เรื่องเล่าจากอุบล


โลกจะแตกวันไหนก็ไม่รู้ ตราบใดที่หายใจสบายๆกันอยู่ ก็ควรเป็นตัวคูณตัวบวกของกันและกัน

..วันนี้ฟ้ากรุงเทพกระจ่างแจ้งแดดเปรี้ยงเลยนะครับ

เพิ่งกลับจากอุบลเมื่อคืนนี้

อากาศหัวเมืองชายแดนอีสานตอนใต้กำลังสบาย

ได้เป็นเห็นเรื่องดีๆที่อุบลมาเล่าเยอะแยะ

วันที่12 ตื่นตั้งแต่ตี4 บึ่งไปสุวรรณภูมิ นั่งสะลึมสะลืองีบหนึ่งก็ถึงแล้ว ผ.ศ.วรรณวไล อภิวาสน์พงศ์ มารับไปประชุมโครงการปลูกป่าร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทางมูลนิธิให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปลูกไม้พื้นเมืองจำนวน 30,000ต้น ใช้งบประมาณล้านเศษ ปลูกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยบนสภาพพื้นที่เรียกว่าน้ำไหลทรายมูล เป็นดินที่เกิดจากการพัดพาทรายจากแม่น้ำมาทับถมกัน ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก ขุดลงไปเป็นเมตรจะเจอแต่ทรายกับทราย ดังนั้นวิธีการปลูกจึงใช้เทคนิคผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ญี่ปุ่นผนวกกับนักวิชาการของไทย บรรยากาศการประชุมดีมาก พิจารณาเฉลี่ยความรับผิดชอบที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันอย่างลงตัว ผมให้Key Word ไปว่า “วันที่6ธันวา..ปลูกป่ากับโตโยต้า กินข้าวป่าที่..ม.อุบลฯ” ในวันดังกล่าวนอกชาวนักศึกษา-คณาจารย์ของม.อุบลแล้ว อ.วรรณวไล ยังชวนเด็กนักเรียนในเครือข่ายมาร่วมด้วย คาดว่าจะมีผู้มาร่วมปลูกประมาณ 2,000 คน

กิจกรรมนี้พิเศษตรงที่ว่า สามารถเอาเป็นกรณีศึกษาเรื่องการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมธรรมชาติในพื้นที่ ที่เรียกว่าดินไหลทรายมูล การเตรียมหลุม เตรียมปุ๋ย รดน้ำดูแล จึงค่อนข้างพิถีพิถัน เพราะต้นธันวาคมฝนอีสานคงไม่มีมาอีกแล้ว

คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ให้ข้อแนะนำว่า ..เราควรเอาพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำเป็นเขตแนวไว้เปรียบเทียบดูว่า พื้นที่ๆมนุษย์ปลูกกับพื้นที่ๆปล่อยให้ธรรมชาติเสริมสร้างการฟื้นฟูพื้นที่ตามธรรมชาติ จะมีความแตกต่างกันอย่างไร และความเก็บบันทึกข้อมูลไว้เป็นระยะๆ”


หลังจากนั้นผมไปทำการบ้าน ต้องไปพบปะกับคณาจารย์คณะบริหารศาสตร์ ซึ่งยังหาคณบดีตัวจริงไม่ได้ จึงมีเรื่องไม่สะดวกในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารกลไกภายในที่ยังขาดๆเกินๆ คณบดีรักษาการขอให้ไปช่วยรับฟังข้อคิดเห็นของชาวคณะดังกล่าว ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 1 ของสถาบันพระปกเกล้า เพิ่งจะได้งัดวิชาความรู้มาแสดงคราวนี้เอง..สไตล์ผมก็ไม่มีอะไรมาก บอกกับคณาจารย์ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณ80%ของบุคลากรของคณะฯ ถือเป็นเวทีประชาคมเสียงข้างมากได้ใช่ไหมครับ บอกไปว่าวันนี้จะมารับฟังเรื่องดีๆเรื่องที่มีความสุข ความหวัง ความงดงาม ส่วนจะมีเรื่องหนักอกหนักใจผสมมาบ้างก็ยินดีรับฟัง บ่นมาเถอะ ไม่มีผิดมีถูก ยินดีรับฟังเรื่องทุกข์สุขของอาจารย์..ถ้าอาจารย์ไม่มีความสุข อาจารย์จะสอนหรือทำงานให้สนุกได้อย่างไร? อยู่คณะบริหารศาสตร์ ต้องบริหารความทุกข์ให้เป็นความปกติได้ใช่ไหมละครับ บรรยากาศเป็นกันเองมาก มีอาจารย์ยกมือเล่าเรื่องดีให้ฟังมากพอสมควร ตอนแรกกะว่าจะคุยประมาณ 1 ชั่วโมง ล่อกันไป2ชั่วโมงได้ สรุปมาเรื่องที่คุยกันวันนี้ ขอให้ตัวแทนคณะฯ เก็บประเด็นแล้วบันทึกส่งขึ้นมา ผมจะรับเป็นองคตสื่อสารเรื่องนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ต่อไป

หลังจากนั้นก็วิ่งรอกไปประชุมแผนโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบล กว่าจะเลิกล่อไปบ่าย5โมง นั่งรถมาถึงโรงแรมก็โพล้เพล้แล้ว

อาจารย์ผู้ใหญ่ชวนคุยเรื่องหัวข้อที่จะเสวนาพรุ่งนี้ระหว่างอาหารมื้อเย็น ผมอิ่มกับการประชุมพอแล้ว จึงแวบออกมากับอาจารย์และนักศึกษาลาวที่มารับออกไปกินข้าวปลาข้างนอก กลับมาถึงโรงแรมตาแทบปิด แต่ใจจำเป็นต้องเปิด เพราะPower Point ที่จะนำเสนอยังไม่ทำสักกะนิดเดี๋ยว ตอนแรกกะว่าจะอาศัยบล็อกลานปัญญาประกอบการเสนอ บล็อกก็มาเดี้ยงอีก จึงต้องเตรียมตัวช่วย กว่าจะได้สื่อสาระบ้างก็เลยเที่ยงคืนไปแล้ว..

วันที่13 ต้องตื่นแต่เช้า เพราะมีนัดที่จะไปดูอาคารโบราณที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนหินหลังใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่จริงๆนะครับ สูง2ชั้นมี32ห้อง เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประจำจังหวัด.. หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้างไว้ มะรำมะร่อจะถูกพวกตาต่ำรื้อทิ้งก็หลายครั้ง คุณนิกร วีสเพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาฯ ได้ดำเนินเรื่องปกป้องไว้หลายครั้ง สุดท้ายทำเรื่องเสนอเข้าเป็นโบราณสถานสำเร็จ กรมศิลปากรกำลังซ่อมแซมในวงเงินงบประมาณ15ล้านบาท แล้วยกให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ดูแล ผมในฐานะดูแลด้านศิลปวัฒนธรรมจึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนนี้

ผมขอแนะนำเลยนะครับ

ใครมาอุบลแล้วไม่ไดไปแวะชมความอลังการของอาคารหลังนี้ถือว่ามาไม่ถึงอุบล ถึงอาคารจะสร้างมา8-90ปีแล้ว ท่านมาดูเถิดว่าต้นตะเคียนที่ไปตัดล่องแม่น้ำมูลจากป่าดงพญาเย็นสมัยโน้น ลำบากยากเย็นขนาดไหน ได้ไม้แล้วก็มาออกแบบก่อสร้างอย่างบรรจงแน่นหนาถาวรมาก ไม้พื้นหนาเป็นนิ้ว หลังจากบูรณะแล้วจะเป็นสมบัติล้ำค่าให้ชาวอุบลภาคภูมิใจ เราคิดกันคร่าวๆว่าจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงมูลมังของชาติพันธุ์ลุ่มแม่น้ำโขง จะชวนคณะศิลปประยุกต์มาเรียนและดูแลที่นี่

รายการที่2ของวันนี้

เป็นการเสวนาวิชาการระดับภูมิภาคในหัวข้อ

การจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในระดับอุดมศึกษาครั้งที่ 1

การเปลี่ยนผลการเรียนรู้ 

ยกแรกประกอบด้วย กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยอุบล

  • รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ
  • ศ.นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์
  • นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
  • ผศ.อินทิรา ซาฮีร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ตอนแรกตกลงกันว่าจะนั่งสนทนากันเฉยๆไม่ใช่สื่ออะไร แต่ผมขออนุญาต เกรงว่าจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนไม่ออก จึงขอฉายPower Point ประกอบเรื่องเล่าเร้าฮา เวทีนี้มีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และมหาวิทยาลัยจำปาสักยกทีมานำเสนอผลงานร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยในไทย หลังจากลงเวที ผมได้รู้จักคณาจารย์หลายท่าน เช่น ร.ศ.ปริญญา อรุณวิสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานักศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานัครินทร์ ท่านเหล่านี้จดเว็ปไซด์ไว้ติดต่อกันในโอกาสต่อไป..

ก่อนบ่ายเป็นรายการของอาจารย์วรรณวไล ร่วมกับอาจารย์ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยของลาว นำเสนอเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะภาษาลาว-ไทยสื่อสารกันได้สบายๆ..ในงานนี้ นอกจากมีการแสดงผลงานทางวิชาการ 30 กว่าโครงการแล้ว ยังมีบริษัทTCS มาแสดงเครื่องมือการเรียนการสอนการสื่อสารทางไกล คล้ายๆกับการส่งภาพและเสียงแบบคอมเฟอเร็นท์นั่นแหละครับ แต่ระบบใหม่นี้พัฒนาให้สะดวกและมีประสิทธิภาพสูง ผมก็รู้งูๆปลานะครับ เขาเห็นมีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง เจ้าหน้าที่ได้ลงโปรแกรมให้สามารถใช้งานได้1หน่วย เพื่อที่จะติดต่อกับคณะละคณาจารย์ต่างๆ ในการที่จะทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบคนสอนอยู่ที่ไหนก็ได้ เช่นผมอยู่สวนป่า ก็สามารถส่งภาพ-เสียง-เอกสารหรือ power point ฯลฯ ..

  • ผมนึกถึงเล่าฮุแสวง ที่เคยใช้ให้ผมคุยกับนักศึกษาในระหว่างที่เล่าฮูสอนนักศึกษาอยู่ที่มอดินแดง ก็ได้แต่ฟังคำถาม-และตอบนักศึกษาแบบกระท่อนกระแท่น แต่คราวนี้จ๊าบส์มากขึ้นแล้วนะครับ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างขอนแก่นอาจจะมีระบบนี้แล้วก็ได้
  • ต่อมาคิดถึงคุณรอกอด เจ้าพ่อไอที.แห่งเอเชีย ที่เคยปรารภด้วยความห่วงใย ที่เห็นผมเต็ดไปเต็ดมาที่โน่นที่นี่อยู่เนื่องๆ      บ่นว่าครูบาควรจะอยู่กับที่ได้แล้ว..ใครอยากคุยก็ให้เขาเข้ามาเอง แหมถ้ามีเครื่องมือสื่อสารครบเครื่องอย่างนี้ ผมก็จะนอนเกาพุงอยู่บ้านได้สบายๆ ใครอยากฝากรักก็ไปหาอุปกรณ์มาเชื่อมต่อกันซะ โดนใจจริงๆครับงานนี้ ว่าแต่อีตอนที่ยังใช้งานไม่คล่องนี่สิ จะต้องอาศัยท่านรอกอดช่วยพยุงปีก ไม่ทราบว่าฟื้นจากการบุกงานหนักแล้วหรือยัง ผมอยากจะให้มาดู..A PREMIER NETWORK COMMUNICATION INTEGRATOR ผมไม่ทราบว่ามันเป็นอิหยัง แล้วเราจะใช้ระบบนี้อย่างไร อิ อิ..

ก๊อกสุดท้าย ประชุมสภามหาวิทยาลัยวาระพิเศษ มีเรื่องพิจารณามากเหมือนทุกครั้งนั่นและ กว่าจะเสร็จก็จวน5-6โมงเย็น เจ้าหน้าที่พาบึ่งรถเข้าตัวเมือง ซื้อของฝาก-กินข้าว แล้วก็กลับกรุงเทพฯ คณะเรามีท่านอาจารย์ ศ.จอมจินทร์ จันทรสุกล นายกสภาฯ คุณโสภณ สุภาพงษ์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ ศ.นพ.วราวุธ สุมาวงศ์ รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม เรียงล่ายซ่ายยกทีมกลับมาด้วยกัน ผมมาถึงห้อง814 จวนจะ2ทุ่ม

เมื่อคืนเพลียจนลืมฝันหวาน

ตื่นขึ้นมานั่งปั่นบันทึกนี่แหละครับ

ค่อนข้างยาวหน่อยเพราะรวมเรื่องไว้หลายวัน

บ่ายๆไปดูภาพยนตร์เรื่องโลกวิกฤติในปี2012

สนุกมากขอบอก

มีฉากหวาดเสียวขนาดคนนั่งใกล้แทบฉี่ราด..

ได้แง่คิดว่าโลกนี้ไม่แน่ไม่นอน

ในขณะที่ยังหายใจสบายๆก็รักกันไว้เถิด

ถ้าเป็นตัวคูณตัวบวกให้กันและกันจะมีความเจริญและผาสุก

ถ้าเป็นตัวลบ ตัวหาร ของกันและกัน

ก็ไม่ต่างกับคนมีหัวใจเป็นพลาสติก

 

จบข่าว

อิ อิ..

หมายเลขบันทึก: 313522เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านเพลิน จนมาถึงพ่อครูได้ไปดูหนังด้วยน่าสนุกนะคะ คงจะต้องหาแผ่นหนังมาดูในโอกาสต่อไปค่ะ

หนังสร้างได้น่ากลัวนะคะ

แต่คนก็ไม่ยักกลัว..วันสิ้นโลก

หนังเขาดีจริงๆ

เพลิน-สนุก-แต่ก็น่าคิด

เป็นอนิจังครั้งใหญ่

คุณแก้ว-ครู ป.1 สบายดีนะครับ

วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์

ขอบคุณมากนะคะ ที่ถ่ายภาพดิฉันออกมาสวยกว่าตัวจริง เรียนครูบาว่า วันที่ 14 บรรยากาศการลงมือปฏิบัติ ออกแบบการเรียนรู้เข้มข้นดีมาก นอกจากคณาจารย์ จาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยจำปาสัก แล้ว รู้สึกประทับใจความเอาใจใส่ตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆของไทย โดยเฉพาะคณะผู้บริหาร รองอธิการบดี และ คณบดี รองคณบดี จาก วิทยาลัยพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ ที่เป็นเพื่อนร่วมอายุกับดิฉันและ ครูบาลุยกันแทบไม่ยอมไปพักทานกาแฟ และ ข้าวกลางวันเอาเลย สุดท้ายคณะผู้ร่วมประชุม ทั้งไทยลาว ปิดรายการ ทานข้าวเคล้าร้องเพลงกัน ม่วนซื่นสุดๆ ทั้ง ดวงจำปา กุหลาบปากซัน และ สองฝั่งของ(โขง) เนื้อเพลงที่ บอกว่า "ทั้งสองฝั่งกั้นกลางด้วยสายนที แต่ประเพณีนั้นบ่ต่างกัน ซาดลาวและไทย ก่อนนี้เคยได้ร่วมสัมพันธ์ ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เพียงน้ำเท่านั้นมากั้นแบ่งกลาง" โดยเฉพาะตัวดิฉัน ที่สืบสายมาจาก พระวอ พระตา ซึ่งอพยพจากเวียงจันท์ มาตั้งบ้านแปงเมืองที่ ดอนมดแดง กลายเป็นอุบลราชธานี ในวันนี้ ก็คิดเสมอว่า เราเป็น ญาติ(พี่น้องในภาษาอีสาน/ลาว)กันแท้ๆ

ขอบคุณมากๆนะคะ และ ขอโทษที่ชาว ม.อุบลฯ จัดโปรแกรม ต่อเนื้องมาราธอนนะคะ

วรรณวไล

ดีใจที่ทราบว่างานสัมนาราบรื่นประสบผลสำเร็จด้วยดี

เสียดายไม่ได้อยู่ร่วมตลอด

ขอบพระคุณที่ส่งข่าวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท