ไม่ขอ...ก็จะให้


เพราะเข้าใจหัวจิตหัวใจของคนไข้ดี ถ้าไม่มากจริงๆจะไม่ร้องขอ เธอจึงคิดจะให้โดยที่ไม่ต้องให้ร้องขอ ถ้าช่วยได้ก็จะช่วยตามกำลังที่เธอทำได้ในบทบาทหน้าที่ของเธอ
             ช้าง นามนี้ ไม่ใช่สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยนะคะ  แต่เป็นนามเรียกขานของผู้หญิงตัวเล็กที่ตรงข้ามกับชื่อ (ที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน) ของรพ.แก่งคอย  เด็กสาวจากอิสาน  จังหวัดศรีสะเกษ   จบการศึกษาหลักหสูตรทันตาภิบาล แล้วมาใช้ทุนและรับราชการครั้งแรกที่โรงพยาบาลแก่งคอยด้วยตำแหน่งเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข  และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  และไม่นานนัก ช้างไม่ได้  “คอย”  เหมือนชื่อโรงพยาบาล “แก่งคอย” อีกต่อไปแล้ว ช้างได้สมรสกับชายหนุ่มรูปงาม  และจิตใจดี  คนแก่งคอยโดยแท้  จนเป็นที่อิจฉาของสาวๆทั้งหลายที่เกิดที่แก่งคอย  แต่ยังหาคู่ไม่ได้สักที  ช้างเป็นใครมาจากไหน  เธอจึง  “ขายออก”  (ความอิจฉาแบบยินดีที่ทาทาบบนใบหน้าของสาวๆที่ออกอาการตาร้อนผ่าว) ด้วยความรักความก้าวหน้าในชีวิต  ช้างได้หมั่นศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี  จะเรียกว่าด้วยความบกพร่อง  หรือช่องว่างของระบบการศึกษาไทยหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ  เธอไม่สามารถนำวุฒิการศึกษามาปรับเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ  นอกเสียจากเธอจะเรียนสายตรงเท่านั้นจึงจะปรับวุฒิเพื่อความก้าวหน้าได้ (ทันตแพทย์ 6 ปี)  หรือไม่อย่างนั้นเธอต้องไปสอบเป็นนักวิชาการ  ซึ่งก็จะทำให้เสียเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขดีๆ ระดับมืออาชีพไปอีกคน  เหมือนที่องค์กรเราเคยเสียไปแล้ว  หลายรายทั้งสายพยาบาล  เภสัชฯ  LAB  รังสี  นักกายภาพ ฯลฯ   ที่ส่งเสริมให้เรียน แต่ไม่ส่งเสริมให้มีความก้าวนหน้า  ถ้าอยากก้าวหน้าต้องออกจากอาชีพนี้เสีย  แต่ถึงกระนั้นเมื่อได้ใบปริญญามาประดับ  ก็ไม่ได้ทำให้ศรัทธา  และความหวังของเธอจางหาย  ช้างยังคงเรียนรู้และทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแก่งคอยแห่งนี้ตลอดมา  เมื่อมีเวลาว่างเธอก็ไม่เคยว่างเว้นที่จะพาครอบครัวไปน้อมนำสิ่งดีงามเข้ามาในชีวิตในฐานนะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง  เมื่อมีโอกาสช้างจะชวนทุกคนได้ร่วมกันสร้างบุญและสะสมบุญให้กับชีวิต ช้างจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่หวั่นไหวกับคำกล่าวหา  นินทา  ว่าร้าย  หรือชื่นชม  เธอช่างมีความมั่นคงทางจิตใจยิ่งนัก  สมกับที่เธอหมั่นเพียรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมคำสั่งสอน   จึงไม่ต้องสงสัย  ช้างจะเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาลแก่งคอยแห่งนี้
                นอกจากงานประจำที่ได้รับมอบหมาย  ช้างยังได้รับหน้าที่พิเศษอีกมากมาย  ด้วยฝีไม้ลายมือเป็นที่ไว้วางใจ  อย่างเช่น  นักสุขศึกษา  กรรมการผู้ตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ 5ส  กรรมการเครื่องมือ  และด้วยติดเป็นนิสัยผู้พิชิตทิศทั้งหกของนักตรวจพื้นที่ 5ส (บน ล่าง  ซ้าย  ขวา  หน้า  หลัง = ทิศทั้งหก)  ไม่ว่าจะเดินไปไหนช้างจะไม่ละเลยตรวจพื้นที่อย่างคร่าวๆไปด้วยเมื่อพบจุดใดบกพร่องถ้าทำได้จะทำให้  ถ้าทำไม่ได้จะแจ้งให้เจ้าของหน่วยงานทราบ
                ทุกครั้งที่ช้างเดินออกจากห้องฟัน(ฝ่ายทันตกรรม)  ช้างจะต้องสังเกตสิ่งรอบข้าง  ไม่ว่าจะเป็นคน  สัตว์  สิ่งของ  อาคารรอบ ๆ  โรงพยาบาล  ว่าพบสิ่งผิดปกติอะไรไหม    เนื่องจากห้องทำงานของฝ่ายทันตกรรมอยู่จุดสุดท้ายของตึก  ที่ติดกับห้องผ่าตัด  ห้องสังเกตอาการ  ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน  และห้องเอกซเรย์  ทุกครั้งที่เดินผ่านห้องสังเกตอาการผู้ป่วย  จะเห็นคนไข้นอนที่ห้องนี้เสมอๆ    และช่วงบ่ายของวันนี้ก็เช่นกัน  ช้างได้พบผู้หญิงวัยสูงอายุ  คนหนึ่ง  ร่างกายผ่ายผอม  นุ่งผ้าถุง  ใส่เสื้อคอกระเช้า  นอนอยู่บนเตียง ที่บ่งบอกว่าเป็นคนรากหญ้า หรือ คนจน   และใกล้กับเตียงก็มีผู้หญิงวัยกลางคนอีกคนหนึ่งที่นอนอยู่ที่พื้น  โดยไม่มีอะไรปูที่พื้น  นอนขดอยู่  คล้ายคนหมดสติ   สองหญิง  สองวัยนอนกันคนละที่   ภาพที่ช้างเห็นนั้นน่าเวทนายิ่งนัก  มันทำให้หัวใจของช้างหดหู่  รู้สึกสงสารเขาอย่างมาก   ช้างเข้าใจความรู้สึกนั้นดี  ความรู้สึกที่คนจนไม่เคยเรียกร้องอะไร   เจ็บป่วยมา  หมอให้รอก็รอ   ไม่ปริปากบ่น   ไม่เรียกร้อง    เมื่อเห็นดังนั้น  ช้างจึงคิดว่าจะช่วยเขาอย่างไร
        คิดได้ว่าที่ห้องมีผ้าปูโต๊ะไว้สำหรับออกหน่วย    ถ้านำมาให้เขายืมผ้าปูนอนก่อน  เวลากลับก็ให้เอาไปคืนที่ห้องฟัน  เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงเดินย้อนกลับมาที่ห้องเปิดตู้เก็บผ้า  และหยิบผ้าเดินไปหาผู้หญิงคนที่นอนที่พื้น   

        “คุณ คุณ”  ช้างเรียกและสะกิดเขา   แต่ไม่ตื่น
        “น้องๆ ๆ” คราวนี้เรียกเสียงดังกว่าเดิมพร้อมเขย่าตัว และได้ผล  หญิงคนนั้นพลิกตัวและหันมามองช้าง
        “หมอให้ยืมผ้าปูนอน   ถ้ากลับบ้านให้เอาไปคืนที่ห้องฟันนะ”  หลังจากหญิงทั้งสองหายงัวเงีย  และรับรู้กับการบอกกล่าวของช้าง
         “ขอบคุณค่ะหมอ”   เขากล่าวขอบคุณและกล่าวต่อว่า
        “พอดีว่าเมื่อคนไม่ได้นอน  ต้องเฝ้าแม่ทั้งคืน”              
         “ไม่เป็นไรจ๊ะ  ไม่ได้รบกวน  แต่จะเอาผ้าปูมาให้ปูนอนจะได้สบายขึ้น...เมื่อเลิกใช้แล้วให้นำไปคืนที่ห้องฟันนะ”   ช้างบอกพร้อมชี้มือไปทางห้องฟันที่ว่า
         “คืนกับใครก็ได้นะ  เพราะอาจไม่เจอกัน”  ช้างบอกต่อและยังไม่ลืมที่จะกลับมาบอกที่ห้องอีกว่าได้ให้คนไข้ยืมผ้าปูโต๊ะ    เอาไปปูนอนห้องสังเกตอาการคนไข้  แล้วช้างก็ออกไปโรงเรียนประมาณบ่าย   3 โมง  จึงกลับเข้ามาโรงพยาบาลก็ไม่เห็นคนไข้ทั้งสองคนแล้ว    และได้ถามคนที่ห้องว่าคนไข้ได้เอาผ้ามาคืนไหม น้องที่ห้องบอกว่า มีคนนำมาคืนแล้ว  ช้างไม่โกรธที่ไม่มีคำขอบคุณฝากไว้ให้เธอ เพราะเธอทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ  เธอทำมาจากหัวใจจริงๆ  เธอกลับรู้สึกเป็นสุขที่เธอหยิบยื่นและมอบสิ่งดีๆให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ช้างถือว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่ากัน
         ช้างกลับมานั่งคิดว่า  นี่แหละนะชีวิตคนจน    เขาไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดเลยให้รอ  ให้คอยแค่ไหนเขาก็ไม่เคยว่า  ผิดกลับคนบางคนแม้จะบอกให้  “รอสักครู่”  ก็มีสีหน้าไม่พึงพอใจเสียแล้ว  เพราะชีวิตของช้างกับของคนไข้คนนั้นก็ไม่ต่างกันมากในอดีต   ช้างจึงเข้าใจหัวจิตหัวใจของคนไข้ดี  ถ้าไม่มากจริงๆจะไม่ร้องขอ  ช้างจึงคิดจะให้โดยที่เขาไม่ต้องร้องขอ  ถ้าช่วยได้ก็จะช่วยตามกำลังที่เธอทำได้ในบทบาทหน้าที่ของเธอ  และก็จะเห็นภาพของช้างคอยถามสารทุกข์สุขดิบของคนไข้เสมอๆ  แม้จะไม่ใช่คนไข้ของเธอ  ถ้าคนไหนช่วยได้  ประสานได้เธอก็จะทำให้โดยไม่เกี่ยงงอนใดๆเลย

 

วิลาสิณี  คัมภิรานนท์ (ช้าง)
ฝ่ายทันตกรรม
 
คำสำคัญ (Tags): #sha narrative
หมายเลขบันทึก: 317944เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2009 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

งดงามทั้งผู้ให้-ผู้รับ

มาชื่นชมและให้กำลังใจคนทำดีด้วยใจ

ด้วยจิตคารวะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจคนทำงานด้วยหัวใจจริง ๆ
  • ขอให้ทำงานด้วยหัวใจแห่งความสุขตลอดไปนะค่ะ
  • ขอบคุณประสบการณ์ดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ

นี่เลยค่ะคุณช้าง

ยืนยิ้มอยู่ซ้ายมือค่ะ

  • ขอบพระคุณ พระคุณเจ้าพระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ขอบคุณค่ะ คุณบุษรา
  • ขอบคุณแฟนพันธ์แท้อีกคน jaja ที่นำภาพคุณช้างมาเติมเต็มให้กับบันทึกนี้  แต่อยากรู้จักคนที่ยืนเคียงข้างติดกับคุณช้างคือใครกันนะ  ชูสองนิ้วสองข้างเลย อิอิ

ขอบอก คุณSHA รพ.แก่งคอย

นี่แหละเบื้องหลังความสำเร็จของท่านผู้อำนวยการค่ะ

เย็นและนิ่งเสมือนสายน้ำแม่น้ำป่าสัก ที่หล่อเลี้ยงทุกผู้ชน

เห็นด้วยค่ะ jaja

หรือว่าความเย็นมาพร้อมกาลเวลา นี่แหละที่เขาเรียกเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน

ขอต่ออีกนิด

แม่น้ำป่าสักสายนี้ เป็นอย่างนี้มานานอย่างเสมอต้น เสมอปลาย แม้สิ่งแวดล้อมใดๆมากระทบก็ไม่เคยหวั่นไหว เย็นได้ นิ่งได้ เสมอๆ

คิดดี  ทำดีอย่างนี้  ขอคารวะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท