ชื่นชมคณาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มช. ลุกขึ้นมาโต้แย้ง (๖) มุมมองต่อ TQF (๓)


ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓


ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๕

 

ข้อจำกัดที่กำลังเกิดขึ้นจากกรอบ TQF ของประเทศไทย (๒)


3. ข้อจำกัดเรื่อง การกำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ (Domain of learning outcome)

          TQF กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้เอาไว้ 5 ด้าน คือ 1) คุณธรรมจริยธรรม 2) ความรู้ 3 ทักษะทางปัญญา 4) ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ 5) ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 1

  
          แม้ว่า TQF จะนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยในการกำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ แต่ก็พบว่าแตกต่างไปจากต่างประเทศอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการกำหนดให้มีลักษณะยืดหยุ่นมากพอในการทำให้เกิดการนำไปปรับใช้ ดังเช่น จากตัวอย่างในต่างประเทศ อย่าง ยุโรป และออสเตรเลีย มาตรฐานผลการเรียนรู้ตามแนวคิดของ National Qualification Framework มักกำหนดในลักษณะเป็น “แนวทาง” (guidelines) ผลการเรียนรู้เอาไว้อย่างยืดหยุ่น เช่น knowledge, skill, competence ในกรณีของยุโรป และเน้นระดับของผลการเรียนรู้ที่แตกต่างตามระดับคุณวุฒิ อาทิ ในระดับคุณวุฒิที่สูง ความรู้/ความสามารถในการแสดงความรู้จะมีลักษณะเฉพาะทางมากขึ้น เป็นต้น  

          แต่ปรากฎว่า domain ของผลการเรียนรู้ตามกรอบ TQF กลับนำเอาความเฉพาะเจาะจงของบางศาสตร์สาขา เช่น การวิเคราะห์เชิงตัวเลขและสารสนเทศ และระบบคุณค่าที่มีความเป็นนามธรรมและสัมพัทธนิยมสูง (คุณธรรม จริยธรรม) มาเป็นหลักสากลที่บังคับใช้กับทุกศาสตร์สาขา ความลักลั่นของมาตรฐานผลการเรียนรู้ดังกล่าวกำลังกลายเป็นปัญหาไม่เพียงต่อการเรียนการสอนในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์เท่านั้น แต่ต่อศาสตร์ในสายวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน 

          ยกตัวอย่างเช่น ด้านคุณธรรมจริยธรรม สายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตศิลป์ มีการเรียนการสอนที่เป็นแก่นแกนของสาขาวิชาและมีการสอนที่เน้นย้ำเรื่องนี้ในเกือบทุกกระบวนวิชาอยู่แล้ว ไม่ว่า ในประเด็นความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรมในสังคม ตลอดจนประเด็นสิทธิของผู้ด้อยโอกาส และประเด็นปัญหาทางสังคมด้านอื่นๆ ขณะที่ในสายวิทยาศาสตร์จะเน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวอย่างไร หนำซ้ำ ในบางกรณีอาจมีการตีความและนำไปใช้อย่างผิดที่ผิดทาง เช่น ตัวอย่างของอาจารย์จากวิศวกรรมศาสตร์ พยายามเชื่อมโยงเรื่องของ ปัจจัยหลักกับปัจจัยรองในการอธิบายเรื่องอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น อาจารย์ได้นำไปเปรียบเทียบกับเรื่องสังคม “กิ๊ก” ในปัจจุบันที่เปรียบเปรยว่าเสมือนปัจจัยรองที่ทำให้อุณหูภูมิโลกสูงขึ้น กรณีเช่นนี้ นอกจากจะเป็นแรงกดดันให้อาจารย์ต้องพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่จะต้องสอนควบคู่ไปกับการถูกบังคับให้ต้องสอนตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมแล้ว การเชื่อมโยงดังกล่าวยังนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องที่อาจารย์อธิบายอย่างสับสนอีกด้วย

          ส่วนทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น วิชาการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตศิลป์ ไม่ได้เน้นการฝึกฝนวิชาชีพทางเทคนิค แต่สอนให้คนมีความรู้ทางปัญญา มีสติและคิดเป็นโดยอาจไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญต่อการใช้การวิเคราะห์เชิงตัวเลข ซึ่งในบางกรณี ศาสตร์สาขานี้ก็มีการใช้เครื่องมือในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้ในการจัดการกับข้อมูลอันหลากหลาย แต่ทักษะเหล่านี้ควรจะเป็น “ส่วนเสริม” ที่อยู่ในบางกระบวนวิชาของบางสาขาวิชาเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่า การกำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ของ TQF เช่นนี้กลับสร้างกฎตายตัวและกลายเป็น “ข้อผูกมัด” ให้ทุกสาขาวิชาจำต้องพัฒนาทักษะด้านนี้โดยตรง 

          ในแง่นี้เอง ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ จึงขอเสนอมาตรฐานผลการเรียนรู้ของสายตนเอง กล่าวคือ เมื่อปรัชญาการเรียนการสอนของสายนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “การสร้างสติปัญญา” ให้แก่บัณฑิต และมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเป็น “พลเมืองของสังคม” (Civic competence) มาตรฐานผลการเรียนรู้ (learning outcome) ของสายนี้จึงวางเอาไว้ 3 ด้านคือ 1. ความรู้ (Knowledge) 2. ทักษะ (Skill) 3. ทัศนคติทางสังคม (attitude)

          1. ความรู้ (knowledge) ปรัชญาการสอนทางด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ที่เน้นให้คนคิด เรียนรู้ แตกฉาน เป็นการสร้างสติปัญญาให้แก่ผู้คนเพื่อนำไปรับใช้สังคมนั้น มิได้แยกความรู้ออกเป็นส่วนๆ จนกลายเป็นสาขาวิชาที่แยกส่วนออกจากกัน หากแต่เป็นความรู้ 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง บัณฑิตมีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาการเรียนที่ตนสังกัด แต่ความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้นก็มิได้เพียงพอต่อการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในเชิงบริบทสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาความรู้ในลักษณะที่ สอง คือ ความรู้ในลักษณะสหสาขาวิชา (Interdisciplinary knowledge) ที่บัณฑิตพึงจะมีความรู้พื้นฐานอันหลากหลายทั้งหลักปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภาษา ศิลปศาสตร์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อนำเอาความรู้พื้นฐานดังกล่าวมาเชื่อมโยงทางความคิด และสามารถยกระดับทำความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาทางสังคมที่ตนศึกษา ตลอดจนสามารถประยุกต์เชิงบูรณการเพื่อการนำไปใช้ในอนาคต

          2. ทักษะ (Skill) หมายถึง ด้านแรก ทักษะการค้นคว้าข้อมูล (Acquiring information) และการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและ/หรือคุณภาพ บัณฑิตมีความสามารถในการค้นคว้าหาข้อมูลความรู้จากแหล่งข้อมูลอันหลากหลาย ทั้งเอกสารตำราทางทฤษฎี งานวิจัย คำศัพท์ทางสังคมศาสตร์ ตลอดจนข่าวสารข้อมูลในทุกรูปแบบสื่อการศึกษา และที่สำคัญ นักศึกษามีทักษะความสามารถในการจัดการกับข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาเพื่อเชื่อมโยงกับประเด็นที่ศึกษา มีความสามารถในการใช้เครื่องมือในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศในการในการจัดการกับข้อมูลอันหลากหลาย สามารถสังเคราะห์ผลของข้อมูล และแก้ไขโจทย์ปัญหาอย่างมีศักยภาพ ด้านที่สอง ทักษะในการพัฒนาความคิด ข้อถกเถียง และนำเสนอความคิดใหม่ๆ (Developing ideas and arguments, and presenting new thought) การพัฒนาความคิดในเชิงวิเคราะห์ เชิงปฏิบัติ และเชิงสร้างสรรค์ ในการแก้ไขโจทย์ปัญหาหรือสร้างสรรค์งานทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปวิทยาการได้อย่างชำนาญ สามารถคิดและวิเคราะห์โจทย์ปัญหาในสาขาวิชาการที่ได้ศึกษาในระดับนามธรรมและระดับปฏิบัติ   มีความแตกฉานทั้งในการพูด ฟัง อ่าน เขียน หรือแสดงออกทางด้านวิทยาการและศิลปะในรูปแบบอื่นๆ มีความสามารถในการถ่ายทอดวิทยาการนั้นๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการคิดและปรับประยุกต์ใช้ศาสตร์ในสาขานั้นๆ และ ด้านที่สาม ทักษะการมีส่วนร่วมทำงานกลุ่ม (participating in groups) ทักษะในการมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ มีความรับผิดชอบร่วมกันและมีส่วนร่วมในการพูดคุย แบ่งปันและแสวงหาความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน

          3. ทัศนคติทางสังคม (attitude) หมายถึง บัณฑิตมีทัศนคติที่ดีและทำคุณประโยชน์ต่อสังคม สาธารณชน (Common good) ในแง่นี้ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ให้ความสนใจต่อความเป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก มีความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์และสังคม ตระหนักและมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ยอมรับและเคารพสิทธิของคนอื่น ซึ่งในที่นี้ หมายรวมถึง ทัศนคติที่มีต่อประเด็นปัญหาทางสังคม ไม่ว่า ประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบในสังคมเสรีประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โอกาสและความเสมอภาคของคนในสังคมด้วย 
 


 

1 กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังให้บัณฑิตมีอย่างน้อย ๕ ด้าน ดังนี้ (๑) ด้านคุณธรรม จริยธรรม (Ethics and Moral) หมายถึง การพัฒนานิสัยในการประพฤติอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และด้วยความรับผิดชอบทั้งในส่วนตนและส่วนรวม ความ สามารถในการปรับวิถีชีวิตในความขัดแย้งทางค่านิยม การพัฒนานิสัยและการปฏิบัติตนตามศีลธรรม ทั้งในเรื่องส่วนตัวและสังคม (๒) ด้านความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ การนึกคิด และการนำเสนอข้อมูล การวิเคราะห์และจำแนกข้อเท็จจริงในหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนกระบวนการต่างๆ และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ (๓) ด้านทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และใช้ความรู้ ความเข้าใจในแนวคิด หลักการ ทฤษฎี และกระบวนการต่างๆ ในการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน (๔) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ(Interpersonal Skills and Responsibility) หมายถึง ความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม การแสดงถึงภาวะผู้นำความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ความสามารถในการวางแผนและรับผิดชอบ ในการเรียนรู้ของตนเอง (๕) ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Numerical Analysis, Communication and Information Technology Skills) หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงตัวเลข ความสามารถในการใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์และสถิติความสามารถในการสื่อสารทั้งการพูด การเขียน และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับระดับปริญญาตรี กำหนดรายละเอียดมาตรฐานผลการเรียนรู้ดังนี้ (๑) ด้านคุณธรรม จริยธรรมสามารถจัดการปัญหาทางคุณธรรม จริยธรรม และวิชาชีพโดยใช้ดุลยพินิจ ทางค่านิยม ความรู้สึกของผู้อื่น ค่านิยมพื้นฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพ แสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม อาทิ มีวินัย มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เป็นแบบอย่างที่ดี เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจโลก เป็นต้น (๒) ด้านความรู้ มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ตระหนัก รู้หลักการและทฤษฎีในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับหลักสูตรวิชาชีพ มีความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของความรู้เฉพาะด้านในสาขาวิชา และตระหนักถึงงานวิจัยในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและการต่อยอดองค์ความรู้ ส่วนหลักสูตรวิชาชีพที่เน้นการปฏิบัติ จะต้องตระหนักในธรรมเนียมปฏิบัติ กฎระเบียบ ข้อบังคับ ที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ (๓) ด้านทักษะทางปัญญา สามารถค้นหาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจและสามารถประเมินข้อมูลแนวคิดและหลักฐานใหม่ๆ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และใช้ข้อมูลที่ได้ในการแก้ไขปัญหาและงานอื่นๆ ด้วยตนเอง สามารถศึกษาปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงความรู้ทางภาคทฤษฎี ประสบการณ์ทางภาคปฏิบัติ และผลกระทบจากการตัดสินใจ สามารถใช้ทักษะและความเข้าใจอันถ่องแท้ในเนื้อหาสาระทางวิชาการและวิชาชีพ สำหรับหลักสูตรวิชาชีพนักศึกษาสามารถใช้วิธีการปฏิบัติงานประจำและหาแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม(๔) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบมีส่วนช่วยและเอื้อต่อการแก้ปัญหาในกลุ่มได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือสมาชิกของกลุ่ม สามารถแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของตนเองและของกลุ่มรับผิดชอบในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาตนเองและอาชีพ (๕) ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นปัญหา สามารถเลือกและประยุกต์ใช้เทคนิคทางสถิติหรือคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมในการศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผล แปลความหมาย และนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในการพูด การเขียน สามารถเลือกใช้รูปแบบของการนำเสนอที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันได้

 


 

4. ข้อจำกัด เรื่อง ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา (ผ่านการจัดทำรายละเอียดของรายวิชา (course specification) และรายละเอียดของประสบการณ์ภาคสนาม (field experience specification) การจัดทำรายงานผลการดำเนินการของรายวิชา (course report) และรายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม (field experience specification) และรายงานผลการดำเนินการของหลักสูตร หมายถึง (มคอ.3-7)


          ความเป็นมาของการกำหนดกรอบ TQF เริ่มแรกเป็นเพียงกำหนดกรอบมาตรฐานทั่วๆ ไป แต่ในเวลาต่อมากลับเชื่อมโยงกับมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพภายในจนนำไปสู่การกำหนดขั้นตอนต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพหลักสูตรอย่างละเอียด ไม่ว่า รายละเอียดของกระบวนวิชา การรายงานผลการทำงานในระดับรายวิชา/รายเทอม และทั้งหลักสูตร ที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการกรอกเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ มากมาย

          รายละเอียดขั้นตอนการทำงานเพื่อการประกันคุณภาพหลักสูตรที่ถูกกำหนดจาก TQF ที่จะมีงานเอกสารแบบฟอร์มต่างๆ มากมาย กำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต กล่าวคือ

          1) การกรอกเอกสารต่างๆ เหล่านี้ เกิดคำถามในแง่ของการประกันคุณภาพหลักสูตรว่าจะนำไปสู่การประเมินและปรับปรุงการเรียนการสอนตลอดจนหลักสูตรได้จริงแท้อย่างไร เพราะการกรอกเอกสารดังกล่าวเป็นการกรอกโดยผู้สอนที่เน้นแต่การบันทึกการทำงานของผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งหมายถึง เป็นการประเมินทางเดียว คือ ผู้สอนประเมินตัวเอง


          ขณะที่การประกันคุณภาพการศึกษา และการประเมินการเรียนการสอนควรมีการออกแบบเพื่อตอบสนองต่อมาตรฐานผลการเรียนรู้ เพื่อที่จะเปลี่ยนวิธีเรียนรู้จากการสอนไปเน้นการเรียนรู้มากขึ้นและมีเป้าหมายอยู่ที่ “ผู้เรียนรู้” เพื่อที่จะวัดผลผู้เรียนรู้มากขึ้น แต่การประเมินการเรียนการสอนที่ออกแบบโดย TQF กลับไปเน้นที่การประเมินตัวผู้สอนทางเดียว คือ ผู้สอนประเมินตัวเอง (Self evaluation) และเป็นการประเมินการสอนมากกว่าการเรียนรู้ จึงมีคำถามน่าสนใจเกิดขึ้นว่า มาตรฐานผลการเรียนรู้กับวิธีการประเมินสอดคล้องกันหรือไม่ และสามารถทำให้เกิดการประเมินคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพและตอบรับกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่อย่างไร 


          ในแง่ของกระบวนการประเมินคุณภาพแล้ว ประสบการณ์จากต่างประเทศอันมากมาย ได้ออกแบบกระบวนการประเมินบนพื้นฐาน “กระบวนการประเมินหลายทาง” (multiple evaluation) คือ ประเมินจากหลายฝ่ายหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า ผู้สอน ในฐานะผู้ให้บริการทางปัญญา และผู้เรียนในฐานะผู้รับบริการทางปัญญา ตลอดจนการประเมินจากส่วนอื่นๆ เช่น จากเพื่อนร่วมวิชาชีพ จากสมาคมวิชาชีพ ที่ทำให้เกิดการประเมินในระดับต่างๆ กระบวนการประเมินหลายทาง จะช่วยทำให้การประเมินคุณภาพทางวิชาการมีประสิทธิภาพและนำข้อมูลไปใช้เพื่อการปรับปรุงหลักสูตรได้จริงขณะเดียวกันก็จะสามารถเป็นระบบที่ใช้ตรวจสอบผลการประเมินซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้วิธีการประเมินทางเดียวโดยผู้สอนประเมินตัวเองที่กำลังจะเกิดขึ้นจากกระบวนการของ TQF 


          2) การกรอกแบบเอกสารต่างๆ ตามกรอบ TQF เป็นการเน้นรายละเอียดการกรอกเชิงปริมาณ และจะกลายเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันของทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับความต้องการของ TQF เช่น ความซ้ำซ้อนระหว่างการกรอกเพื่อประกันคุณภาพรายวิชาตามเกณฑ์ของ TQF กับการกรอกเอกสารของมหาวิทยาลัยเพื่อเสนอขอบเขตการทำงาน และการประเมินตนเอง (self- evaluation) ต่อการเสนอพิจารณาเงินเดือน ความดีความชอบ ขอตำแหน่งและอื่นๆ ซึ่งความซ้ำซ้อนดังกล่าวจะส่งผลให้คณาจารย์ โดยเฉพาะคณาจารย์จำนวนมากที่ดูแลกระบวนวิชาหลายๆ วิชาในคราวเดียวกันและคณาจารย์ผู้บริหารหลักสูตรจำต้องจัดทำรายงานดังกล่าวในเกือบทุกช่วงเวลาของการทำงานทั้งในช่วงต้นเทอมการศึกษา ปลายภาคการศึกษาเพื่อรองรับกฎใหม่ตามกรอบ TQF (ที่ระบุให้ทำมคอ.3-7 ) และเกณฑ์เดิมๆ ที่ยังคงใช้อยู่ในเกือบทุกมหาวิทยาลัย

          3) ผลที่ตามมาจากการที่คณาจารย์ต้องกรอกเอกสารมากมายดังกล่าว (มคอ.3-7 และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีมช. คือ CMU-MIS ที่ต้องกรอก TOR และผลการปฏิบัติงานเกือบตลอดช่วงเวลาเหล่านี้เพื่อการทำประเมินตนเอง (self evaluation)) จะกลายเป็นการเพิ่มภาระงานด้านเอกสารให้แก่คณาจารย์จำนวนมากที่ต้องเสียเวลาและหมดเรี่ยวแรงมันสมองไปกับการกรอกเอกสารในเชิงปริมาณ และรายละเอียดที่ทำงานซ้ำซ้อนกันอย่างมากมาย ทั้งๆ ที่ “เวลา” รวมถึง “เรี่ยวแรงและมันสมอง” ดังกล่าวควรจะถูกทุ่มเทให้กับการเตรียมแผนการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพให้แก่นักศึกษา การจัดกิจกรรมวิชาการเพื่อให้บริการแก่ชุมชนและสังคม หรือการออกไปทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นต้น


          ในทางหนึ่ง เราอาจจะมองว่า การกรอกเอกสารดังกล่าวเป็นปัญหาที่อาจแก้ไขได้ในทางเทคนิค เช่น ปรับปรุงระบบการกรอกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนของงานบางส่วน ดังเช่น ที่กำลังเกิดขึ้นกับกรณีตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น (ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น) แต่ประเด็นสำคัญ มิได้อยู่ที่ การแก้ไขทางเทคนิคเท่านั้น หากแต่ต้องตอบคำถามเรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาผ่านการใช้มคอ.3-7 ดังกล่าวว่า จะเป็นเครื่องมือในการช่วยทำให้เกิดการประกันคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือ เมื่อเอกสารต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงการประเมินผลทางเดียว โดยผู้สอนประเมินตัวเองที่ได้ข้อมูลจากตัวผู้สอนเท่านั้น


          อย่างไรก็ตาม คำถามอื่นๆ ที่จะตามมาอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่า การแก้ไขปัญหาทางเทคนิคโดยรัฐบาล หรือ โดยมหาวิทยาลัยเอง ดังเช่น ในกรณีบางคณะสาขาวิชาที่มีรายได้พอจะจ้างพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะมากรอกเอกสาร เพื่อลดภาระของอาจารย์ แต่การกรอกเอกสารดังกล่าว จะเป็นไปเพื่อการประกันคุณภาพ หรือว่าเป็นการกรอกเอกสารเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่มีเท่านั้น นอกจากนี้บางคณะสาขาวิชาที่ไม่ได้มีการแสวงหากำไรจากการเรียนการสอนมากนักจะทำอย่างไรต่อการกรอกเอกสารเหล่านี้ 

 


วิจารณ์ พานิช
๑๖ ธ.ค. ๕๒

                                   
 

 

หมายเลขบันทึก: 322307เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท