เรียนรู้ตลอดชีวิต
พระมหา วีระ วีระ กิตฺติวณฺโณ / ได้ทุกทาง

ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง


ซื้อสิทธิ์ขายเสียง

พุทธจริยศาสตร์กับปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

 

๑. บทนำ

จากงานที่พระศรีวิสุทธิคุณ พระอาจารย์ประจำวิชาพุทธจริยศาสตร์กับปัญหาทางสังคมร่วมสมัย  มอบหมายให้เขียนความเรียง หรือ เขียนบทความให้เป็นวิชาการ  ทั้งหมด ๖ เรื่อง    เรื่องพุทธจริยศาสตร์กับปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จึงเป็นบทความที่ ๒ ที่เลือกลงมือเขียน  เพราะเห็นว่าประเด็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นปัญหาหนักแสนสาหัสในสังคมไทย เพราะเมื่อใดที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้ง การคัดเลือก การสรรหาบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนทางการเมือง หรือ องค์กร ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ส่วนมากจะมีการโน้มน้าวผู้คนให้เลือกตนแบบไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นธรรมาธิปไตย คือ การซื้อสิทธิ์ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งซื้อสิทธิ์ ฝ่ายคู่กรณีก็มีจิตใจที่อ่อนแอขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ทางสังคมก็ยินยอมขายเสียงไปด้วย   และ กรณีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นปัญหาที่ข้าพเจ้ามีแนวคิดว่าเป็นปัญหาทางพุทธจริยศาสตร์ด้วย  มีความคิดในใจเสมอมาว่า การซื้อสิทธิ์   เป็นการลดความสำคัญของความเป็นพลเมือง    ลดความเท่าเทียม ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องมีความรู้สึกนึกคิดอย่างอิสระเพื่อการปรับตัวอย่างถูกต้อง      การซื้อเสียงเป็นกระบวนการตัดตอน กดทับ ศักยภาพในการพัฒนาตัวตนของสมาชิกในสังคม    ข้าพเจ้าจึงลงมือทำการรณรงค์คัดค้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  มีการเขียนบทความ แสดงข้อคิดเห็น อภิปราย เผยแพร่ในสังคมนักพัฒนาบ่อย ๆ

สิ่งที่ช้ำใจมาก คือ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง เป็นกระบวนการสร้างช่องทาง เปิดโอกาสทางสังคมอันเป็นวิธีการทางโลกที่เจือไปด้วยความโลภ โกรธ หลง  ที่เรียกกันอย่างสวยหรู ว่า ประชาธิปไตย มีการตัดสินให้คนที่ได้รับคะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ ผู้ชนะได้รับการคัดเลือกเป็นเด็ดขาด กติกาตัดสินกันที่จำนวนของคะแนนเท่านั้น  แต่กระบวนการทั้งหมดนี้อาศัยความดีงาม ความงดงามของสังคมไทยในเป็นช่องทางตอบสนองความต้องการทางอำนาจของตน  เป็นการทำลายคุณค่าของคุณธรรม จริยธรรม นิสัยคนไทยให้ตกต่ำไปด้วย เช่น นิสัยความรัก ความเอื้ออาทร ความกตัญญูรู้คุณ จิตใจดีของคนไทย เมื่อถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการก้าวสู่ตำแหน่งของนักการเมืองแล้ว เกิดคำว่า สังคมอุปถัมภ์ การเมืองอุปถัมภ์  ถ้าการอุปถัมภ์เป็นการปฏิบัติธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ก็จะยังเป็นสังคมที่ดีงามอยู่ได้ แต่เมื่อการอุปถัมภ์กลายเป็นการเมืองอุปถัมภ์ ภาพลักษณ์ คุณค่าทางจริยธรรม   จึงถูกลดคุณค่าลงอย่างมาก  ตกต่ำ ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำ ซ้ำซากผ่านสื่อสารมวลชน     การซื้อเสียงขายสิทธิ์ จึงเป็นปัญหาทางพุทธจริยศาสตร์

                ขอเรียกร้องให้สังคมชาวพุทธทุกท่าน ทุกฝ่าย ได้ทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นกับกระบวนการการเลือกตั้งทางระบบประชาธิปไตยประเทศไทย  ด้วยการคงไว้ซึ่งคุณธรรม ทรงหลักสังคหวัตถุ ๔ ไว้ให้มั่นคง  แยกวิถีชีวิตสังคมชาวพุทธได้ดำเนินไปตามหลักธรรม ส่งเสริมคนดี ส่งเสริมบัณฑิต  ส่งเสริมดูแลคนที่ทำดีเสมอตนเสมอปลาย ให้เป็นหัวหน้า ผู้นำ  แต่ต้องช่วยกันปฏิเสธคัดค้านประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตย หรือ การซื้อสิทธิ์ประชาชน  ซึ่งเป็นกระบวนการที่เข้าทำลายจริยธรรม คุณธรรม ลดคุณค่าของความเป็นพลเมือง    ด้วยการไม่ขายสิทธิ์   ขายเสียงให้นักการเมืองอีกต่อไป

๒. ตีความให้แตก

                ๒.๑  สิทธิ  หมายถึง อำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายให้ความคุ้มครองให้ โดยบุคคลอื่นจะต้องให้ความเคารพ จะละเมิดล่วงเกินหรือกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลไม่ได้ เช่น หากเรามีสิทธิในการซื้อสินค้าจากตลาดเมื่อชำระเงินให้แม่ค้า หากได้ชำระเงินแล้ว ผู้ใดจะบังคับมิให้เราซื้อได้ไม่ หากบังคับ กฎหมายย่อมคุ้มครอง การได้รับสิทธิตามกฎหมายนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียนั้น ๆ    

ในทางนิติศาสตร์ และกฎหมาย   สิทธิ หมายถึง สิทธิตามกฎหมายหรือศีลธรรม ที่จะทำหรือไม่ทำบางอย่าง หรือที่จะได้รับหรือไม่ได้รับบางอย่างในสังคมอารยะ (civil society) สิทธิทำหน้าที่เหมือนกฎในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

                ๒.๒  เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระในการกระทำของบุคคล   ซึ่งการกระทำนั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย

              ๒.๓ หน้าที่ หมายถึง ภาระหรือความรับผิดชอบที่บุคคลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ บุคคล มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

สิทธิและเสรีภาพ เป็นรากฐานสำคัญในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การที่จะรู้ว่าการปกครองของประเทศใดมีความเป็นประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด ต้องดูที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศนั้น ๆ เป็นสำคัญ ถ้าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมาก ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้นก็มีมาก หากสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดหรือถูกริดรอนโดยผู้มีอำนาจในการปกครอง ประชาธิปไตยก็จะมีไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ จึงได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างแจ้งชัด เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้

                ๒.๔ การซื้อสิทธิ์ คือ การซื้ออำนาจในการตัดสินใจ   การไม่ต้องแสดงความเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล    การกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   การสะกดจิตทอนปัญญาในการใช้วิจารณญาณ   การตัดทอนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

                ๒.๕ การขายเสียง เป็นคำเดียวกันกับคำว่า  การขายสิทธิ์  คือ การยอม   การจำนน  ต่อการซื้อสิทธิ์  การยอมยกอำนาจในการตัดสินใจของตนให้กับผู้อื่นที่ใช้อามิสมาตอบแทน   การตัดสินใจตามผู้ให้สิ่งของโดยไม่มีความเห็นของตน  การรับประโยชน์เฉพาะหน้า   การยอมกระทำตามผู้ซื้อด้วยความกลัวต่ออำนาจเงิน  เกรงต่ออำนาจการต่อรอง     การจำนนต่ออำนาจจิตที่แกร่งกล้าของผู้ซื้อ    การยอมลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนลง   การปล่อยจิตของตนให้อ่อนแอ     การไม่กล้าพัฒนาความนึกคิดของตนให้กล้าหาญมากขึ้น

๒.๖ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง คือไม่ได้ใช้วิจารณญาณอย่างอิสระเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เพื่อประโยชน์เฉพาะของตนเอง

๒.๗ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หมายถึง การคงอยู่ในคุณค่า และคุณธรรมของความเป็นมนุษย์

๒.๘  มนุษย์ แปลว่า ใจสูง  หมายถึง   มีจิตใจสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน  อสุรกาย หรือสัตว์ร้ายทั้งปวง แม้มนุษย์จะเป็นปุถุชนที่มากด้วยกิเลสตัณหาแต่มนุษย์ก็รู้จักผิดชอบชั่วดี  รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควร 

๒.๙ ความเป็นพลเมือง หมายถึง ประชาชนที่นอกจากเสียภาษีและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว  ยังต้องมีบทบาทในทางการเมือง  คืออย่างน้อยมีสิทธิไปเลือกตั้ง  แต่ยิ่งไปกว่านั้น  คือมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ  ต่อทางการหรือรัฐได้  ทั้งยังมีสิทธิเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ  กับรัฐ  และอาจเป็นฝ่ายรุกเพื่อเรียกร้องกฎหมาย  นโยบายและกิจการของรัฐตามที่ตนเองเห็นพ้อง  พลเมืองนั้น  จะเป็นคนที่รู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งสาธารณะ  มีความกระตือรือร้น  อยากมีส่วนร่วม  เอาใจใส่การทำงานของรัฐ  และเป็นประชาชนที่สามารถแก้ไขปัญหาส่วนรวมได้ในระดับหนึ่ง  โดยไม่ต้องรอให้รัฐมาแก้ไขให้เท่านั้น

 

๓. หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา

หลักธรรมที่ต้องนำขบคิดให้ชัดเจน  เพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตยให้เกิดขึ้น  ลดการเมืองแบบ การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง

๓.๑ อธิปไตย ๓   หรือความเป็นใหญ่ อยู่ ๓ ประการคือ

๓.๑.๑ อัตตาธิปไตย หมายถึง การถือตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่นำพาว่าคนอื่นจะเห็นเป็นอย่างไร จึงน่าจะเทียบได้กับคำว่า เผด็จการ

๓.๑.๒  โลกาธิปไตย หมายถึง การถือกระแสโลกเป็นใหญ่ และโลกในที่นี้หมายถึงคน จะเห็นได้ในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า โลกคือหมู่สัตว์ ดังนั้นโลกาธิปไตยตามความหมายนี้เทียบได้กับคำว่า ประชาธิปไตยที่ถือคนส่วนใหญ่เป็นหลัก

๓.๑.๓ ธรรมาธิปไตย หมายถึง ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ อันถือได้ว่าเป็นหัวใจที่ปรากฏอยู่ได้ทั้งใน อัตตาธิปไตย และ โลกาธิปไตย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำกับให้ผู้กระทำไม่ว่าจะถือตัวเองเป็นใหญ่ตามข้อ ๑ หรือ ถือโลกเป็นใหญ่ตามข้อ ๒  ดำรงอยู่ได้โดยที่ผู้คนในสังคมยอมรับ

 

                ๓.๒  ภาวนา ๔

๓.๒.๑  กายภาวนา  (การเจริญกาย, พัฒนากาย, การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกทางอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ, การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ : physical development)

๓.๒.๒  สีลภาวนา (การเจริญศีล, พัฒนาความประพฤติ, การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน : moral development)

๓.๒.๓  จิตภาวนา (การเจริญจิต, พัฒนาจิต, การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น : cultivation of the heart; emotional development)

๓.๒.๔  ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา, พัฒนาปัญญา, การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา : cultivation of wisdom; intellectual development)

 

                ๓.๓  สังคหวัตถุ ๔   หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่

๓.๓.๑ ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้

๓.๓.๒ ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์    ดังต่อไปนี้

เว้นจากการพูดเท็จ
เว้นจากการพูดส่อเสียด
เว้นจากการพูดคำหยาบ
เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๓.๓.๓ อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

๓.๓.๔ สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

 

๓.๔ ฆราวาสธรรม ๔

                             ๓.๔.๑   สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ 
                             ๓.๔.๒  ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ
                             ๓.๔.๓  ขันติ แปลว่า อดทน
                             ๓.๓.๔  จาคะ แปลว่า เสียสละ

๓.๔.๑ การสร้างสัจจะให้มีในตน        ลักษณะของสัจจะ มีด้วยกัน ๕ ประการ คือ         

ประการที่ ๑ สัจจะต่อความดี         

ประการที่ ๒  สัจจะต่อหน้าที่         

ประการที่ ๓ สัจจะต่อการงาน         

คนที่ไม่จริงต่อการงาน มีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
                                             (๑) พวก "ทุจฺจริตํ" คือ พวกที่ทำงานเสีย
                                             (๒)พวก "สิถิลํ" คือ พวกที่ทำงานเหลาะแหละ
                                             (๓) พวก "อากุลํ" คือ พวกที่ทำงานคั่งค้าง

ประการที่ ๙ สัจจะต่อวาจา         

ประการที่ ๕ สัจจะต่อบุคคล         

๓.๔.๒  การสร้าง "ทมะ" ให้เกิดขึ้นในตน

ทมะ แปลว่า  การรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง         

ทมะ หมายถึง ความรักในการฝึกฝนตนเอง ความกระตือรือร้นในการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนตนเอง อย่างไม่มีข้อแม้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองมีทั้งความรู้ ความสามารถ และความดีเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน

ทมะ   แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท  คือ        

๑. ทันต่อกิเลส  หมายถึง รู้เท่าทันกิเลสภายในตัวของเรา รู้ว่าอะไร คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต อะไรคือสิ่งฟุ่มเฟือย สิ่งไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการที่เราทันต่อกิเลสนั้น เราจะรู้จักยับยั้งไม่ให้หลงไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดี
             ๒. ทันคน หมายถึง รู้เท่าทันคนที่เราต้องติดต่อ คบค้าสมาคม เพื่อรู้เท่าทันความคิดของเขาว่า จะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อตัวของเราหรือหน้าที่การงานของเราอย่างไร         

๓. ทันโลก หมายถึง รู้เท่าทันโลก รู้ว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถปรับตัวได้ทัน         

ทันโลก สามารถแบ่งได้เป็น ๔ เรื่อง              

๑) ทันสถานการณ์ ในที่นี้เพื่อให้เรารู้ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะกระทบกับเราในด้านที่เป็นโอกาส หรือวิกฤต เพื่อที่เราจะสามารถหาวิธีการรับมือได้ทัน               

๒) ทันเทคโนโลยี การทันต่อเทคโนโลยี จะช่วยพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของคนให้ก้าวหน้า ก้าวไกล สะดวกรวดเร็วมากกว่า ในแง่การค้าสามารถลดต้นทุนในการผลิต หรือการค้า และสร้างโอกาสที่ดีกว่าในการแข่งขันในทางธุรกิจ 

๓) ทันกฎหมาย ทันต่อกฎหมายจะทำให้เรารู้ว่าเรามีข้อจำกัดอย่างไร อะไรต้องปฏิบัติ และอะไรที่ไม่สามารถปฏิบัติได้  เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

๔) ทันวัฒนธรรมประเพณี การที่เรารู้ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งมีประเพณีและวัฒนธรรมอย่างไรนั้น เราจะสามารถรู้ว่า ท้องถิ่นนั้นๆ ต้องการอะไร และสิ่งไหนที่เขาสามารถยอมรับได้หรือไม่ได้ เพื่อเราจะได้รู้ว่าขอบเขตจำกัดของเราในการทำงานนั้นอยู่ที่ตรงไหน         

๔. ทันธรรมชาติ หมายถึง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล ทั้งนี้เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม และวางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาลด้วย        

.๔.๓ การสร้าง "ขันติ" ให้เกิดขึ้นในตน         

ขันติ แปลว่า ความอดทน         

อด คือ ไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้         

ทน คือ ได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้         

ขันติ เป็นลักษณะบ่งบอกถึงความเข้มแข็งทางจิตใจ ในการพยายามทำความดี  ถอนตัว ออกจากความชั่ว และเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ในการแสวงหาเพื่อให้ได้ทรัพย์มาในการสร้างตัว 

ที่ว่าอดทนนั้น ไม่ได้หมายความว่า ใครตกอยู่ในสภาพไหนแล้ว ก็จะยอมอยู่ในสภาพ อย่างนั้น เช่น ใครจนก็ยอมจนอยู่อย่างนั้น ไม่พยายามขวนขวายหาทรัพย์หรือเกียจคร้านในการทำงาน จะถูกใครด่าว่าก็ทน อย่างนี้เขาเรียกว่าตายด้าน ไม่ใช่ขันติ         

ขันติ จำเป็นสำหรับการเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะทำให้เราหันออกจากความดี  ดังนั้น ถ้าใครมีขันติแล้วคนนั้นจะมีจิตใจเข้มแข็ง อาจหาญร่าเริงในการทำความดี และสามารถถอนตัวออกจากความชั่วทุกอย่างได้

๓.๔.๔ .การสร้าง "จาคะ" ให้เกิดขึ้นในตน         

จาคะ แปลว่า ความเสียสละ

จาคะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. การสละสิ่งของ

๒. การสละความสะดวกสบาย

๓. การสละอารมณ์ที่บูดเน่า

ความเสียสละ หมายถึง ความมีน้ำใจต่อการอยู่ร่วมกัน นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักการรู้จักเสียสละนั้น จะทำให้เราสามารถได้มิตรมา เพราะการเสียสละนั้น ไม่เพียงจะเสียสละในทางวัตถุแล้ว ยังหมายถึง การเสียสละเพื่อดูแลทั้งทางกายและทางจิตใจ

ทางกาย ก็คือ มีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  แบ่งปันสิ่งของให้กัน หรือหากมิตรมีปัญหาในเรื่องใดก็ตาม หากสามารถช่วยได้ก็จะช่วยอย่างเต็มกำลัง ความสามารถ

ทางจิตใจ ก็คือ  การรู้จักถนอมน้ำใจกันในยามปกติ รู้จักการให้กำลังใจกัน ในยามป่วยไข้ รู้จักเตือนสติห้ามปรามกันในยามประมาท และมีความซื่อสัตย์ต่อกัน

๔. การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ขัดแย้งกับหลักธรรม

๔.๑ อธิปไตย ๓   

                คนซื้อเสียง ถือหลักอัตตาธิปไตย 

                ๔.๒  ภาวนา ๔

คนขายเสียง จัดว่าทำผิดกฎกติกาทางสังคม   จิตอ่อนแอ    ปัญญาไม่เข้มแข็ง

                ๔.๓  สังคหวัตถุ ๔  

๔.๓.๑  ทาน      การซื้อเสียงไม่จัดว่าเป็นการให้ด้วยคุณธรรม

๔.๓.๒ ปิยวาจา   คนซื้อเสียงที่มักดีแต่พูด  พูดเกินความจริง    ฝ่ายคนขายเสียงมักเห็นแก่ได้   ประจบหลอกลวง

๔.๓.๓   อัตถจริยา  ซื้อเสียงเขาแล้ว   ลดความเคารพในคุณค่าของประชาชน

๔.๓.๔ สมานัตตา  คนซื้อเสียงจะไม่เสมอตนเสมอปลาย เพราะคน ๒ ฝ่ายขาดความสัมพันธ์กันทางความดี

๓.๔ ฆราวาสธรรม ๔

                             ๔.๔.๑   สัจจะ   คนซื้อและคนขาย ไม่จริงใจต่อกัน  ต่อกฎหมาย   ต่อจริยธรรม
                             ๔.๔.๒  ทมะ     คนซื้อไม่ข่มใจในความถูกต้อง หวั่นไหวในคะแนนเสียง
                             ๔.๔.๓  ขันติ      คนซื้อหวังจะได้ จิตหวั่นไหวในเกียรติ  ยศ  ตำแหน่ง
                             ๔.๓.๔  จาคะ    คนขายเสียงไม่เสียสละประโยชน์เฉพาะหน้า

 

๕. การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง คือ ปัญหาสังคมและการเมืองการปกครอง ตามหลักพุทธจริยศาสตร์

คัดจากบทความ “จิตใจกับสังคมการเลือกตั้ง”  เห็นอะไรบ้าง  ในบรรยากาศการซื้อเสียงเลือกตั้ง  ของข้าพเจ้าเอง (พระมหาวีระ    กิตฺติวณฺโณ) เมื่อ ๖-๗ กันยายน ๒๕๕๒

                ๕.๑  เงินเป็นธนบัตรวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกัน  ง่ายต่อการจัดเก็บ และไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ หรือระบุการได้มาอย่างไร  เมื่อเปลี่ยนมือ      เงินเป็นอุปกรณ์ชี้ขยายจุดเด่นของผู้สมัครให้ชัดขึ้น  แล้วกดทับจุดด้อยให้ลดลง     การซื้อเสียง คือการเบี่ยงเบียนความรู้สึกของคนในการรับผิดชอบชั่วดีต่อตนเอง ชุมชน สังคม

๕.๒  ใช้คนทำงาน ให้เดินซื้อเสียงได้ตามสั่ง  โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล 

๕.๓ เกิดการมีส่วนร่วมกันได้โดยง่าย และเกิดเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน และมีความเข้มข้น ของหัวคะแนน หรือ คนเดินจ่ายเงิน เพราะหัวคะแนน หรือคนเดินจ่ายเงินมีความเอนเอียงพอใจกับผู้สมัครที่จ่ายเงินซื้อเสียงอยู่มากแล้ว หรือก็มีส่วนร่วมในการคิดวางแผนยุผู้สมัครซื้อเสียงด้วย

๕.๔ หัวคะแนน หรือ คนเดินจ่ายเงิน  เกิดความรับผิดชอบร่วมทันทีที่ลงมือทำงาน  และเกิดภาพความสามัคคีของกลุ่มคน เครือข่ายอย่างชัดเจน  ทำให้คนที่ไม่ซื้อเสียงมีแต่ความดีอ่อนแรง เป็นรองทางการเมืองทันที  ประสบการณ์ชุมชนสอนไว้อย่างยาวนานว่าคนซื้อเสียงชนะเสมอจึงไม่กล้าต้านความรู้สึกที่ถูกต้อง  หรือความรู้สึกฝ่ายดี  ( อกุศลครอบงำ)

๕.๕ การซื้อเสียงเป็นการสะกดจิตผู้ที่มีข้อมูลน้อย   หรือ ยังลังเลตัดสินใจไม่ได้     อาศัยผู้จ่ายเงินช่วยตัดสินใจให้แทน   ผู้ถูกซื้อคือเป็นฝ่ายถูกรุก  ถูกกระทำ ไม่ได้ตั้งตัว  สภาพจิตจะอ่อนแรง ประกอบกับการไม่มีภาวะผู้นำเพราะอ่อนต่อสังคม  จึงไม่อยากอยู่ฝ่ายแพ้การเลือกตั้ง

๕.๖ คนจ่ายเงินกล้าตัดสินใจรุกเข้าหาคนในเป้าหมาย    คนชุมชนเดียวกันจะไม่กล้าปฏิเสธการรับเงิน   รับแล้วความลังเลเกิดขึ้น   ไม่ชอบคิดมาก  กาตามนั้นหมดเรื่อง

๕.๗  เกิดสัญญาร่วมกันว่าจะกากบาทให้คนใด  ตามคำร้องขอของผู้จ่ายเงิน 

๕.๘ เกิดการมีส่วนร่วมอย่างรวดเร็วของผู้คนที่รับเงิน กับผู้จ่ายเงิน  ( คุยกันถูกคอ  มองตารู้ใจ  )

๕.๙  เกิดการมีส่วนร่วมที่ไม่ต้องอาศัยปัญญา   เป็นการมีส่วนร่วมระยะสั้น  เรียกว่ากระแสเสียง   เมื่อใช้เงินจำนวนมาก ก็สามารถแปรให้เป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากตามไปด้วย

๕.๑๐  คนที่อยู่นอกชุมชน  คนที่ด้อยทางสังคม  หรือ ไม่สุงสิงกับใคร และมีข้อมูลน้อย จะถูกซื้อเสียงง่ายกว่าคนในชุมชน  ยอมให้ซื้อ  เลือกคนซื้อ อาศัยการชนะเป็นการยกฐานะความรู้สึกที่ดีในชุมชน

๕.๑๑ คนที่มั่นใจในความดีจะแพ้คนซื้อเสียง     ดีด้วยซื้อด้วยโอกาสชนะสูง   ดีแต่ไม่ซื้อ คือการขาดการมีส่วนร่วมของผู้คนในระยะสั้นนั้น

๕.๑๒ สังคมที่การซื้อเสียงอยู่จะไม่เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง  การเรียนรู้ยังอยู่ในแนวดิ่งอยู่มาก   ยิ่งมีการเรียนรู้ในแนวระนาบเดียวกันมากเท่าใด  ยิ่งลดการซื้อเสียงได้มากเท่านั้น หรือการซื้อเสียงจะลดความสำเร็จ     การใช้เงินจำนวนมาก หรือ การใช้คนทำงานมาก เป็นการเพิ่มความถี่  หรือการตอกย้ำ  สังคมที่เข้มแข็งก็สั่นคลอน อ่อนแอได้เหมือนกัน

๕.๑๓ เงินอาจซื้อไม่ได้หลายคน  แต่ถ้าสังคมที่ยังมีความขัดแย้ง   เหลื่อมล้ำ   อยุติธรรม  การเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกันยังน้อยอยู่   เงินยังสามารถซื้อเสียงได้ประสบความสำเร็จเสมอ

๕.๑๔  คนที่ถูกซื้อเสียงจะถูกลดบทบาททางสังคม     จิตใจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะลดลง

๕.๑๕ การซื้อเสียงมักทำกันก่อนลงคูหากาบัตร บางทียืนคุมหน้าคูหาด้วย เพราะกระแสแห่งการสะกดจิตยังเข้มอยู่   คนที่กาบัตรตามคำสั่งของหัวคะแนน  เมื่อออกจากคูหาจะมีหน้าตาหม่นหมอง  ซึมเศร้า  ไม่สดชื่น

๕.๑๖ การจ่ายเงินซ้ำ คือ การสะกดจิตซ้ำนั่นเอง ( ค่ำ  เช้า  และ ก่อนเข้าคูหา)

๕.๑๗ คนที่ไม่รักษากฎระเบียบ กติกาทางสังคม จะกล้าซื้อเสียง   คนดีมีศีลธรรมจะไม่กล้าทำผิดกฎหมายด้วยการซื้อเสียง   

๕.๑๘   เกิดชุมชนที่มีคนจิตอ่อนแอ และคนถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ  อยู่ร่วมกันจำนวนมาก

 

 

บุคลิกของผู้ซื้อเสียง

            -  เมื่อรู้สึกว่าจะแพ้ หรือ คะแนนไม่ชนะขาด   ไม่มั่นใจ   จึงปฏิบัติการซื้อเสียง

-  กล้าได้ กล้าเสีย      มีเชื้อนิสัยนักการพนัน    หรือนักเลง   ลุแก่อำนาจ และละเมิดศีลธรรม

        -  ยอมไม่ได้    ไม่ยอมเสียหน้า   กลัวแพ้    กลัวถูกเยาะเย้ย    ไม่มั่นคงในศีลธรรม

            -  พูดคุยเก่ง  เจรจาต่อรองเยี่ยม  แต่จะพูดคุยความดี  ความถูกต้องไม่เต็มเสียงนัก

            - อยากได้  อยากเป็นจริง ๆ  ขยันในการหาเสียง  ทุ่มเททั้งกาย  ใจ  และทรัพย์สิน

            - มองทุกช่องทางเป็นเครื่องมือ เป็นโอกาส เช่น มองวัด และพระสงฆ์ เป็นเพียงกลไกด้วย

            - เข้าหาคนเก่ง  เข้าหาใครเข้าได้ถึงจิตใจคนทีเดียว  กระตุกหรือสะกิดคนตรงกับจริตได้ดี

            -  มักเชื่อมโยงกับฐานอำนาจทางการเมืองระดับชาติที่มีโทสะจริตเป็นฐานจิตใจ

            - มีความหวังอันบรรเจิด  จินตนาการโลดแล่น    คาดคะเนแม่นยำ

 

คนที่ไม่ซื้อเสียง  ถูกมองอย่างไร  จากบางคน

            คนไม่กล้า     คนไม่เอาจริง    อ่อนต่อโลก     ไม่เป็นมวย      มวยไม่มีกระดูก   ไม่มีทีมงานที่เก่ง   ขาดทีมงานวางแผน

 

ทำไมคนจึงถูกซื้อเสียงได้   เพราะมีสาเหตุต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่าง

-          มีปัญหาทางเศรษฐกิจ  ขาดแคลนมาก  ต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพไปวัน ๆ

-          วนเวียนอยู่ในปัญหาที่ซ้ำซาก  ปัญหาปากท้องครอบครัว และอื่น ๆ มากอยู่แล้ว

-          ครอบครัวอ่อนแอ  ประสบปัญหาทางครอบครัว

-          มีจิตอ่อนแอ  ขาดข้อมูล  ขาดวิสัยทัศน์ของชีวิต  จะอาศัยการเข้าข้างฝ่ายชนะปลอบใจตนเอง

-          ขาดโอกาสในพัฒนาทักษะจิตใจ

-          ขาดข้อมูลการพัฒนาชุมชนของตนเอง  โลกทัศน์ไม่กว้าง

-          จำต้องอาศัยผู้ที่มีความคิด ความสามารถ ในการช่วยเหลือในอนาคตอีกมาก

-          มีใจเข้าข้าง  ชอบพอ กับผู้สมัครคนนั้นอยู่แล้ว  หรือเป็นญาติกัน

-          การอยู่คลุกคลี การรับข้อมูลข่าวสาร ทัศนคติฝ่ายที่ซื้อเสียงตลอดต่อเนื่อง

-          มีความขัดแย้งกับอีกคนที่เลือกอีกฝ่าย

-          ฯลฯ

 

เมื่อคนที่ซื้อเสียง  ได้รับเสียงส่วนมาก  ก็ได้การรับรองจากกฎหมาย ต่อเนื่องถึง สังคม  ชุมชน  ประเพณี และ วัฒนธรรม   เรียกว่า  ผู้ชนะ      กฎหมายก็กดทับสังคมไว้ให้ยอมรับความไม่ถูกต้องต่อไป

                         

เมื่อคนซื้อเสียงชนะ คือ  ชัยชนะแห่งความอยุติธรรมในชุมชน      ชุมชนตกอยู่ในสภาพขาดทำนองคลองธรรม      จิตใจผู้คนตกต่ำ     ทำลายสุขภาพจิตชุมชน

            - ผู้ชนะย่อมยิ้มแย้ม     ผู้แพ้ย่อมรู้สึกว่าถูกเยาะเย้ย 

- ผู้ชนะย่อมคุยสำทับ (จิตกระด้าง)  อวดความรู้ความสามารถ ความฉลาดและความเก่ง

- กลุ่มคนที่ชนะจะรวมกลุ่มได้ดี  คุยเสียงดัง   ฝ่ายแพ้จะแยกย้ายกันไม่กล้ารวมตัว 

- ฝ่ายแพ้ที่เคยรวมกลุ่มกันมาแต่ก่อน  เกิดสภาพถูกแยกแตกเป็นเสี่ยง

- ฝ่ายชนะจึงกระหยิ่ม    ฝ่ายแพ้รู้สึกถูกกดทับ และฝังใจว่าคนในชุมชนไม่จริงใจต่อกัน หรือจริงใจต่อความดี ความถูกต้อง

- ฝ่ายแพ้จะรู้สึกต่ำต้อย (จิตอ่อนแอ)  ติตนเอง  ว่าขาดศักยภาพทางความคิด  คิดผิด  จึงหลบหน้า  หลบงานชุมชน

            - ชุมชนขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน   ผลการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม แบ่งกลุ่มคน

        - ผู้นำที่มาจากการซื้อเสียงจะคิดดี พูดดี ได้ไม่สุด  ทัศนคติไม่คมชัด  หลักคิดเชิงศีลธรรมอ่อนแอ

            - สังคมแห่งการเรียนรู้ในระนาบเดียวกันจะเกิดขึ้

หมายเลขบันทึก: 317390เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีจังเลยคะบันทึกนี้

ปกติต่อต้านการซื้อเสียงอยู่แล้วคะ แถวบ้านเยอะเลยจนกลายเป็นวัฒธรรมของชาวบ้านไปแล้วคะ

เมื่อเห็นพระคุณเจ้าออกมาแสดงบทบาทและมีการวิเคราะห์วิจัยเช่นนี้สังคมเราเห็นแสงสว่างรำไรๆแล้วคะ

อยากให้มีการขยายแนวคิดอย่างมีรูปธรรมไปทั่วประเทศนะคะ

อ่านแล้วน้ำตาซึมไหลคะ

ขอแสดงจิดอาสาช่วยอีกแรงคะ

ช่วยกันนะครูน้อย มีอะไรก็สื่อสารได้นะ เพื่อตัดตอนการใช้หลักธรรมที่ผิดของนักซื้อเสียง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท