ชมพูเนกข์
นางสาว ชมพูเนกข์ ตั้งสุวรรณวงศ์

ครูดี นักเรียนดี โรงเรียนดี ชุมชนดี...มีความสุข


ครูเพื่อศิย์...เปลี่ยนชีวิตทั้งชุมชน

            ไม่น่าเชื่อนะคะว่าคนคนหนึ่ง คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองเพราะ “เป็ด”

            จากคนที่ไม่เคยเป็นสามีที่ดีของภรรยา ไม่เคยเป็นพ่อที่ดีของลูก ไม่เคยเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี วันหนึ่งขณะนั่งอยู่เห็นแม่เป็ดเดินนำลูกเป็ดหลายตัว ทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่า แม้แต่เป็ดยังมีความรับผิดชอบ เมื่อคิดได้จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่ดี และขยายผลไปสู่การเป็นคนดี เรื่องราวดี ๆ ที่เป็นตัวอย่างให้กับหลายคนในสังคม คือ เรื่องของชายคนนี้ค่ะ

            ครูหนุ่มใหญ่ วัย 58 ปีมีชื่อว่า นายพูนเกียรติ ศรีปัญญา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสามัคคี ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ โรงเรียนเล็ก ๆ บนพื้นที่ขนาด 11 ไร่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 79 คน และครู 4 คน

            ครูพูนเกียรติ เล่าว่า ย้ายมาที่โรงเรียนแห่งนี้กว่า 3 ปีและพบเห็นปัญหาหลายอย่างจึงทำการศึกษาบริบทของชุมชนซึ่งพบว่าระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนประสบปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เด็กเกียจคร้านในการเรียน ขาดความรับผิดชอบ ไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเริ่มมีการพนันและยาเสพติดเข้ามาในชีวิต

            เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา ก็พบว่า มาจากสภาพทางครอบครัวและชุมชนที่กำลังจะล่มสลาย ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนเป็นหนี้สารพัดหนี้ตั้งแต่หนี้กองทุนหมู่บ้าน  หนี้ธกส. หนี้ SML หนี้นอกระบบที่กู้มาแล้วใช้จ่ายไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น การพนัน เหล้ายา บางคนต้องขายนาใช้หนี้ บางคนหนีหนี้ จนกระทั่งหมู่บ้านเริ่มว่างเปล่าเพราะผู้คนอพยพไปทำงานในเมื่องใหญ่ ปล่อยให้ลูกหลานอยู่กับปู่ย่าตายาย แต่หลังจากทิ้งบ้านไปทำงานในเมืองใหญ่มานานก็ต้องกลับบ้านเพราะโรงงานปิด โดนกดค่าแรง เงินไม่พอใช้เพราะยังฟุ้งเฟ้อ เมื่อกลับมาก็ยิ่งเพิ่มปัญหาในครอบครัวมากขึ้น และที่จนอยู่แล้วก็จนขึ้นไปอีก

            ในแต่ละวันเด็กๆ จะเห็นพ่อแม่นั่งกินเหล้า เล่นการพนัน ทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้เด็กมีปัญหาทางจิตใจ มาโรงเรียนแบบสิ้นหวัง มีพฤติกรรมก้าวร้าวบ้าง ซึมเศร้าบ้าง ทางโรงเรียนจึงคิดหาทางช่วยเหลือโดยเริ่มต้นที่เรื่องปากท้องของนักเรียนเป็นอันดับแรก และวิธีที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือ การนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จึงร่วมทำประชาคมหมู่บ้านและให้โรงเรียนเป็นผู้นำในการพัฒนา

            โครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริจึงเกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 โดยสร้างศูนย์การเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 8 ฐาน คือ การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลา การเพาะเห็ด การทำปุ๋ย การทำนาปลอดสารเคมี การทำข้าวกล้อง และการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ฐานการเรียนรู้เหล่านี้ฝึกให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงและให้ชาวบ้านมาร่วมเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะและประสบการณ์ตรง ทุกวันนี้เกิดผลผลิตในโรงเรียนอันเป็นน้ำพักน้ำแรงของศิษย์และของครูร่วมกัน  ผลผลิตหลายส่วนนอกจากใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันแล้ว ยังสามารถขายเพื่อเพิ่มรายได้หมุนเวียนภายในโรงเรียนอีกด้วย

            กว่าจะเกิดความสำเร็จอุปสรรคย่อมบังเกิดเช่นกัน การทำให้ชาวบ้านยอมรับในตัวครูและทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโรงเรียนและชุมชนนั้น เป็นสิ่งที่ครูพูนเกียรติเล่าได้อย่างเห็นภาพคือ ถูกชาวบ้านตำหนิ(รุมด่า)อย่างมากมาย เช่น ส่งลูกมาเรียน ไม่ได้ให้มาทำนา เป็นต้น แต่ด้วยความตั้งใจ จริงใจชาวบ้าน/ชุมชนก้เริ่มเข้าใจว่า ครูทำทั้งหมดเพื่อใคร และเมื่อหมู่บ้านได้เงินจากโครงการไทยเข้มแข็งจำนวน 200,000 บาท ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันในการได้นำเงิน50,000 บาท มาซื้อเครื่องสีข้าว และอีก 150,000 บาท นำมาซื้อขี้ไก่ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพที่จะใช้ในการปลูกพืชผักของโรงเรียน

            มาวันนี้วิถีชีวิตของชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป ครูพูนเกียรติได้รับเกียรติและความภูมิใจจากการยอมรับจากชุมชนและสังคมอย่างมากมาย   จึงเป็นที่มาของหลายๆรางวัลในนาม”โรงเรียนบ้านสามัคคี” เช่น รางวัลชนะเลิศการประกวดสถานศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานขนาดเล็กของ จ.อำนาจเจริญ ประจำปี 2550, โรงเรียนแบบอย่างการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2550, โรงเรียนดีเด่นด้านคุณธรรมและจริยธรรมระดับประเทศ ประจำปี 2551, รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ดอกผลแห่งความดี ของธนาคารออมสิน ประจำปี 2551, รางวัลเหรียญทอง หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม ของคุรุสภา ประจำปี 2552

            ความสุขของคุณครูคนหนึ่งคงไม่ได้เพียงเพราะรางวัล แต่เพราะปัจจุบันชีวิตของนักเรียนและชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป นักเรียนในโรงเรียนบ้านสามัคคีเข้าใจและใช้ชีวิตตนเองได้ดีขึ้นมีความขยัน อดทน มีความรับผิดชอบ ตั้งใจเรียน เป็นคนดีมีคุณธรรม ครูและชุมชนต่างมีความสุขที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน บางส่วนพ่อแม่ของนักเรียนและพากันลดละเลิกอบายมุขและช่วยสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน ชุมชนและสังคมรอบๆบ้านสามัคคีดีขึ้นตามลำดับ


           เรื่องราวดีๆและหัวใจของความเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็นตัวอย่างของบทเรียนเล็กๆเพื่อก้าวใหม่ของวงการศึกษาไทย    “โครงการครูเพื่อศิษย์” โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ขอร่วมเชิดชูครูเพื่อศิษย์ และเป็นกำลังใจให้ครูพูนเกียรติมีพลังในการทำสิ่งดีๆเหล่านี้ต่อ และร่วมขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยสู่มิติการจัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและสังคมต่อไป  

คำสำคัญ (Tags): #ครูเพื่อศิษย์
หมายเลขบันทึก: 319100เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2009 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาอ่าน
  • มาเชียร์โครงการนี้
  • “โครงการครูเพื่อศิษย์” โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ขอร่วมเชิดชูครูเพื่อศิษย์
  • น่าสนใจมาก
  • อาจารย์หมอวิจารณ์เคยเล่าให้ฟัง
  • มาเกษตรตอนไหนครับ
  • ลองเชคเมล์นะครับ
  • เผื่อพบกัน

ขอบคุณที่นำมาเล่าค่ะ

ดีใจที่ได้รับรู้เรื่องราวของคุณครูพูนเกียรติ ศรีปัญญา

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสามัคคี

ประทับใจผอ.พูนเกียรติค่ะ

ขอเชิดชู และยกย่องในความดีด้วยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท