ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เพราะ “พ่อ” คือ “พระพรหม (ผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่) ของลูก”


คำถามในปัจจุบันคือ ลูกๆ หลายคนพากันไปกราบไหวพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณเพื่อขอพรจากท่าน แต่เรามักจะที่จะหลงลืมไปว่า “ยังมีพระพรหมอีกท่านที่เรายังไม่ค่อยได้กราบ หรือไม่เคยกราบ เพื่อขอพรจากท่านเลย นั้นคือ “พ่อของเรา”

     พระพุทธศาสนาได้ให้คำนิยามของผู้ชายคนหนึ่งที่ได้รับการเรียกขานว่า “พ่อ” (ชนก)  แปลตามรูปศัพท์ว่า “ผู้ให้เกิด หรือให้กำเนิด”  ซึ่งหมายความว่า พ่อมีหน้าที่หลักในการเป็นผู้ให้แก่ลูกใน ๒ หน้าที่

     (๑) หน้าที่ในการให้เกิดเนิดทางกาย  กล่าวคือ เป็นผู้ให้ลูกเกิดทางร่ายกาย ทางร่างกายนอกเหนือจากให้ให้เกิดขึ้นมาแล้ว ยังหมายถึงการทำหน้าที่ในการอุปถัมภ์ค้ำชูดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่เพื่อให้ลูกสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด

     (๒) หน้าที่ในการให้กำเนิดทางใจ  กล่าวคือ การให้คำแนะนำ อบรม สั่งสอน หรือให้ทางเลือกในการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง และเหมาะสมตามทำนองครองธรรม

      หน้าที่ในการให้ทั้งสองประการดังกล่าว การให้เกิด หรือให้กำเนิดทางใจ นับเป็นประเด็นที่สำคัญ และท้าทายแก่ “คุณพ่อ” ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะการให้กำเนิดในลักษณะนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของลูกทั้งชีวิต ถือว่าเป็นการ “ให้ปัญญา” และความมั่นใจแก่ลูกซึ่งมีผลต่อการเลือกเดินทางของลูกโดยที่พ่อไม่จำเป็นต้อง “ห่วงหน้าผะวงหลัง” หรือสงสัยในศักยภาพของลูก

     พระพุทธศาสนาได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของคำว่า “พ่อ” ดังกล่าว จึงได้วางกรอบที่เป็นหลักการปฏิบัติ เพื่อให้ “พ่อ” ได้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ทั้งสองมิติดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

     ๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
     ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
     ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
     ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
     ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร

     อย่างไรก็ดี พระพุทธศาสนาได้เปิดโอกาสให้ “ลูก” ได้ปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นลูกให้สมบูรณ์โดยการปฏิบัติต่อ “พ่อ” เช่นกัน คือ

     ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
     ๒. ช่วยทำกิจของท่าน
     ๓. ดำรงวงศ์สกุล
     ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
     ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน

      ถึงกระนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อที่จะเป็น “ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่”  ผู้ชายคนหนึ่งในฐานะที่เป็น “พ่อ” อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการดูแล “บุตร” ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้วางหลักการเพิ่มเติมเพื่อเป็นเครื่องมือ หรือหลักการในการพัฒนา หรือสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ “พ่อ” โดยใช้หลัก ๔ ประการ คือ

     (๑)   รักลูก ปรารถนาดีต่อลูกในฐานะที่เป็นเลือดเนื้อของตัวเอง (เมตตา)
     (๒)  สงสารลูก เมื่อลูกมีความทุกข์ ส่งเสริม และให้กำลังใจ และเข้าไปให้การช่วยเหลือทุกครั้งที่ลูกประสบความผิดหวังหรือล้มเหลว (กรุณา)
     (๓)  เบิกบาน และแสดงความยินดีโดยการให้กำลังใจเมื่อเห็นลูกของตัวเองกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งประสบความสำเร็จ (มุทิต)
     (๔)  การหมั่นที่จะเฝ้าดู และวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่ลูกกำลังใช้ชีวิตเพื่อกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือทันที และทุกเวลาที่ลูกต้องการความช่วยเหลือ (อุเบกขา)

     หลักการทั้ง ๔ ประการข้างต้นเป็นหลัก “พรหมวิหารธรรม” หรือ “ธรรมะที่ทำให้พ่อเป็นประดุจพรหม หรือ ผู้ที่ประเสริฐ” ฉะนั้น “พ่อ” จึงเป็นประดุจพระพรหม คือผู้สร้างลูก เพราะประกอบไปด้วยคุณธรรม ๔ ด้านดังกล่าว  การปฏิบัติตนต่อลูกเช่นนี้  จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่ “ลูก” จะปฏิเสธการเคารพ บูชา กราบไหว้ บุคคลที่เป็นประเด็จพระพรหม 

     อย่างไรก็ดี คำถามในปัจจุบันคือ ลูกๆ หลายคนพากันไปกราบไหวพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณเพื่อขอพรจากท่าน  แต่เรามักจะที่จะหลงลืมไปว่า “ยังมีพระพรหมอีกท่านที่เรายังไม่ค่อยได้กราบ หรือไม่เคยกราบ เพื่อขอพรจากท่านเลย นั้นคือ “พ่อของเรา”

     ขอให้เราในฐานะที่เป็นลูกได้ใช้เวลาอันพิเศษเช่นนี้ (ทั้งที่เรามีโอกาสพิเศษทุกวัน) เข้าไปกราบท่าน ขอพรท่าน สักการะท่าน และบูชาท่าน และกระซิบข้างหูท่านว่า “ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่ท่านเพียรสร้างเพื่อเรา และทำให้เรามีวันนี้” และ “เราจะเป็นคนดีของพ่อ” ตลอดไป

คำสำคัญ (Tags): #วันพ่อแห่งชาติ
หมายเลขบันทึก: 318349เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2009 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรามีพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีธรรมะที่ควรนำไปปฏิบัติ ขอบคุณสำหรับธรรมะดี ๆ ครับ

อนุโมทนาขอบใจ "กบนอย" มาก ที่แวะมาเยี่ยม

กราบนมัสการพระคุณเจ้าด้วยความเคารพ

  • มาติดตามอ่านข้อธรรมจากบทความดีๆ ครับ
  • อ่านแล้งซาบซึ้งใจครับ โดยเฉพาะคำที่ว่า "“ยังมีพระพรหมอีกท่านที่เรายังไม่ค่อยได้กราบ หรือไม่เคยกราบ เพื่อขอพรจากท่านเลย นั้นคือ “พ่อของเรา”"
  • ขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ

ขอบใจมากที่โยมณัฐวรรธน์ได้แวะมาเยี่ยมและแสดงความเห็น

*** กราบนมัสการท่านที่ให้ธรรมเป็นทาน

*** และขอบุญกุศลบังเกิดแก่พ่อด้วยค่ะ

ขอบใจมากที่โยมณัฐวรรธน์ได้แวะมาเยี่ยมและแสดงความเห็น

นมัสการพระคุณเจ้า

"พ่อเป็นพระของลูก"

คำนี้ มีเป็นตัวอย่างให้อย่างดีที่สุดเจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท