โชคดีที่มี...ผู้อาวุโสในบ้าน


วันนี้บ้านเราได้มีโอกาสต้อนรับ"อากุง"-คุณปู่ของสามหนุ่ม ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพโดยมีหลานสาวคนโตของบ้านดูแลมาด้วย อากุงอายุ 86 ปีแล้ว มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง แถมด้วยโรคไขมันในเลือดสูงตามปกติของผู้สูงอายุทั่วไป แต่ด้วยการรักษาดูแลต่อเนื่องโดยลูกๆ 7 คนผลัดกันบ้างกับพี่ชายคนโตที่ดูแลตลอดเวลาเป็นส่วนใหญ่ อากุงมีหลานจากลูกๆทั้ง 7 คนรวมแล้วก็เกือบ 20 คน อากุงตั้งชื่อจีนไว้ให้ทุกคน ท่านเป็นคนจีนที่เดินทางมาตั้งรกรากในไทย เริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ แต่มาวันนี้ถือได้ว่าท่านประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่งทีเดียว ลูกๆทุกคนมีอาชีพ มีการงานทำตามสมควร ท่านเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่เดินทางมาเมืองไทยเก็บไว้ให้พวกเราเป็นเรื่องราวที่น่าทึ่งมาก

ในวัย 86 ปี ท่านก็ยังคงเดินเหินได้ด้วยตัวเอง ตาก็ผ่าต้อไปเรียบร้อย เห็นได้ดี หูก็ใช้ได้พอควรข้างหนึ่งต้องใช้เครื่องช่วยฟังบ้าง ฟันก็ใส่ฟันปลอมทั้งปาก แต่ก็เคี้ยวอาหารพอได้ เรียกได้ว่าสุขภาพโดยทั่วไปของอากุงนั้น เยี่ยมมากเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน

แต่สิ่งที่เราลูกหลานได้เรียนรู้จากอากุงนั้น ไม่ใช่เพียงประวัติชีวิตที่ทรหด อดทนจนก้าวมาถึงวันนี้ได้ด้วยการวางแผน ซื่อสัตย์ ประหยัด ขยันและมองการไกล อากุงเป็นคนจริงจังและห่วงใยลูกหลานมาก ท่านจะมองการวางแผนชีวิตของลูกหลานอย่างห่วงใยมากเสมอ จนบางครั้งเก็บมาเป็นกังวล ลืมห่วงใยตัวเอง เพราะเครียด คิดแทนลูกหลานด้วยความที่ท่านมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า เรื่องบางเรื่องในปัจจุบันก็เป็นเรื่องยากที่ท่านจะเข้าใจ ทำให้ท่านห่วงใยและเป็นกังวลมาก ในวัยที่ท่านเริ่มมีอาการหลงลืม และย้ำคิดย้ำทำบ้างนี้ ทำให้ท่านมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ท่านกังวล พวกเราก็ได้แต่พูดคุย อธิบายเท่าที่เราจะทำได้ แต่ทุกอย่างก็จะวนไปวนมาเหมือนๆเดิม

หลานๆที่เริ่มโตเป็นวัยรุ่นกันหมด มีโอกาสได้สัมผัสกับ"อากุง"ของพวกเขาตั้งแต่เล็กๆจนโต ต่อเนื่องกัน เพราะแม้จะอยู่ต่างที่ต่างถิ่นกันหลากหลาย ทั้งคุณปู่คุณย่าก็แวะเวียนไปเยี่ยมหลานๆทั่วทุกที่และพวกเราก็จะพาลูกๆไปเยี่ยมท่านกันอยู่เรื่อยๆอย่างน้อยก็ปีละครั้ง

เป็นโชคดีของการมีครอบครัวใหญ่ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมบ้านเดียวกันตลอดเวลา เราก็ได้มีโอกาสได้รับรู้ความสัมพันธ์ในหลายๆช่วงวัยต่อเนื่องกันเรื่อยๆมา ลูกๆได้เห็นวิถีปฏิบัติที่เราพ่อแม่ทำต่อผู้อาวุโส ได้เรียนรู้นิสัยทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ได้รับรู้ ได้ซึมซับและคงจะได้เห็นภาพของพ่อแม่ในยามที่แก่เฒ่าเท่ากับปู่ย่าด้วยเหมือนกัน คิดเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตกแล้ว เราคนไทยโชคดีกว่ามากมายที่มีวิถีชีวิตแบบนี้ เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ของเราได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ ตัวตนและวิถีปฏิบัติให้ลูกหลานได้มากกว่า ถ้าเราเลือกใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ให้เต็มที่ เราก็จะมีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตในวัยชราได้อย่างรู้เท่าทันกันตั้งแต่เล็กแต่น้อยทีเดียว 

หมายเลขบันทึก: 312024เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2009 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท