ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งกับคำขวัญของจังหวัดชุมพร


บทสรุปของการพูดคุยในวันนั้นจบลงตรงที่ว่า ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะต้องตัดคำว่า “แลหาดทรายรี” ออกไปจากคำขวัญของจังหวัดชุมพร

ช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสต้อนรับคณะของ ดร.ปรีชา อุยตระกูล จากมูลนิธิชุมชนโคราชได้พาไปไหว้ศาลเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ที่หาดทรายรี เล่าให้ท่านฟังถึงคำขวัญจังหวัดชุมพรที่ว่า “ชุมพร...ประตูภาคใต้ - ไหว้เสด็จในกรมฯ - ชมไร่กาแฟ - แลหาดทรายรี – ดีกล้วยเล็บมือ -  ขึ้นชื่อรังนก” พร้อมทั้งยืนชมทัศนียภาพของหาดทรายรี มองคลื่นทะเลเคลื่อนเข้ากระทบชายฝั่งปะทะเข้ากับแนวคอนกรีตป้องกันตลิ่งพัง แล้วม้วนกลับลงไปด้วยแรงสะท้อนที่ผิดไปจากสภาพปกติตามธรรมชาติ พร้อมทั้งกวาดเอาเม็ดทรายลงสู่ท้องทะเลด้วยปริมาณที่มากกว่าส่วนที่นำขึ้นมาทับถมบนหาดทราย ทำให้หาดทรายรีวันนี้ไม่เหมือนในอดีตที่เคยงดงาม บทสรุปของการพูดคุยในวันนั้นจบลงตรงที่ว่า ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะต้องตัดคำว่า “แลหาดทรายรี” ออกไปจากคำขวัญของจังหวัด

ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งของ จ.ชุมพร เกิดขึ้นทุกปี มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หน่วยงานที่ต้องรับภาระโดยตรงในการเยียวยาผู้เดือดร้อน คือ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ชุมพร เคยจัดเวทีระดมความคิดในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ จังหวัดชุมพร ณ ศาลาประชาคม หลังที่ว่าการอำเภอหลังสวน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 มีนายไพบูรณ์ ปัญจะ อดีตปลัดจังหวัดชุมพรเป็นประธานเปิด ในที่ประชุมพูดกันว่า ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากมายาวนาน โดยไม่มีแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนให้กับชุมชน คณะทำงานภัยพิบัติจังหวัดชุมพรจึงเลือกพื้นที่ใน 4 ตำบล คือ ตำบลบางน้ำจืด ต.ปากน้ำหลังสวน ต.บางมะพร้าว และ ต.นาพญา เป็นพื้นที่นำร่องของจังหวัด เพื่อนำความคิดเห็น ไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาภัยพิบัติจังหวัดชุมพรในระยะยาวต่อไป

วันนี้ (พฤศจิกายน 2552) ผมไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว เสร็จเรียบร้อยนำไปสู่การปฏิบัติหรือยัง แต่มาได้ข้อคิดโดนใจเมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสมุทรศาสตร์ ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ว่าด้วยเรื่อง คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง อ่านแล้วไม่อยากเก็บไว้ให้ผ่านเลยไป จึงหยิบยกขึ้นมาสรุปประเด็นและขยายความเพื่อกระตุ้นต่อมไตใครต่อใครหลาย ๆ คนที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ

  • ยิ่งสร้างเพื่อแก้ปัญหา - ยิ่งเพิ่มความรุนแรงของคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง

    คลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมีคลื่นกัดเซาะบริเวณใด ก็จะยิ่งมีการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะพยายามหยุดยั้งการกัดเซาะ แต่นั่นกลับเป็นสาเหตุให้มีการกัดเซาะขยายออกไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำชายฝั่ง และขาดการดูแลควบคุมจากภาครัฐทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    • ทางแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้และเปลี่ยนความคิด

    ที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกทาง ทุกฝ่ายต่างมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นซัดถล่ม คลื่นลมแรงซัดเข้าทำลายชายฝั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมนั้นยังคงพัดเข้าชายฝั่งในระดับปกติแล้ว แต่ที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นเพราะโครงสร้างของชายฝั่งถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากจะแก้ปัญหาก็ยิ่งก่อสร้างลงไปทั้งในทะเลและชายฝั่ง ยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้จึงต้องหยุดการก่อสร้างเสียก่อน แล้วย้อนกลับมามองว่า ปัญหาคืออะไร ? สภาพชายฝั่งเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีอย่างไร ? ต้องเรียนรู้และยอมรับว่าสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายฝั่งคือปัญหาเสียก่อน จึงจะตั้งต้นหาวิธีแก้ได้

    • วันนี้...ชายหาดคือผู้ป่วยที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว

    ปัญหาคลื่นกัดเซาะเกิดรุนแรงมากขึ้น จากเดิมที่กัดเซาะเฉพาะชายฝั่ง ก็มาถึงชายหาด ต้นไม้ริมหาด บ้านเรือนริมทะเล ถึงถนนเลียบชายฝั่ง รุนแรงขึ้นทุกปี ชายหาดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว หากเป็นคนก็เปรียบเสมือนผู้ป่วยที่นอนรอวันสิ้นใจในห้องไอซียู

    • จะทำให้ชายหาดฟื้นคืนสภาพได้อย่างไร ?

    กิจกรรมที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเข้ามาเป็นตัวตั้ง ควรเร่งสร้างจิตสำนึกคุณค่าของชายหาดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กรส่วนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ ให้ความรู้ประชาชนตามแนวชายฝั่ง กำหนดให้ชายฝั่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เร่งประเมินโครงการเขื่อนริมทะเลเพื่อหามาตรการฟื้นฟูที่เหมาะสม ประเมินความเสียหายที่ผ่านมาและเยียวยาแก่ผู้เสียหายโดยเร่งด่วน เลือกใช้มาตรการฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา เช่น การถ่ายเททราย การเติมทรายให้ชายฝั่ง รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว ส่งเสริมกระบวนการจัดการชายฝั่งที่ยั่งยืน กำหนดเขตพื้นที่ชายฝั่ง การเวนคืน และห้ามการขุดทรายออกจากชายฝั่งในทุกกรณี.

    ถนนริมชายหาดบ้านคอสน บ้านปากหาด บ้านหัวแหลมหมู่ที่ 3 ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร ได้รับความเสียหายจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง

    หมายเลขบันทึก: 320617เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2009 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (3)

    ปัญหานี้ แก้ยากเหมือนกัน ครับ ช่วงน้ำทะเลหนุน และช่วงที่มีมรสุม น้ำทะเลเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง เกือบทุกปีครับ

    รศ. อัปสรสุดา ศิริพงศ์

    ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเริ่มตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เป็นการดักตะกอนไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล  การพัฒนาชายฝั่งขนาดใหญ่ เช่นสร้างท่าเรือ เมือง รีสอร์ท  สิ่งก่อสร้างโดยคน ที่ไม่ได้มีการออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่เข้าใจ Coastal Processes  ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงสัณฐานของฝั่งทะเลทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้นและถาวรขึ้น  ในทางธรรมชาติ แม้แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น คลื่นพายุ(storm wave) storm surge หรือกระทั่งคลื่นสึนามิ ที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในเวลาอันรวดเร็ว  แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ ชายหาดก็จะปรับตัวให้อยู่ในสภาพสมดุลย์  ถ้าสนใจลองหาอ่านใน The Beaches are disappearing in Thailand, by Absornsuda Siripong

    เพื่อความเข้าใจอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาหาดทรายมรดกของชาติและลูกหลานเรา จึงขอแนะนำให้อ่านเรื่อง ความเข้าใจผิดที่พบเสมอเกี่ยวกับหาดทราย แปลมาจาก Misconceptions about beaches ของรัฐบาลออสเตรเลีย และดูตัวอย่างความเสียหายของชายหาดที่สงขลาได้ที่ web BWN

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท