ประวัติหลวงพ่อพระใส


พระสามพี่น้อง

ประวัติหลวงพ่อพระใส

        หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ คืบ ๘ นิ้ว ส่วนสูงจาก พระชงฆ์เบื้อง ล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้ว ปัจจุบันนี้ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัยอำเภอเมืองหนองคาย

        การหล่อ ประวัติเกี่ยวกับการหล่อ ตามความสันนิษฐานเข้าใจว่าหล่อในสมัยเชียงแสนช่วงหลังๆ จะหล่อที่ไหน เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่เชื่อแน่ว่าไม่ใช่หล่อที่เมือง เชียงแสนดังที่บางท่านเข้าใจ ทั้งนี้เพราะมีคำที่รับรองกันได้โดยมากว่าเป็นพระพุทธรูปลานช้าง ซึ่งสมัยนั้น(สมัยเชียงแสน) ประเทศลานช้างยังเป็นประเทศที่รุ่งเรืองอยู่ และพระพุทธศาสนาก็กำลังเจริญรุ่งเรือง พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงฝักใฝ่พระทัยในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการหล่อพระพุทธรูปยิ่งสนพระทัยเป็นพิเศษ

        อนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ลงความเห็นไว้ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๑๐๒ ว่า “ พระพุทธรูปลานช้างที่งามยิ่งกว่าองค์อื่นคือ “พระเสริม” อยู่ในพระวิหารวัดประทุมวัน” นี้แสดงให้เห็นว่า พระใสต้องเป็นพระพุทธรูปที่หล่อในประเทศลานช้างแน่เพราะพระพุทธรูป ๓ องค์คือ พระสุก พระเสริม พระใส หล่อในคราวเดียวกันและเคียงคู่กันมาเสมอเท่าที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อจะให้เป็นเหตุสนับสนุนทางที่จะเล่าทางหนึ่งว่า หลวงพ่อพระใสหล่อที่ประเทศลานช้าง โดย มีธิดา ๓ พระองค์แห่งกษัตริย์ลานช้างเป็นเจ้าศรัทธา ทั้งหมดเป็นพี่น้องร่วมพระวงศ์เดียวกัน (บางท่านว่าเป็นธิดาของพระไชยเชฏฐาธิราช) มีพระนามตามลำดับว่า สุก เสริม ใส มีพระทัยร่วมกันเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะหล่อพระพุทธรูปประจำองค์ จึงได้พร้อมกันขอพรจากพระบิดาพระบิดาประทานพรให้ จึงให้ช่างหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ ขนาดลดกันตามลำดับ ครั้นแล้วจึงขนานนามพระพุทธรูปเหล่านั้นโดยขอฝากพระนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระสุก (ประจำผู้พี่ใหญ่) พระเสริม(ประจำคนกลาง) พระใส (ประจำคนเล็ก)

        ในการทำพิธีหล่อนั้นทั้งทางบ้านและทางวัดได้ช่วยกันเป็นการใหญ่โต มีคนทำการสูบเตาหลอมทองอยู่ไม่ขาดระยะ นับเป็นเป็นเวลา ๗ วันแล้วทองก็ยังไม่ละลาย ถึงวันที่ ๘ เวลาเพล (๑๑.๐๐น) เหลือพระภิกษุแก่ กับเณรน้อยรูปหนึ่งทำการสูบเตาอยู่ ในขณะนั้นได้ปรากฎมีชีปะขาวตนหนึ่งมายังที่นั้นและขอทำการสูบเตาช่วยซึ่งพระภิกษุและสามเณรน้อยนั้นก็มิได้ขัดข้อง เมื่อชีปะขาวทำการสูบเตาแทนแล้ว พระภิกษุและสามเณรก็ได้ขึ้นไปฉันเพลบนศาลาตามปกติธรรมดาทุกวัน เมื่อพระกำลังฉันเพลอยู่ญาติโยมที่มาส่ง เพลย่อมลงมาทำการสูบแทนเสมอ แต่วันนั้นญาติโยมแลเห็นคนสูบเตามากกว่าปกติท่อเตาก็มีมาก แต่ละคนเป็นชีปะขาวเหมือนกันหมด ด้วยความอัศจรรย์ใจยิ่งจึงได้ถามพระ ภิกษุ แต่พระภิกษุแลไปก็เห็นเพียงชีปะขาวรูปเดียวเท่านั้น พอฉันเพลเสร็จ คนทั้งหมดก็พากันลงมาดู ครั้นถึงก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง เพราะเหตุที่ได้เห็นทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้ง ๓ เบ้าโดยเรียบร้อยแล้ว และไม่ปรากฏเห็นชีปะขาวนั้นเลยสักคนเดียว

        ที่ประดิษฐานพระสุก พระเสริม พระใส คราวแรกประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเวียงจันทร์ นานเท่าไรไม่ปรากฏ ครั้นพ.ศ ๒๓๒๑ เมื่อรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เกิดสงคราม ขึ้นระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทร์) ครั้นนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เป็นจอมพลยกทัพมาตีเวียงจันทร์ เมืองเวียงจันทร์จึงเกิดยุคเข็ญขึ้น พระเจ้าธรรมเทวงศ์จึงได้อันเชิญไปไว้ที่เมืองเชียงคำ ครั้นต่อมาด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ พระใสจึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัด โพนชัย เมือง เวียงจันทร์อีก

        ต่อมารัชการที่ ๓ แห่งจักรีวงศ์ปรากฏว่าที่เมืองเวียงจันทร์ (เจ้าอนุฯ ) เกิดเป็นขบถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ทำลายเมืองเวียงจันทน์เสีย พระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ได้เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ เมื่อเมืองเวียงจันทน์ สงบดีแล้ว จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม พระใส มาประดิษฐาน ณ ที่วัดโพธิ์ชัยเมืองหนองคาย

        ในตอนที่อัญเชิญพระใสจากเวียงจันทน์ มาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยเมืองหนองคายนี้ คราวอัญเชิญมาไม่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์โดยตรงแต่ได้อัญเชิญมา จากถูเขาควายซึ่งชางเมืองได้อัญเชิญไปซ่อนไว้แต่ครั้งเวียงจันทน์เกิดสงคราม การอัญเชิญมาได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ซึ่งอัญเชิญมาทั้ง ๓ องค์ ล่องมาตามลำแม่น้ำโขงเมื่อถึงตรงบ้านเวินแท่นที่นั้นได้เกิดอัศจรรย์คือ แท่นของพระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำโดยเหตุที่มีพายุแรงจัดพัดแพจนเอนเอียงแพไม่สามารถรับน้ำหนักของพระแท่นไว้ได้ อาศัยเหตุที่แท่นของพระสุกได้จมลง ณ ที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า “เวินแท่น” มาจนบัดนี้

        ครั้นเสียแท่นพระสุกแล้วก็ยังอัญเชิญล่องมาตามลำน้ำโขง (น้ำงึ่ม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เล็กน้อย พอถึงที่นั้นได้บังเกิดพายุใหญ่เสียงฟ้าคะนองร้องลั่น จนในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำ พอพระสุกจมลงในน้ำแล้วอาการวิปริตต่างๆ ก็สงบเงียบอาศัยเหตุนี้ ที่นั้นจึงได้นามว่า “เวินสุก” (จนบัดนี้พระสุกยังจมอยู่ในน้ำโขงตรงนั้นตราบเท่าทุกวันนี้ ) เมื่อเป็นเช่นนี้ยังคงเหลืออยู่แต่พระเสริมกับพระใส ที่ได้นำเข้ามาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัยส่วนพระใสได้ประดิษฐานไว้ ณ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (วัดหอก่อง) ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและข้าหลวงอัญเชิญ พระเสริม จากวัดโพธิ์ชัยลงไปกรุงเทพฯ ขุนวรธานีเมื่อมาถึงหนองคาย ได้ทราบว่าพระใสเป็นคู่กับพระเสริมจึงได้อัญเชิญจากวัดหอก่องขึ้นสู่เกวียน นัยว่า จะอัญเชิญไป กรุงเทพฯ กับพระเสริม แต่พอมาถึง ณ วัดโพธิ์ชัย พระใสได้แสดงปาฏิหาริย์ไม่สามารถขับเกวียนซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระใสให้เคลื่อนที่ไปได้ แม้ใช้เครื่องฉุดก็ไม่สามารถเช่นเดียวกัน ได้ทำการอ้อนวอนด้วยประการต่างๆ ก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดเกวียนไดหักลง คราวนี้ได้หาเกวียนใหม่มาเป็นที่ประดิษฐาน แต่ก็อัศจรรย์อีกเพราะเกวียนไม่สามา รถจะเคลื่อนที่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงปรึกษากันว่าจะอัญเชิญหลวงพ่อพระใสประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแล้วก็ทำการอธิษฐานเป็นผลดังใจนึกพอเข้าหามไม่กี่คนเท่านั้นองค์หลวงพ่อพระใส ก็ถูกยกขึ้นประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดโพธ์ชัยได้โดยง่ายให้พวกเราได้เคารพสักการะเป็นการกุศล ส่วนพระเสริมนั้นได้อัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่วัดปทุมวนารามจนถึงทุกวันนี้

        ส่วนพระสุกซึ่งจมน้ำอยู่ที่เวินสุกนั้นได้ทราบว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนทางฝ่ายบ้านเมืองที่จังหวัดหนองคาย ได้ทำการปรารภจะอันเชิญขึ้นจากน้ำ เพื่อจะได้นำมาประดิษฐานไว้คู่เคียงกับพระใส แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะมีเหตุขัดข้องบางประการที่ได้ทราบมา คือ อาศัยความที่ พระสุกได้จมอยู่ในน้ำเป็นเวลาช้านานทำให้ดินทับทมไม่สะดวกในการที่จะอันเชิญได้โดยง่าย อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะชาวบ้านแถวนั้นไม่ยินยอมให้นำขึ้นเพราะเกรงกลัวต่อภยันตรายอันจะพึงมีมา ทั้งนี้ เนื่องด้วยประชาชนในถิ่นนั้น (รวมทั้งถิ่นอีสานส่วนมากด้วย) ถือว่า การกระทำเช่นนี้ย่อมให้เจ้าภูมิท้องถิ่น เกิดความไม่พอใจแล้วอาจบันดาลให้มีเหตุเภทภัยนานาประการ

คำสำคัญ (Tags): #หลวงพ่อพระใส
หมายเลขบันทึก: 313413เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ เหลือกเกินครับครูครับ เคยได้ยินแต่หมอลำ ขอพรพ่อพระใส

วันนี้ ได้รับทราบประวัติท่านแล้ว อนุโมทนาสาธุ ในบารมีของท่านด้วยครับ

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ครับครูครับ

เห็นขึ้นหลวงพ่อพระใส มานั่งนึกได้ว่า ตัวเราผ่านไปหนองคายหลายครั้งสมัยก่อน

ทั้งผ่านไปบึงกาฬ ผ่านไปเวียงจันทร์ แต่ไม่เคยได้เข้าไปกราบหลวงพ่อพระใสสักที

เมื่อได้อ่านประวัติหลวงพ่อ

ขอถือโอกาสนี้กราบหลวงพ่อ...จากขอนแก่น

เมื่อโอกาศหน้ามาเยือนคงได้ลงไปไหว้จริงๆ

สวัสดีค่ะ

.ได้มีโอกาสไปไหว้หลวงพ่อพระใสหลายครั้ง ได้ทราบประวัติของหลวงพ่อด้วยยิ่งดีใจมาก

.ขอบคุณความรู้ดีค่ะ

ป็นพระพุทธรูปที่ชาวหองคายและชาวลาวศรัทธามากเลยน่ะครับ

เพราะเจ้านายจากส่วนกลางมาก็จะพามาไหว้และขอพรท่านเป็นประจำครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท