อยากให้คนอื่นเปลี่ยน แต่ทำไมเราเองไม่เคยคิดจะเปลี่ยน


Everyone thinks of changing the world, but no one thinks of changing himself.

Leo Tolstoy

จากสิ่งที่ผมได้พบเจอในการบริหารงานขององค์กรนั้น โดยปกติคนเรามักจะอยากให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงมาหาเรา หลายครั้งที่มีคำพูดออกมาจากที่ประชุมว่า

“ทำไมถึงไม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิดวิธีการทำงานกันบ้างล่ะ”

“ทำไมยังทำงานแบบเดิมๆ เปลี่ยนแปลงกันบ้างสิ”

“ตอนนี้ดิฉันเขียนระเบียบใหม่ในการจัดซื้อขึ้นมาแล้ว อยากให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงตามระเบียบนี้ด้วย” 

สังเกตสิครับ เรามักจะอยากให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงมาหาเรา มากกว่าที่เราจะเปลี่ยนไปหาคนอื่น เพราะอะไรหรอครับ ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นมันยากไงครับ เราก็เลยไม่อยากเปลี่ยน แล้วทำไมไม่คิดว่า การที่จะให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงด้วยนั้น มันก็ยากเหมือนกันแหละครับ แค่ตัวเราเองยังเปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วจะมาคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงนั้น ผมคิดว่า อย่าหวังเลยครับ มันยากจริงๆ

 

การเปลี่ยนแปลงคนอื่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ตัวเรายอมเปลี่ยนแปลงก่อน เปลี่ยนให้เขาเห็นว่าเราก็เปลี่ยนไปในแบบที่เราพูด หรือแบบที่เราอยากให้คนอื่นเป็น เช่น

 

ผู้จัดการคุยกับลูกน้องว่า “ทำไมมาสายบ่อยมาก หัดมาทำงานแต่เช้าบ้างสิ” แต่ตัวผู้จัดการเองนั่นแหละที่มาสายทุกวันให้พนักงานเห็น แล้วก็มาพูดปาวๆ ว่าให้พนักงานมาทำงานเช้าๆ แบบนี้ใครจะยอมทำล่ะครับ เขาก็คิดในใจว่า “ทีนายยังมาสายได้เลย” จริงมั้ยครับ (ผู้จัดการก็เป็นพนักงานคนนึงเหมือนกันนี่ครับ แล้วทำไมมาสายได้ล่ะ)

 

ปัจจุบันมีเทคนิคในการบริหารการเปลี่ยนแปลงอยู่มากมาย ถ้าใครศึกษาอย่างจริงจังจะพบว่า ในแต่ละเทคนิคนั้นเน้นไปที่การเปลี่ยนคนอื่นทั้งนั้น การจะทำอย่างไรให้คนอื่นยอมเปลี่ยนแปลง ไม่มีเทคนิคทางตะวันตกใดเลยที่บอกว่าให้เปลี่ยนที่เราก่อน จะมีก็แต่เพียงเทคนิคที่ทางศาสนาพุทธที่สอนกันมา ก็คือ “ถ้าจะเปลี่ยนคนอื่น ให้เปลี่ยนที่เราก่อน ถ้าแม้แต่เรายังไม่เปลี่ยน แล้วเราจะไปคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนได้อย่างไร”

 

เรื่องของการบริหารก็เช่นกัน ผู้บริหารบางคนนำเอาระบบงานสมัยใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน การบริหารงานจัดซื้อ ต้นทุน การนำเอา Balanced Scorecard เข้ามาใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการของบริษัท แต่ตัวผู้บริหารเองไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามระบบที่นำเข้ามาใช้เลย

 

ที่ผมเคยเห็นก็คือ เรื่องการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน ผู้บริหารระดับสูงบอกว่าจากนี้ต่อไป ทุกตำแหน่งในบริษัทจะต้องมีตัวชี้วัดผลงานที่ชัดเจน เราจะวัดผลงานกันอย่างจริงๆ จังๆ แล้ว แต่ตัวผู้บริหารนั่นเองที่ไม่เคยคิดที่จะกำหนดตัวชี้วัดผลงานของตำแหน่งตัว เองเลย แล้วแบบนี้พนักงานคนอื่นๆ จะเปลียนแปลงตามได้อย่างไร เพราะผู้นำเองพูดแล้ว แต่ไม่ทำซะเอง

 

ดังนั้นผมว่า ถ้าเราอยากให้คนอื่นเปลี่ยน เราจะต้องพิจารณาตัวเองก่อนเลยว่า เราเปลี่ยนตัวเราเองแล้วหรือยัง

หมายเลขบันทึก: 321630เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน  คุณประคัลภ์  ที่นับถือ

          ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา  แต่ประเด็นที่พวกผมทำงาน  คือการทำงานกับคนระดับรากหญ้า  ซึ่งเราไม่ได้เข้าไปคลุกคลีกับเขาอย่างจำเจ  อย่างเก่งเข้าไปให้การอบรม  3 วัน 5 วันก็จบหลักสูตร  ต้องถอนตัวกลับมา  แน่นอนชาวบ้านไม่มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกผมแน่  กรณีเช่นนี้จะทำอย่างไรครับ  ชาวบ้านจึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เรียนคุณ สมนึก โทณผลิน

ผมเห็นด้วยครับ ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้ยาก และที่สำคัญก็คือ ต้องใช้เวลามากในการที่จะทำให้คนๆหนึ่งยอมเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่าง บางครั้งคนเราก็รู้ทั้งรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี แต่ก็ยังทำ นั่นก็คือ ยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่น รู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดี มีโทษมากมาย แต่ก็ยังไม่ยอมเลิก แปลว่า ยังไม่เกิดแรงจูงใจที่มากพอสำหรับการจะเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

ผมเคยใช้วิธีการก็คือ ทำเป็นโครงการขึ้นมา แล้วให้คนที่อยากเปลี่ยนแปลงเข้ามาร่วมในโครงการนี้ พร้อมกับตั้งเป้าความสำเร็จร่วมกันว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จของโครงการ ซึ่งการร่วมมือนี้ก็คือ การที่ผู้ร่วมโครงการทุกคนยอมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานบางอย่าง เพื่อผลสำเร็จ และผู้ดูแลโครงการก็จะตรวจสอบ และให้กำลังใจ พร้อมกับคอยบอกถึงความคืบหน้าที่เกิดขึ้น เพื่อให้เขาเห็นว่านี่คือผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (แรงจูงใจ)

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ประมาณ 80% ของผู้ร่วมโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขึ้นหลังจากโครงการจบไปแล้ว ก็ยังไม่กลับไปทำพฤติกรรมเดิมครับ

แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ คนๆนั้นจะต้องเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และต้องมีแรงเสริมที่แรงพอ รวมทั้งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังการเปลี่ยนแปลง

ยากครับ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถนะครับ ที่ยากก็เพราะคนเราไม่ค่อยชอบการเปลียนแปลงหรอกครับ รักสบายมากกว่า ก็เลยทำให้ต้องมีการสร้างแรงจูงใจเยอะครับ

ขอบคุณครับสำหรับความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท