เรืองเล่า,,,รพร.นครไทยจากเภสัชกร


ฉันและทีมต้องยอมแกะยาออกจากแผง เพื่อนำยามาจัดเตรียมให้เหมาะกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตของป้า

 นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ของการดูแลคนไข้ของเภสัชกรที่ต้องยกนิ้วให้จริงๆ  ถึงความใส่ใจ  ความละเอียดอ่อนของการดูแล                   

                    “ อยากจำกลับลืม...อยากลืมกลับจำ ”

“ป้าคำเพียรใครซื้อชุดให้ใส่น่ะ สวยจัง” เสียงพูดที่ดังขึ้น มันทำให้ฉันต้องหยุดสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า เพื่อมองหาคนที่กำลังพูดถึง “ป้าคำเพียร” หญิงวัยกลางคน ผมสีดอกเลามัดรวบไว้ด้านหลัง ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม ใส่ชุดราตรีสีน้ำเงินสว่าง มีลูกปัดเป็นประกายระยิบระยับประดับอยู่ มันช่างดูแปลกตา แต่ก็ทำให้มีสีสันดี ฉันเองยังอดยิ้มไม่ได้ “ลูกสาวหล้าซื้อให้ หมอ” ป้าคำเพียรตอบด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข

“วันนี้เยี่ยมบ้านเคสอะไร” “เคสผู้ป่วยความดัน มาโรงพยาบาลทีไรความดันสูงทุกครั้ง” “ชื่ออะไรหรือ” “ป้าคำเพียร” “บ้านอยู่ไกลมั้ย” “ไม่ไกลหรอก วันนี้น่าจะได้กลับเร็ว” ฉันนั่งอยู่ส่วนกลางของรถตู้ ทำให้ได้ยินเสียงพูดคุยจอแจในรถของทีมที่กำลังเดินทางไปเยี่ยมบ้านอย่างชัดเจน ฟังแล้วพยายามนั่งนึกถึงหน้าผู้ป่วยที่ชื่อ “ป้าคำเพียร” แต่นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก จนถึงในหมู่บ้าน เราได้แวะรับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อร่วมเดินทางไปเยี่ยมบ้านป้าคำเพียรด้วยกัน ใช้เวลาไม่นานนัก ก็มาถึงบ้านของป้า เป็นบ้านปูนชั้นเดียว สีขาว หลังคามุงกระเบื้องสีแดง มีรั้วรอบบ้านอย่างแน่นหนา ฉันพลันคิดในใจ ว่าเรามาผิดบ้านหรือเปล่า เพราะโดยปกติคนไข้ที่เราไปเยี่ยมบ้านสภาพบ้านจะค่อนข้างทรุดโทรม แต่พอทีมลงจากรถ ฉันก็ลงตามไปด้วย เห็นผู้หญิงวัยกลางคนนั่งอยู่บนแคร่หน้าบ้าน แววตาดูเหม่อลอย สายตาจับจ้องออกไปที่ถนนตลอดเวลา คล้ายกับว่ากำลังรอคอยอะไรบางอย่าง พอผู้หญิงคนนั้นหันมาเห็นทีมที่มาเยี่ยมบ้านก็รีบยกมือไหว้ พร้อมกุลีกุจอเอาไม้กวาดมากวาดแคร่ให้สะอาดแล้วเชิญให้ทีมนั่ง ฉันมองเห็นป้าชัดเจนขึ้น ป้าคำเพียรในวันนี้ช่างแตกต่างจากวันที่ฉันเห็นที่โรงพยาบาลเหลือเกิน เพราะรอบดวงตาของป้าเป็นสีม่วงคล้ำ โหนกแก้มบวมโต เป็นสีเขียวปนม่วง “ป้าคำเพียร หน้าไปโดนอะไรมามา”  ฉันถาม “แม่อุ้มหลานน้อย แล้วสะดุดประตูล้ม หน้าฟาดพื้น” ป้าตอบ ฉันและทีมหันหน้าไปมองประตูเข้าบ้าน เห็นธรณีประตูสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 15 เซนติเมตร จึงไม่แปลกใจเลยที่ป้าอายุวัยประมาณ 60 ตามองไม่ค่อยชัด จะอุ้มหลานเดินเข้าบ้านแล้วสะดุดล้ม “แล้วหลานอยู่ไหน” คนในทีมถามขึ้นมา “นุ้ยๆ มาไหว้หมอเร็ว หมอมาหาเต็มไปหมด” ป้าตะโกนเรียกหลาน เด็กผู้หญิงอายุประมาณ 3 ขวบ วิ่งออกมาจากข้างบ้านพร้อมยกมือไหว้ทีมและฉัน  “แล้วป้าอยู่บ้านกับใครมั่งค่ะ” ฉันถาม “อยู่กับหลานน้อยกัน 2 คนนี้แหละ” ป้าตอบ

                หลังจากได้ทักทายกันเรียบร้อยแล้ว ทีมได้ลงมือวัดความดันโลหิตป้า ความดันโลหิตป้า 200/100 ทุกคนในทีมตกใจ แพทย์หันมาถามฉัน “เอา Captopril มามั้ย” ฉันค้นในกล่องอุปกรณ์เยี่ยมบ้าน และโชคร้ายที่ลืมหยิบยา Captopril ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดความดันในภาวะฉุกเฉินมา “ทำไงดีๆๆ” ฉันครุ่นคิด แต่โชดยังดีที่มียา Amlodipine ที่พอจะใช้ลดความดันโลหิตในภาวะฉุกเฉินได้ แต่จะออกฤทธิ์ช้ากว่าหน่อย ติดมา 1 แผง “มีแต่ Amlodipine ค่ะ” ฉันตอบออกไป หลังจากนั่งค้นกล่องอุปกรณ์อยู่สักพัก “งั้นเอา Amlo stat 1 เม็ด” หลังจากหยิบยาให้ป้าทานเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ขอดูถุงยาของป้า ฉันตะลึงกับภาพที่เห็น ในถุงมีทั้งยาเบาหวาน ยาความดันโลหิตสูงที่รับจากโรงพยาบาล และยาแก้ปวดที่รับจากสถานีอนามัย ปนกันในถุงเดียวกันโดยไม่มีซองใส่ บางแผงก็กินหมดแล้ว บางแผงก็ยังมียาเหลืออยู่ ฉันจึงถามวิธีกินยาของป้า “แม่กินยาทุกอย่างรวมกัน บางครั้งลืมก็ไม่ได้กิน” “แล้วยาตัวไหนกินตอนเช้าบ้างล่ะค่ะ” ฉันพยายามต่อ “ไม่รู้ นึกได้ตอนไหนก็กินพร้อมกันหมด แต่ยาเบาหวานกินก่อนอาหารเช้า” ป้าตอบ ฟังแล้ว ฉันรู้สึกหนักใจ แต่ก็ยังโชคดีที่ป้ายังกินยาเบาหวานถูกอยู่ 1 ตัว “แล้วป้าอ่านหนังสือออกมั้ยค่ะ” ฉันถาม “หมอ แม่อ่านหนังสือไม่เป็น แถมตาก็มองเห็นไม่ค่อยชัดด้วย” ป้าตอบ ฉันจึงตัดสินใจทำฉลากผู้สูงอายุให้ป้า โดย “ฉลากผู้สูงอายุ” จะเป็นกระดาษแผ่นใหญ่เท่ากระดาษ A4 ด้านบนจะมีรูปภาพและตัวหนังสือแสดงเวลาในการรับประทานยา โดยมื้อเช้าจะเป็นรูปพระอาทิตย์ขึ้น มื้อกลางวันเป็นรูปแดดจ้า มื้อเย็นเป็นรูปพระอาทิตย์ตกดิน และมื้อก่อนนอนเป็นรูปเตียงนอน  ด้านล่างของภาพเหล่านั้นจะเป็นพื้นที่ว่าง สำหรับจัดยาตามมื้อใส่ในซองใส แล้วเย็บติดกับกระดาษให้ตรงตามมื้อที่ผู้ป่วยทานยา เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ดูเป็นตัวอย่างเวลาจัดยารับประทานเอง โดยใช้กระดาษสีฟ้าสำหรับยาที่ทานหลังอาหาร และกระดาษสีชมพูสำหรับยาก่อนอาหาร ในระหว่างที่แพทย์กำลังปรับยาเพื่อให้เหมาะสมกับความดันโลหิตและความสะดวกในการทานยาของป้า ทีมก็ได้สอบถามถึงสาเหตุที่ป้าไม่ยอมไปตามนัดที่โรงพยาบาล ป้าบอกว่าไม่มีคนพาไป แต่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ไปด้วยกันค้านว่า “ป้ามีลูกชายอยู่บ้านติดกัน เค้าพร้อมจะไปส่งป้าที่โรงพยาบาลตลอด” “แม่ไม่อยากไปกับมัน” ป้ารีบโต้กลับทันที พร้อมพูดต่อว่า “แม่จะรอลูกสาวหล้ามาหา แล้วให้พาไปโรงพยาบาล” “แล้วลูกสาวป้าอยู่ไหนล่ะค่ะ” ฉันหันมาถามด้วยความสงสัย “เค้าไปทำงานที่พิษณุโลก ไม่รู้วันไหนจะกลับมา คิดถึงจัง” ป้าตอบด้วยน้ำเสียงเศร้า แววตาเปี่ยมไปด้วยความรักและการรอคอยให้ลูกสาวกลับมาหา พอเห็นแล้ว ฉันพอจะเดาออกว่า ที่ทุกวันนี้ป้าคำเพียรมีชีวิตและลมหายใจอยู่ก็เพื่อลูกสาวหล้าของแกนี่เอง ฉันอยากมีโอกาสเจอลูกสาวป้าแกซักครั้ง เผื่อจะได้พูดคุยถึงปัญหาในการทานยาของป้า เผื่อว่าชีวิตของป้าจะได้มีความสุขมากกว่านี้ หลังจากนั้น พยาบาลจิตเวชในทีมได้พยายามพูดคุยกับป้าให้คืนดีกับลูกชาย และโน้มน้าวให้ป้ายอมให้ลูกชายพาไปโรงพยาบาล สุดท้ายป้าก็บอก “จะลองคุยกับมันดู” ระหว่างนั้นฉันนั่งทำฉลากผู้สูงอายุจนเสร็จ โดยตัดยาจากแผงมาใส่ซองใสแยกตามมื้ออาหารแล้วเย็บติดฉลากผู้สูงอายุเป็นตัวอย่างให้ป้า   ฉันสอนวิธีการใช้ฉลากผู้สูงอายุให้กับป้า ป้าฟังแล้วทำหน้างงๆ ฉันและทีมจึงช่วยกันสอนป้าซ้ำอยู่หลายรอบ จนคิดว่าป้าน่าจะทานยาได้แล้ว ทีมจึงลากลับ “หมอทำไมรีบกลับ อยู่คุยกันก่อนซิ แม่เหงา” ป้าพูดด้วยแววตาเศร้า สีหน้าอ้อนวอน ทีมก็เลยนั่งคุยต่ออีกพักหนึ่ง แล้วตัดใจลาป้ากลับ “เดี๋ยวอาทิตย์หน้า ป้าไปโรงพยาบาล ก็เจอกัน วันนี้หมอขอลากลับก่อนนะ” ฉันพูดทั้งๆ ที่อยากอยู่ต่อ แต่ก็ต้องตัดใจ “ขอบใจมากนะ หมออุตส่าห์มาหา” คำพูดสุดท้ายที่ได้ยินก่อนที่ฉันและทีมจะลาป้ากลับ

                1 สัปดาห์ผ่านไป ถึงวันนัดของป้าคำเพียร ฉันเฝ้าลุ้นว่าป้าจะทานยาถูกมั้ย ในห้องยาตอนใกล้เที่ยงของวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่มีคลินิกเบาหวาน ทุกคนในห้องเร่งมือกันทำงานจนเดินแทบจะชนกัน เสียงเภสัชกรเรียกผู้ป่วยมารับยาแข่งกับเสียงผู้ป่วยที่นั่งคุยกันอยู่ขณะรอรับยา ป้าคำเพียรถือแฟ้มประวัติมายื่นรับยา ฉันรีบก้มดูความดันป้าทันที BP 170/90 rest 160/85 ฉันเริ่มหงุดหงิด เมื่อเห็นค่าตัวเลขความดันของป้า สิ่งที่ฉันทำให้ป้าทั้งหมดนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยหรอ ฉันเชิญป้ามานั่งคุยกันเกี่ยวกับการทานยา ป้าตอบคำถามฉันไม่ได้เลย ทานยาไม่ถูกแม้แต่ชนิดเดียว ฉันพยายามคิดและทำทุกวิถีทางเพื่อให้ป้าทานยาได้ถูกต้อง ป้านำฉลากผู้สูงอายุที่ฉันทำให้มาด้วย ฉันพยายามสอนให้ป้าแยกแผงยาแต่ละชนิดออกจากกัน แต่ป้าก็บอก “แผงมันสีคล้ายกัน ตาแม่มองไม่ชัด” ฉันจึงได้มองแผงยาที่ป้าทานอยู่ ซึ่งแผงยาก็สีคล้ายกันจริงอย่างที่ป้าบอก ฉันจึงลองแกะยาออกจากแผง ปรากฏว่ายาที่ป้าทานแต่ละชนิดสีไม่เหมือนกันเลย ลองเอาเม็ดยาให้ป้าแยกดู ป้าแยกได้ถูกต้อง ฉันจึงตัดสินใจแกะยาที่ป้าได้ในวันนี้ออกจากแผงทั้งหมด พร้อมนำเม็ดยามาทำฉลากผู้สูงอายุให้กับป้า ทั้งๆ ที่ขัดกับความรู้สึกอยู่บ้างก็ตาม เพราะป้าทานยา Enalapril ซึ่งเป็นยาที่ดูดความชื้นได้ง่ายอยู่ด้วย หากแกะยาออกจากแผงก็จะทำให้ยาชื้นและเสื่อมคุณภาพ แต่ก็เอาเถอะ สำหรับฉันแล้ว ถึงแม้ยาจะลดประสิทธิภาพไปบ้าง ถ้าผู้ป่วยทานยาได้ถูกต้องและคุมความดันโลหิตได้ดีก็คุ้มแล้ว ขณะที่ฉันและทีมในห้องยากำลังเร่งรีบแกะเม็ดยาออกจากแผงเพื่อจัดเตรียมให้ป้า พลันก็ได้ยินเสียงคำพูดของป้าลอยมา “ไม่ค่อยมีใครสนใจแม่ มีแต่หมอนี่แหละ ขอบคุณนะ” ฉันได้ยินแล้วมันบอกความรู้สึกไม่ถูกนะ มันแน่นตื้อไปหมดเลย ป้าแกคงรับรู้ได้ว่าฉันและทีมทุกคนตั้งใจและเต็มใจช่วยป้าจริงๆ“หมอก็อยากให้ป้ากินยาถูก ความดันจะได้ดีๆ จะได้ไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ” ฉันบอก

                เวลาผ่านไป ขณะที่ทุกคนในห้องยากำลังกุลีกุจอกับการยาจัดยาอยู่นั้น “หมอมาเอายา” เสียงที่คุ้นหู ทำให้ฉันวางมือจากงานที่ทำอยู่ แล้วหันไปอธิบายให้ป้าคำเพียรฟังว่า “ป้าต้องไปยื่นบัตร แล้วให้หมอใหญ่ตรวจก่อน ถึงค่อยกลับมารับยา” ป้าเดินกลับไปห้องบัตรอย่างว่าง่าย พอตรวจเสร็จ ฉันและทีมในห้องยาก็คอยลุ้นดูความดันโลหิตของป้าว่าจะหมู่หรือจ่า ปรากฏว่าวันนี้ความดันโลหิตป้า 130/85 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ “แม่กินยาเป็นแล้วหมอ อย่าลืมแกะเม็ดยาให้แม่นะ วันนี้ลูกสาวหล้าพามาส่งด้วย” ป้าพูดด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข ใบหน้ายิ้มแป้น แววตาดูเป็นประกาย  

ฉันเองก็คงรู้สึกไม่แตกต่างจากป้าซักเท่าไหร่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันและทีมได้ร่วมกันให้ป้าคำเพียรมันคือความสุขใจ ความตั้งใจจริง ที่จะทำให้ป้าสามารถแก้ไขหรือหาหนทางที่มันลงตัวกับวิถีชีวิตของตนเองจริงๆรวมทั้งคนไข้รายอื่นๆก็ตาม  ถึงแม้บางครั้งอาจจะไม่ได้ตรงตามหลักการหรือหลักวิชาการแปะๆ อย่างกรณีของป้าคำเพียร ที่ฉันและทีมต้องยอมแกะยาออกจากแผง เพื่อนำยามาจัดเตรียมให้เหมาะกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตของป้าให้มากที่สุด ถึงแม้จะรู้ดีว่า ยามันอาจเสื่อมคุณภาพไปบ้างก็ต้องยอม เพื่อแลกกับการทานยาที่ถูกต้องของป้า ฉันดีใจและภูมิใจมากๆ ที่ฉันเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับรู้ และสะท้อนมุมมองในปัญหาของคนไข้เพื่อที่จะได้มีส่วนช่วยเหลือเค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย และสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งฉันเองคิดว่ามันไม่ยากเลย เพียงแต่ว่าเราจะมองข้ามปัญหาเล็กๆ ของคนไข้ไปหรือเปล่าเท่านั้นเอง การทำงานทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักปรับแก้ปัญหาอย่างไรให้เหมาะสมต่างหาก สุดท้าย ฉันคิดว่าทั้งหมดนี่แหละคือความหมายของคำว่า “เภสัชกรชุมชน”

เขียนโดย เภสัชกร รัชดาภรณ์  อนรรฆเมธี

เภสัชกร รพร.นครไทย

 

หมายเลขบันทึก: 314362เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2009 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง

สำหรับเภสัชกรที่ดีมากครับ

เรื่องนี้ งดงามมากครับ

นั่นสิคะ..อ่านแล้วรู้สึกมีพลัง

ที่น้องโอ๋มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวที่มีคุณค่าผ่านเรื่องเล่าที่เกิดจากการทำงานของเราเอง พี่คิดว่าเราเองก็คงรู้สึกว่ามันเกิดเป็นความประณีต อ่อนโยนขึ้น สำหรับการดูแลคนไข้ของเราเอง

...เขียนได้ดีนะคะ พี่กาญเป็นกำลังใจให้สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานดีๆเรื่องต่อไปนะจ๊ะ

เขียนได้ดี สมกับเป็นเภสัชกรชุมชน หวังว่าพี่ปุ้ยคงจะได้อ่านเรื่องเล่าที่ช่วยสร้างพลังอย่างนี้อีก

มาเกาะติดอ่านด้วยความสนใจคะ
ขอถามนิด ความดันโลหิตป้า 200/100 ถือเป็นจุดวิกฤต
ทำไมหัวหน้าทีมที่เป็นแพทย์ไม่ส่งต่อโรงพยาบาลคะ

ทำไมไม่ติดตามอาการทุกระยะคะ

เขียนดี ครับ ดีกว่าตอนเต้นโปงลางมาก ๆ เลย

น้องรัก เขียนมาอีกนะ คิดถึงบรรยากาศนั้นจัง อยากเรียนจบไว ๆ จัง

คิดดี พูดดี ทำดี พี่เชื่อว่าสิ่งดี ๆ นั้นก็จะเกิดกับผู้ทำค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท