ซ.ซวง
นาย นพรัตน์ รัตนพงศ์ผาสุข

กิจกรรม SMART ที่ ศป. ครั้งที่ 1/2 (19 พ.ย. 52)


แล้วอะไรหรือคือ “รากฐาน” ขององค์กร???

 19 พ.ย. 52

วันนี้ ชาว ศป. อีกราวสี่สิบกว่าชีวิต ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรณรงค์สร้างวัฒนธรรมองค์กร

ครั้งที่ 1 รอบที่ 2  (ครั้งที่ 1 จัดไปเมื่อ 17 พ.ย. 52 ตามบันทึกก่อนหน้านี้)

 

รูปแบบกิจกรรมในวันนี้ ก็จะคล้ายๆ กับที่ลงไว้ให้เชยชมกันใน กิจกรรม ครั้งที่ 1/1  สิ่งที่ต่างออกไปก็เห็นจะมีแต่สมาชิกขบวนการ SMART AEROTHAI หน้าใหม่ๆ จาก ฟท.ศป อส.ศป และ ผก.ศป   ที่แวะเวียนผลัดเปลี่ยนมาเข้าร่วมกิจกรรมกัน  ซึ่งหากนับถึงวันนี้  ก็จะมีคน ศป. ประมาณ 50 % ของฝ่ายแล้วนะครับ ที่เข้าร่วมขบวนการนี้   สำหรับในกิจกรรมครั้งที่ 1 นั้นก็ยังเหลืออีกสองรอบ ที่จะจัดกันในราวกลางเดือน ม.ค. 53  และนั่นก็จะทำให้ ก้าวแรกของการเป็น SMART AEROTHAI ในฝ่าย ศป. นั้น ครบจำนวน 100 % ของพนักงานในสังกัด  

 

จังหวะก้าวเดินบนเส้นทาง SMART ของ ศป. นั้นแม้จะดูไม่หวือหวา แต่ก็ดูมั่นคงดีครับ เดินกันไปแบบสบายๆ   แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ความพร้อมเพรียงและให้ความร่วมมือของพนักงาน ศป. น่าจะมาจากการให้ความสำคัญในเรื่อง SMART ของ ฝ่ายบริหารทุกระดับ ที่ทั้งลงมาทั้งให้กำลังใจ และสังเกตการณ์อยู่ใกล้   ซึ่งทำให้ทั้งพนักงานในสังกัด รวมทั้งคนนอกฝ่ายที่ไปสังเกตการณ์นั้นต่างรับรู้ได้ว่า ฝ่ายนี้เค้าเอาจริงเรื่อง SMART แน่นอน 1000 %

 

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ก็คงจะขอเล่าบรรยากาศด้วย VDO Clip เหมือนเดิมครับ

และคงจะไม่ขออนุญาตลงในรายละเอียดมากนัก  เพราะขั้นตอนของกระบวนการต่างๆ ก็จะคล้ายกันกับกิจกรรมในรอบแรกที่ผ่านมา  

เริ่มจากกิจกรรม SMART Warm Up ด้วยเกม “เจงก้า” ลุ้นระทึก ตึกถล่ม เหมือนเดิม  แต่วันนี้ ผู้นำกระบวนการในช่วงนี้มี “พี่ปอง” ผลัดกันมาช่วยสร้างสีสันแทนอาจารย์อี๊ด 

 

<พี่ใหญ่...นำทัพออกศึก>

 

<ซวยเลยเรา...แค่จิ้มเบาๆ ก็พังแล้วเหรอ> 

 

เกมเจงก้านี้ ก็จะมีการเล่นเป็นสองรอบเหมือนเดิม รอบแรกออกมาเล่นทุกคน  สลับกันไปในแต่ละกอง  ส่วนในรอบที่สอง ให้แต่ละกอง หารือกันว่าจะเล่นอย่างไรดี  จะส่งมือฉกาจมาฉายเดี่ยว  หรือจะส่งเป็นทีม  หรือจะเล่นกันทั้งหมดทุกคนก็ตามอัธยาศัย

 

 

<ความมุ่งมั่น...ของหญิงสาว> 

 

<เมื่ออะไรบางอย่างเริ่มไม่เข้าที่...พี่คนนี้อาสาจัดระเบียบก่อน>

 

 

<แต่ก็ยังมิวาย...เป็นไปตามกฏ "อนิจจัง">

 

ผ่านไปสองรอบของเกมเจงก้า ใช้เวลาเกือบๆ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ให้ตัวแทนกองต่างๆ แสดงความคิดเห็นเล็กๆ น้อยเกี่ยวกับเกมส์ที่พึ่งเล่นจบกันไป

<ความในใจ...ของชายหนุ่ม>

 

<มุมมองที่ลึกซึ้ง...จากพี่...ถึงน้อง>

 

<และนี่...น้องขอบอก>

 

ต่อมา พี่วุฒิก็พาชม VDO SMART AEROTHAI แล้วก็เกริ่นนำที่มาที่ไปของการใช้ Dialogue ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร SMART

 

<ทำไม SMART AEROTHAI ต้องใช้ Dialogue...พี่เค้ามีคำตอบ>

 

จากนั้นก็ถึงตาของพี่อ๊อดมาแนะนำกระบวนการ Dialogue ประมาณ ครึ่งชั่วโมง

 

<ทำไมสุนทรียสนทนาต้องพูดกันดีๆ...พี่เค้าก็มีคำตอบ>

 

แล้วทั้งหมดก็มาตั้งวงจั่ว เอ้ย!!!  ตั้งวง SMART Talk สนทนากันแบบสุนทรีย์  ก็ยังคงยึดการแบ่งคนลงวงสนทนาโดยแยกตามกองเป็นหลัก เพื่อให้ต่อเนื่องกับการเล่นเกมส์เจงก้าในช่วงเช้า  ที่แบ่งเป็น 3 ทีมตามกอง (ฟท.ศป.  อส.ศป. และ ผก.ศป)  โดยในแต่ละวงก็จะมี Fa และ Note Take ลงประจำวงเหมือนเดิม

 

หลังจากปล่อยให้วงได้คุยกันไปราวหนึ่งชั่วโมง พี่อ๊อดก็ยุติการสนทนา  จากนั้นก็แนะนำดัชนีชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการ Dialogue ด้วยสูตรบันได 4 ขั้นของ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ

 <ไปถึงกันมั๊ย...I in You>

 

หลังจากนั้นก็ให้ สมาชิกในวง และ Fa  ผลัดกันสะท้อนเนื้อหาในวงสนทนา

<พี่เค้าบอกว่าถึงเหมือนกัน...แต่ที่ไหนยังไม่รู้นะ>

 

<Fa บอกว่าถึงที่ไหน...แค่ I in it เองนะพี่>

 

 

<ตึกถล่ม กะ พรหมวิหาร...เกี่ยวกันยังไง...น้องวัยใสขอเฉลย>

 

<จากเจงก้า...สู่โครงสร้างองค์กร...ไปได้ๆ>

 

<วงนี้ก็ไปไกล...ไม่อยากให้องค์กรล้ม...ทุกคนต้องช่วยกัน>

 

สุดท้ายที่ขาดเสียไม่ได้ แทบกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการรณรงค์ SMART ศป. ไปแล้วว่า จะปิดกิจกรรมกันด้วย สุนทรพจน์สดๆ จากผู้ใหญ่ใจดี  ซึ่งครั้งนี้  ท่าน รวท.บห. ที่แอบสังเกตการณ์อยู่เงียบ  ก็ได้ขึ้นมากล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้กำลังใจแด่ทีมงาน และฝากแง่คิดดีๆ เกี่ยวกับ SMART AEROTHAI ไว้เป็นการบ้าน

 

<สุนทรพจน์...สดๆ...จากใจท่านรองฯ>

 

<ท่านฝากไว้...ให้ไปช่วยกันคิด...ช่วยกันทำ>

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของกิจกรรมในครั้งนี้

  1. ท่าทีของฝ่ายบริหาร  จากกิจกรรมทั้งสองครั้งของ ฝ่าย ศป. ที่ผ่านมา  ท่าทีของฝ่ายบริหาร ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง SMART AEROTHAI นั้นเด่นชัดมาก  โดยเฉพาะบทบาทของ รวท.บห. ฝศป. และผู้อำนวยการกองในสังกัด    ที่ได้มาเข้าร่วมสังเกตการณ์ และให้กำลังใจในตลอดการทำกิจกรรมทั้งสองครั้งอย่างพร้อมเพรียงนั้น  ทำให้พนักงานในสังกัด ตลอดจนผู้สังเกตการณ์สามารถรับรู้ได้ถึงความตั้งใจจริงและเป็นหนึ่งเดียวของทีมฝ่ายบริหาร    ซึ่งสภาพแวดล้อม และบรรยากาศเช่นนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะนำให้พนักงานในสังกัด ศป. ก้าวไปสู่ความเป็น SMART AEROTHAI ได้อย่างมั่นคง

  2. การบูรณาการกิจกรรมในกระบวนการเรียนรู้  เริ่มจากการใช้การเล่นเกมส์ “เจงก้า”  ซึ่งถือเป็น  input  ที่จะกระตุ้นให้คนคิดเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี   ด้วยวิธีการเล่นที่เรียบง่าย  ในบรรยากาศที่สนุกสนาน ลุ้นระทึก และไม่มีข้อจำกัดต่อการเข้าร่วมกิจกรรม  ทำให้เล่นกันได้ทุกคน   ซึ่งเมื่อผนวกกับ การใช้กระบวนการ Dialogue ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะเปิดพื้นที่ ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น  เป็นเวทีแห่งการคิดร่วมกัน  เรียนรู้ร่วมกัน  จึงเป็นความสำเร็จของกระบวนการในการสร้าง Team Learning ได้ตามวัตถุประสงค์  และถือเป็นปฐมบทแห่งการสร้างรากฐานสำคัญที่จะนำ ศป. ไปสู่การเป็น SMART AEROTHAI และ Learning Organization

  3. สมาชิกในวงสนทนา  เป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลมากต่อความสำเร็จของกระบวนการ  เห็นได้ชัดจาก บรรยากาศการสนทนาในวงหนึ่ง ดูจะไม่เคลื่อนไปข้างหน้า และไม่เกิด Meaning Flow เท่าที่ควร  ซึ่งพี่วุฒิได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในวงสนทนาไว้ว่า  น่าจะยังอยู่ที่ระดับของ I in Me และ I in It   เนื่องจากทั้งกลุ่มยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหา  ซึ่งได้แก่เกมส์ เจงก้า   ด้วยอาจจะไม่เข้าใจถึงเจตนารมย์ของทีมผู้จัด ที่ต้องการใช้เกมส์เป็นการสื่อความหมายเรื่องวัฒนธรรมองค์กร          

    แต่ในขณะที่อีกวงหนึ่งนั้น  ก็ดูจะเริ่มต้นไม่แตกต่างกัน  พวกเขาต่างจับความรู้สึกได้ถึงความไม่สร้างสรรค์ที่แฝงอยู่ในกฎกติกาการเล่นเกมส์เจงก้า     แต่ทว่า  เมื่อมีใครบางคนเริ่มพยายามที่จะมองนอกกรอบ ด้วยการพยายามจะสร้างสรรค์กติกาการเล่นใหม่  เพื่อไม่ให้เกมส์มีจุดจบด้วยการพังถล่มของชิ้นไม้  

    นอกไปจากนั้น  ยังมีการมองนอกกรอบนอกกติกาไปถึงเรื่องการ “เสริมรากฐาน”  เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของชิ้นไม้ในเกมส์เจงก้า   และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการ พลิกมุมมอง และเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นของเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด   ดังนั้น ความคิดเชิงบวก และมุมมองนอกกรอบของสมาชิกในวงสนทนา จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่มีผลมากต่อความสำเร็จของกระบวนการในภาพรวม

  4. Facilitator  เป็นปัจจัยเสริมอย่างหนึ่งต่อความสำเร็จของกระบวนการ Dialogue  (ขออนุญาตยกกรณีศึกษาเฉพาะวงที่ผมได้มีโอกาสเป็น Fa นะครับ)  สำหรับกระบวนการ Dialogue  ในวันที่ 17 พ.ย. 52 นั้น  Fa (ผมเองแหละครับ)  คุมสติไม่อยู่  ร้อนรน และกังวลมากๆ กับการนำพากลุ่มสนทนาให้ไปถึงเป้าหมายเรื่อง SMART   

    ในวันนั้นเราเริ่มคุยจากมุมมองเกี่ยวกับเกมส์เจงก้า  ที่ทุกคนได้เล่นกันในช่วงแรก   แต่คุยกันไม่ทันไร ผมก็เร่งวงให้ไปถึงเนื้อหาการพูดคุยเรื่อง SMART ด้วยการถามคำถามชี้นำวง   ผลของการสนทนาในวันนั้นจึงดูแข็งๆ ไม่มีอะไรที่น่าประทับใจเลย  ทั้งบรรยากาศ Dialogue ก็ไม่มีให้เห็น  (เพราะ Fa ทำลายมันซะเอง) 

    ในส่วนของ SMART นั้นก็ไม่แน่ใจจริงๆ ว่า คนในวงจะคิดเห็น หรือรู้สึกอย่างไร       แต่หลังจากได้กลับไปทบทวนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น  ก็ได้ตั้งใจไว้ว่า  วันนี้จะไม่พยายามชี้นำกลุ่ม และไม่พยายามเร่งวงสนทนาให้ไปถึงเนื้อหาเรื่อง SMART AEROTHAI   จะไม่กังวลกับเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง  และจะต้องฟังกลุ่มให้มากขึ้น   

    ผลก็คือ ตัวเองรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น  และบรรยากาศการสนทนาภายในกลุ่มนั้นก็เป็นไปอย่างราบรื่น  และถือว่ามี Meaning Flow  ที่ทั้งกลุ่มได้มองเห็นร่วมกัน และกลุ่มสามารถเชื่อมโยงความหมาย และนัยยะที่ลึกซึ้งของเกมส์ เจงก้า ที่มีต่อเรื่องวัฒนธรรมองค์กร SMART AEROTHAI   ได้เป็นอย่างดี    

    บทเรียนของอันล้ำค่าของ Fa มือใหม่อย่างผมในวันนี้ก็คือ จงผ่อนคลาย ไม่คาดหวัง  ให้พลังของกลุ่มนำพา แล้วทุกอย่างจะดีเอง

 

ความหมายที่ลื่นไหลในวงสนทนาวงหนึ่ง: จากเกมส์ตึกถล่มสู่พรหมวิหาร 4

ผมไม่คาดคิดเลยว่า ผลจากการเล่นเกมส์เจงก้านั้นจะเปิดพื้นที่ทางความคิด ให้เราได้คิดทบทวนถึงเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ผ่านมาได้อย่างมีพลังเช่นนี้  

ผมยังจำความรู้สึกได้ดีว่า  ในกิจกรรมวันที่ 17 พ.ย 52 นั้น  ผมไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไรมากมายเกี่ยวกับเกมส์เจงก้าเลย   แถมยังตัดสินด้วยความคิดที่ตื้นเขินว่า เกมส์นี้มันก็เป็นแค่เกมส์ที่เล่นกันเอามันส์  และไม่เห็นจะเชื่อมโยงไปกับเรื่องวัฒนธรรมองค์กรตรงไหนเลย  แถมกติกาการเล่นเองก็ดูจะออกแนวทำลายล้างกัน กีดกัน แข่งขันกัน  เพื่อที่จะให้เราเป็นผู้ชนะ   

ในวันนั้นผมเชื่อมโยงไม่ได้จริงๆ ครับว่า ด้วยกฎกติการแห่งการทำลายล้างกันนั้นจะนำไปสู่การสร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรที่ดีงามได้อย่างไร  และนี่ก็อาจเป็นสาเหตุนึงกระมัง ที่ทำให้การทำหน้าที่เป็น Fa ของผมในวันนั้นล้มเหลว

แต่ในวันนี้  วันที่ผมมีโอกาสนั่งทำหน้าที่เป็น Fa อีกครั้งในวง Dialogue ของกอง ฟท.ศป.  ผมต้องขอขอบคุณต่อโอกาสและโชคชะตา ที่ดึงดูดให้ผมมานั่งในวงสนทนาวงนี้  และต้องขอบคุณอย่างสูงต่อทีมงานที่ยังไว้วางใจ และให้โอกาสแก้ตัวกับความผิดพลาดที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ การสนทนาในช่วงต้นนั้น  พวกเราเริ่มกันด้วยความรู้สึกที่มีต่อการเล่นเกมส์เจงก้า  ซึ่งหลายๆ คนเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า ดูกฏกติกามันออกแนวทำลายล้าง ไม่สร้างสรรค์เลยนะ  (อยากจะบอกว่า คิดเหมือนกันเลย)  

แต่แล้วหลายๆ คน ก็เริ่มมองในมุมใหม่ เริ่มพูดถึงการสร้างกฎกติกาใหม่ เพื่อให้การเล่นเกมส์เป็นไปอย่างสร้างสรรค์   และพลันก็มีเสียงแห่งความคิดนอกกรอบของน้องคนหนึ่งในวงที่เอ่ยขึ้นมาว่า

 

 “ทำไมเราไม่เสริมฐานให้มั่นคงล่ะ ”

 “ทำไมเราต้องทำให้มันสูงขึ้น ยิ่งสูงขึ้น รากฐานมันก็ยิ่งไม่มั่นคง” 

 

 เสียงของน้องคนนั้นยังก้องในโสตประสาทผมจนถึงตอนนี้  จริงสินะ  ทำไมเราถึงไม่ลองมองนอกกรอบแบบน้องเค้าบ้าง  หากกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน มันเริ่มต้นด้วยการแข่งขัน แก่งแย่ง กีดกัน  เพื่อที่จะตะกายขึ้นสู่เบื้องสูง เหมือนดังที่เราเล่นในเกมส์เจงก้า  ไม่ช้าไม่นาน  องค์กรทั้งหมดก็จะพังครืนลงมา  เหมือนกับเศษชิ้นไม้ที่หล่นลงมากองรวมกันเหล่านั้น

น้องคนนั้นยังกล่าวต่อไปว่า 

 

“องค์กรเราไม่จำเป็นต้องสูงเสียดฟ้า แต่ควรเน้นฐานรากให้มั่นคง น่าจะทำให้องค์กรยั่งยืนยาวนานกว่า”  

 

เขายังกล่าวต่อไปว่า 

“เพียงแค่พวกเราเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยหลักพรหมวิหาร 4  มี เมตตา กรุณา ต่อกันให้มากขึ้น แค่นี้องค์กรก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน”

 

การสนทนาในวงจบลงไปนานแล้ว

แต่ยังมีคำถามบางคำถามที่ยังวนเวียนในหัวผม

อะไรล่ะหรือคือ  “รากฐาน” ขององค์กร???

ทำอย่างไรที่จะให้ “รากฐาน” นั้นมั่นคง เพื่อให้องค์กรแห่งนี้ไม่พังครืนมาเหมือนกับเกมส์เจงก้า???

และทั้งหมดก็คือ อีกหนึ่งสีสันของการก้าวย่างบนเส้นทาง SMART AEROTHAI ด้วยการบูรณาการ พลานุภาพแห่งเกมส์เจงก้า  เข้ากับกระบวนการสุนทรียสนทนา

หมายเลขบันทึก: 318776เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2009 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บรรยายเห้นภาพเลย

ขอบคุณครับ

แหม...ก็อยู่ด้วยกันก็ต้องเห็นภาพสิครับ

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ ท่านและครอบครัว พบแต่ความสุข ความเจริญตลอดไปเทอญ

เขียนดีมากเลย เห็นภาพเหมือนที่น้องน้ำแข็งกล่าวมา เป็นบันทึกการทำกิจกรรมในรอบทศวรรษของชาว AEROTHAI ที่ควรจดจำจากรุ่นสู่รุ่นค่ะ

P

P

P

ขอบคุณกัลยาณมิตรทั้งสามท่านนะครับ

ที่แวะเวียนมาทักทาย

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกาย สุขใจ อยู่เนืองๆ นะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท