เพลงพื้นบ้านเยาวชนสุพรรณฯ ตอนที่ 1 จากห้องเรียนสู่เวทีการแสดงอาชีพ


ครูเป็นที่พึ่งบนเวทีการแสดงจนกระทั่งเขามีความเข้มแข็ง ละหน้าได้ ปล่อยให้เขาคิดเองได้

เพลงพื้นบ้านเยาวชนสุพรรณฯ

ตอนที่ 1 จากห้องเรียนสู่เวทีการแสดงอาชีพ

(จากระดับท้องถิ่นถึงประดับประเทศ)

โล่รางวัลชนะเลิศ จาก รัฐสภา ปี 2552 

        ก่อนที่ผมจะเริ่มเรื่องเล่าจากประสบการณ์ในบล็อกเพลงพื้นบ้าน ตอนที่ 1 “จากห้องเรียนสู่เวทีการแสดงอาชีพ” ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้ กราบขอบพระคุณพระมหาแล สุขขำ ที่ได้กรุณาให้กำลังใจคนทำงานเพลงพื้นบ้านอย่างผมมาเป็นระยะ ๆ ท่านเป็นพระที่มองโลกกว้างและมีความเข้าใจในการกระทำ กิจกรรมของมนุษย์โลกหลายด้าน กำลังใจที่พระคุณท่านส่งมาให้ผม ช่างเป็นความเย็นที่มีพลัง ขอกราบขอบพระคุณด้วยความเคารพ

       

        ยังมีท่านผู้ชม ท่านผู้จัดกิจกรรมการแสดง และบุคคลอีกเป็นจำนวนมากยังแยกไม่ออกว่า เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เรียกชื่อประเภทการแสดงว่าอะไรกันบ้าง บางครั้งติดต่อวงเพลงอีแซวไปแสดงแต่ประกาศว่า การแสดงลำตัด ผมขอแนะนำเป็นเบื้องต้นสักเล็กน้อย

        เพลงฉ่อย เป็นเพลงที่ร้องด้วยกลอนลงสระเดิมตลอดบทร้องในวรรคหลัง และมีคำขึ้นต้นเพลงว่า “เอิง เงิง เงอ เอ่อ เอิง เง๊ย..” ร้องบทเพลงตามทำนองเพลงฉ่อย เว้นวรรค วรรคละ 3-5 คำ ในวรรคหลังร้องซ้ำ 3 คำหลังได้ ให้จังหวะโดยปรบมือ ลูกคู่รับตอนลงเพลงว่า “เอ่ชา  เอ๊ช้าชา  ชะฉ่าชา หน่อยแม่” หรือ ลูกคู่ร้องรับว่า “เอ่ชา  ชา ฉ่าชาช้า”

        เพลงลำตัด เรียกเพลงประเภทนี้ว่า “ลำตัด” เป็นการแสดงที่ตัดตอนเอาโน่นนิดนี่หน่อยมาผสมผสานกันเป็นศิลปะการแสดงที่มาจากทางภาคใต้ มลายู มุสลิม พัฒนามาเป็นการแสดงพื้นบ้านที่สนุกสนาน ด้วยเครื่องให้จังหวะ ประเภท รำมะนา รูปแบบการแสดง ผู้ร้องนำจะขึ้นต้นร้องสร้อยลำตัดก่อน ตามด้วยลูกคู่ร้องรับซ้ำ 2 เที่ยวและแสดงท่าทางทั้งร้องรับและรำทำท่าทางไปด้วย ส่วนการร้องเนื้อเพลงก็จะเป็นกลอนหัวเดียว (ใช้คำลงสระเดียวทั้งบท) มีการร้อง 2 รูปแบบ คือ ร้องโดยไม่มีจังหวะ กับร้องและมีจังหวะด้วย เรียกว่า ร้องทำนองโขยก

        เพลงอีแซว (ไม่เรียกว่า อีแซว) เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่พบมากและมีมานานในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี และอ่างทอง กาญจนบุรี นครปฐม อุทัยธานี สิงห์บุรี บางส่วนที่อยู่ติดกับจังหวัดสุพรรณบุรี เพลงอีแซวเป็นเพลงที่ร้องจังหวะเร็ว (จังหวะฉิ่งชั้นเดียว) กลอนที่ใช้ร้องเป็นกลอนลงสระเดียวตลอดบทกลอน แต่ละเปลี่ยนคำลงเป็นสระอื่น ๆ ก็ได้ในบทต่อ ๆ ไป เรียกว่า กลอน “ไล” กลอน “ลา” กลอน “ลี” เพลงอีแซวร้องขึ้นต้นเพลงว่า

       “เอ่อ เฮ้อ เอ้อ.. เอ่อ เอิง เง้อ.. เอ่อ เอิ้ง เอย....” หรือร้องเกริ่นว่า “เอ๊ย...” หรือไม่ร้องเกริ่นเลยก็ได้โดยร้องตามบทเพลงไปเลย การร้องเหมือนการพูดธรรมดา แต่บังคับเสียงให้มีสูงต่ำเล่นคำบ้าง ควรเว้นวรรคในการร้องวรรคละ 3-4 คำ เมื่อถึงคำลงให้เอื้อนเสียงว่า “เอย.....” หรือ เออ เอ๊ย... ลูกคู่ร้องรับ 3 คำหลัง หากคำลงไม่ครบ 3 คำ ให้นำเอาคำว่า “ว่า หรือ แล้ว” เข้ามาใส่ในคำร้องรับด้วยได้

        เพลงพื้นบ้านทั้ง 3 ประเภทนี้ยังได้รับความนิยมในการจัดกิจกรรมการแสดง สำหรับเพลงฉ่อยจะเป็นเพลงที่ร้องยากกว่าทุกเพลงใน 3 ประเภทที่กล่าวมา เพราะเพลงฉ่อยจะต้องฝึกหัดร้องเกริ่นขึ้นต้นแบบเก่า ก่อนที่จะตัดมาลงรับว่า “เอ่ชา  เอ๊ช้าชา  ชะฉ่าชา หน่อยแม่”

        สำหรับวงเพลงพื้นบ้านของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ในนามของวงเพลงฉ่อยสายเลือดสุพรรณฯ ได้ทำหน้าที่รับใช้สังคมคู่กันมากับเพลงอีแซวและลำตัดเป็นเวลานาน 18 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นที่เพลงฉ่อยก่อนเพลงประเภทอื่น เมื่อ ปี พ.ศ. 2535 นอกจากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ได้มีการสานต่อเพลงพื้นบ้านอย่างจริงจังอีกหลายชนิดเท่าที่ครูคนหนึ่งจะสามารถถ่ายทอดสู่พวกเขาได้ (บางเพลงเด็ก ๆ ก็ไม่สามารถที่จะฝึกให้มีการพัฒนาในระดับสูงได้) ผมหมายถึงถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนได้จำนวนน้อย ได้แก่ ทำขวัญนาค เพลงแหล่ และแหล่ด้นสด เสภา รวมทั้งบทร้องทำนองเสนาะ (ธรรมวัตร) บางเพลงไม่สามารถฝึกให้เยาวชนร้องได้ดี ได้แก่ บทร้องสำเภาทอง บทร้องโล้สำเภา บทร้องสำเภาทองของนาค บทร้องชุมนุมเทวดา บทนะโม และนะโมแปล เป็นต้น มีผู้ที่สนใจหลายท่านอยากจะเรียนรู้บทร้องเพลงเหล่านี้ ซึ่งใช้ร้องในพิธีทำขวัญนาค ผมแนะนำให้ไปพบพระนักเทศน์ เพราะว่าจะได้เรียนรู้ของจริงจากต้นแบบมาเลย ผมก็ศึกษามาจากพระนักเทศน์ตั้งแต่สมัยที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่วัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2508-2510 และก็จำเอามาจากการฟังเทศน์มหาชาติในหลาย ๆ สถานที่ รวมทั้งฝึกฝนตนเองเอาด้วย

        การฝึกฝน ประเมินค่า พัฒนาจุดด้อย เป็นสิ่งที่ต้องกระทำควบคู่กันไป มิใช่เอาแต่ฝึก ๆ  แล้วก็นำผลงานออกไปแสดง ทางที่ดีควรที่จะมองย้อนกลับมาดูตนเองบ้างว่า สิ่งที่เรานำเสนอออกไปเป็นอย่างไร ถูกต้อง ถูกใจ ได้รับการตอบรับแค่ไหน หากมีผู้ชมผู้ฟังชื่นชอบบ้างก็จะมีงานแสดงตามมา 

       จากห้องเรียนที่เคยฝึกฝนด้วยความมานะอดทน ในเวลาต่อมาผลงานการแสดงนั้น ๆ ได้ออกจากห้องเรียนไปแสดงที่ไหนบ้างหรือยังคงฝึกซ้ำอยู่ตรงนั้นหลายปี (ยังต้องพัฒนา) หรือในการที่ได้ไปแสดงยังสถานที่ต่าง ๆ เกิดจากการเรียกร้อง ติดต่อ จ้างวานหรือขอไปร่วมกิจกรรมเพื่อหาเวทีให้เด็ก ๆ ได้แสดงความสามารถ แล้วทำอย่างไรจึงจะมีคนเรียกร้อง ตรงนี้ต้องศึกษาและติดตามดูผลงานของศิลปินอาชีพที่เขาโลดแล่นอยู่บนเวทีการแสดงว่า การแสดงออกที่ดี มีคนดูถูกใจ ทำอย่างไรกัน มองหาแล้วฝึกตามต้นแบบจนเกิดความทักษะมากขึ้น โดยเฉพาะบทสนทนาเมื่อฝึกถึงจุดหนึ่งเด็กจะสามารถพูดจาโต้ตอบได้อย่างสนุกสนาน

        ในส่วนของวงเพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ ผมใช้ชื่อวงว่า เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ มาตั้งแต่ปี พงสง 2547 เมื่อเราต้องไปแสดงในนามเพลงฉ่อยก็ใช้ชื่อว่า เพลงฉ่อยสายเลือดสุพรรณฯ มีสถานที่เพาะต้นกล้าอยู่ในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ที่ห้องศูนย์การเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน ห้อง 512 อาคาร 5 เปิดสอนทั้งรายวิชาเพิ่มเติม วิชากิจกรรม/ชุมนุม และกลุ่มผู้สนใจ เยาวชนในวงเพลงมีอยู่ประมาณ 15-20 คน บางปีก็มีถึง 25 คน (แยกเป็น 2 วง) ในปีนี้ พ.ศ. 2552 มีสมาชิกในวงจำนวน 16 คน โดยมีเด็ก ๆ ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมประจำอีก 5-10 คน แต่เด็ก ๆ เหล่านั้นก็สามารถที่จะเรียกเข้ามาร่วมงานได้          

         ห้องศูนย์การเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน เป็นสถานที่ให้เด็ก ๆ เยาวชนของโรงเรียนและสถานศึกษาอื่น ๆ ได้มาฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ในวันนี้เราเน้นที่เพลงอีแซว และการแสดงตลกเป็นหลัก กลุ่มสนใจที่เข้ามาหาผมมีหลายลักษณะ ได้แก่

        - มาขอสัมภาษณ์ครูเพลงว่า ทำมานานแค่ไหน ฝึกนักแสดงอย่างไร เหนื่อยแค่ไหน

        - มาฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย เป็นเวลา 1 วัน

        - มาฝึกร้องในพิธีทำขวัญนาค ร้องทำนองเสนาะ ร้องแหล่ เสภา เพลงไทยเดิมฯลฯ

        - มาฝึกหัดร้องเพลงพื้นบ้านบางประเภท หรือมาฝึกหัดร้องเพลงพื้นบ้านหลายอย่าง

        - มาฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ ฝึกหัดจนกระทั่งตีได้ พอใจ

        - มาศึกษาดูงาน นำผลงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเยาวชนของตนมาพูดคุยกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ มีชื่อเสียงและขยายวงกว้างออกไปสู่เวทีการแสดงภายนอก ทำให้วงเพลงพื้นบ้านวงนี้ได้ออกไปแสดงเป็นจำนวนมากกว่า 600 ครั้ง ยังสถานที่ต่าง ๆ (ไม่รวมงานที่ครูไปคนเดียวและงานทำขวัญนาคอีกนับ 1000 ครั้ง) สิ่งนั้นคือ 

  1. การฝึกปฏิบัติที่ยั่งยืนมานาน กระทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่ละทิ้งบทบาทหน้าที่
  2. เยาวชนทุกคนในโรงเรียนได้เข้ามาสัมผัสเพลงพื้นบ้าน จากวีซีดี จากสถานที่จริง
  3. มีเยาวชนเป็นแกนนำที่อุทิศตนให้กับการฝึกซ้อมจนพัฒนาเป็นนักแสดงอาชีพ
  4. มีครูเป็นนักแสดงเพลงพื้นบ้านและได้รับการยอมรับในระดับวงการอาชีพของสุพรรณบุรี
  5. มีผู้ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนทั้งสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนต่าง ๆ

         

        เวทีการแสดงในโรงเรียนมีสภาพใกล้เคียงกับเวทีการแสดงจริง สถานที่ฝึกซ้อมจึงช่วยเสริมเพิ่มบรรยากาศในการแสดงให้เกิดความมั่นใจ กล้าที่จะแสดงออกเมื่อไปขึ้นเวทีแสดงจริงและประกอบกับบนเวทีการแสดงมีครูผู้ฝึกสอนอยู่ให้ความอบอุ่นกับลูกศิษย์นักแสดงทุกงาน น้อยครั้งที่ครูไม่ได้ไปด้วย เนื่องจากมีความจำเป็นที่สุดจริง ๆ เพราะการแสดงที่จะต้องเคลื่อนไหวอยู่บนเวที 1-4 ชั่วโมงในแต่ละงาน จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงความสามารถอย่างต่อเนื่องและเร้าใจให้อารมณ์ความรู้สึกต่อผู้ชมหน้าเวที

                          

        มีอยู่หลายครั้งที่เด็ก ๆ เขาบ่นกับผมว่า “งานนี้แสดงเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้นเองหรือค่ะหรือครับ” เวลาทำการแสดงที่มากกว่า 3 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง เป็นประสบการณ์ที่เด็ก ๆ เคยผ่านตรงนั้นมาแล้ว ในการแสดงเพียง 1 คืน (3-4 ชั่วโมง) จึงเป็นสภาพปกติ ตรงนี้เองที่จะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพการแสดงที่จะต้องตรึงผู้ชมให้เข้ามาเฝ้าดูอยู่การแสดงตั้งแต่ต้นจนจบเวลาทำการแสดง หากตรงนี้ยังทำไม่ได้ งานหา จ้าง วานบนเวทีการแสดงอาชีพก็ยังไม่มี แต่ไม่ยากเกินความพยายามที่เยาวชนทุกกลุ่มสามารถที่จะทำได้ เพียงแต่มีความตั้งใจ มีครูเพลงที่มีความรู้เข้าใจ เป็นนักแสดงต้นแบบตัวจริงให้เยาวชนได้เดินตาม มีครูเป็นที่พึ่งบนเวทีการแสดงจนกระทั่งเขามีความเข้มแข็ง ละหน้าได้ ปล่อยให้เขาคิดเองได้ เมื่อถึงวันนั้นความน่ารัก ความสวยสดงดงามบนเวทีจะออกมาอย่างพลิ้วไหว เลื่อนไหลไม่คลาดสายตา

          

        สำหรับวันนี้ (วันที่ 4 ธันวาคม 2552) เพลงพื้นบ้านสายเลือดสุพรรณฯ ทำการแสดงในงานวันพ่อแห่งชาติ ที่บริเวณโรงเรียนวัดหาดทรายงาม ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ โดย อบต.วัดไทรย์ เริ่มแสดงเวลา 19.00 น.ไปจนถึงเวลาประมาณ 24.00น.

ติดตามตอนที่ 2 จากห้องเรียนสู่การแสดงในกิจกรรมระดับท้องถิ่น (ชำเลือง มณีวงษ์ : 2552)

หมายเลขบันทึก: 318080เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์

เพลงพื้นบ้านนี้เกิดจากน้ำใจอาจารย์สู่ลูกหลาน

ช่วยสืนสานต่อวิญญาณขยายผลจนไปสู่มืออาชีพเลยหรืออาจารย์

น่าชื่นใจมาก ๆ ขอให้มีกำลังใจเพื่อท้องถิ่น

อาจารย์คงมีความสุขนะ

เมื่อวันพุธยังได้ฟังการซ้อมอยู่

ตอนที่ไปรอรับลูก..หลังเลิกเรียน

คุณครูกับนักเรียนร่วมแรงร่วมใจ

รักษาไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้าน..ขอชื่นชมค่ะ

ตอบความเห็นที่ 1 พระมหาแล  อาสโย

  • นมัสการพระคุณท่าน พระมหาแล ที่เคารพ เมื่อคืน (4 ธันวาคม 2552) กลับมาจาก อบต.วัดไทรย์ จ.นครสวรรค์ ดึกไปหน่อย มาถึงโรงเรียน 04.05 น. (ค่อนสว่าง)
  • ผมพาเด็ก ๆ ออกงานรับใช้สังคมไปทั่วประเทศไทยด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปกรรม ร่วมสืบสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเด็กเขาก็มีรายได้ด้วย
  • มีความสุข ครับ ที่ได้เห็นเยาวชนกลุ่มหนึ่งไม่ทอดทิ้งวัฒนธรรมพื้นบ้าน
  • กำลังใจที่ได้รับจากพระคุณท่าน ช่วยเสริมพลังให้ทีมงานมีแรงขึ้นมากโข

ตอบความเห็นที่ 2 ครู ป.1

  • ขอบคุณคุณครู ป.1 มากครับ ที่ติดตามผลงานของเยาวชนมาโดยตลอด
  • เวลาที่ผ่านมา 18 ปีเศษแล้ว เสียงเพลงที่ครูได้ยินกำลังจะค่อย ๆ แผ่วลงไปตามเวลาที่ถูกกำหนดให้ผมต้องหมดหน้าที่จากจุดนี้ไป
  • อาจจะอีกนานกว่าที่จะมีคนคิดได้ว่า "น่าเสียดาย"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท