ามหลัง ๖ ตุลา
๑๐. ๖ ตุลา ๑๙
ภาพกองหนังสือนับหมื่นเล่มที่รอการทำลาย หลังจากมีคำสั่งจากคณะรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ให้ริบและทำลายหนังสือซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าทำให้ผู้อ่านเลื่อมใสในลัทธิ คอมมิวนิสม์ แต่นั่นก็ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหนังสืออีกหลายแสนเล่มที่ประชาชนต้อง ทำลายกันเอง อันเนื่องมาจากความหวาดกลัวอำนาจเผด็จการในยุคนั้น

อนึ่ง รัฐบาลหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้ออกประกาศ ๔ ฉบับ ห้ามหนังสือรวม ๒๑๙ เล่ม หลายเล่มในนั้นต่อมาได้รับการแนะนำให้เป็นหนังสือดีที่คนไทยควรจะได้อ่าน
“เป็น เอกสารและสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิดซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันจะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ”

สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙
ผู้ลงนามในคำสั่งห้ามหนังสือ
“เป็น ความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ สังคมไทยไม่ได้สู้กันเรื่องวิชาการ ไม่ได้เถียงกันเรื่องความรู้ แต่เราสู้กันด้วยความเชื่อ ด้วยการปลุกระดมคน คนที่ประท้วงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อ่านหนังสือ ข้อสรุปสำหรับดิฉันคือ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เรื่องของท้าวสุรนารียังคงถูกใช้ในทางการเมืองเสมอ”

สายพิน แก้วงามประเสริฐ
ผู้เขียนหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
๑๑. การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
เพียงคำถามว่า วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ? ที่อยู่บนปกหลังหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้ก่อให้เกิดการปลุกกระแสให้เกลียดชังผู้เขียน ถึงขั้นข่มขู่เอาชีวิต ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดขนบบางอย่างในการทำงานวิชาการว่า เรื่องบางอย่าง ไม่เชื่อก็อย่าตั้งคำถาม
“เขียน ได้อย่างไรว่าย่าโมไม่มีตัวตน อนุสาวรีย์สร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในยุคนั้น ใครมาโคราชก็ต้องกราบไหว้ ในหลวงมาปี ๒๕๒๔ ท่านก็ยังมาเคารพเลย ...ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะผม แต่ชาวโคราชทั้งหมดถ้าผิดไปจากที่เราเคารพเราถือว่าเป็นการดูหมิ่น การจะทำหนังสือหรือเขียนวิทยานิพนธ์ก็ต้องรู้ว่าจะไปดูหมิ่นคนอื่นไม่ได้”

รักเกียรติ ศุภรัตน์พงศ์
บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เทิดไท ผู้นำในการต่อต้านหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี





Free TextEditor

หมายเลขบันทึก: 324132เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2009 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจครับเป็นประเด็นมากแต่ก็ควรจะอยู่ในวงวิชาการเพราะคนปัจจุบันเชื่อโดยไม่คิดมีอยู่มาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท