ได้ชาวพิจิตรเป็นเพื่อนร่วมทาง


ทุกคนมีความตั้งใจร่วมกันในความต้องการพัฒนางานบริการผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมอ้อได้รับการติดต่อจาก สสจ พิจิตรมาว่าอยากให้ไปสอนเรื่องการตรวจเท้าให้กับเพื่อนๆที่พิจิตรหน่อย แรกๆรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกันที่จะได้เครือข่ายพร้อมทั้งมีเพื่อนร่วมอุดมการเพิ่มมากขึ้น  แต่แล้วก็มากังวลใจพอควรเพราะผู้ประสานงานบอกว่าต้องการให้เกิดการบริการตรวจเท้าให้ผู้ป่วยเบาหวานทั้งจังหวัดพิจิตร  ต้องมานั่งคุยกับทีมว่ามีใครว่างไปช่วยเพื่อนของเราบ้าง  และพร้อมทั้งวางแผนการดำเนินการเพื่อไปเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆชาวพิจิตรด้วย  ด้วยพอจะทราบมาว่าพิจิตรก็มีหลายที่แล้วเหมือนกันที่ให้บริการตรวจเท้าผู้ป่วยเบาหวานแล้ว และทำได้เป็นอย่างดีด้วย เช่น โรงพยาบาลตะพานหินซึ่งได้คิดนวัตกรรมเรื่อง Monofilament เป็นต้น เราจึงตกลงร่วมกันว่าเราจะไปเล่าระบบที่เราทำงานกันอยู่นี่ล่ะให้ฟัง คิดว่าน่าจะประสบการณ์ที่ชาวพิจิตรเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้บ้าง

หลังจากประชุมทีมกันเพื่อตกลงเรื่องกระบวนการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือการหาวันว่างที่ตรงกันของทีมงานเราด้วย พร้อมทั้งประสานความพร้อมกับทีมของพิจิตรด้วย ได้วันว่างตรงกันคือวันที่ 14 กันยายน 2552 รู้สึกว่าจะช้าไปหน่อย  จริงๆแล้วอยากไปให้เร็วกว่านั้นแต่ในช่วงนี้ทีมงานแต่ละท่านมีงานล้นมือกันมาก 

วันที่ 14 กันยายน 2552 ทีมงานของเราทั้งหมด 6 ชีวิต (รวมทั้งโชเฟอร์สุดหล่อของเราชื่อว่า พี่นิด)ออกเดินทางสู่จังหวัดพิจิตรตั้งแต่ 7.00 น มันเช้ามากเลยนะสำหรับตัวอ้อเอง เพราะปกติเวลานี้ยังไม่ตื่นเลย กว่าจะถึงที่อบรมซึ่งเป็นรีสอร์ทที่อยู่นอกตัวเมืองออกไป แต่จำชื่อไม่ได้ขอโทษด้วยนะคะ (ความจำสั้นค่ะ)ก็เกือบๆ 9 โมงเช้าแล้ว มีเพื่อนๆมารออยู่แล้วมากกว่าครึ่งแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลาเราก็เริ่มกระบวนการเลย

                  

เริ่มด้วยอ้อกล่าวทักทายเพื่อนๆ ให้ทีมพิจิตรเล่าถึงระบบงานเบาหวานที่ดำเนินอยู่ที่พิจิตร และถามถึงความคาดหวังที่มาในวันนี้

       1.ต้องการเรียนรู้เรื่องการตรวจเท้า

       2.อยากฟังระบบการให้บริการเบาหวานของโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

       3.อยากมาเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องที่วิทยากรนำมา

       4.อยากได้ตัวอย่างดีๆ กลับไปปรับใช้ในงานที่ทำอยู่

เมื่อทราบถึงความคาดหวังของเพื่อนๆ แล้ว  อ้อค่อยคลายความกังวลลงเล็กน้อยเพราะเตรียมมาค่อนข้างตรง แหมเกร็งข้อสอบถูกเหมือนกันนะเนี่ย อ้อเลยเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงระบบการบริการเบาหวานแบบบูรณการของพุทธชินราชเพื่อเป็นพื้นฐานที่จะเล่าต่อถึงการให้บริการในเรื่องการป้องก้น และดูแลภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

                       

อ้อเล่าถึงทฤษฎีการเกิดภาวะแทรกซ้อน(ตามความรู้ที่มีอยู่อันน้อยนิด) และการดูแลสุขภาพเท้าเบื้องต้น แล้วต่อด้วยคุณหนู(ทับทิม)เล่าเรื่องการตรวจประเมินหลอดเลือดส่วยปลาย และประสาทสัมผัสส่วนปลาย  ถึงตอนนี้ใกล้เที่ยงพอดีแต่ดูสายตาเพื่อนแล้วมองเห็นความสนใจยังเต็มร้อย  แสดงถึงทุกคนมีความตั้งใจร่วมกันในความต้องการพัฒนางานบริการผู้ป่วยเบาหวาน แต่ถึงเวลาพักกินข้าวแล้วก็พักซะหน่อยก็แล้วกัน

บ่ายโมงตรงเราก็เริ่มกระบวนการต่อไป โดยอ้อแนะนำเรื่องการนวดเท้าประจำวันของผู้ป่วย พร้อมทั้งให้เพื่อนทุกคนได้ทดลองปฏิบัติกับตนเองก่อน คราวนี้เริ่มมีทั้งเสียงโอดครวญว่า ทำไมไม่บอกก่อนจะได้ไปล้างเท้า บ้างก็ว่าเหม็นเท้าเพื่อน(ยอกล้อสนุกสนาน)แต่ก็มีเสียงหัวเราะตลอดเวลา ซึ่งอ้อให้เหตุผลที่ไม่บอกล่วงหน้าว่า อ้ออยากให้ผู้ให้บริการทุกคนทราบถึงความรู้สึกของผู้ป่วยเมื่อเขาต้องเอาเท้ามาให้เราดู เมื่อนวดเท้าเสร็จแล้วก็ต่อด้วยการบริหารเท้า ซึ่งเป็นท่าที่ได้เรียนรู้มาจาก อ.นพ.เชิดพงษ์ เมื่อครั้งไปร่วมงาน HA Forum ครั้งที่ 8 ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยนะค่ะ

                     

 

หลังจากนั้นเราก็แบ่งเป็น 4 ฐานเพื่อฝึกปฏิบัติการตรวจเท้า และการดูแลภาวะแทรกซ้อนที่เท้า โดยฐานที่ 1,2 ฝึกเรื่องการตรวจหาค่า ABI และการใช้ Monofilament โดยมี น้องภู่(ปฏิพิมพ์),น้องเจี๊ยบ(ยุคลธร),น้องอุ๋ย(ปิลันธนา) เป็นวิทยากรประจำ 2 ฐานนี้ ส่วนฐานที่3,4 ฝึกการขูดหนังหนาตาปลา การตัดเล็บและการทำแผลเบาหวาน ซึ่งมีคุณหนูและอ้อเป็นวิทยากรประจำฐาน บรรยากาศในการฝึกมีทั้งความสนุกสนาน และความหวาดเสียวเมื่อมีมีดอยู่ในมือของเพื่อนๆ จบในการฝึกเมื่อเวลาประมาณบ่ายสองกว่า

       

                                  

                      

ต่อด้วยการตอบข้อสงสัยในช่วงท้าย  แต่เพื่อนๆร้องขออยากฟังเรื่องอาหารเบาหวานด้วย  อ้อเลยขอเล่าเรื่องการลดน้ำหนักของตนเองอย่างได้ผล  โดยการกินอาหารเหมือนคนไข้เบาหวานให้ฟังแทนหลังพุดคุยจบก็มีการซักถามกันมากพอควร

เสียงตอบรับ

       1.ดีใจที่ได้มาฟังในวันนี้

       2.จะนำสิ่งที่ได้ฟังในวันนี้ไปปรับใช้ในการพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

       3.มั่นใจในการตรวจเท้ามากยิ่งขึ้น คิดว่าจะกลับไปทำ

       4.ไม่เคยไปอบรมที่ไหนแล้วต้องมานั่งนวดเท้าตัวเอง

       5.อายเท้าตัวเองเหมือนกันนะ

       6.ดูแล้วไม่ยากเท่าที่คิด

       7.ชอบการอบรมแบบนี้มาก ไม่ง่วงนอน

แล้วเราก็จบการแลกเปลี่ยนกันด้วยความสุขทั้งฝ่ายผู้ให้ และผู้รับ อ้อก็หวังว่าสิ่งที่เรานำไปพูดคุยนั้น คงจะสร้างประโยชน์และเป็นเชื้อไฟเล็กๆ ให้กับเพื่อนๆ ชาวพิจิตรนะค่ะ ถึงเวลานี้พิจิตรคงจะมีระบบการให้บริการเบาหวานที่มีคุณภาพที่ล้ำหน้าพุทธชินราชไปแล้วก็ได้ อ้อและทีมจากพุทธชินราชขอเป็นกำลังใจให้นะค่ะ

                                                            อ้อ(เปรมสุรีณ์).....ผู้บันทึก

หมายเลขบันทึก: 322511เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีใจมากเลยนะอ้อ ที่ได้อ่านบันทึกอันมีชีวิตชีวาระหว่างการเดินทางของน้องๆรวมทั้งได้เห็นภาพการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆชาวพิจิตรได้อย่างสนุกสนาน เดี๋ยวเราลองมาแกะรอยตามไปดูเพื่อนๆเรากันมั่งดีมั้ย...ว่ารุดหน้าไปถึงไหนละมีแต่เขามาดูเรา..เราไม่ได้ไปดูใครเล้ยย...แบบอาศัยไปแอ่วด้วยน่ะ... 555...

วิธีการที่อ้อใช้ดีมากเลยนะ

เสียดายที่อ้อไม่ได้ไปประชุม retreat กับพวกเรา คิดถึงมากเลย ดูแลสุขภาพดีๆ นะ ยังต้องทำงานด้วยกันอีกนาน

อ้อ ถ่ายทอดประสบการณ์เป็นเรื่องเล่าได้ดีนะ ได้ความรู้สึก เนื้อหาใจความ น่าอ่านเขียนบ่อยๆนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท