การคิดเหตุผลแบบอุปนัย


การบันทึกครั้งก่อน  ผมเขียนว่า  ดูเหมือนว่า  ครูไม่ได้สอนให้คิดเหตุผล  เพราะว่า  ครูมักจะใช้วิธีสอนแบบบรรยาย  ไม่ค่อยได้ให้เด็กออกไปเรียนรู้โดยตรงจากธรรมชาติ  แล้วผมก็บอกอีกว่า  เรื่องนี้ไม่จริง  และว่าจะพูดวันหลัง  วันนี้จึงพูดครับ

นับจากวันที่เด็กเกิด  จนถึงวันเข้าโรงเรียนนั้น  เด็กได้ใช้ความสามารถด้าน "จำแนก, การลงสรุปเป็นนัยทั่วไป, การลงสรุปไปหาส่วนใหญ่" อยู่ตลอดเวลา  เช่น  เด็กจำแนกข้อเท็จจริงว่าพ่อไม่ใช่แม่  และจำแนกข้อเท็จจริงว่าแม่ไม่ใช่พ่อ  จำแนกว่า  คนนั้นไม่ใช่พ่อ  คนโน้นไม่ใช่แม่  จำแนกว่า  นั่นเป็นสุนัขไม่ใช่แมว  นั่นเป็นไก่ไม่ใช่หมู  นั่นเป็นต้นยางไม่ใช่ต้นตาล  นั่นเป็นน้ำ  นั่นเป็นก้อนหิน ฯลฯ  การจำแนกอย่างนี้  เรียกว่า  "จำแนกข้อเท็จจริง" 

ต่อมาเขา "จำแนกประเภท" เช่น  พ่อ  แม่ เป็น "ประเภทคน"  เมื่อเห็น นายแดง  นายดำ  นางขาว  นางเขียว  มีลักษณะ "คล้ายพ่อกับแม่" ก็ "ลงสรุปเป็นนัยทั่วไป" ว่า "เป็นคน" เหมือนกัน  ไม่แต่เท่านั้น  เมื่อเห็น  เด็กเล็กก็ว่า "คน"  เห็นพระ  แม่ชี  คนชรา  ก็ว่า "คน"  ดังนี้ก็เป็นการ "ลงสรุปเป็นนัยทั่วไป"  นั่นแสดงวาเขา "เกิดมี" สิ่งที่เรียกว่า "ประชากรคน"  และชื่อประชากรคนนี้ว่า "มโนทัศน์" คือ "มโนทัศน์คน" ประชากรคน ที่ชื่อว่ามโนทัศน์คนนี้ "เขาค้นพบด้วยตัวของเขาเอง"  หรือ "เขาสร้างขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง"  ดังนั้น  (๑) เขาใช้ความสามารถด้านการจำแนก และ (๒) เขาใช้ความสามารถลงสรุปเป็นนัยทั่วไป  มา "ค้นพบ" หรือ "สร้าง" ประชากร  หรือ มโนทัศน์ ด้วยตัวเอง

แต่หลังจากที่เขา "มีประกร" นั้นๆแล้ว  ต่อมาเมื่อเห็นข้อเท็จจริงใหม่ที่เป็น "สมาชิก" ของประชากรนั้น เขาคิดแบบ "ลงสรุปไปหาส่วนใหญ่" หรือ Inference  ไม่ใช่ Generalization นะครับ

เพราะว่า  ทั้ง Generalization, Inference ต่างก็ช่วยให้คนคิดแบบ Induction หาไม่แล้ว  คนก็จะไร้เหตุผลครับ

เขาใช้กระบวนการทำนองนี้ "ค้นพบ" และ "สร้าง" ประชากร หรือมโนทัศน์  แมว  สัตว์  พืช  นำ  ดิน  หิน  ของแข็ง  ของเหลว   วัตถุ     ดาว  ท้องฟ้า    ความสูง   ฯลฯ  มาก่อนแล้ว  ก่อนที่เขาจะมานั่งให้ครูสอนที่โรงเรียนเมื่อเขาอายุราวสามปีขึ้นไป

เมื่อเขาเข้ามานั่งในชั้นเรียน  "ครูก็พัฒนาความสามารถนี้" ให้มากขึ้นไปอีก  เช่น  ให้เด็ก "จำแนกประเภท" รากแก้ว  รากฝอย  รากแขนง  เกษรตัวผู้  เกษรตัวเมีย  การผสมพันธุ์ ให้ "จำแนกประเภท" ความเป็น ๑  ความเป็น ๒  ฯลฯ  ความเป็น +, ความเป็น - , ยกกำลัง  มุมแหลม  มุมป้าน จักรวาล  กาแล็กซี่ ฯลฯ  "จำแนกประเภท" ความสวย  ความงามจากวิชาศิลปะ  "จำแนกประเภท" ความดี  ความชั่ว  จากวิชาศิลธรรม ฯลฯ  ครูกระทำเช่นนี้ด้วยวิธีบรรยาย วันละ ๖ ชั่วโมง  อีก ๑๘  ชั่วโมงเด็กใช้เวลา "ค้นพบ" ด้วยตัวเองที่บ้านหรือนอกโรงเรียน  เหมือนเช่นก่อนที่เขาจะเข้าโรงเรียน

ดังนั้น  ครูไม่ได้ละเลย  ไม่ว่าเขาจะใช้วิธีสอนแบบใด !

และกระบวนการ "ค้นพบ" ดังที่กล่าวมานั้น  เป็น "กระบวนการคิดเชิงอุปนัย"

กระบวนการคิดแบบอุปนัยนั้นเป็น "การคิดแบบให้เหตุผลแบบหนึ่ง"

ฉะนั้น  ครูไม่เคยหยุดพัฒนา"ความคิดเหตุผล"แก่ศิษย์ของพวกเขาเลย

แต่น่าประหลาดที่สุดก็คือ  "เด็กคิดเหตุผลอยู่ตลอดเวลาตลอดชีวิตที่เขาตอบสนองสิ่งเร้าในธรรมชาติ"

และก็น่าประหลาดที่สุดเหมือนกันที่ "ในธรรมชาติมีสิ่งอำนวยให้เขาคิดเช่นนั้น"อยู่ทุกหนทุกแห่ง  และตลอดเวลาเช่นกัน  ทำให้ดูเหมือนว่า  "หากไม่มีสิ่งอำนวยความคิดในธรรมชาติแล้ว  ความสามารถคิดอุปนัยในคนก็ไม่น่าจะมีด้วย"

หมายเลขบันทึก: 311313เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2009 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท