การกำกับดูแลมหาวิทยาลัย


          ใน กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2565) ระบุเรื่องการกำกับดูแล และการจัดการมหาวิทยาลัย ไว้ดังต่อไปนี้

 


ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการอุดมศึกษา

 

108. ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ (Governance and Management) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและอุดมศึกษาในภาพรวม กล่าวคือ หากสถาบันอุดมศึกษามีกลไกการกำหนดทิศทางที่ดีและก้าวหน้า พร้อมกับการขับเคลื่อน โดยการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ภารกิจของมหาวิทยาลัยก็สำเร็จลุล่วงไปได้   บทบาทและความรับผิดชอบขององค์กรสูงสุดในที่นี้ คือ “สภามหาวิทยาลัย” มีความสำคัญต่อความเจริญของสถาบันและผลผลิตที่ดี   


           ฯพณฯ องคมนตรี นพ.เกษม วัฒนชัย ได้สรุปบทบาทและความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัยไว้อย่างชัดเจนว่า ประกอบด้วยการกำหนดพันธกิจและเป้าประสงค์ สรรหา สนับสนุน และติดตามกำกับการปฏิบัติงานของอธิการบดี ประเมินการปฏิบัติงานของสภามหาวิทยาลัย  ยืนหยัดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และกำกับติดตามทบทวนโครงสร้างหลักสูตรและโครงการบริการสังคม ประกันความพอเพียงของทรัพยากรและการบริหารจัดการที่ดี ยึดมั่นในความมีอิสระของสถาบัน  เชื่อมโยงระหว่างสถาบันกับชุมชน และทำหน้าที่ศาลอุทธรณ์ในบางครั้ง  
  
          อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บริหารสภามหาวิทยาลัยรวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจบทบาทของสภาฯ และการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างเพียงพอ เกิดความย่อหย่อน ผลประโยชน์ทับซ้อน ความไม่มีประสิทธิภาพการพัฒนาที่ปราศจากทิศทาง  ขาดนวัตกรรมการศึกษา ตลอดจนปัญหาในการสรรหาผู้นำที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กร   ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักศึกษาและประชาคม

          นอกจากนี้ธรรมาภิบาลในการกำกับอุดมศึกษาทั้งระบบโดยส่วนกลางก็สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องผสมผสานการกำกับดูแลด้วยกฎระเบียบ (Regulation) และการสนับสนุน(Facilitation) รวมทั้งการขับเคลื่อนอุดมศึกษาในภาพรวมเพื่อให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

 

 

  

แนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการอุดมศึกษา

 

109. การสร้างความเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยต้องอาศัยการกำหนดและกำกับนโยบาย(Governance) การบริหารจัดการให้เกิดการปฏิบัติ รวมทั้งการมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากประสบปัญหาเนื่องจากความไม่ชัดเจนในบทบาทและขาดความเข้มแข็งการทำหน้าที่การกำกับนโยบาย และการขาดบุคคลากรในระดับที่เกี่ยวข้อง สมควรจัดตั้งองค์กรหรือกลไกพัฒนาผู้กำกับนโยบายและผู้บริหารในลักษณะเดียวกับ Institute of Directors - IOD สร้างกลไกให้พัฒนาผู้บริหารตั้งแต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย
  
110. องค์กรดังกล่าวจัดการฝึกอบรม ให้ความรู้ จัดเยี่ยมชม สร้างเครือข่ายเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิด และสนับสนุนการวิจัยองค์กรและนวัตกรรมการบริหารนโยบาย (Governance) และการจัดการ (Management)
 
111. ใช้องค์กรดังกล่าวผลิตหลักสูตรการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาให้แก่ผู้บริหารทุกระดับตั้งแต่การบริหารระดับสูงคือมหาวิทยาลัย ลงไปถึงคณะ ภาควิชา/สาขา รวมทั้งให้การฝึกอบรมผู้พัฒนาหลักสูตรและผู้สอนอย่างต่อเนื่องทั้งหมดเป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัยด้วยการสร้างผู้นำ การบริหารนโยบายหรือธรรมาภิบาล และการจัดการ (Leadership, Governance and Management
- LMG)
 
112. นอกจากนั้น ให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย รวมถึง
: ที่มาและระบบการคัดเลือกนายกสภามหาวิทยาลัย
: ที่มาของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย สัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ควร
สูงกว่ากรรมการที่มาจากภายในมหาวิทยาลัย การเลือกสรรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิควร
พิจารณาจากพันธกิจของสถาบัน การมีส่วนร่วมของ stakeholders และนักคิดนักปฏิบัติ
: ระบบการคัดเลือกอธิการบดีและผู้บริหารอื่นที่ปลอดการเมืองผิดปกติ และเปิดกว้าง
ถึงผู้ที่เหมาะสมนอกมหาวิทยาลัย โดยให้โอกาสผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเช่น ศิษย์เก่า สมาคมวิชาชีพวิชาการ ฯลฯ มีส่วนร่วมในคณะกรรมการสรรหา
 
113. ควรพิจารณาจัดให้มีสำนักงานของสภามหาวิทยาลัย มีเลขานุการสภามหาวิทยาลัยเต็มเวลาสร้างระบบการจัดวาระการประชุมที่โปร่งใส ก้าวหน้า มีเนื้อหาเชิงนโยบายมากกว่าการอนุมัติวาระเชิงบริหารในรายละเอียด ระบบการกลั่นกรองวาระเพื่ออนุมัติ รับทราบ และทักท้วงการติดตามความก้าวหน้าและผลการปฏิบัติตามมติของสภามหาวิทยาลัยทั้งนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนให้การทำงานของฝ่ายบริหารและสำนักงานสภามหาวิทยาลัยปลอดความขัดแย้ง
 
114. ควรทดลองระบบการบริหารนโยบายและการจัดการมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เช่น President +Provost, Chancellor +Vice Chancellor ที่ทำงานเต็มเวลา โดยคำนึงถึงภารกิจหลักของสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย การกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์, การสร้างและรักษาคุณภาพหลักสูตร บัณฑิตและสถาบัน, การสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่, การระดมทุนและทรัพยากรอื่น ๆ
 
115. กำหนดให้มีการประเมินมหาวิทยาลัยเชิงธรรมาภิบาลอย่างครบวงจร ตั้งแต่นายกสภามหาวิทยาลัย ไปจนถึงผู้บริหารระดับภาควิชา พร้อมตัวชี้วัดที่เหมาะสม
 
116. สร้างเวทีถ่ายทอดนโยบายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารนโยบาย ระหว่างรัฐมนตรีที่รับผิดชอบอุดมศึกษา รัฐมนตรีที่ดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กับนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะกรรมการการอุดมศึกษา
 
117. พัฒนาความสามารถในการกำกับดูแลและการบริหารอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยทุกกลุ่มทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ในกรณีมหาวิทยาลัยรัฐเป็นการสร้างความพร้อมเพื่อให้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล
 
118. ปรับโครงสร้างของคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้เป็นคณะมนตรีหรือคณะกรรมาธิการ(Commission) ที่มีมนตรีหรือกรรมาธิการ (Commissioners) ทำงานเต็มเวลา โดยมีสำนักงานคณะกรรมาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาปัจจุบัน) ที่มีโครงสร้างที่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้รวมถึงการรวมภารกิจของ กกอ. และ กพอ. ในปัจจุบันให้เป็นระบบเดียวกัน
 

          นำมาบันทึกไว้ เพื่อเตือนความจำเรื่องภาพใหญ่ของการกำกับดูแลอุดมศึกษา   เพื่อให้อุดมศึกษามีคุณประโยชน์ต่อสังคม   ไม่เป็นโทษต่อสังคม   และเพื่อชี้ประเด็นใหญ่ๆ ที่ระบบอุดมศึกษาจะต้องขับเคลื่อนไป

 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ พ.ย. ๕๒

 

  
                
        
               

 


 

 

หมายเลขบันทึก: 317411เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท