บทความที่ได้จากการสังเคราะห์วรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ('ปู่เจ้าสมิงพราย' : เปลวประกายแห่งไฟกิเลสของ 'พระลอ')


บทความที่ได้จากการสังเคราะห์วรรณคดี,เรื่องลิลิตพระลอ,'ปู่เจ้าสมิงพราย' : เปลวประกายแห่งไฟกิเลสของ 'พระลอ'

'ปู่เจ้าสมิงพราย' : เปลวประกายแห่งไฟกิเลสของ 'พระลอ'

     “ลิลิตพระลอ” เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นเรื่องประโลมโลกย์เรื่องหนึ่งที่มีโครงเรื่องหลักคล้ายกันกับเรื่องโรมิโอและจูเลียตของเชกสเปียร์  คือตัวละครเอกที่เป็นคู่รักไม่อาจสมหวังในความรักได้และต้องพบจุดจบคือความตายอย่างน่าเศร้าเพราะความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างตระกูล  ผู้อ่านลิลิตพระลออย่างละเอียดจะเห็นว่ากวีนิพนธ์ในวรรณคดีเรื่องนี้มีคุณค่าทางวรรณศิลป์สูง

    แม้ว่าลิลิตพระลอจะมุ่งให้ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญแล้ว  กวียังไม่ลืมที่จะสร้างความคิดของตัวละครซึงเป็นนามธรรมให้ปรากฏเป็นรูปธรรม โดยการใช้สัญลักษณ์เป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนภาพความคิดของตัวละครอย่างเหมาะสมกลมกลืน  แต่ผู้อ่านจำต้องอาศัยการตีความเพื่อให้เข้าใจถึงสัญลักษณ์ที่กวีได้แฝงไว้

    กาญจนา นาคสกุล (๒๕๒๔) ได้ให้ความหมายของคำว่า สัญลักษณ์ ไว้ว่าเป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความ  ซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประพันธ์ต้องการเปรียบเทียบเพื่อสร้างภาพพจน์หรือมิฉะนั้นก็อาจจะอยู่ในภาวะที่กล่าวโดยตรงไม่ได้  เพราะไม่สมควรจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน

เหตุใด ? จึงต้องใช้สัญลักษณ์...

    กวีสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมานั้น  ประการแรกน่าจะเพื่อสร้างปมให้กับตัวละครเอกนั่นก็คือ พระลอ โดยสะท้อนให้เห็นว่าพระลอยังมีกิเลสอยู่

     พระธรรมกิตติวงศ์ (๒๕๔๘) ให้ความหมายของคำว่า กิเลส ไว้ว่าเป็นสิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจแล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว มีอุปมาเหมือนสีที่ใส่ลงไปในน้ำทำให้น้ำมีสีเหมือนสีที่ใส่ลงไป ใจก็เช่นกัน ปกติก็ใสสะอาด แต่กลายเป็นใจดำ ใจง่าย ใจร้ายก็เพราะมีกิเลสเข้าไปอิงอาศัยผสมปนเปอยู่

     กิเลสตัณหาเกิดกับปุถุชนทุกคนไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นกษัตริย์อย่างพระลอ ถึงแม้ว่าพระลอจะมีพระมเหสีแล้วก็ตาม  แต่กลับละทิ้งบ้านเมืองไปหาพระเพื่อนพระแพงด้วยกามราคะ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ดูไม่ดี  กวีจึงจำเป็นต้องสร้างปู่เจ้าสมิงพรายให้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าเหตุที่พระลอเกิดความหลงใหลในโฉมของพระเพื่อนพระแพงนั้นมาจากฝีมือการทำเสน่ห์ของปู่เจ้า

     ส่วนประการที่สองนั้นเพื่อทำให้ผู้อ่านสามารถรับรู้อารมณ์และเข้าใจลักษณะความคิดที่สับสนวุ่นวายต่างๆ ภายในจิตใจของของพระลอ  ซึ่งเป็นนามธรรมให้เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมได้ โดยกวีได้สร้างปู่เจ้าสมิงพรายให้เป็นสัญลักษณ์ทางความคิดในจิตใจของพระลอขึ้นมา  ตามความเชื่อในเรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้น ปู่เจ้าสมิงพราย มีลักษณะตรงกับเทวดาทุกประการและมีตำนานกล่าวว่า ปู่เจ้าสมิงพราย เป็นบริวารของ เทพารักษ์พระทรงเมือง  มีหน้าที่ป้องกันไพร่ฟ้าประชาชนทั่วประเทศ

    “ปู่เจ้าสมิงพราย” มีบทบาทเด่นมากในการเพิ่มความเข้มข้นและคลายปมขัดแย้งของเรื่อง จนกระทั่งปู่เจ้าสมิงพรายซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจเหนือธรรมชาติกลายเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ผู้อ่านจดจำได้  เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้กวีสามารถดึงอำนาจเหนือธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือของตัวละครในเรื่องได้โดยไม่ขัดแย้งกับความเป็นพุทธศาสนิกของตน  เป็นเพราะฉากของเรื่องย้อนจากสมัยอยุธยาไปสู่ยุคแห่งตำนานเมืองสรองเมืองสรวงถือว่าอยู่ในสังคมโบราณซึ่งยังคงปรากฏความเชื่อในอำนาจอิทธิฤทธิ์ต่างๆ อยู่

     กวีสามารถจำแนกแจกแจงฤทธิเดชของผีสางเทวดาได้สารพัดประเภทดังร่ายที่ยกมาต่อไปนี้

     o ปู่รำพึงถึงเทพดา หากันมาแต่ป่า มาแต่ท่าแต่น้ำ มาแต่ถ้ำคูหา ทุกทิศมานั่งเฝ้าพระปู่ เจ้าทุกตำบล ตนบริพารทุกหมู่ ตรวจตราอยู่ทุกแห่ง ปู่ แต่งพระพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร บริพารภูตปีศาจ ดาเดียรดาษมหิมา นายกคนแลคน ตนเทพยผู้ห้าวท้าวผู้หาญเรืองฤทธิ์ชาญเหลือหลาย ตั้งเปนนายเปนมุล ตัวขุนให้ขี่ช้าง บ้างขี่เสือขี่สีห์ บ้างขี่หมีขี่หมูบ้างขี่งู่ขี่เงือก ขี่ม้าเผือกผันผาย บ้างขี่ควายขี่แรด แผดร้องก้องน่ากลัว ภูตแปรตัวหลายหลากแปรเปนกากภาษา เปนหัวกาหัวแร้ง แสร้งเปนหัวเสือหัวช้าง เปนหัวกวางหัวฉมัน ตัวต่างกันพันลึก ลคึกกุมอาวุธ เครื่อ งจะยุทธยงยิ่ง เต้นโลดวิ่งระเบง คุกเครงเสียงคะครื้น ฟื้นไม้ไหล้หินผา ดาษดากันผาดเผ้ง รเร้งร้องก้องกู่เกรียง เสียงสเทือนธรณี เทียบพลผีเสร็จสรรพ ปู่ก็บังคับทุกประการ จึ่งบอกสารอันจะใช้ ให้ทั้งยามนตร์ดล บอกทั้งกลอันจะทำ ให้ยายำเขาเผือด มนตราเหือดหายศักดิ์ ให้อารักษ์เขาหนี ผีเขาแพ้แล้วไส้ กูจึงจะใช้สลาเหิร เดิรเวหาไปสู่ เชิญพระภูธรท้าว ชักมาสู่สองหย้าว อย่าคล้าคำกู สั่งนี้ ฯ

(ลิลิตพระลอ,๒๕๔๓,หน้า ๓๕-๓๖)

 

      รายละเอียดดังยกมามีนัยที่อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าความคิดอันเนื่องด้วยความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดาและไสยศาสตร์ของคนสมัยอยุธยาได้รับการพัฒนาไปกว้างขวางและซับซ้อนอย่างน่าทึ่ง ซึ่งมีผลทำให้ตัวละครที่กวีสร้างได้รับอิทธิพลในเรื่องไสยศาสตร์นี้ไปด้วย  ตัวละครจึงดูมีอำนาจอิทธิฤทธิ์เกินจริง

      นอกจากนี้ในพุทธประวัติยังปรากฏเหตุการณ์การผจญมารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยใช้ “สัญลักษณ์” เช่นเดียวกัน  มารและเสนามารที่พระองค์ทรงผจญรบด้วยก็ได้คือกิเลสน้อยใหญ่ที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์นั่นเอง  ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางมิให้ตรัสรู้ อันได้แก่การต่อสู้ทางความคิดของพระองค์ระหว่างกิเลสกับธรรมะ  ด้านหนึ่งมุ่งจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า แต่อีกด้านหนึ่งยังคิดถึงความสะดวกสบายในอดีตและความทุกข์ทรมานในการบำเพ็ญเพียร  แล้วมารที่มาปรากฏให้พระองค์ได้ทรงเห็นเป็นตัวตนคงไม่ปรากฏให้เห็นได้อย่างที่แต่งไว้ในคัมภีร์  เป็นแค่การแต่งเรื่องขึ้นเพื่อให้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมและเพื่อจะง่ายต่อการศึกษา

     อย่างไรก็ดี  เนื่องจากกวีนำโศกนาฏกรรมเรื่องนี้มารจนาขึ้นในยุคสมัยที่พุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคงแล้ว ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งสร้างสีสันอันเร้าใจให้แก่ลิลิตพระลอ เป็นอย่างยิ่ง จึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อในกฎแห่งกรรมตามหลักการของพุทธศาสนา และอยู่ในฐานะพลังที่เป็นรอง ดังที่กวีให้ปู่เจ้ายกเรื่องของ “กรรม” มาเป็นเหตุผลสนับสนุนการที่ตนตัดสินใจช่วยพระเพื่อนพระแพงทั้งที่รู้ว่าพระลอมีนางลักษณวดีอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ปู่เจ้าช่วยจึงไม่ถือเป็นความผิดบาป

     o ปู่ไป่ ผายตอบถ้อย อยู่น่อยหนึ่งบมินาน ปู่ก็ธิญาณเล็งดู กูจะช่วยควรฤๅมิควร รู้ทั้ง มวลทุกอันด้วยผลกรรม์เขาแต่ก่อน ทำหย่อนหย่อนตึงตึง ส่วนจะถึงบมิหยุด เถ้าว่าจะพลัดสุด พลันม้วยด้วยผลกรรมเขาเอง แต่เพรงเขาทั้งสอง ทำบุญปองจะไจ้ ขอได้พึ่งบุญตู ปู่ดูเสร็จจึ่ง ว่า สองนางอย่ากล่าวอ้างถึงสินจ้างสินบน ตนกูจักไปสู่ ถึงที่อยู่สองเจ้า เขือเข้าไปก่อนกล่าว ข่าวดั่ งนี้ให้ฟัง กูจะไปภายหลังบช้าผิมิวันนี้อ้า พรุ่งนี้กูถึง ฯ

(ลิลิตพระลอ,๒๕๔๓,หน้า ๑๙-๒๐)

 

       หากวรรณคดีเอกเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ขาดตัวละครที่สำคัญอย่าง “ปู่เจ้าสมิงพราย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความคิดในจิตใจของพระลอไปแล้ว  ผู้อ่านย่อมมองไม่เห็นถึงความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวละครเอกอย่างพระลอเป็นแน่แท้  การที่กวีสร้างปู่เจ้าสมิงพรายขึ้นมานั้นยังช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของชนชั้นกษัตริย์อย่างพระลอ  ให้ดูไม่เสื่อมเสียพระเกียรติยศและพระบรมเดชานุภาพในเรื่องที่มีความหลงใหลในกามราคะหรือกิเลสตัณหาอีกประการหนึ่ง

 

   

 

 

 

อ้างอิง 

กาญจนา นาคสกุล.(๒๕๒๔). คู่มือการใช้ภาษา. กรุงเทพมหานคร :

      คณะอักษณศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กรมศิลปากร(๒๕๔๓).ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณคดีไทย(ลิลิตพระลอ).

      พิมพ์ครั้งที่ ๕ กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

 ทองดี สุรเตโช,พระธรรมกิตติวงศ์. (๒๕๔๘) พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์

      ชุด คำวัด. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

 

หมายเลขบันทึก: 319545เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท