กำเนิดสบู่


สบู่

ใน สมัยโบราณ แม้ส่วนผสมของสบู่จะเป็นที่รู้จักกันบ้างแล้วและใช้กันอยู่ในเมโสโปเตเมีย แต่ก็ยังไม่มีการนำเอามาทำสบู่ มีบ้างก็เอาส่วนผสมเหล่านี้ไปทำผงซักฟอก ซึ่งผงซักฟอกในสมัยคลาสสิกก็ไม่ได้มีคุณภาพอะไรมากนัก ส่วนผสมในการทำผงซักฟอกของพวกเขาก็มี รำข้าว, แก้วหินภูเขาไฟที่มีลักษณะพรุนคล้ายฟองน้ำ, ด่างในผัก ต่อมา พลีนี (Pliny หรือ Gaius หรือ Caius Plinius Secundus, ค.ศ.23 79, ถูกขนานนามว่า พลีนีผู้อาวุโส , เป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวโรมัน) ได้เขียนบันทึกเรื่องชนิดของสบู่แบบอ่อนของชาวกอล (Gauls ชาวยุโรปโบราณอาศัยแถบเหนือของอิตาลี, ฝรั่งเศส, เบลเยียม) แต่นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่านั่นคือ น้ำมันใส่ผมที่ทำมาจากไขมันที่เมื่อผสมกับด่างแล้วไม่สามารถเป็นสบู่ได้

ในโลกยุคกลาง (Middle Ages) มี การทำสบู่ในยุโรปโดยใช้ถ่านจากไม้ผสมกับไขมันสัตว์และน้ำมันปลา เป็นสบู่เหลวที่มีกลิ่นเหม็น พวกเขาใช้สำหรับทำความสะอาดเสื้อผ้า และก็ไม่ได้ใช้ทำความสะอาดร่างกายกันอย่างแพร่หลาย และโดยปกติชาวยุโรปก็มิได้ใช้สบู่ในการทำความสะอาดร่างกายเลย และก็อย่าคาดหวังว่าในยุโรปจะมีการปรับปรุงการทำสบู่ก่อนกลางศตวรรษที่ 18

ซีเรีย เป็นแหล่งทำสบู่ก้อนที่มีชื่อเสียง ซึ่งใช้ทำความสะอาดร่างกายโดยเฉพาะ นักโบราณคดีได้ขุดพบหลักฐานการทำสบู่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 8 ส่วนนักภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 10 ได้รายงานว่าเมือง นาบลุส (Nablus) ในปาเลสไตน์เป็นแหล่งส่งออกสบู่ที่โด่งดังมากของสมัยกลาง

สบู่ยังถูกผลิตขึ้นในดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมุสลิม รวมทั้งอัล-อันดาลุส (สเปนภายใต้การปกครองของมุสลิม) ที่ซึ่งน้ำมันมะกอกหาได้ง่ายดายมาก ในช่วงปี 1200 ที่เมืองเฟซ (Fez) ประเทศ โมรอกโก ที่เดียวก็มีผู้ผลิตสบู่ถึง 27 ราย ในศตวรรษที่ 13 ยุโรปนำเข้าสบู่จากดินแดนมุสลิมในเมดิเตอร์เรเนียน และส่งข้ามเทือกเขาแอลป์ไปยังยุโรปผ่านอิตาลี

ที่ยุโรปสมัยกลาง ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับทำสบู่เลย ที่เก่าแก่ที่สุดก็เป็นงานเขียนในปี 1547 ชื่อ The Secrets of Master Alexis of Piedmont

ในงานเขียนของอาหรับ เราพบสูตรสั้นๆ ในผลงานด้านเคมีของอัล-ราซี นักวิทยาศาสตร์มุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ ที่โลกตะวันตกรู้จักในนาม ราเซส (Muhammad ibn Zakarīya al-Rāzi เปอร์เซีย: زكريای رازی Zakaria ye Razi; อารบิก: ابو بکر محمد بن زكريا الرازی; ละติน: Rhazes หรือ Rasis ค.ศ.865-925) ส่วนสูตรที่ละเอียดจริงๆ เป็นของ อัล-อันตากี (Da ud al-Antaki เสียชีวิตในปี 1599) แพทย์ชาวซีเรีย เขียนในสมัยศตวรรษที่ 16

แต่ในบทความนี้เราจะเสนอสูตรทำสบู่อย่างละเอียดจากเอกสารที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ล่าสุด เป็นสูตรสมัยศตวรรษที่ 13 เขียนไว้ใน Al-mukhtara` fi funun min al- suna` (Inventions from the Various Industrial Arts หรือ การคิดค้นจากศิลปะอุตสาหกรรม) ซึ่งถูกรวบรวมไว้โดย King al-Muzaffar Yusuf ibn `Umar ibn `Ali ibn Rasul กษัตริย์แห่งเยเมนในปี 1295

และเพราะสูตรนี้เป็นวิธีการทำสบู่ของชาวเยเมนซึ่งที่นั่นไม่มีน้ำมันมะกอก พวกเขาจึงใช้น้ำมันงาเป็นส่วนผสมแทน

สูตรทำสบู่ 

ส่วน ผสมมีด่าง 2 ใน 3 ส่วน และปูนขาวที่ไม่แตกตัวด้วยน้ำ 1 ใน 3 ส่วน ทุบปูนขาวให้เป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดเท่ากับลูกเกาลัด นำไหใบใหญ่มาและตัดพื้นด้านใต้ของโถออก แล้วนำผ้าบางมาปิดใต้ไหให้สนิท (เพื่อกรองของเหลว) นำอิฐมา แล้วทุบให้เป็นชิ้นๆ, อย่าให้เล็กมาก, ใส่เข้าไปตรงกลางโถ เอา khsaf วางลงบนเศษอิฐ เทด่างและปูนขาวลงบน khasafa เท น้ำลงไปให้ทุกอย่างจมอยู่ใต้น้ำ 4 ใน 5 ส่วน ยกไหใบนี้ขึ้น เอาไปวางทับบนไหเปล่าอีกใบหนึ่ง ให้ก้นไหใบแรกอยู่บนปากไหใบใหม่ จากนั้นของเหลวจากไหใบแรกจะค่อยๆ ไหลซึม (ผ่านผ้าที่ปิดก้นไหไว้ ก็คือการกรองของเหลว) ลงไปในไหเปล่า

หรือ หากไหใบแรกใหญ่ไป การต้องยกขึ้นไปวางทับไหใบใหม่ยุ่งยากและหนักเกิน ก็ใช้วิธีขุดดินลงไปให้ลึกพอ นำไหเปล่าวางลงไปในดิน ให้ปากของไหเปล่าเสมอกับพื้น นำไหใบแรกไปวางทับบนปากไหเปล่าเพื่อกรองของเหลวให้ไหลลงไปในนั้น ทิ้งไว้แบบนั้นหนึ่งวันและหนึ่งคืน จากนั้นในวันที่สองเปิดฝาโถใบแรก เทน้ำที่ผสมกับด่างและปูนขาวลงไปอีก เมื่อของเหลวถูกกรองลงไปจนแห้งหมด ก็เทน้ำที่ผสมกับด่างและปูนขาวลงไปอีกรอบ จากนั้นทิ้งไว้หนึ่งวันและหนึ่งคืน

เช้า วันถัดมา เปิดฝาไหใบแรก ดูว่าของเหลวไหลลงไปหมดไหม หากหมดแล้ว ให้แบ่งของเหลวที่ผสมกันดีแล้วในไหออกเป็นสองส่วน แบ่งครึ่งแรกออกไป ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้เทน้ำมันงาลงไป กวนให้แรงๆ ใช้ไม้ทุบซ้ำๆ เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง จนกระทั่งผสมกันจนแข็งและหนาดีแล้ว จากนั้นทิ้งไว้ หากรีบมากก็ทิ้งไว้หนึ่งวันและหนึ่งคืน หากไม่รีบก็ทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งดีกว่าเพราะส่วนผสมจะได้หมักให้เข้ากันได้ดีขึ้น จากนั้นนำสบู่ทั้งหมดออกจากไหไปใส่ในหม้อทองแดง นำไปต้มบนไฟ เคี่ยวไปเรื่อยๆ หากเห็นว่าแห้งไปหน่อยก็ให้เทของเหลวอีกครึ่งหนึ่ง (ที่กันออกไป) ลงไป เคี่ยวไปเรื่อยๆ และเติมของเหลวไปเรื่อยๆ ต้องหมั่นคน อย่าให้ไหม้ จนผสมกันดีแล้ว จากนั้นยกหม้อทองแดงออกจากเตา เทสบู่ทั้งหมดลงในไหใบใหญ่ จากนั้นกวนอีกที เทน้ำลงไปทีละนิด ทีละนิด ก่อนจะนำสบู่มาใส่ในหม้อทองแดง นำขึ้นเคี่ยวบนไฟอีกครั้ง คราวนี้ใช้ไฟแรง คนไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เติมน้ำทีละนิด อย่าให้สบู่แข็งตัวหรือไหม้ ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสบู่สุกดี และมีลักษณะคล้ายกาวของช่างทำรองเท้าที่เรียกว่า ashras

ทำ แม่พิมพ์จากท่อนไม้ คล้ายๆ แม่พิมพ์ที่ทำด้วยอิฐ แต่แม่พิมพ์ไม้จะใหญ่กว่า เอาผ้าบางมาวางบนแม่พิมพ์ เทสบู่ลงไปในแม่พิมพ์ ทิ้งไว้หนึ่งวันและหนึ่งคืนจนกระทั่งสบู่แข็งตัว จากนั้นตัดสบู่เป็นชิ้นๆ ด้วยมีด

หากต้องการให้สบู่มีกลิ่นหอมก็ทำได้ คือตอนเคี่ยวสบู่บนไฟครั้งหลังสุด ให้ใส่เครื่องหอม, แซฟฟรอน (พืชไม้ดอกสีม่วง) และกลิ่นหอมใดๆ ที่ต้องการลงไปเคี่ยวรวมกัน, ด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการทำสบู่ของโลกมุสลิมยุคกลาง.

สบู่ที่แท้จริงแบบที่เราใช้กันในทุกวันนี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวมุสลิมในยุครุ่งโรจน์ของศิลปวิทยาการมุสลิมในสมัยกลาง (Middle Ages) พวกเขาใช้น้ำมันพืช (เช่นน้ำมันมะกอก) ผสมกับน้ำมันหอม (เช่ยน้ำมัน thyme) และ Lye (อัล-โซดา อัล-คาวีอา al-Soda al-Kawia สารละลายน้ำของโซเดียมไฮดรอกไซด์) สูตรที่ใช้ทำสบู่ในตอนนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงอีกเลย และเหมือนกับสูตรที่ใช้ทำสบู่ที่เราใช้ทำความสะอาดร่างกายในทุกวันนี้ทุกประการ

ช่วงศตวรรษที่ 7 เมืองหลักที่ผลิตสบู่ได้แก่ นาบลุส (ปาเลสไตน์), คูฟา (อิรัก), และบาสรา (อิรัก) สบู่ที่เรารู้จักในทุกวันนี้เป็นมรดกตกทอดมาจาก อาราเบียนโซพ (Arabian Soaps) หรือ สบู่อาหรับ อาราเบียนโซพมีกลิ่นหอมและมีสีสันสวยงาม บ้างก็เป็นแท่งแข็ง บ้างก็เป็นสบู่เหลว พวกอาหรับยังมีสบู่ที่ผลิตสำหรับโกนหนวดโดยเฉพาะ

ในปีค.ศ. 981 สบู่ขายกันในท้องตลาดราคาก้อนละ 3 ดิรฮัม (เท่ากับ 0.3 ดีนาร์) และอัล-ราซีเป็นคนแรกที่บันทึกรายละเอียดการทำสบู่ไว้

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกมุสลิมคิดค้นทำสบู่น่าจะเป็นเพราะอิสลามสอนว่า ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา และกฎของศาสนาบังคับให้มุสลิมต้องทำความสะอาดร่างกาย 5 เวลาก่อนละหมาด

ตอนสงครามครูเสด นักรบมุสลิมพบว่านักรบครูเสดจากยุโรปมีกลิ่นตัวเหม็นมาก เพราะพวกเขาไม่อาบน้ำ! (ก็ไม่มีสบู่นี่!)

 

ที่มา: Pr. Dr. Ahmad Y. al-Hassan. Description of soap making. History of Science and Technology in Islam.

http://www.history-science-technology.com/Notes/Notes%205.htm

คำสำคัญ (Tags): #สบู่
หมายเลขบันทึก: 317942เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2009 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท