ในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2549 ผ่านมา
จ๊ะจ๋าได้รับมอบหมายเป็นผู้ช่วยวิทยากรกระบวนการการจัดการความรู้ให้กับเครือข่ายวิถีพุทธ
ซึ่งเป็นกลุ่มคนในระดับผู้บริหารและครูในสถานศึกษา 9 โรงเรียน
ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
หรือเรียกสั้นๆ ว่า ศูนย์คุณธรรม
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
ใน “งานประชุมสัมมนาเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้วิถีพุทธเพื่อพัฒนาคุณธรรมน้อมนำชีวิต”
ณ อาคารเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
จังหวัดปทุมธานี
ทีม
สคส. มีเวลาวันเดียวในการดำเนินการ เมื่อทีม สคส. ไปถึง
กำหนดการแรกคือ การกล่าวต้อนรับและแนะนำศูนย์คุณธรรม
โดยนางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
และต่อจากนั้นเป็น กิจกรรมสัมพันธ์ ใช้เวลา 15 นาที
และกิจกรรมต่อมาทีม สคส. ก็เริ่มใช้เครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลัง
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
คือกระบวนการที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดต้องเล่าเรื่องเล่าเร้าพลังของตน
เรียกกันว่า Story
telling ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีพลังอย่างมาก
พลังสร้างสรรค์ พลังด้านดี
โดยเราเชื่อว่าคนทุกคนมีความรู้ที่อยู่ในตัว
บางครั้งเรายังไม่รู้ตัวว่ามีความรู้นั้นอยู่
จนเมื่อมีคนมาซักถามและอยู่ในบรรยากาศที่เปิดใจ เป็นอิสระ
ไม่มีถูกหรือผิด จึงเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนจะเล่าเรื่องดีๆ ที่ตนได้ทำ
ได้ปฏิบัติออกมาให้เราทราบ
เช่นเดียวกันกับเวทีนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสำเร็จของตนตามหัวปลา
นั่นคือ การพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียน
พบว่ามีเรื่องเล่าดีๆ
มากมายที่จ๊ะจ๋าได้รับและเรียนรู้จากกลุ่มนี้
และการเล่าจะทรงพลังมากกว่านี้คือการที่ผู้เล่าด้วยรอยยิ้ม
ดวงตาเปล่งประกาย มีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่าเรื่องนี้
ทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกสนใจ มองและฟัง อย่างตั้งใจ มีการซักถามตลอด
จะทำให้ผู้เล่ามีความรู้สึกว่าอยากเล่ามากขึ้น.....ก็มีคนสนใจเราฟังนี่....ยิ่งทำให้ผู้เล่ามีพลังที่อยากจะเล่า
และในกิจกรรมนี้ จ๊ะจ๋าได้ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยในกลุ่ม 2
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม และในกลุ่ม 2 นี้ มีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา
ครูอาจารย์
และศึกษานิเทศก์จากสำนักงานพื้นที่การศึกษาในเขตสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
9 แห่ง จำนวน 12 คน ซึ่งเราได้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ
ที่ออกจากปากผู้เล่าพลั่งพลูมามากมาย
เป็นเรื่องที่จ๊ะจ๋าฟังแล้วอยากให้ครูคนอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีนี้ได้นำไปใช้บ้างจัง
และเราก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ
ซึ่งเรื่องที่นำเสนอมาจากการคัดเลือกภายในกลุ่ม
และกิจกรรมสุดท้ายของวันนั้นคือ AAR
(After Action
Review)
ความประทับใจที่จ๊ะจ๋าได้รับ เรื่องแรก คือ
ตั้งแต่มาถึงห้องประชุมก็ได้รับเอกสารมากมายที่ทางศูนย์คุณธรรมแจกและมีประโยชน์ต่อผู้ได้รับมากคือ
- นิทานคุณธรรม “สื่อรัก สื่อคุณธรรม” เรื่อง สัตว์ประหลาด...ของอารี, วันแห่งความรัก,
เด็กชายขี้ตู่
- การประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และตลาดนัดคุณธรรม
ครั้งที่ 7
- รายงานการวิจัยสังเคราะห์สัจจะอธิฐานวันวิสาขบูชา
เรื่อง สัจจะอธิฐาน :
ปณิธานทำความดีร่วมกัน
- มนต์เพลงศาสนา
- ปาฐกถานำ เรื่องคุณธรรม-จริยธรรม โดย ศ.นพ.
ประเวศ วะสี
- คู่มือ รักพ่อแม่
- วารสารคุณธรรม
โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
เรื่องที่สองคือการได้รับฟังเรื่องเล่าดีๆ
จากกลุ่ม 2 ได้แก่
การนำกิจกรรมให้เด็กนักเรียนสร้างสมาธิ เช่น การเดินจงกลม
การนั่งสมาธิก่อนเข้าเรียน
การปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กโดยเริ่มจากเด็กอนุบาล
โดยครูปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น เช่น การเก็บขยะ มารยาทในการไหว้
- มีการสอดแทรกกิจกรรมคุณธรรมทุกเวลา เช่น
การเข้าแถวโดยให้เด็กโตประเมินตนและเด็กรุ่นน้องเอง
การพิจารณาอาหารในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวันเพื่อทำให้เด็กรู้ซึ้งถึงคุณค่าอาหาร
ฝึกความอดทน เสียสละ แบ่งปัน มีน้ำใจ รู้จักการรอ
การช่วยทำความสะอาดในโรงเรียน
กิจกรรมสหกรณ์
โดยเด็กสามารถหยิบสิ่งของภายในสหกรณ์และจดบันทึกสิ่งของที่เอาไป
เพื่อฝึกเด็กมีความซื่อสัตย์
- กิจกรรมต่างๆ
ที่ส่งเสริมพุทธศาสนา เช่น การทำบุญในวันสำคัญของพุทธศาสนา
การบวรสามเณรภาคฤดูร้อน
-
โครงการคีตพัฒนาจิต
ร.ร. บ้านน้ำใส จ.ระยอง โดยนำเด็กชั้นประถม 4 จนถึงชั้นมัธยมชั้นปีที่
3 จำนวน 111 คนเข้าค่ายที่วัดใกล้โรงเรียน 1 วัน
ซึ่งมีกิจกรรมที่สอนคุณธรรม จริยธรรม เช่น การใช้เพลงนำบทเรียนคุณธรรม
ฝึก การพูด การยืน การเดิน การนั่ง การประนมมือ การไหว้ การกราบ
การแสดงความเคารพ การเข้าพบผู้ใหญ่และรับของจากสงฆ์
ความสำเร็จของโครงการเหนือความคาดหมายนอกจากจะพัมนาคุณธรรมเด็กแล้ว
นั่นคือการประสานใจระหว่างวัดและโรงเรียน
- โครงการยุวฑูตความดี
เน้นมารยาทตามแนวพุทธ ร.ร. บ้านคลองหลวง จ. สมุทรปราการ
- การเขียนความดีลงในสมุดประจำตัว
ของเด็กอนุบาล ร.ร.วัดสามัคคีสุทธาวาส
ซึ่งเด็กชั้นอนุบาลไม่สามารถเขียนได้ เมื่อตนได้ทำความดี
ก็จะนำเรื่องความดีที่ตนได้ทำ แจ้งแก่ครูประจำชั้น
เพื่อให้จดบันทึก ครูจะชื่นชมยินดี
ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
- การใช้ธรรมชาติบูรณาการเป็นแหล่งสอนวิชา
เช่น วิชาพุทธศาสนา ให้เด็กได้เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เปรียบเสมือน
ต้นกล้า ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เหี่ยว และต้นไม้ตาย ในสวนป่า
- การเข้าค่ายฤดูร้อน “ค่ายกิน อยู่ ดู ฟัง
เป็น”
เรื่องเล่าของคุณอรทัย ลิ้มศีรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
จ.
จันทบุรี (3 วัน 2 คืน) ได้จัด 2
รุ่นมาแล้ว โดยรุ่น 1 มีจำนวน 50 คน รุ่น 2 มีจำนวน 80 คน
มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น
- การนั่งสมาธิ
- การเข้าฐาน (การฝึกกราบไหว้
ฝึกสวดมนต์ การวิเคราะห์ข่าว
โดยได้คุณธรรมจริยธรรมจากข่าว ตลาดนัดความดี เล่าเรื่องจากประโยค)
ตลาดนัดความดี
คือการให้นักเรียนเขียนความดีของตนลงในกระดาษและให้เด็กนำเสนอความดีนั้นให้ครูเป็นผู้ซื้อ
และจัดกลุ่มความดี ได้แก่ การกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความดีต่างๆ
จากฐานนี้เป็นการฝึกกระบวนการคิด
เรื่องเล่าจากประโยค
โดยให้นักเรียนกลุ่มแรกคิดและเขียนประโยคตามใจ
กลุ่มถัดไปให้เรียบเรียงประโยคเป็นเรื่อง กลุ่มต่อไปให้ขัดเกลาเรื่อง
อาจมีการเพิ่มหรือเสริมเรื่องนั้น กลุ่มต่อไปให้วาดรูปประกอบเรื่อง
กลุ่มถัดไปวิเคราะห์คุณธรรมและกำหนดสัญลักษณ์ของเรื่อง
และกลุ่มสุดท้ายแสดงบทบาทสมมุติจากเรื่องที่เพื่อนทำไว้แล้ว
จากการเข้าค่ายนี้ พบว่าเด็กได้ฝึกกระบวนการคิด
มีความเชื่อมั่นในความดีของตน มีภาวะผู้นำ ประพฤติตัวดีขึ้น
และจากเรื่องเล่าทั้งหมด ทีม สคส.
สรุปประเด็นจากเรื่องเล่าได้ดังนี้
1. ผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนมีความตระหนัก ตรึงใจ
ร่วมมือและปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก
2. ผู้ปกครองและชุมชน
ส่งเสริมให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของโรงเรียนทั้งในเรื่องงบประมาณ
เวลา บุคลากร
3. พระและวัด เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการดำเนินงาน
การพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียน
4. เด็กนักเรียนมีการสร้างแกนนำเด็กในโรงเรียนที่เข้มแข้ง
มีภาวะผู้นำ
5. รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายและมีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
ภายใต้บรรยากาศเหมาะสมกับการเรียนรู้คุณธรรม
6. การบูรณาการกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน:
แหล่งธรรมชาติ
เรื่องที่สาม คือการได้ชม VCD หลายเรื่องที่ศูนย์คุณธรรมได้จัดทำขึ้น
ไม่ได้จำหน่าย
แต่สามารถขอได้โดยการทำหนังสือส่งไปยังศูนย์คุณธรรม
เรื่องที่จ๊ะจ๋าได้ชมได้แก่
-
การ์ตูน “ การทำความดี”
-
เรื่องค่ายยุวชนศาสนาสัมพันธ์
เป็นเรื่องราวของการนำเยาวชนทั้ง 3
ศาสนาได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม เข้าร่วมกิจกรรมในวันศุกร์ เสาร์
และอาทิตย์ โดยนำเยาวชนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมของแต่ละศาสนา คือ
วันศุกร์ไปที่มัสยิด วันเสาร์ไปวัด และวันอาทิตย์ไปโบสถ์
- มิวสิค
เพลงโกธรไปทำไม ซึ่งพระวรพล จ. สตูล ได้จัดทำขึ้น
เพื่อให้ทุกคนหันมารักการเรียนธรรมะ
- การปฏิบัติธรรมในทัณฑสถานหญิงกลาง
ของผู้ต้องหาประหารชีวิต
สรุปแล้วว่าวันนี้คุ้มค่ามั๊กมากทั้งผู้ให้และผู้รับ
และจ๊ะจ๋าถือว่าวันนี้เป็นวันที่ได้ใช้เวลาคุ้มค่าจริงๆ
ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆกับผู้เข้าร่วมสัมมนา
เป็นความประทับใจที่หาอะไรเปรียบไม่ได้เลยคะ
ขอบคุณมากคะคุณหมอและที่ให้ข้อเสนอแนะในการอ่าน และขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่าน