เศรษฐกิจพอเพียงการสอนวิชาคณิตศาสตร์


ถอดบทเรียนความรู้การบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอนสาระวิชาคณิตศาสตร์ ภายในงานกิจกรรมเสริมศักยภาพครูในโครงการประกวดเรื่องเล่า “ความสำเร็จในการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา” วันที่ 28 -30 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงเรียนเพลินพัฒนา และหอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน กรุงเทพฯ

 

อาจารย์วาริน รอดบำเรอ สาระวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม

 

แรงบันดาลใจสู่การเป็นครูพอเพียง

 

แรงจูงใจและแรงบันดาลใจที่ทำให้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้เฉพาะของตัวเอง ขอเล่าว่าการทำดีโดยไม่มีใครบังคับเนื่องจากตัวเองเป็นครูสอนแล้วไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นครูที่จะปรับเปลี่ยนการสอน ได้ชื่อว่าเป็นครูดีเด่นได้ คือมันจะต้องมีทุนอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้ทำอย่างนั้นได้ ตอนแรกชีวิตการสอนไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลยจริงๆ บังเอิญลูกชาย เรียนจบ ป.6 แล้วไม่มีโรงเรียนเรียน เพราะสอบเข้าเรียนที่ไหนไม่ได้ และจากการที่เราเป็นครูเราก็อาย จะไปพูดขอกับ ผอ.โรงเรียนที่สอนเราอยู่ มันก็เกินเวลาที่จะสามารถติดต่อได้แล้ว เราก็อายเพื่อน อายทุกอย่าง ลูกเราเราก็ให้เขาเรียนในโรงเรียนที่ดี เสียสตางค์ให้ลูกเรียนพิเศษตอนเย็นเราก็ทำ แต่ทำไมแค่การคูณ การหา หรม. ครน. ลูกก็ยังทำไม่ได้ เราคงจะเลยจุดนี้ไปนิดนึง เราสอนลูกคนอื่นแต่เราไม่ได้สอนลูกเราเลย นับจากนั้นเราจึงคิดว่าเราจะต้องสอนลูกเราเอง และตั้งปณิธานการเป็นครูว่าเราจะเป็นผู้ให้ ตั้งใจสอนนักเรียนให้ดีที่สุด อันนี้เป็นสัญญาใจที่ตัวเองเปิดใจกับตัวเอง ณ วันนั้นที่ลูกเราสอบเข้าเรียนไม่ได้ เราฝากความหวังไว้กับครู แต่ลูกเราก็สอบเข้าไม่ได้ เป็นแรงบันดาลใจให้เปิดใจว่าทำอย่างไรที่เราจะสอนเด็กให้เขารู้เรื่อง และทำอย่างไรให้ผู้ปกครองไว้วางใจครูคนนี้ว่าฝากลูกเขามาเรียนแล้วสามารถวางใจปล่อยไว้กับเราได้ ว่าลูกเขาจะมีความรู้แน่ๆ ตรงนั้นเป็นตัวที่ทำให้เริ่มหากระบวนการและหาวิธีการแล้วมาเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ได้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง และรู้ว่าจะนำไปพัฒนาอย่างไรให้เกิดผล

 

การบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับการสอนวิชาคณิตศาสตร์ 


เราได้ถกเถียงกันในกลุ่มว่าเวลาสอนเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ผู้เรียน เราจะสอนอย่างไร บ้างก็บอกสอนเรื่องเศรษฐกิจก่อน สัปดาห์ต่อไปจึงสอนมิติเรื่องสังคม ตัวเองเลยบอกว่าการสอนผู้เรียนในแต่ละคาบ หรือในแต่ละกิจกรรม ควรจะให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในการพัฒนาอย่างสมดุลทั้ง 4 ด้านดังที่ ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ ได้กล่าวไว้ว่าในการเรียนการสอนนักเรียนทั้งหลายทั้งปวง ถ้าจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ควรทำให้เขาเรียนรู้ทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านศาสนา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เราก็มาคิดตรงนี้ว่าวิธีการอย่างไรจะสอนเด็กให้เขาได้ตรงนี้ ในกลุ่มจึงบอกว่าการที่เราจะฝังให้ผู้เรียนได้คิดลุ่มลึก ก็คือการฝังสมอง ซึ่งสมองคือความคิด ทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเขาคิดได้อย่างเรา ทำอย่างให้เด็กเขาคิดได้อย่างผู้บริหาร คิดได้อย่างในหลวง คิดได้อย่างทุกคน เมื่อเราเกิดความคิดแล้วสมองก็จะสั่งไปถึงการกระทำ ดังนั้นใน what ของเราคือจะสอนอย่างไรให้นักเรียนได้เกิดกระบวนการคิดตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง

 

why เราใช้อะไร เราใช้เนื้อหาสาระในการสอนเป็นกระบวนการเชื่อมให้นักเรียนได้เกิดทักษะของการคิด ทีนี้ขออนุญาตยกตัวอย่างนิดหนึ่งเพราะตัวเองจะชำนาญเฉพาะการสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งคณิตศาสตร์มีหลายๆ คนบอกว่าบูรณาการได้ยากมาก แต่เมื่อฟังอาจารย์วารินกลับไปอาจจะได้แนวคิดว่าการบูรณาการกับคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก จริงๆ แล้วก่อนสอน คุณครูอาจจะใช้ KM ให้นักเรียนเขาได้พูดสักนิดหนึ่งหรือเขียนก็ได้ว่าเขามีความดีความงามหรือความภาคภูมิใจอะไรบ้าง ทุกคนก็เขียนมาหมด อาจารย์ก็เก็บแผ่นตรงนี้ เก็บมาเป็นข้อมูลสำคัญ เราจะได้ทราบว่าผู้เรียนแต่ละคนเป็นอย่างไร อาจารย์ก็ใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกับผู้เรียนหรือภูมิปัญญาของผู้เรียน สิ่งที่ภาคภูมิใจที่เขาเขียนมาทั้งหมด อาจารย์เอามาสร้างเป็นใบความรู้ เอามาสร้างแล้วสื่อคณิตศาสตร์ลงไปหรือสื่อเนื้อหาสาระบูรณาการลงไปให้เขาได้เรียนรู้


จุดนี้อยากจะขออนุญาตบอกนิดหนึ่ง อาจจะเกินประเด็นไปบ้าง แต่อยากบอกให้รู้ว่าว่ากระบวนการ KM มีประโยชน์จริงๆ เพราะว่าตัวเองเข้าไปถึงห้องเรียนก็บอกนักเรียนว่าตัวเองมีความภาคภูมิใจอะไรหรือช่วงปิดเทอมเราไปทำความดีอะไรมาบ้าง พอดีสุ่มไปเจอเบอร์ 5 เขาก็ออกมาบอกว่าเขาไม่มีโอกาสที่จะไปเที่ยวตรงนั้น ไม่มีโอกาสไปสร้างความภาคภูมิใจที่นั่นที่นี่ เพราะเขาไม่มีพ่อแม่ แต่ถามว่าความดีที่เขาทำวันนั้นคืออะไร เขาบอกว่าความดีของเขาคือการปฏิบัติธรรม เขาปฏิบัติธรรมทุกวัน ถามว่าแล้วครูจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอปฏิบัติธรรม เขาบอกว่าเขาปฏิธรรมตั้งแต่ปี 2549 ปลายปีจนบัดนี้ยังปฏิบัติธรรม ครูก็ถามว่าแล้วครูจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอปฏิบัติธรรมจริง เขาก็บอกว่าพรุ่งนี้เขาจะเอาหลักฐานมาให้ดู แล้วเขาก็นำสมุดเล่มนั้นมาให้ดูจริงๆ เขาปฏิบัติธรรมทุกวันที่เขามีโอกาส แล้วเขาก็บันทึกทุกวัน เล่มหนึ่งหมดไปแล้วเล่มสองก็มา

 

สิ่งเหล่านี้จึงเกิดความคิดขึ้นว่าทำไมผู้บริหารจึงไม่เห็นสิ่งที่เด็กทำดีแบบนี้มาเป็นแบบอย่าง ทุกวันหน้าเสาธงจะมีแต่ประกาศชื่อนักเรียนที่ไปชิงอันนั้นไปแข่งขันอันโน้นอันนี้ ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กที่ทำความดีได้มาเผยแพร่ตรงนี้บ้าง เลยนำเอาบันทึกของนักเรียนไปเสนอท่านผู้บริหาร ท่านผู้อำนวยการก็ดีใจหาย ท่านฟังอย่างสงบ ดูแบบอย่าง และจำชื่อเด็กไว้ พอวันรุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์ ท่านก็เรียกชื่อกิตติพงษ์ให้ขึ้นมาหน้าเสาธง แล้วกิตติพงษ์ก็ทำหน้าที่เป็นพิธีกรหน้าเสาธงในเรื่องการทำสมาธิ แล้วเขาก็ทำได้เป็นอย่างดี และเมื่อเด็กคนนี้ได้รับโอกาส พฤติกรรมของเขาที่เปลี่ยนแปลงไป อยากจะชี้ประเด็นตรงนี้ว่ากิตติพงษ์เป็นเด็กที่เรียนอ่อน เวลาเรียนเขาก็จะอยู่หลังห้อง จะทรุดตัว ไม่ค่อยจะมองอาจารย์ที่สอน เทอมที่แล้วเขาก็ได้เกรด 1 ในวิชาคณิตศาสตร์ พอตอนนี้เขาได้ค้นพบ เราได้ค้นพบเขา ให้เขาได้มีโอกาสแสดงออก ทุกวันนี้กิตติพงษ์เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียน จากที่เขาอยู่หลังห้องในช่วงแรกๆ เขาก็จะชะเง้อมองอาจารย์ที่สอน เพราะเวลาที่เราเรียน เราจะเรียนในห้องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์บัง มองไม่ค่อยเห็น แล้วนานๆ อาทิตย์หนึ่งหรือบางทีเดือนหนึ่ง เราก็อาจจะให้เขามาพูดอะไรหรือให้นักเรียนทำสมาธิ เขาก็จะพูดสอดแทรกเหมือนมหาเลย แล้วเมื่อวันก่อนมูลนิธิสดศรีฯ เข้าไปสัมภาษณ์เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของกิตติพงษ์คือเขาเปลี่ยนมานั่งข้างหน้าและมีการซักถามกัน

 

ตรงนี้จึงขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมตรงนี้นิดหนึ่งว่า ทุกคนมีความดี อาจารย์ต้องเค้นความดีตรงนั้น ถามว่าอาจารย์วารินนำความดีตรงนี้ไปใช้ไหมคะ ใช้คะ กลับไปเขียนใบงานเลยคะ ใบงานของนักเรียน ให้นักเรียนกลับไปเขียนทุกคน แบบบันทึกปฏิบัติธรรมความดีและทักษะการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร เบื้องต้นคือการรักษาศีล ให้แต่ละวันเขาบันทึก วันที่ 1 เขาบันทึกว่าเขาผิดศีลข้อไหน ให้เขามีความซื่อสัตย์ ถ้าผิดข้อนั้นให้กากบาทและเหตุผลที่ผิดข้อนั้นเพราะอะไรให้เขียนไว้ข้างๆ แต่เขาไม่รู้หรอกว่า อาจารย์ใช้ทำอะไรจนกระทั่งครบไปแล้ว 1 เดือน ถึงจังหวะที่เราจะสอนคณิตศาสตร์ เราจึงนำใบเหล่านี้ออกมา ถ้าครูจะเปลี่ยนจากบันทึกความดีมาเป็นบันทึกการสะสมบุญบารมี วันไหนที่นักเรียนไม่ทำผิดเลยศีลใน 5 ข้อ ครูจะให้ 10 คะแนน ถ้าผิดข้อหนึ่งก็เหลือ 8 เรามาดูกันว่าเราสะสมบารมีกันได้กี่คะแนน นักเรียนเขาก็เอามาตีช่อง ให้เขาคิด คิดว่าเขาจะหาอย่างไรให้เขามีบุญบารมีในแต่ละเดือน จนกระทั่งเขาก็คิดออกว่าอันนี้อาจารย์สอนเรื่องความถี่สะสม ถ้าครูคณิตศาสตร์ตรงนี้ก็จะทราบ หลังจากนั้นเราก็มาสะท้อนพูดคุยกันถึงเรื่องคุณความดีต่างๆ ทีนี้ขอยกตัวอย่างอีกประเด็นหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ได้จริงๆ เมื่อเช้าได้เห็นการบันทึกรายจ่าย อาจารย์วารินเน้นการบันทึกการออม เราให้เด็กทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างนี้มาทุกเดือนๆ ในชั่วโมงที่เราจะสอนค่าเฉลี่ยเลขคณิต เราจะบอกเขาก่อนนะ เราก็จะบอกนักเรียนให้เอาบัญชีการออมมา นักเรียนจะเลือกวันไหนก็ได้ กี่วันก็ได้ ทดลองเอามาเขียนรายรับรายจ่ายเงินออม แต่อาจารย์สนใจว่าในการออมของนักเรียน บางคนเลือก 8 วัน บางคน 10 วัน บางคนก็เดือนหนึ่ง เราก็มาหาเหตุผลว่าทำไมใช้ 8 วัน 10 วัน หรือเดือนหนึ่ง เป็นเรื่องการสอนเรื่องประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ปรากฏว่านักเรียนก็ได้มาและนำมาให้ แล้วอาจารย์ก็ถามต่อว่าเฉลี่ยแล้วนักเรียนแต่ละคนมีเงินออมเท่าไร เขาก็หาค่าเฉลี่ยมา แปลว่าเราสอนเรื่องค่าเฉลี่ยเลขคณิต

 

ทีนี้ถ้าอาจารย์สอนอยู่แค่นี้มันก็จบแค่นั้น อาจารย์เพียงเปิดประเด็นนิดเดียวถามว่า เงินออมที่นักเรียนเก็บในแต่ละวัน สมมติเก็บได้วันละ 8 บาท เก็บไว้ ถามว่าอีกกี่วันนักเรียนจะได้มีเงินเก็บมากเพื่อจะซื้ออะไร นักเรียนจะต้องเก็บเงินกี่วัน บางคนเก็บออม 2 บาทก็มี 3 บาทก็มี เราก็ถามว่า แล้วเงินแค่นี้จะไปซื้ออะไรได้ ถ้าเราอยากซื้อแต่เราออมแค่นี้เราพอไหม เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนนิสัยในเรื่องการออมนี้เด็กเขาไม่เข้าใจ ทีนี้บอกว่าการออมคือการใช้ๆๆ เหลือเท่าไหร่ถึงออม มันไม่ใช่ การปลูกฝังการออมของเด็ก เขาต้องรู้จักคิด วางแผนการใช้เงิน อยากออมเท่าไหร่ เก็บเงินตรงนั้นไว้ก่อน ตรงนี้ถ้าอาจารย์โยงเอาไว้นิดหนึ่ง ไม่ว่าอาจารย์จะสอดเรื่องอะไรก็ตาม อาจารย์โยงแทรกเข้าไป นี่คือคำว่า Why กระบวนการที่เราจะแทรกเข้าไปว่าสอนอย่างไรเพื่อจะทำให้เด็กเขาได้คิด ส่วน How ก็คงเหมือนท่านอื่นๆ ว่าการเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้จากภูมิปัญญา เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจารย์ก็สามารถจัดเข้าไปไม่ว่าจะเป็นโครงงานอะไรก็ตามแต่ แต่พยายามดึงและสอดแทรกเข้าไปนิดเดียว เรื่องการบูรณาการมันไม่ใช่เรื่องยากไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์หรือวิชาอะไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าสามารถลงเข้าได้หมดเลย ถ้าคุณครูคิดว่าคุณครูเป็นครูที่พอเพียงแล้ว


ที่มา http://www.scbfoundation.com/knowledge_th.php?kid=26 (พร้อมชมคลิปวิดีโอการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้น)

คำสำคัญ (Tags): #ศก.พพ.
หมายเลขบันทึก: 319184เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ น้องเซ้ง นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของ "ครูเพื่อศิษย์" อย่างแท้จริง..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท