มนตราที่มาทางอีเมล์ส่งต่อแล้วเราจะโชคดีมีสุขจริงหรือ?


"ผมไม่เชื่อว่ามนตรานี้จะมีผลอะไรกับผมไม่ว่าจะภายใน 96 ชั่วโมงหรือกี่ชั่วโมง หรือจะเป็นเหตุให้ชีวิตผมดีขึ้น"

มีอีเมล์ลูกโซ่ประเภทหนึ่งที่ผมได้รับอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะช่วงใกล้ๆ ปีใหม่ มีไฟล์แนบมาเป็นคำอวยพรบ้าง คำกลอนสอนใจบ้าง เป็นรูปเจ้าพ่อ-เจ้าแม่บ้าง ต่างๆ นานาสำหรับให้บูชา พร้อมกับกำชับว่า ถ้าส่งต่อไปให้คนรู้จักเท่านั้นเท่านี้คนภายในเท่านี้วัน จะโชคดีมีสุขตามจำนวนคนและจำนวนวันที่รีบส่งเลย

เมื่อเร็วนี้ มีมาฉบับหนึ่ง จั่วหัวข้อว่าเป็นสาส์นจากท่าน Dalai Lama ที่ได้กล่าวไว้สำหรับปี 2009 นี้ ด้วยเหตุที่ผู้ส่งอ้างว่าเป็น "สาส์น" ท่านทะไล ลามะ ที่เป็นพระผู้ใหญ่ร่วมสมัยรูปหนึ่งที่คนนับถือทั่วโลก ทำให้ผมอดเปิดดูไม่ได้

ปกติผมจะรีบลบเมล์ประเภทนี้ทิ้งโดยไม่อ่าน เช่นเดียวกับจดหมายที่ส่งโดยไปรษณีย์ธรรมดามาถึงบ้านและที่ทำงานจำนวนมากที่ผมโยนลงถังขยะโดยไม่เปิดอ่าน โดยเฉพาะโฆษณาสินค้า

ผู้ส่งมาบอกว่า "โปรดอย่าเก็บคำสอนนี้ไว้คนเดียว มิเช่นนั้นมนตราที่ส่งมานี้จะจากคุณไปภายใน 96 ชั่วโมง แล้ว…คุณจะได้พบกับสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ที่คุณจะยินดีมาก" 

"โปรดส่งมนตรา นี้ต่อๆไป อย่างน้อย 5 คน แล้วชีวิตของคุณจะดีขึ้นตามลำดับ ดังนี้
0-4 คน: ชีวิตของคุณจะดีขึ้นเล็กน้อย 5-9 คน: ชีวิตของคุณจะเป็นไปตามที่คุณต้องการให้เป็น 10-14 คน: คุณจะพบสิ่งที่ทำให้คุณประหลาดใจอย่างน้อย 5 อย่างในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า 15 คนขึ้นไป: ชีวิตคุณจะดีขึ้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือและทุกสิ่งที่คุณฝันไว้จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา"  

มนตราที่อ้างว่าเป็นของท่านทะไลลามะบางข้อผมก็เห็นด้วยว่าน่าจะเป็นของท่านจริง เช่น เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น รับผิดชอบต่อการกระทำของตน แต่ก็มีหลายข้อที่ผมอ่านแล้วรู้สึกแปลกๆ ไม่แน่ใจว่าคนส่งอีเมล์คิดเอาเองแล้วอ้างท่านหรือเปล่า เช่น จงเรียนรู้กฎเพื่อจะทราบวิธีการฝ่าฝืนอย่างเหมาะสม,  จงหาโอกาสท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยไป อย่างน้อยก็ปีละครั้ง,  ระลึกเสมอว่าการจะได้พบความรักและความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ก็ต้องประสบกับความเสี่ยงอันมหาศาลดุจกัน,  เมื่อคุณแพ้อย่าลืมเก็บไว้เป็นบทเรียน,   จงจำไว้ว่าการที่ไม่ทำตามใจปรารถนาของตนบางครั้งก็ให้โชคอย่างน่ามหัศจรรย์ ฯลฯ

ที่ผมไม่แน่ใจก็เพราะว่า การคัดเอาคำพูด(หากเป็นของท่านทะไลลามะจริงทั้งหมด)ออกมาเป็นตอนๆ โดยไม่มีบริบทติดมาด้วย อาจทำให้เข้าใจผิดได้

ผมอ่านอีเมล์นี้แล้วก็ไม่คิดจะส่งต่อให้ใครต่อ แต่ทำตรงข้ามคือตอบกลับถึงทุกคนที่ได้รับอีเมล์นี้แบบ Reply all ว่า ผมขออภัยด้วยครับที่ไม่ได้ส่งมนตรานี้ต่อตามที่ข้อความนี้บอก เพราะ...

         ๑. ผมไม่เชื่อว่ามนตรานี้จะมีผลอะไรกับผมไม่ว่าจะภายใน 96 ชั่วโมงหรือกี่ชั่วโมง หรือจะเป็นเหตุให้ชีวิตผมดีขึ้นตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับประหลาดใจ ผมเชื่อว่าใครอยากได้ผลอะไรก็ทำเหตุให้ดี ดังที่พระพุทธเจ้าสอนเราว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำกรรมใดก็ได้รับผลแห่งกรรมนั้น ปลูกมะม่วงก็ได้ผลเป็นมะม่วง ไม่ได้แอ็ปเปิ้ลแน่นอน ไม่ขึ้นกับการส่งต่อหรือไม่ส่งต่ออีเมล์นี้  สรุปคือ ผมเชื่อมโยงเรื่องการส่งต่ออีเมล์กับการทำให้ความฝันในใจผมเป็นจริงขึ้นมาไม่ได้เลยแม้แต่น้อยครับ  

          ๒. ผมไม่ค่อยเชื่อจริงๆ ว่ามนตรานี้เป็นของทะไลลามะจริง ผมอ่านข้อแรกก็รู้สึกแปลกๆ ขี้นมาทันที เพราะไม่เคยพบคำสอนของศาสนาพุทธเรื่อง "ความเสี่ยง" "การแข่งขัน" หรืออะไรทำนองนั้น  อาจารย์สอนผมว่า หากผมยังวนเวียนอยู่กับการแข่งขัน เอาแพ้เอาชนะ เป็นเลิศ เป็นที่หนึ่ง ผมจะสงบลงได้อย่างไร  ผมอาจจะเคยชินกับคำสอนของฝ่ายเถรวาท แต่ก็เชื่อว่าฝ่ายมหายาน หรือวัชรยานก็ไม่ต่างกัน แนวคิดเรื่องความเสี่ยงที่กล่าวอ้างนี้เข้าทางทุนนิยมแข่งขันมาก

ตามความเข้าใจผม ศาสนาพุทธไม่สอนให้เราแข่งขันกับใคร แม้แต่กับตนเอง ให้หยุดแข่งขัน แล้วปล่อยวางต่างหาก ใครหยุดได้ชีวิตก็จะเบา เป็นอิสระ และสร้างสรรค์อย่างไม่สิ้นสุด จึงไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ การคิดเรื่องแพ้ชนะกระตุ้นให้เราบ้างานบ้าการหนักขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อภาพลักษณ์ เพื่อความเป็นเลิศ เป็นที่หนึ่ง to be number one แล้วก็ไล่ล่าความสำเร็จอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ จนหลายคนเหนื่อยหมดแรงเกือบตาย ครั้งแล้วครั้งเล่า หายเหนื่อยก็เอาอีก เวรกรรมจริงๆ 

ยิ่งข้อที่สอนว่า "จงเรียนรู้กฏเพื่อหาวิธีการฝ่าฝืนอย่างเหมาะสม" ข้อนี้ภาษานักกฏหมายเรียกว่าการหา “ช่องหมาลอด” ซึ่งนักกฏหมายทั้งหลายก็รู้ว่า ยากที่จะเขียนกฏหมายโดยไม่มีช่องโหว่เลย ใช้ไประยะหนึ่งแล้วจึงค่อยเห็นช่องโหว่ แต่นักกฏหมายผู้ถือ "ธรรม" ในหัวใจก็คงไม่ชอบให้ใครไปลอดช่องโหว่นั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เชื่อว่าคำสอนบางข้อมาจากท่านทะไลลามะจริง  ผมมีหนังสือของท่านหลายเล่มที่บ้าน เช่นเล่มที่ท่านสอนเรื่องอริยสัจจ์สี่ที่เป็นความจริงสากล ไม่ใช่คำสอนที่เป็นไปเพื่อเสริมอัตตาเช่นนี้ ถ้าผู้คัดลอกมาจะกรุณาอ้างอิงที่มาว่า ท่านพูดที่ไหน กับใคร เมื่อไร ในบริบทไหน หรือเป็นพระนิพนธ์ของท่านเล่มไหน ก็จะดีมาก

แล้วผมก็ปิดท้ายจดหมายด้วยการขออภัยอีกครั้ง หากการ reply ของผมอันนี้จะเป็นที่สะดุดสำหรับผู้ส่ง การที่ท่านจะส่งต่อหรือไม่ ก็ไม่ใช่ความผิดอะไร แต่หากส่งความนี้ของผมแนบไปด้วยก็อาจมีผลานิสงส์แก่ผู้ใฝ่ใจในธรรม

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๖ ธ.ค.๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 323242เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีค่ะ
  • ไม่เคยส่งต่อค่ะ แต่ในใจออกแนวกลัวจะเป็นตามคำเขาบอกเหมือนกันนะคะ
  • สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ

สวัสดีปีใหม่เช่นกันครับ

ขอให้ คุณ P pa_daeng และ P คุณระพี มีสุข สิ้นทุกข์ อายุมั่นขวัญยืน มีวรรณผ่องใส พร้อมพลังกายพลังใจ

พวกe-mail ลูกโซ๋ อ่านผ่านๆ แล้วก็ลบเลยค่ะไม่คิดส่งต่อให้คนอื่นที่ได้รับต้องมาว่าเราทีหลังว่าส่งอะไรมาให้ค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ

เห็นด้วย อย่างยิ่ง ครับ อาจารย์

กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดด ถูกใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท